คำประกาศ สะเอียบ
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ร่วม ยืนหยัด ต่อสู้ ปกป้องป่าสักทอง และชุมชน
หยุดสร้างเขื่อนใหม่ แก้ไขปัญหาเขื่อนเก่า เร่งแก้ไขปัญหาคนจน

fas fa-pencil-alt
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน
fas fa-calendar
6 ตุลาคม 2555

ณ ที่แห่งนี้ ดินแดนชุมชนสะเอียบ บรรพบุรุษเราก่อตั้ง สร้างบ้านแปรงเมืองมากว่า 200 ปี เราลูกหลานอยู่กันมาด้วยความผาสุกมาโดยตลอด ปี 2534 เราได้ร่วมกันก่อตั้ง กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งได้ร่วมกันปกป้อง ดูแล รักษา ป่าสักทองผืนสุดท้ายของคนไทยทั้งชาติมาอย่างต่อเนื่อง

 เขื่อนแก่งเสือเต้น จะทำลายป่าสักทองผืนสุดท้ายที่เราร่วมรักษากันมา ไม่เพียงป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่เท่านั้นที่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวร ป่าเบญจพรรณอีกกว่า 30,000 ไร่ ก็จะถูกตัดฟัน ล้างผลาญ ผืนดินจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้นเช่นกัน และยังต้องอพยพพวกเราชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้านอีกกว่า 1,000 ครอบครัว ท่วมที่ทำกินเราอีกกว่า 10,000 ไร่ อีกทั้งสัตว์ป่า แร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเมินค่าไม่ได้ ต้องจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งยังเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินอีกกว่า 20,000 ล้านบาท

แม่น้ำยมยาวกว่า 735 กิโลเมตร เขื่อนแก่งเสือเต้นจะตั้งอยู่ที่ 115 กิโลเมตรทางตอนบนของลุ่มน้ำยม รับน้ำจาก 11 ลำห้วยสาขาเท่านั้น แล้วหากฝนตกใต้เขื่อนซึ่งยาวถึง 620 กิโลเมตรที่เหลือทางตอนกลางและตอนล่าง ที่รับน้ำจาก 66 ลำน้ำสาขาใต้เขื่อน อย่างฝนที่ตกที่เด่นชัย วังชิ้น ศรีสัชนาลัย ซึ่งอยู่ใต้ลงไปจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 100 – 200 กิโลเมตร แล้วเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จะแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างไรเมื่อฝนตกใต้เขื่อน

เขื่อนแก่งเสือเต้นสูง 72 เมตร เขื่อนยมล่างอยู่ต่ำลงมาจาเขื่อนแก่งเสือเต้นเพียง 10 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม และรอยเลื่อนแพร่ หากเขื่อนแตกมา คงไม่ตายเฉพาะคนเมืองสอง แต่คงตายกันทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร

เขื่อนยมบนอยู่ห่างจากหมู่บ้านเราเพียง 2 กิโลเมตร หากเขื่อนแตกมา คงไม่ตายเฉพาะคนสะเอียบ คนเมืองสอง คนเมืองแพร่ คงต้องตายกันทั้งเมืองเช่นกัน เขื่อนเหล่านี้วนเวียนอยู่แถวนี้ และยังคงจ้องทำลายป่าสักทองอยู่เหมือนเดิม

เราเครือขายองค์กรภาคประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้าน สมัชชาคนจน นักอนุรักษ์ ลูกหลานเยาวชนกลุ่มตะกอนยม และพี่น้องชาวสะเอียบ ขอยืนยันว่า เราจะร่วมกันปกป้องรักษาป่าสักทองและชุมชนของเราสืบต่อไป และจะต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จ.แพร่, เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโป่งอาง จ.เชียงใหม่, เขื่อนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, เขื่อนวังชมพู จ.พิษณุโลก, เขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร, เขื่อนคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี, เขื่อนเหล่านี้คือรัฐภัย ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเขื่อนขนาดใหญ่อีกแล้ว

 เรา เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ยุติการผลักดันเขื่อนใหม่ หันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาระบบเหมืองฝาย ฯลฯ อันจะเป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจนมากกว่า และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนที่สร้างมาแล้ว อย่างเช่น เขื่อนสิรินธร, เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ยุติการข่มขู่คุกคามพี่น้องคนจนเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ยุติการข่มขู่คุกคามพี่น้องท่าแซะ จ.ชุมพร และเร่งแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนให้เป็นรูปธรรม เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชนสืบไป

ด้วยจิตรคารวะ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 
6 ตุลาคม 2555 ณ วัดบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง