ไทย-พม่า เตรียมลงนามเริ่มต้นเพื่อร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนสาละวิน

fas fa-pencil-alt
สำนักข่าวไทย
fas fa-calendar
6 ธันวาคม 2548

กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. - บมจ.กฟผ.เตรียมลงนามข้อตกลงเบื้องต้น หรือ เอ็มโอยู กับการไฟฟ้าพม่า เพื่อร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ไทยและสร้างรายได้แก่พม่า โดยเริ่มจากเขื่อนฮัดจ์ยี และขยายไปเขื่อนอื่น ๆ รวม 5 เขื่อน กำลังผลิตรวมกว่า 10,000 เมกะวัตต์

นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ กฟผ.จะลงนามเอ็มโอยู กับการไฟฟ้าแห่งพม่า เพื่อร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนฮัดจ์ยี ในพม่า โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ 2 ประเทศเป็นประธาน โดยเขื่อนดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ อยู่ริมชายแดนไทยและพม่า ช่วงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งหลังลงนาม กฟผ.ก็จะหาพันธมิตรมาร่วมทุนก่อสร้าง ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยขณะนี้จีนให้ความสนใจที่จะร่วมทุน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 - 6 ปี จึงจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศที่จะได้กระแสไฟฟ้าเสริมสร้างความมั่นคง และยังได้ค่าไฟฟ้าในอัตราต่ำ เพราะไฟฟ้าพลังน้ำนับเป็นต้นผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น ๆ

นอกจากนี้ ในอนาคตไทยและพม่าจะมีความร่วมมือที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำสาละวินอีกหลายแห่ง โดยคาดว่าแห่งที่ 2 จะอยู่ที่เขื่อนตะนาวศรี กำลังผลิตประมาณ 600 เมกะวัตต์ ซึ่งติดกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะทำให้มีไฟฟ้ามาป้อนให้กับโครงการเหล็ก ต้นน้ำที่เครือสหวิริยามีแผนจะลงทุน และเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในภาคใต้

“ จีนให้ความสนใจจะเข้าร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งหากเข้ามาจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างน่าจะต่ำลง เนื่องจากจีนได้ก่อสร้างเขื่อนทีจอร์จ ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำแยงซีเกียงเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและใกล้สร้างเสร็จแล้วจะ ได้ย้ายอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้กับเขื่อนสาละวินได้ แต่จะร่วมทุนกับจีนหรือไม่ก็ขึ้นกับเงื่อนไขการเจรจาว่าจะตกลงได้หรือไม่ ” นายไกรสีห์ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและพม่าได้หารือร่วมกันเพื่อจะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำสาละวิน ที่นอกจากจะมีเป้าหมายขายไฟฟ้าให้กับ 2 ประเทศแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าป้อนให้กับประเทศต่าง ๆ ในโครงการอาเซียนกริดอีกด้วย โดยจากการศึกษาเบื้องต้น สามารถสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 10,000 เมกะวัตต์

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง