แก่งเสือเต้นสืบชะตาป่าสักทอง แถมเผาหุ่นฟางพริก-เกลือไล่นายก
(21 มิ.ย.) ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ผาอิง อุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ นายบำเพ็ญ บินไทยสงค์ นายอำเภอสอง จ.แพร่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นายมนูญ สุวรรณภักดี รองประธานเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ ชาวบ้านหมู่ 1, 5 , 6 และ 9 ต.สะเอียบกว่า 300 คน นำโดยนายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ต.สะเอียบ และกำนันชุม สะเอียบคง จัดพิธีการสืบชะตาแม่น้ำยม และการบวชป่า
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนา ชาวบ้านได้ทำพิธีสาปแช่งนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศผลักดันการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในวันสิ่งแวดล้อมโลก (5 มิ.ย.) ที่ผ่านมา โดยนำหุ่นฟางที่มีป้ายชื่อของนายสมัคร ซึ่งชาวบ้านร่วมกันทำขึ้น มาโรยด้วยพริกและเกลือ จากนั้นได้จุดไฟเผา เมื่อเสร็จพีธีเผาก็นำดวงวิญญาณของนายสมัคร ใส่หม้อดินไปถ่วงในแม่น้ำยม
ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนได้อ่านแถลงการณ์โดยมีนางสุดารัตน์ ไชยมงคล เป็นตัวแทน มีใจความว่า การที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้มีการเร่งทบทวนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นแนวคิดที่เป็นภัยร้ายต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความคิดของผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีข้อมูล ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ และ จากรายงานการศึกษาจากหลายสถาบันระบุชัดเจนว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ รวมถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงเรื่องป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ดูแล เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ชาวบ้านได้เรียกร้องให้รัฐบาล ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และหันมาแก้ไขปัญหาโดยการใช้เครือข่ายอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง และเร่งผลักดันโครงการเครือข่ายแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เป็นจริง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหา น้ำแล้ง น้ำท่วม
“พวกเราราษฎร ต.สะเอียบ ขอประกาศยืนยันคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขั้นแตกหักกับทุกรัฐบาลรวมถึงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ชุดนี้ และจะไม่ให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้นที่ผลักดันโครงการและไม่รับรองความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน หรือหน่วยงานที่ผลักดันสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหากเข้ามาในพื้นที่ของพวกเรา ถึงแม้ว่าภาครัฐและนักการเมืองจะพยายามทำลายป่า ด้วยวิธีการใดก็ตามเพื่อประกาศว่าไม่มีป่าแล้ว ชาวบ้านก็ยืนยันที่จะไม่ย้าย และจะฟื้นฟูรักษาป่าด้วยตนเอง” นางสุดารัตน์กล่าว
นางสุดารัตน์กล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลจะต้องใช้ความกล้าหาญ ในการตัดสินใจ ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะ 18 ปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้สร้างความกดดันต่อพี่น้องประชาชน ทั้งในเขต จ.แพร่ และจ.พะเยา ต้องอยู่ในความหวาดผวาถึงความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งพี่น้องประชาชนในเขตลุ่มน้ำยมตอนล่าง ก็ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม มาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ด้านนายบำเพ็ญ บินไทยสงค์ นายอำเภอสอง จ.แพร่ กล่าวว่า การทำพิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำยม และการบวชป่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันทำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าต้นไม้ทุกต้นมีเทวดาคุ้มครองอยู่ ส่วนการทำพิธีการสาปแช่งใครนั้น ถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ เพราะเป็นหนึ่งในกระบวนการแสดงออก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคนข้างนอกมักกล่าวหาว่า ไม้สักทองที่อุทยานแม่ยมเหลือน้อย แม้แต่กรรมาธิการวุฒิฯ ที่เป็นคนแพร่ แต่ไม่อยู่ที่ อ.สอง ก็ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงเพราะคนเหล่านั้นไม่เคยมาเดินป่าและดูข้อเท็จจริงว่าไม้สักยังสมบูรณ์แค่ไหน และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่นี่จึงประกาศไม่เอาเขื่อน และจะสู้ตายเพื่อปกป้องป่าสักแห่งนี้ไว้ จากโครงการพัฒนาที่รัฐผลักดันเข้ามาในรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย
นายบำเพ็ญ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่าป่าสักทองยังมีความสมบูรณ์มาก ไม่ควรถูกทำลายจากการสร้างเขื่อน ทั้งนี้ถึงจะหาว่าเขาเข้าข้างใคร ก็ไม่ผิด เพราะเขาเข้าข้างคนที่ถูกต้อง โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีความพยายามทำลายป่าสักทองในอุทยานแห่งชาติแม่ยม โดยการหยอดยาและสับรอบลำต้น เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงให้ต้นสักยืนต้นตาย มีร่องรอยการตัดไม้ ส่งผลให้มีต้นไม้ตายรวมทั้งหมด 664 ต้น โดยเรื่องดังกล่าวได้เข้าไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากชาวบ้านร้องเรียนให้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่ามีการลักลอบทำลายไม้สักจริง จึงยืนยันที่จะเอาใจช่วยชาวบ้านต่อสู้เพื่อไม่ให้มีโครงการเขื่อนในพื้นที่นี้
นายอำเภอสอง กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา การศึกษาด้านทรัพยากรของชาวบ้านรุดหน้าไกลเกินกว่าของหน่วยราชการ และเชื่อว่าชาวบ้านพร้อมรับรู้เหตุผล และเปิดให้มีการพูดคุย แต่ก็มีความวิตกกังวล เพราะที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ที่ต้องโยกย้ายที่อยู่ที่ทำกิน เนื่องจากการสร้างเขื่อน ไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม อีกทั้งผืนป่าสักทองที่อุดมสมบูรณ์ก็จะถูกทำลาย และแม้จะเชื่อว่ารัฐมีอำนาจอยู่เหนือประชาชน หากมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนจริง แต่เขาก็คิดว่ารัฐต้องตกลงหาจุดคุ้มทุนที่ตรงตามความพึงพอใจของชาวบ้านด้วย เพราะที่ผ่านมา โครงการไม่ถูกสร้างก็เพราะการต่อสู้คัดค้านจากประชาชน
“ต้องแล้วแต่ความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนว่าจะให้สร้างหรือไม่ให้สร้าง หรือหากต้องสร้างจะต้องย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ต้องแล้วแต่พี่น้อง” นายอำเภอสองกล่าว
ภายหลังจากการประกอบพิธีกรรมต่างๆ กลุ่มเยาวชนตะกอนยม และชาวบ้านในพื้นที่จำนวนกว่า 50 คนได้นำผู้สื่อข่าว ร่วมบวชป่าสักทอง พร้อมกับเยี่ยมชมพื้นที่บริเวณดงสักงาม ซึ่งพบว่าสภาพป่ามีต้นสักทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่งอกจากเมล็ดที่หล่นลงมาที่พื้นดิน นอกจากนี้ ยังมีพรรณไม้อื่นๆ อยู่อย่างหนาแน่น สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่
อ้างอิง : http://www.prachatai.com/05web/th/home/12601