“ขบวนการปลาแดก” กับการท้าทายคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง

fas fa-pencil-alt
ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น-โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
fas fa-calendar

“เราจะก่อตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงภาคประชาชน หรือ People Commission of the Mekong River (PCMR) ส่วนเอ็มอาร์ซีควรจะหมดหน้าที่และยุบตัวลงไปได้แล้ว” ครูตี๋หรือนิวัฒน์ ร้อยแก้วจากกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงรายกล่าวแสดงความเห็นในการประชุมของคนลุ่มน้ำโขงที่เมืองเกิ่นเทอเมืองหลวงของดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม   คำพูดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงขบวนการภาคประชาชนในลุ่มน้ำที่เติบโตขึ้นและ ก้าวข้ามพรมแดนไปโดยเฉพาะในหมู่คนรากหญ้าที่มีวัฒนธรรมการกินปลาแดกเป็นจุดเชื่อมร้อย

คณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Mekong River Commission (MRC - เอ็มอาร์ซี) ซึ่งกำลังจะจัดให้มีการประชุมสุดยอดขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้ที่หัวหิน ถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2538 ด้วยการร่วมมือกันของรัฐบาล 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่ร่วมกันผลิตพื้นที่ทางอำนาจขึ้นมาใหม่ด้วยการสร้างอนุภูมิภาคขึ้นมาครอบทับไปบนลุ่มน้ำอันเป็นพื้นที่ทางกายภาพที่มีพื้นที่ทางสังคมอันหลากหลายและซับซ้อน

อำนาจการควบคุมทางพื้นที่จากโครงข่ายความสัมพันธ์ของตัวแสดงภาครัฐจากทั้ง 4 ประเทศถูกถ่ายทอดลงไปยังเอ็มอาร์ซีที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตเครื่องมือในการควบคุมพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางความคิด และพื้นที่ทางสังคม แต่ความรู้หรือเครื่องมือที่เอ็มอาร์ซีผลิตเป็นความรู้ที่มีรากฝังอยู่ในองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงมิติเดียว ในขณะที่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงมีความหลากหลายทางประวัติศาสตร์   วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและนิเวศวิทยา

ครูตี๋วิพากษ์การทำงานของเอ็มอาร์ซีว่าขาดองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งที่ทำงานมาถึง 15 ปีแล้วและใช้งบประมาณไปมหาศาล แต่ผลิตความรู้ออกมาได้เพียงแค่ด้านเดียวซึ่งก็มักถูกเก็บไว้บนชั้นหนังสือในห้องสมุดหรือโต๊ะทำงานของผู้มีอำนาจตัดสินใจ “ถ้าเอาเงินงบประมาณเพียงเศษๆของที่เขาใช้ไปมาให้ภาคประชาชนทำ เราจะทำให้เขาเห็นว่าเราสร้างและรวบรวมองค์ความรู้ได้มากและครอบคลุมกว่าเขาเยอะ   นี่ไม่ใช่เพียงแค่คำพูดหรือความฝันแต่มันเป็นสิ่งที่เราได้ทำมาหลายปีแล้ว และมันก็ได้ก้าวพรมแดนของรัฐ-ชาติไปแล้ว”

การทำงานด้านวัฒนธรรมเป็นคำตอบของครูตี๋ในการผลิตและรวบรวมองค์ความรู้ดังกล่าว   มันเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทุกประเทศเพราะเป็นการทำงานของชาวบ้านที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ใครไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาลแต่เป็นการทำให้ประชาชนมีความรู้และ รักท้องถิ่นตัวเองซึ่งคนในหน่วยงานรัฐเองก็อยากมีและอยากรักเพราะส่วนมากแล้วพวกเขาก็เป็นคนที่นั่น

ผู้เขียนคิดว่าองค์ความรู้ดังกล่าวนอกจากจะมีความชอบธรรมทางอำนาจแล้วยังมีความประนีประนอมเพราะถูกสร้างขึ้นมาจากรากของสังคมมีมิติที่ครอบคลุม ไม่ใช่ความรู้แบบมิติเดียวที่ถูกสร้างและส่งลงมาจากข้างบนอย่างความรู้ของเอ็มอาร์ซีซึ่งมักก่อให้เกิดความขัดแย้งแม้แต่คนในท้องถิ่นตนเองที่ส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านและ ส่วนหนึ่งสวมบทบาทเป็นเจ้าหน้าผู้ควบคุมพื้นที่และรักษาอำนาจของรัฐ

“แผนที่ระบบนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงช่วงอำเภอเชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น จ.เชียงราย” ที่กลุ่มรักเชียงของและโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมมือกันทำถูกสร้างขึ้นมาโดยการผสมผสานกันของความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ท้องถิ่น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของหนึ่งองค์ความรู้ที่ขาดหายไปของเอ็มอาร์ซี

ในแผนที่แสดงให้เห็นระบบนิเวศพื้นบ้านกว่า 438 จุดตลอดความยาว 85 กิโลเมตรตามลำน้ำที่ได้จากการลงสำรวจพิกัดอย่างชัดเจนด้วยเครื่อง GPS แล้วนำมากำหนดจุดลงบนแผนที่ดาวเทียม Landsat ปี 2548 ผสมสีแบบสีธรรมชาติ 345: RGB ขนาดมาตรส่วน 1:40,000

นิเวศ 438 จุดดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 11 ระบบนิเวศพื้นบ้านตามที่ได้เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ใน “แม่น้ำโขงแม่น้ำแห่งชีวิตวัฒนธรรม: งานวิจัยจาวบ้าน” ซึ่งประกอบด้วย ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง และกว๊าน นอกจากนี้ยังมีอีก 4 ประเภทที่เพิ่มเติมเข้าไปคือ ก้อง พื้นที่กลางแม่น้ำ ลั้งหาปลา และเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยระบบนิเวศทุกจุดมีความรู้พื้นบ้านจากการวิจัยประกอบอยู่ไม่ว่าด้านประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ระบบนิเวศ สังคมและเศรษฐกิจ “หินทุกก้อนมีชื่อและความเป็นมา” ครูตี๋กล่าว

แผนที่นี้เป็นหลักฐานยืนยันถึงความไร้พรมแดนของวัฒนธรรม สังคมและระบบนิเวศที่มีอยู่มายาวนานซึ่งเป็นความรู้ที่เอ็มอาร์ซีไม่สามารถและ ไม่ต้องการที่จะเข้าถึง เป็นสิ่งชี้ว่าเขตพรมแดนที่ฝรั่งเศสได้ขีดกั้นไว้นั้นเป็นมรดกของความขัดแย้งที่แบ่งกั้นเราออกให้เป็น “คนอื่น” ตามแนวคิดรัฐ-ชาติสมัยใหม่

นพรัตน์ ละมุนเจ้าหน้าที่โครงการสื่อชุมชนลุ่มน้ำโขงกล่าวเสริมเรื่องการใช้แนวคิดทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมและระบบนิเวศมาสร้างแผนที่ของภาคประชาชนว่าถ้าเราสร้างให้ครบทั้งลุ่มน้ำจะแบ่งออกได้เป็น 7 เขตตามเขตอารยธรรมในอดีต เช่น เขตสุวรรณโคมคำ เขตศรีโคตรบูน และเขตเจนละ เป็นต้น

งานทางวัฒนธรรมยังมีในรูปกิจกรรมอื่นๆอีก เช่น การจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาซึ่งในปลายเดือนมีนาคมนี้จะมีพิธีเปิดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาบนแม่น้ำโขงสายหลักอย่างเป็นทางการ โดยมีความยาว 500 เมตรอยู่บริเวณพรมแดนอำเภอเชียงของของไทยและเมืองห้วยทรายของลาว อันถือเป็นเขตอภัยทานระหว่างประเทศแห่งแรกของไทยและลาว

การเดินทางไปเยี่ยมเยือนหรือการสื่อสารด้วยบทเพลงพื้นบ้านก็เป็นการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลตามวิถีของคนลุ่มน้ำที่ได้ผลดี ในประเทศลาวมีเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาหลายแห่งเกิดขึ้นจากการเดินทางไปมาหาสู่ของพี่น้องจากฝั่งไทย

อีกกิจกรรมหนึ่งคือ “งานวิจัยไทบ้าน” เป็นงานวิจัยโดยใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นที่มีชาวบ้านเป็นนักวิจัยและมีเอ็นจีโอเป็นผู้ช่วย มีหัวข้อการศึกษาที่หลากหลายต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ระบบนิเวศ พันธุ์ปลา สมุนไพร พืชอาหาร เครื่องมือหาปลา เกษตรริมน้ำ รวมไปถึงป่าไม้และสัตว์ป่า

งานวิจัยไทบ้านกำเนิดขึ้นที่ปากมูนของไทยจากแนวคิด “การเมืองเรื่องความรู้” (politics of knowledge) หลังจากนั้นก็ขยายตัวไปในหลายพื้นที่ได้แก่ งานวิจัยที่ราษีไศลโดยชาวบ้าน 36 หมู่บ้านจาก 3 จังหวัด งานวิจัยที่แม่น้ำสาละวินโดยชาวปกากญอ งานวิจัยที่แก่งเสือเต้นโดยชาวบ้านสะเอียบ งานวิจัยที่อำเภอเชียงของโดยชาวบ้าน 2 อำเภอ และงานวิจัยที่ลุ่มน้ำสงคราม รวมไปถึงที่แม่น้ำโขงในอำเภอปากชมที่เป็นการวิจัยไทบ้านครึ่งรูปแบบคือทำโดยใช้ความรู้ท้องถิ่นแต่ไม่ได้มีชาวบ้านเป็นผู้วิจัย

ปัจจุบันงานวิจัยนี้ได้ขยายเครือข่ายออกไปจากไทยสู่หลายประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ จีน กัมพูชาและเวียดนาม รวมทั้งลาวที่กำลังจะเริ่มลงมือปฏิบัติ ที่เขมรเรียกงานวิจัยนี้ว่า “ศาลาภูมิ”

ในการประชุมเสนอความก้าวหน้างาน “วิจัยไทบ้าน” ของชาวเวียดนามที่หมู่บ้านเมลินริมฝั่งแม่น้ำแดงไม่ไกลจากเมืองฮานอย เมื่อเดือนมกราคม 2551 ผู้เขียนซึ่งถูกเชิญไปร่วมฟังรู้สึกประทับใจกับการทำงานดังกล่าวเป็นอย่างมากเพราะเป็นการทำงานร่วมกันของชาวบ้านในกลุ่มหมู่บ้านหรือ “คอมมูน” ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเอ็นจีโอและหน่วยงานรัฐ

การเคลื่อนไหวของคนลุ่มน้ำโขงดังกล่าวเป็นพลังที่เชื่อมร้อยกันของคนที่มีวัฒนธรรมการกินปลาแดกเหมือนกัน อันมีอำนาจอันชอบธรรมหยั่งลึกอยู่ในหมู่บ้าน   มันเป็นรูปแบบหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (new social movement) ที่สร้างพื้นที่ทางสังคมของกลุ่มตนเองขึ้นมาหลังจากที่มันถูกครอบทับไว้อย่างอึดอัดโดยอำนาจของรัฐ

ปลาแดกหรือปลาร้าเป็นวัฒนธรรมทางอาหารที่พบได้ทั่วไปในลุ่มแม่น้ำโขงที่ผู้คนพึ่งพิงปลาเป็นอาหารหลัก คนลาวและคนอีสานเรียกมันว่าปลาแดก ส่วนภูมิภาคอื่นๆก็เรียกต่างกันไป เช่น คนพม่าเรียกว่า “งาปิ” คนมอญเรียกว่า “ทะแม่ง” คนเหนือของไทยเรียก “ปลาฮ่า” คนเขมรเรียกว่า “ประเฮาะ” ส่วนคนเวียดนามเรียก “หมำ”

ปลาแดกไม่ได้เป็นแต่เพียงเรื่องของการกินปลาแต่ยังมีความหมายในด้านอื่นๆอีก เช่น การสร้างหรือสะสมองค์ความรู้เรื่องนิเวศวิทยา การหาปลาและเครื่องมือหาปลา การปลูกข้าวที่เป็นวัตถุดิบของการทำปลาแดก ในพิธีกรรมทางพุทธและผีอาหารเป็นเครื่องสักการะสำคัญที่สามารถส่งผ่านข้ามแดนจากโลกหรือพื้นที่สามัญของมนุษย์ไปยังโลกของ “ผี” หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้   ในทางประวัติศาตร์ปลาแดกยังโยงไปถึงเส้นทางการค้าเกลือในภูมิภาค และการแลกเปลี่ยนสินค้าของผู้คน   ในมิติทางเพศสภาพโดยเฉพาะในสังคมชาวนาปลาแดกสะท้อนถึงบทบาทของผู้หญิงที่เป็นอำนาจการควบคุมมาจากพื้นที่ก้นครัว

รศ.ศรีศักดิ์  วัลลิโภดม ได้สรุปไว้ในคำนำของหนังสือประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง “วัฒนธรรมปลาแดก” ว่า “สิ่งที่ทำให้คนในสังคมชาวนา ดำรงอยู่ร่วมกันมาอย่างราบรื่นหลายศตวรรษนั้นมี 3 อย่าง คือ ข้าวและปลา ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องที่เสมอภาค และประเพณีพิธีกรรมในความเชื่อพุทธและผี   ซึ่งทั้งสามอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม”

ผู้เขียนคิดว่า “ขบวนการปลาแดก” จึงเป็นคำที่ใช้อธิบายการต่อสู้ของคนลุ่มน้ำดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็คล้ายๆกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆในโลก เช่น ขบวนการโอบกอด หรือ ขบวนการชิบโก้

 “ขบวนการปลาแดก” ถูกผนวกรวมอย่างชัดเจนมากขึ้นกับขบวนการเคลื่อนไหวในเชิงนโยบายที่เข้มแข็งบนฐานของข้อมูลทางวิชาการและการล๊อบบี้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ในนามของเครือข่ายนานาชาติที่ชื่อว่าพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition)

วันที่ 2 – 3 กุมภาพันธ์ 2553 เมืองเกิ่นเทอดินแดนปลายสุดของแม่น้ำโขงที่ทอดตัวมายาวไกลจากต้นน้ำในทิเบต ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกของคนลุ่มน้ำจากหลายประเทศไม่ว่าคนลาว ไทย เขมรและเวียดนาม ทั้งภาคประชาชน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ รวมทั้งภาครัฐของประเทศเจ้าภาพถึงความเป็นห่วงต่อสุขภาพแม่น้ำที่กำลังถูกทำลายลง

การประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของหลายองค์กรได้แก่ คณะกรรมการประชาชนจังหวัดเกิ่นเทอ คณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกิ่นเธอ เครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และออกแฟม ออสเตรเลีย

นอกจากการนำเสนอทางวิชาการที่เข้มข้นมีสาระแล้วการประชุมครั้งนี้ยังเป็นโอกาสดีในการประสานกันที่ชัดเจนขึ้นในหลายมิติ ด้วยการเห็นความสำคัญของ การเชื่อมประสานกันในทุกระดับการเคลื่อนไหวตั้งแต่ระดับรากหญ้า ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ รวมถึงการร่วมกันอย่างเป็นขบวนของหลายแนวคิด

ในการอภิปรายหลายคนจากเวียดนามเสนอความคิดเห็นว่าในการปกป้องแม่น้ำโขงเราไม่ควรแยกเจ้าหน้าที่รัฐออกเป็นศัตรูแต่ควรทำงานร่วมกัน หน่วยงานต่างๆจะเป็นเพื่อนที่ดีกับภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในเวียดนามเป็นการปกครองระบอบสังคมนิยมที่มีวิถีทางสังคมและการเมืองที่ต่างออกไปจะทำเหมือนประเทศไทยไม่ได้   คานห์เจ้าหน้าที่ของเครือข่ายแม่น้ำเวียดนามกล่าวว่าตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน และรัฐคือการทำงานขององค์กรของตนที่ก่อตั้งและ ทำงานด้วยความร่วมมือกันของชาวบ้าน เอ็นจีโอ นักวิชาการและหน่วยงานรัฐ

สดใส สร่างโศรกจากประเทศไทยเสนอความเห็นต่อที่ประชุมไว้อย่างน่าสนใจว่า “แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างทางการเมืองอันเป็นข้อจำกัดในการทำงานของแต่ละกลุ่มและการร่วมกันเป็นขบวนเดียวกัน   แต่เรามีสิ่งที่เหมือนกันที่จะเป็นจุดร่วมของคนทั้งลุ่มน้ำซึ่งก็คือการทำงานทางวัฒนธรรม”

ครูตี๋กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เราจะให้ฝรั่ง (เอ็มอาร์ซี) มาทำปลาแดกให้เรากินได้ยังไง ในเมื่อพวกเขาไม่รู้เรื่องปลาแดก เราต้องทำปลาแดกของเราเอง”

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง