เครื่องมือหาปลา : ภูมิปัญญาคนหาปลาแม่น้ำของ
แม่น้ำโขง หรือที่ชุมชนริมสายน้ำเรียกว่า แม่น้ำของ เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดสายหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ แม่น้ำสายนี้ใช้ร่วมกัน ๖ ประเทศตั้งแต่ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา แม่น้ำของช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างไทย-ลาวแล้ว แม่น้ำของยังเป็นแม่น้ำที่ชุมชนริมฝั่งของได้อาศัยพึ่งพามาหลายชั่วอายุคน ชุมชนริมฝั่งของทั้งสองฝั่งได้อาศัยแม่น้ำสายนี้ทั้งทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง และการหาปลาในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำงานในไร่ในนา และคนอีกมายที่หาปลาเป็นอาชีพหลัก
คนหาปลาในแม่น้ำของบางคนใช้เวลาว่างเพื่อประดิษฐ์เครื่องมือในการหาปลาของตัวเอง เช่น อุ้ยเสาร์ ระวังศรี จะใช้ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการหาปลามาผลิตเครื่องมือหาปลาหรือซ่อมแซม เครื่องมือหาปลาประเภทเบ็ดขนาดต่างๆ นอกจากคนหาปลาจะรู้เรื่องการใช้เครื่องมือในการหาปลาแล้วคนหาปลายังได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ไปสู่คน ที่ไม่รู้รุ่นลูกรุ่นหลานอีกต่อไปด้วยทางหนึ่ง การถ่ายทอดความรู้นั้นก็มีทั้งการปฏิบัติการจริงคือการใช้เครื่องมือประเภทนั้นๆ
เครื่องมือหาปลาในแม่น้ำโขง สายสัมพันธ์คนกับแม่น้ำ (ข้อมูลจากร่างรายงาน การวิจัยจาวบ้านเชียงของ)
เครื่องมือหาปลาในแม่น้ำโขงมิได้หมายถึงสิ่งของที่ทำไว้เพื่อใช้ในการจับปลาเท่านั้น แต่เครื่องมือหาปลายังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้ง ในชุมชนและนอกชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกผันกับแม่น้ำ การหาปลาจึงก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างพี่น้องในชุมชนและ ต่างชุมชนจนเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของคนหาปลา
ตัวอย่างเช่น การไหลมองปลาบึก อุ้ยซ้อ จินะราช ผู้รอบรู้เรื่องเครื่องมือจับปลาบึก กล่าวว่า “จะจับปลาบึกแต่ละครั้งต้องช่วยกันหลายคน ๓ - ๔ คนขึ้นไป จับปลาได้แล้วก็แบ่งๆ กัน ไปจับปลาบึกแต่ละครั้งคนที่ไม่รู้วิธีก็ได้เรียนจากคนที่รู้ โดยมากก็เป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น”
เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งคือ การ ลากจะคาก โดยการลากจะคากในแต่ละครั้งก็จะใช้คนช่วยกัน ๓ คนขึ้นไป คนที่ไปลากจะคากด้วยกันส่วนมากก็จะเป็นคนที่รู้จักกัน เป็นเพื่อนกันหรือญาติพี่น้อง เมื่อได้ปลามาก็จะมีการแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม ไม่มีปัญหาในการแบ่งปันปลากัน
จากงานวิจัยไทบ้านซึ่งศึกษาโดยชาวบ้านคนหาปลาในอ.เชียงของและอ.เวียงแก่น จ.เชียงราย พบว่า เครื่องมือหาปลาที่ใช้ในแม่น้ำของบริเวณเชียงของและเวียงแก่นมีมากถึง ๖๙ ชนิด เครื่องมือเหล่านี้แบ่งออกเป็นประเภทตามลักษณะการใช้เครื่องมือดังนี้
เครื่องมือประเภทดักปลา ใช้โดยวางเครื่องมือเอาไว้ในบริเวณที่สังเกตว่าปลาอาจเดินทางผ่าน หรือเป็นแหล่งที่หากิน รวมทั้งเป็นแหล่งที่จะมีการวางไข่ของปลา พบเครื่องมือประเภทนี้ทั้งหมด ๓๒ ชนิด ได้แก่ ไซลั่น โต่ง- ต่วง โพงพาง ไซหัวหมู คั่ง ตุ้มปลาเอี่ยน บั้งแลน หิง จ๋ำ แซะ โอน-อวน ซ่อล้อ มองปลิว มองไหล มองเทียน โต่งเต้น ลี้น้ำหาย ไซสองงา มองหว่า จิบ ดาง ไซกุ้ง ไซหลอด ตุ้มปลาดุก มองยัง เออ มองปลาบึก กระตั้มใส่ปลา สอด ไซหัวหมู แซ่กุ้ง มองหว่า
เครื่องมือหาปลาเหล่านี้บางชนิดก็ใช้เหยื่อในการหาปลาด้วย แต่บางชนิดก็ไม่ใช้ เช่น ตุ้มปลาเอี่ยน (ปลาไหล) ซึ่งเป็นรูปทรงกลมด้านล่างจะกว้างกว่าด้านบนและมีงาอยู่ตรงด้านล่าง เวลาใช้คนหาปลาก็จะเอาเครื่องมือนี้ไปวางไว้ตามหนองในทุ่งนาหรือริมห้วยที่มีโคลนแฉะ ก่อนจะวางเครื่องมือคนหาปลาจะเอาเหยื่อคือ ไส้เดือน หอยหรือปูเน่า ใส่เข้าไปในด้านในของงาที่ยาวลงมาในตัวตุ้ม คนหาปลาบางคนก็มีความเชื่อว่า ถ้าเอามือจับเหยื่อแล้วปลาก็จะไม่เข้าไปกินเหยื่อ ลักษณะพิเศษของตุ้มปลาเอี่ยนคือจะมีงาอีกตัวหนึ่งที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งจะเป็นทางเข้าของปลาเอี่ยนพอเข้าไปแล้วก็จะออกมาไม่ได้ เพราะด้านในของงานั้นจะมีความกว้างน้อยกว่าด้านที่ปลาเข้า ลุงเสาร์ บอกว่า ” ถ้าวางตุ้มบ่เป็นก็บ่ได้ปลาเลย ถ้าวางเป็นก็ได้ปลาเอี่ยนเป็น ๑๐ ตัว ตุ้มนี้ใช้จับปลาเอี่ยนอย่างเดียวเลย บ่จับปลาอื่น ”
เครื่องมือประเภทที่ใช้ล่อปลา ๑๗ ชนิดได้แก่ เบ็ดน้ำเต้า เบ็ดคิด เบ็ดข้าม เบ็ดปลาเลิม เบ็ดแขวน เบ็ดไก เบ็ดค่าว เบ็ดล่ามลอย เบ็ดโจ้ เบ็ดระแวง เบ็ดค่าวข้าง เบ็ดแขวน เบ็ดน็อค เบ็ดเด้ง เบ็ดมาบ เบ็ดปลาเอี่ยน เบ็ดล้อ
เครื่องมือประเภทนี้ส่วนมากจะใช้เหยื่อ ซึ่งเหยื่อก็มีทั้งลูกปลา ไส้เดือน แมงแม้ (ด้วงไม้ไผ่) เครื่องมือประเภทนี้บางชนิดก็สูญหายไปแล้ว เช่น เบ็ดน้ำเต้า เบ็ดปลาเลิม
เครื่องมือที่ใช้จับปลาโดยวิธีการสังเกตว่าบริเวณใดจะมีปลาอาศัยอยู่จึงใช้เครื่องมือเหล่านี้ในบริเวณนั้นๆ การใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้ต้องอาศัยเทคนิคและความรู้ประสบการณ์ โดยไม่ต้องใช้เหยื่อแต่อย่างใด เครื่องมือที่ใช้จับปลามีทั้งหมด ๑๓ ชนิด ได้แก่ แหถี่ แหห่าง ซ้อน สุ่ม ลิม หิง จ๋ำ แซะ เคาะบอด แหส้า ลากจะคาก ลากวอด แหป่อง
เครื่องมือเหล่านี้บางชนิดก็หายไปแล้วและไม่มีใครจำได้แล้วว่า การทำเครื่องมือหาปลาชนิดนี้ทำกันอย่างไร เครื่องมือหาปลาที่ว่าคือ แห่ป่อง และมองหว่า
การหายไปของเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน
เครื่องมือหาปลาชนิด จากการยืนยันของคนหาปลาบางคน เช่น ลุงเสาร์ และลุงสม อินโน บอกกล่าวตรงกันว่า ระบบนิเวศน์ในแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อนมาก ปลาในแม่น้ำของมีจำนวนลดลงไป ทำให้เครื่องมือหาปลาบางชนิดเลิกใช้ไปแล้ว แต่เครื่องมือหาปลาบางชนิดที่เลิกใช้เพราะมีเครื่องมือแบบใหม่บางตัวก็เข้ามาแทนเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน คนหาปลาจึงเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องมือหาปลาไปด้วย ในจำนวนเครื่องหาปลาทั้ง ๖๙ ชนิดที่สำรวจพบโดยนักวิจัยชาวบ้านนั้นมีเครื่องมือหาปลาที่เลิกใช้ไปแล้ว ๗ ชนิดคือ
เบ็ดน้ำเต้า ทำมาจากผลบวบที่ตากจนแห้งแล้วเอามาทำเป็นทุ่นลอย มีเชือกผูกไว้ข้างใต้ติดกับตะขอเบ็ด เหยื่อคือลูกมะเดื่อสุกสีแดงทาที่ผลน้ำเต้า เพื่อให้ส่งกลิ่นล่อปลา แล้วเอาเบ็ดน้ำเต้าไปลอยไว้ในน้ำบริเวณที่น้ำนิ่งๆ ในแม่น้ำโขง เช่น คก หลง ลูกมะเดื่อจะล่อปลามากินเบ็ด
คนหาปลาเล่าว่า “แต่ก่อนใช้เบ็ดนี้เริ่มตั้งแต่เดือน ๗ ใช้จับปลาปลาโมง ปลาเลิม ที่กินทั้งพืชและซากสัตว์ ตอนนี้ไม่เห็นแล้ว น้ำของมีสิ่งรบกวนมาก เรือใหญ่ๆ วิ่งกันเยอะ ปลาหายหมด”
การลากจะคาก อ้ายเงิน คนหาปลาเล่าว่า “ใช้เชือกเส้นเดียว แต่ก่อนเชือกไม่มีต้องใช้ปอมาฟั่นเป็นเชือก ได้เชือกแล้วก็เอาตอกไม้ไผ่เหลามามัดเข้ากับเชือกอีกที มัดจะมัดห่างกันซัก ๑ คืบ เวลา ใช้ก็ เอาจะคากไปปล่อยตามหาดหิน ต้องช่วยกันปล่อยอย่างน้อย ๓ คน นั่งกันอยู่บนเรือคอยปล่อยจะคากให้ไหลไปกับน้ำ อีกคนหนึ่งจับแล้วค่อยๆ ดึงเข้ามาเป็นครึ่งวงกลม คนที่อยู่บนฝั่งก็จะกางแหออกให้กว้างแล้วเอาเศษไม้ยัดไว้ในแห พอคนที่ลาก ลากมาจนถึ่งฝั่งแล้วก็จะวางแหครอบลง แล้วเอาแหขึ้นจับเอาปลา ใช้ช่วงเดือน ๕-๖ ทุกปี จับปลาได้ทุกอย่าง ปลาเพี้ย ปลาบอก”
เบ็ดปลาเลิม ลุงสม อินโน คนหาปลาบ้านดอนที่ เล่าว่า เป็นเบ็ดพิเศษ ทำมาจากเหล็กเส้นที่มีเส้นผ่าสูญกลางประมาณ ๕ มิลลิเมตร “แต่ก่อนเหล็กนี้เอามาจากข้อเหล็กที่ผูกกับขานักโทษที่ถูกประหารชีวิตแล้ว เอาข้อเหล็กมาตีเป็นเส้นตรงแล้วขึ้นโครงให้เหมือนเบ็ด ด้านบนผูกติดกับเชือก ปลาเลิมมันตัวใหญ่ คล้ายๆ กับปลาบึก เบ็ดใหญ่ คันเบ็ด ต้องใช้ไม้ไผ่ ๓-๔ ลำ เหยื่อเป็นลูกปลาตัวประมาณ ๑ กิโล ตอนนี้ปลาเลิมไม่ค่อยมี เบ็ดก็ไม่ได้ใช้แล้ว”
ลี้น้ำหาย ใช้ใส่ในที่สูงและมีน้ำไหลตกลงมา ด้านใต้สานขัดแตะไม่ห่างมากใส่ไว้ด้านใต้ตัวคั่ง เนื่องจากลี้ชนิดนี้ต้องใส่ไว้บนที่สูงและมีน้ำตกลงมาแล้วน้ำหายไป แทนที่น้ำจะไหลไปเมื่อมีลี้มากั้นน้ำก็ไม่สามารถที่จะไหลไปได้มากจึงเรียกว่า ลี้น้ำหาย
ลี้น้ำหายใช้จับปลาที่อาศัยอยู่ในลำห้วยในเดือน ๑๑ – ๑๒ เช่น ปลาบอก เป็นต้น
ลุงเสาร์ บอกว่า “ก่อนจะใส่ลี้ต้องเก็บเศษไม้ที่จมอยู่ในน้ำออกให้หมด ถ้าเราเดินลงไปไม่มีอะไรจะมาเกี่ยวขาได้ เวลาลงไปใจลี้ต้องเอาปืนมะแต๊บไปด้วย งูมันจะมากินปลาในลี้ ต้องเอาปืนยิงเพื่อไล่งูให้หนีไปก่อนคิดว่าในประเทศไทยไม่มีคนใช้แล้ว เห็นมีอยู่ที่ห้วยมะเขือ บ้านน้ำเกี๋ยง ฝั่งลาว”
ส่วนเครื่องมืออีก ๒ ชนิด คือ แหป่อง และมองหว่า ได้เลิกใช้มานานแล้ว จนไม่มีใครสามารถอธิบายลักษณะและวิธีการใช้ได้
นอกจากจะใช้เพื่อหาปลาแล้ว เครื่องมือหาปลายังได้แบ่งสิทธิในการเข้าถึงเครื่องมือหาปลาไว้อย่างชัดเจน เครื่องมือหาปลาบางชนิด เช่น จ๋ำ (สะดุ้ง) หิง (สวิง) แซะ ซึ่งใช้ตามริมห้วย แม่น้ำสาขา หรือทุ่งนา และริมฝั่งแม่น้ำโขง ผู้ที่เข้ามามีบทบาทในการทำและใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้คือกลุ่มผู้หญิงที่สร้างและใช้เครื่องมือด้วยตนเอง
ปลาที่จับตามห้วย หนอง โดยผู้หญิงที่ใช้เครื่องมือข้างต้น เป็นปลาชนิดที่มีขนาดเล็ก และจับเพื่อเป็นอาหารของครอบครัวเป็นหลัก หากเหลือก็จะขายเป็นรายได้เข้าครอบครัวหรือแปรรูปขาย เช่น นำมาแอ๊บ เป็นห่อขายในชุมชน
บทบาทของผู้หญิงในเรื่องเครื่องมือและการหาปลาจึงเกี่ยวข้องกับ ความมั่งคงทางอาหารของครอบครัวในชุมชนสองฝั่งของไปด้วย
เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านยังมีความเชื่ออยู่ด้วย อุ้ยซ้อ จินะราช คนหาปลาที่รอบรู้เรื่องเครื่องมือจับปลาบึก กล่าวว่า “ คนหาปลาบึกรู้เรื่องเครื่องมือแล้วต้องรู้เรื่องพิธีกรรมในการจับปลาบึกด้วย คนหาปลาทุกคนก่อนลงจับปลาบึกต้องบวงสรวงเครื่องมือของตัวเอง บวงสรวงเจ้าที่ บนบานให้จับปลาบึกได้ จับปลาบึกได้แล้วก็ต้องแก้บน เอาไก่ตัวเป็นๆ ฟาดไปตามเครื่องมือหาปลาแล้วเอาไก่ไปต้ม แล้วเอากลับมาทำพิธีแก้บนอีกครั้ง ”
เครื่องมือหาปลายังเป็นสิ่งเชื่อมร้อยผู้คนในชุมชนเข้าหากันและพึ่งพาอาศัยกัน เห็นได้ชัดเจนจากการไหลมองปลาบึก ซึ่งทำคนเดียวไม่ได้ต้องทำหลายคน เมื่อได้ปลาแล้วคนหาปลาก็จะแบ่งปลา หรือเงินที่ได้จากการขายปลาอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย
แม่น้ำเปลี่ยนแปลง เครื่องมือหาปลาหายไป
มีเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านหลายชนิดในสมัยก่อนที่ทำมาจากไม้ไผ่หรือวัสดุที่หาได้จากชุมชน แต่ปัจจุบันเครื่องมือเหล่านี้ถูกแทนด้วยวัสดุอย่างอื่นไปแล้ว เช่น มอง (ตาข่าย) จับปลาบึก ซึ่งทำมาจากปอที่นำมาฟั่นเป็นเชือกเพื่อสานเป็นมอง ซึ่งมองแบบนี้ก็เข้ามาแทนที่แหลมเหล็กที่ต่อกับด้ามไม้ไผ่และ ผูกไว้ด้วยเชือกซึ่งเป็นเครื่องมือในการจับปลาบึกในอดีต และมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาถึงมองที่ทำจากเชือกไนล่อนอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนเบ็ดน้ำเต้าก็ถูกแทนที่ด้วยเบ็ดฝรั่ง
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายประการ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของสายน้ำ อ้ายเงิน พรานปลาบ้านผากุบเล่าว่า “เดี๋ยวนี้เรือจีนเยอะ ปลาบ่ค่อยมี น้ำก็ขึ้นๆ ลงๆ เขาว่าข้างบนมีเขื่อน ปลาหายไป เครื่องมือก็ใช้ยากขึ้น“
คนหาปลาบางคนก็บอกว่า “ ที่ต้องเปลี่ยนเครื่องมือหาปลาให้ทันสมัย เพราะตอนนี้หาปลาเป็นอาชีพไปแล้ว เราไม่มีที่ดิน จับปลาขายเพื่อเลี้ยงตัวเองเลี้ยงลูกเมียได้พออยู่พอกิน เปลี่ยนเครื่องมือหาปลาเพื่อให้จับปลาได้มากขึ้นอีกหน่อย ” มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น คนหาปลาที่บ้านปากอิงใต้ แหล่งหาปลาที่ใหญ่ที่สุดในเขตนี้ ซึ่งแต่ก่อนเคยใช้มองผืนเดียว แต่ปัจจุบันเครื่องมือหาปลาเหล่านี้ก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ คนหาปลาบางคนก็มีการใช้มอง ๒ ผืน หรือ บางคนก็ใช้ ๓ ผืน นำมาเย็บซ้อนกันให้เป็นผืนเดียว ถึงกระนั้นช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมาที่น้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติ ก็ทำให้หลายคนไม่มีปลาติดมือกลับบ้านเลยแม้แต่ตัวเดียว
“ช่วงแล้งที่น้ำของขึ้นๆ ลงๆ ปลาก็บ่ออก จับบ่ได้ซักตัว ช่วงนี้น้ำปกติแล้วก็จับได้มากหน่อย” หนึ่งในคนหาปลาที่ปากอิงเล่า
อ้ายสุขสันต์ ธรรมวงค์ คนหาปลาบ้านหาดบ้ายเล่าว่า “ อ้ายเคยคิดนะ ว่าอยากจะเก็บรักษาเครื่องมือหาปลาที่เคยใช้ในน้ำของไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้เห็น ได้เรียนรู้ถึงพัฒนาการของมัน แต่คิดไปแล้วจะเป็นจริงหรือเปล่าไม่รู้ ตอนนี้ลูกหลานในหมู่บ้านบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปลาที่กินอยู่เรียกว่าปลาอะไร ใช้เครื่องมืออะไรจับ ยิ่งตอนนี้จับปลาก็ยากขึ้น เครื่องมือพวกนี้ก็ค่อยๆ หายไป เสียดาย เคยใช้มาแต่ปู่แต่ย่า ”
แม้ความคิดของเขาจะยังไม่เป็นจริง แต่วันนี้เขายังคงเป็นคนหาปลาที่ใช้เครื่องมือหาปลาแบบพื้นบ้านอยู่เช่นเดิม ยังคงเป็นคนหาปลาที่รอบรู้เรื่องการทำและการใช้เครื่องมือ รวมทั้งมีความรู้ในเรื่องของปลา พื้นที่ในการหาปลา
แต่ความรู้เหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้อย่างไร ในเมื่อภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นยังคงถูกมองข้าม ถูกมองว่าเป็นเพียงความรู้ของชาวบ้าน ของคนไม่รู้หนังสือ หลักสูตรการศึกษาเองก็เขียนขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งแล้วนำมาใช้กับคนทั้งหมดของประเทศ หลักสูตรสำเร็จรูปเช่นนี้จำกัดการเรียนรู้ของคนท้องถิ่นในเรื่องของรากเหง้าตนเอง
ยิ่งในวันนี้ที่สายน้ำของถูกคลื่นการพัฒนาถาโถม ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดแก่งเพื่อเดินเรือพาณิชย์ หรือการกั้นน้ำสร้างเขื่อน วันนี้คนหาปลา เครื่องมือหาปลา และความรู้พื้นบ้านเหล่านี้ก็กำลังจะเลือนหายไป
ในอนาคตเราอาจเห็นเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านกลายเป็นเพียงเครื่อง ประดับที่ห้อยอยู่ตามร้านอาหารหรือในผับเพื่อชีวิตเท่านั้นเอง