“ขั้นใหม่ของสงครามแย่งชิงทรัพยากร”

fas fa-pencil-alt
เกษียร เตชะพีระ
fas fa-calendar
7 สิงหาคม 2544 

To remember is to reconstitute oneself as member of a community of memory.”
            (การจำคือการประกอบส่วนสร้างตัวเองขึ้นใหม่ให้เป็นสมาชิกของชุมชนแห่งความทรงจำหนึ่ง ๆ)

รศ. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
การประชุม “การจัดการความขัดแย้งเบื้องหน้าโลกาภิวัตน์: การริเริ่ม, ทางเลือก และจินตนาการ”
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ 

                ในฐานะสมาชิกชุมชนแห่งความทรงจำเดือนตุลาฯ พอได้ยินคำกล่าวของอาจารย์ชัยวัฒน์ข้างต้น ผมพลันระลึกขึ้นได้บัดเดี๋ยวนั้นที่นั่นว่า ๗ สิงหาคมเป็นวันเสียงปืนแตก

                หรือนัยหนึ่งวันที่พลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มจับอาวุธลุกขึ้นสู้ ทำสงครามประชาชนกับรัฐบาล เพื่อปฏิวัติประเทศไทยเมื่อ ๓๖ ปีก่อน

                ในรอบสองทศวรรษของการทำสงครามจนเสียงปืนซาสงบลง คนไทยด้วยกันได้รบพุ่งฆ่าฟันกันเองทั้งในเมืองและชนบท ถึงแก่บาดเจ็บล้มตายบอบช้ำพิกลพิการไป นับแล้วคงจะเป็นหมื่น ๆ คน

                จากโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรีถึงลานประท้วงบนท้องถนน เพื่อนพ้องน้องพี่ยังจำมันได้ไหม? เราเก็บรับบทเรียนอะไรมาบ้าง?

                ..............................................................................

                มิตรสหายจากอินโดนีเซียส่งเสียงเตือนกลางที่ประชุมให้เราหัด “ลืม”

                เขาเตือนว่าเราควรจำอดีตพอที่จะแคร์ และลืมอดีตพอที่จะไม่ฆ่า

                กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราควรเชื่ออุดมการณ์ แต่อย่าปักใจเชื่อมันเกินไป มิฉะนั้นเราอาจลงมือเข่นฆ่าผู้อื่น เพื่อสิ่งที่เราเชื่อ

                และมันจะน่าสลดใจสักเพียงไหนหากวันหนึ่งข้างหน้าเราพบว่าเราเลิกเชื่อสิ่งที่เคยปักใจเชื่อ แต่ชีวิตที่สังเวยความเชื่อของเราไปนั้น ตายแล้วตายเลย มิอาจปลุกฟื้นคืนใหม่ได้

                สมาชิกชุมชนความจำเรากลืนน้ำลายเอื๊อกลงคอ

                อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ดูจะตรงข้ามกลับตาลปัตรกับที่เพื่อนอินโดนีเซียแนะนำ กล่าวคือ: -

)          ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ นาย จุรินทร์ ราชพล แกนนำกลุ่มคัดค้านนายทุนนากุ้งบุกรุกป่าชายเลนที่บ้านป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต ถูกยิงเสียชีวิต

)          ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ นาย นรินทร์ โพธิ์แดง ทนายความของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์เขาชะเมาที่ต่อต้านการสร้างโรงโม่หินและระเบิดเขาในพื้นที่เขาชะอาง ตำบลห้วยทับมอญ กิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ถูกยิงเสียชีวิต

)          ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ นาย พิทักษ์ โตนวุธ นักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เป็นแกนนำต่อต้านโรงโม่หินในเขตตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ถูกยิงเสียชีวิต

)          ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ นาง ฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน เจ้าหน้าที่ธุรการองค์การบริหารส่วนตำบลนา กลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ผู้เป็นแกนนำต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงในพื้นที่ ถูกยิงเสียชีวิต

)          ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ นาย สุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ วิศวกร ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบรุ่นน้องนายกฯทักษิณ ผู้เป็นแกนนำชาวบ้านคัดค้านบ่อฝังกลบขยะส่งกลิ่นเน่าเหม็น ตำบลราชา-   เทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ถูกยิงเสียชีวิต

)          ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ นาย สมพร ชนะพล ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองกระแตะ บ้านห้วยหอย หมู่ ๙ ตำบลคลองสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกลอบยิงเสียชีวิต

ทั้ง ๖ คดียังไม่คืบหน้าในการหาตัวผู้บงการมาลงโทษเลย!

ดูไปแล้ว ในทุกภาคทั่วประเทศไม่ว่าใต้-ตะวันออก-เหนือ-อีสาน-กลาง ศึกใหญ่ไม่ใช่กับร่างกุ้งหรือ     หงสาวดี แต่คือสงครามแย่งชิงทรัพยากรระหว่างคนไทยต่างชนชั้นด้วยกันเอง ผู้หลงลืมอดีตพอที่จะฆ่า แต่ไม่ยักจำอดีตพอที่จะแคร์เพื่อนร่วมชาติเดียวกัน

 ทำยังไง จะป้องกันอย่างไร ไม่ให้คนไทยต้องฆ่าฟันกันเองอีก?

..............................................................................

ผมใคร่เตือนว่าภาพที่ปรากฎชัดขึ้นเรื่อย ๆ คือโครงสร้างการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองใหม่, ภายใต้กลุ่มอิทธิพลมาเฟียท้องถิ่นเก่าที่โยงใยถึงนักเลือกตั้ง “หลาย ๆ พรรค แทบจะทุกพรรค” (ตามข้อสังเกตของ วัชระพันธุ์ จันทรขจร กรรมการอำนวยการประสานงานและติดตามผลการปฏิบัติราชการ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) กำลังผลักดันสงครามแย่งชิงทรัพยากรในเมืองไทยเข้าสู่ขั้นตอนใหม่

นั่นคือขั้นตอนของ ฆาตกรรมทางการเมือง ที่กำลังแผ่กระจายออกไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ชุมชนมีสิทธิ์มีส่วนร่วมปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรท้องถิ่น (มาตรา ๔๖, ๕๖), และให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้น (ม. ๒๘๒)

ประจวบกับเพื่อนพ้องน้องพี่เดือนตุลาฯพากันตบเท้าเข้าสู่อำนาจรัฐหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นปี รัฐบาลคิดใหม่-ทำใหม่กลับลำจากเดิม วางมาดป็อปปูลิสต์ ลงไปเปิบข้าวข้างทำเนียบฯกับสมัชชาคนจน สั่งเปิดเขื่อนปากมูล เสนอตัวให้เอ็นจีโอและองค์กรประชาชนมองเป็นแนวร่วม ไม่ใช่ศัตรูดังที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนตื่นตัวเคลื่อนไหวประชาธิปไตยกันมาก ความขัดแย้งในประเด็นปกป้องรักษาทรัพยากร ท้องถิ่นจากการบุกรุกเข้ามาแย่งชิงฉวยใช้ทำลายโดยกลุ่มทุนท้องถิ่นและทุนต่างชาติ ต่อต้านคอรัปชั่นหรือสัมปทานอยุติธรรม จึงรุมเร้าร้อนแรงถึงจุดปะทุ จวนเจียนจะระเบิดแตกหัก (“ส.ว. เอ็นจีโอยื่นหนังสือทักษิณ สางคดีฆ่า ๖ แกนนำอนุรักษ์สวล.,” มติชนรายวัน, ๑๑ ส.ค. ๒๕๔๔, น.๒๐)

แต่ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจกลับชะงักงันยืดเยื้อ ไม่ฟื้นตัวเรื้อรัง นายทุนอิทธิพลเอ็นพีแอลผู้เห็นโครงการร้อยล้านพันล้านสมัยเศรษฐกิจฟองสบู่ของตนทยอยล้มระเนระนาดคาตายังทำใจไม่ได้ จมไม่ลง เมื่อเหลือแหล่งหากินสุดท้ายอยู่โครงการเดียว สัมปทานเดียว นากุ้งเดียว บ่อขยะเดียว โรงโม่หินเดียว ป่าผืนเดียว ฯลฯ ที่พอจะแปรเป็นเงินสด ๆ มาหล่อเลี้ยงต่อลมหายใจธุรกิจตัวเองให้อยู่รอดทุกเดือน ทุกปี จึงเลือดเข้าตา ต้องเอาให้ได้ ใครขวาง – “ฆ่า!” (สัมภาษณ์พิเศษ วัชระพันธุ์ จันทรขจรเนชั่นสุดสัปดาห์, ๑๐: ๔๗๘ (๓๐ ก.ค.-๕ ส.ค. ๒๕๔๔), ๑๘-๒๐)

พร้อมกันนั้น บรรดานักเลือกตั้งก็ปรับตัวรับรัฐธรรมนูญใหม่ แปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ต่อยอด-หยั่งรากระบบเลือกตั้งธิปไตยลงในโครงสร้างการปกครองตนเองระดับท้องถิ่น เชื่อมเศรษฐกิจนอกระบบ (shadow economy ของเจ้าพ่อตั้วเฮียมาเฟียอิทธิพล ซึ่งมูลค่าสูงถึง ๕๑.๖ % ของจีดีพีประเทศไทยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตามการประเมินของ ดร. เฟรดริก ชไนเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Johannes Kepler ประเทศ ออสเตรเลีย) à เครือข่ายหัวคะแนนà องค์กรปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น (อบต. , สท. , สจ. ฯลฯ) à กลไกอำนาจรัฐจากส่วนกลางในพื้นที่ (ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอ, ผู้กำกับการตำรวจภูธรฯ, สรรพากรจังหวัด, ป่าไม้จังหวัด ฯลฯ) à เข้ากับมุ้งนักเลือกตั้งต่าง ๆ ในพรรคการเมืองและกลุ่มทุนใหญ่ในระดับชาติ (สัมภาษณ์พิเศษ “สังศิต พิริยะรังสรรค์ กระชากโฉมคนพันธุ์เถื่อนในคราบนักเลือกตั้งรุ่นใหม่,” เนชั่นสุดสัปดาห์, ๑๐: ๔๗๙ (๖-๑๒ ส.ค. ๒๕๔๔), ๑๘-๒๐)

สถาปนาเป็นสิ่งที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ทักไว้ว่า “รัฐมาเฟีย หรือ ดอน สตาโต้.....คือตั้วเฮียรัฐ หรือรัฐเป็นตั้วเฮียเสียเอง” โดยตั้วเฮียยึดรัฐไปแล้วทั้งกลไกและจิตวิญญาณ “กลไกของรัฐซึ่งอ่อนแออยู่แล้ว กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมุนตั้วเฮีย” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ดอน สตาโต้,” มติชนรายวัน, ๑ ธ.ค. ๒๕๔๓, น.๖)

ฆาตกรรมทางการเมืองที่เกิดถี่กระชั้นขึ้นจึงเป็นผลสะท้อนจากการที่ชาวบ้านมีอำนาจมาก ขึ้นและเข้าสู่เวทีการเมืองเต็มที่ขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น (ถ้าชาวบ้านไม่มีอำนาจและไม่เข้าสู่เวทีการเมือง ฆาตกรรมทางการเมืองก็จะไม่เกิดขึ้นแก่เขา) แล้วเข้าปะทะจังหน้าโดยตรงกับเครือข่ายอิทธิพลฝังรากลึกของนักเลือกตั้งกับโครงสร้างอำนาจรัฐตั้วเฮียที่กำลังก่อร่างสร้างตัว

๖ ศพนี้เป็นเพียงเพลงโหมโรง ฆาตกรรมทางการเมืองระดับท้องถิ่นจะยังดำเนินต่อตราบที่รัฐตั้วเฮียอันเป็น โครงสร้างแห่งความรุนแรงยังเดินเครื่องอยู่ในการเมืองไทย ทว่าถึงจะสังหารแกนนำไปสักกี่คน ความขัดแย้งก็จะไม่ยุติหรือหายวับไปเองดังใจผู้บงการ เพราะสงครามแย่งชิงทรัพยากรเป็นความจริง ทรัพยากรถูกแย่งจริง ผู้คนเดือดร้อนจริง ไม่ได้เกิดจากมือที่สามปลุกปั่น หรือหลงใหลทฤษฎีอุดมการณ์ความเชื่อ หากเป็นอาการปะทะเปลี่ยนทางโครงสร้างที่เลี่ยงไม่พ้นระหว่างแบบวิถีการผลิตเก่า ที่ตั้งอยู่บนฐานทรัพย์สินของกลางกับของส่วนตัวทับซ้อนกันและเป็นไปตามวัฒนธรรมชุมชน กับแบบวิถีการผลิตใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานทรัพย์สินเอกชนและเป็นไปตามกลไกตลาด โดยมีทรัพยากรเป็นเดิมพัน และชีวิตมนุษย์เจ้าของวิถีแบบเก่าที่ขวางอำนาจและกำไรเป็นเครื่องสังเวย

สังคมประเทศไทยที่เดินไปตามเส้นทางการพัฒนาแบบโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่จะต้องทะเลาะกันแน่ คำถามคือเราจะทะเลาะกันอย่างสันติผ่านกระบวนการทางการเมือง? หรือจะฆ่ากัน? ฆ่ากันแล้วจะหายขัดแย้งไหม? หรือจะกลับขัดแย้งรุนแรงกว่าเก่าและฆ่ากันไปไม่สิ้นสุด?

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง