“เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน: ภูมิปัญญาลุ่มน้ำของ”
แม่น้ำโขง หรือที่ชุมชนริมสายน้ำเรียกว่า แม่น้ำของ เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดสายหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ แม่น้ำสายนี้ใช้ร่วมกัน ๖ ประเทศตั้งแต่ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา แม่น้ำของช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างไทย-ลาวแล้ว แม่น้ำของยังเป็นแม่น้ำที่ชุมชนริมฝั่งของได้อาศัยพึ่งพามาหลายชั่วอายุคน ชุมชนริมฝั่งของทั้งสองฝั่งได้อาศัยแม่น้ำสายนี้ทั้งทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งและการหาปลาในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำงานในไร่ในนา และคนอีกมายที่หาปลาเป็นอาชีพหลัก
คนหาปลาในแม่น้ำของบางคนใช้เวลาว่างเพื่อประดิษฐ์เครื่องมือในการหาปลาของตัวเอง เช่น อุ้ยเสาร์ ระวังศรี จะใช้ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการหาปลามาผลิตเครื่องมือหาปลาหรือซ่อมแซมเครื่องมือหาปลาประเภทเบ็ดขนาดต่างๆ นอกจากคนหาปลาจะรู้เรื่องการใช้เครื่องมือในการหาปลาแล้วคนหาปลายังได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ ไปสู่คนที่ไม่รู้รุ่นลูกรุ่นหลานอีกต่อไปด้วยทางหนึ่ง การถ่ายทอดความรู้นั้นก็มีทั้งการปฏิบัติการจริงคือการใช้เครื่องมือประเภทนั้นๆ
เครื่องมือหาปลาในแม่น้ำโขง สายสัมพันธ์คนกับแม่น้ำ
เครื่องมือหาปลาในแม่น้ำโขงมิได้หมายถึงสิ่งของที่ทำไว้เพื่อใช้ในการจับปลาเท่านั้น แต่เครื่องมือหาปลายังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งในชุมชนและนอกชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกผันกับแม่น้ำ การหาปลาจึงก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างพี่น้องในชุมชนและต่างชุมชนจนเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของคนหาปลา
ตัวอย่างเช่น การไหลมองปลาบึก อุ้ยซ้อ จินะราช ผู้รอบรู้เรื่องเครื่องมือจับปลาบึก กล่าวว่า “จะจับปลาบึกแต่ละครั้งต้องช่วยกันหลายคน ๓ - ๔ คนขึ้นไป จับปลาได้แล้วก็แบ่งๆ กัน ไปจับปลาบึกแต่ละครั้งคนที่ไม่รู้วิธีก็ได้เรียนจากคนที่รู้ โดยมากก็เป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น”
เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งคือ การลากจะคาก โดยการลากจะคากในแต่ละครั้งก็จะใช้คนช่วยกัน ๓ คนขึ้นไป คนที่ไปลากจะคากด้วยกันส่วนมากก็จะเป็นคนที่รู้จักกัน เป็นเพื่อนกันหรือญาติพี่น้อง เมื่อได้ปลามาก็จะมีการแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม ไม่มีปัญหาในการแบ่งปันปลากัน
จากงานวิจัยไทบ้านซึ่งศึกษาโดยชาวบ้านคนหาปลาในอำเภอเชียงของและอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย พบว่า เครื่องมือหาปลาที่ใช้ในแม่น้ำของบริเวณเชียงของและเวียงแก่นมีมากถึง ๗๑ ชนิด เครื่องมือเหล่านี้แบ่งออกเป็นประเภทตามลักษณะการใช้เครื่องมือดังนี้
เครื่องมือประเภทดักปลา ใช้โดยวางเครื่องมือเอาไว้ในบริเวณที่สังเกตว่าปลาอาจเดินทางผ่าน หรือเป็นแหล่งที่หากิน รวมทั้งเป็นแหล่งที่จะมีการวางไข่ของปลา พบเครื่องมือประเภทนี้ทั้งหมด ๓๔ ชนิด ได้แก่ ไซลั่น โต่ง- ต่วง โพงพาง ไซหัวหมู คั่ง ตุ้มปลาเอี่ยน บั้งแลน หิง จ๋ำ แซะ โอน-อวน ซ่อล้อ มองปลิว มองไหล มองเทียน โต่งเต้น ลี้น้ำหาย ไซสองงา มองหว่า จิบ ดาง ไซกุ้ง ไซหลอด ตุ้มปลาดุก มองยัง เออ มองปลาบึก กระตั้มใส่ปลา สอด ไซหัวหมู แซ่กุ้ง มองหว่า นาม
เครื่องมือหาปลาเหล่านี้บางชนิดก็ใช้เหยื่อในการหาปลาด้วย แต่บางชนิดก็ไม่ใช้ เช่น ตุ้มปลาเอี่ยน (ปลาไหล) ซึ่งเป็นรูปทรงกลมด้านล่างจะกว้างกว่าด้านบนและมีงาอยู่ตรงด้านล่าง เวลาใช้คนหาปลาก็จะเอาเครื่องมือนี้ไปวางไว้ตามหนองในทุ่งนาหรือริมห้วยที่มีโคลนแฉะ ก่อนจะวางเครื่องมือคนหาปลาจะเอาเหยื่อคือ ไส้เดือน หอยหรือปูเน่า ใส่เข้าไปในด้านในของงาที่ยาวลงมาในตัวตุ้ม คนหาปลาบางคนก็มีความเชื่อว่า ถ้าเอามือจับเหยื่อแล้วปลาก็จะไม่เข้าไปกินเหยื่อ ลักษณะพิเศษของตุ้มปลาเอี่ยนคือจะมีงาอีกตัวหนึ่งที่อยู่ด้านล่างซึ่งจะเป็นทางเข้าของปลาเอี่ยนพอเข้าไปแล้วก็จะออกมาไม่ได้ เพราะด้านในของงานั้นจะมีความกว้างน้อยกว่าด้านที่ปลาเข้า ลุงเสาร์ บอกว่า ”ถ้าวางตุ้มบ่เป็นก็บ่ได้ปลาเลย ถ้าวางเป็นก็ได้ปลาเอี่ยนเป็น ๑๐ ตัว ตุ้มนี้ใช้จับปลาเอี่ยนอย่างเดียวเลย บ่จับปลาอื่น”
เครื่องมือประเภทที่ใช้ล่อปลา ๑๗ ชนิดได้แก่ เบ็ดน้ำเต้า เบ็ดคิด เบ็ดข้าม เบ็ดปลาเลิม เบ็ดแขวน เบ็ดไก เบ็ดค่าว เบ็ดล่ามลอย เบ็ดโจ้ เบ็ดระแวง เบ็ดค่าวข้าง เบ็ดแขวน เบ็ดน็อค เบ็ดเด้ง เบ็ดมาบ เบ็ดปลาเอี่ยน เบ็ดล้อ สะเบ็ง
เครื่องมือประเภทนี้ส่วนมากจะใช้เหยื่อ ซึ่งเหยื่อก็มีทั้งลูกปลา ไส้เดือน แมงแม้ (ด้วงไม้ไผ่) เครื่องมือประเภทนี้บางชนิดก็สูญหายไปแล้ว เช่น เบ็ดน้ำเต้า เบ็ดปลาเลิม
เครื่องมือที่ใช้จับปลาโดยวิธีการสังเกตว่าบริเวณใดจะมีปลาอาศัยอยู่จึงใช้เครื่องมือเหล่านี้ในบริเวณนั้นๆ การใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้ต้องอาศัยเทคนิคและความรู้ประสบการณ์ โดยไม่ต้องใช้เหยื่อแต่อย่างใด เครื่องมือที่ใช้จับปลามีทั้งหมด ๑๔ ชนิด ได้แก่ แหถี่ แหห่าง ซ้อน สุ่ม ลิม หิง จ๋ำ แซะ เคาะบอด แหส้า ลากจะคาก ลากวอด แหป่อง กวัก
เครื่องมือเหล่านี้บางชนิดก็หายไปแล้วและไม่มีใครจำได้แล้วว่าการทำเครื่องมือหาปลาชนิดนี้ทำกันอย่างไร เครื่องมือหาปลาที่ว่าคือ แห่ป่อง และมองหว่า
การหายไปของเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน
เครื่องมือหาปลาชนิดจากการยืนยันของคนหาปลาบางคน เช่น ลุงเสาร์ และลุงสม อินโน บอกกล่าวตรงกันว่า ระบบนิเวศน์ในแม่น้ำของเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อนมาก ปลาในแม่น้ำของมีจำนวนลดลงไป ทำให้เครื่องมือหาปลาบางชนิดเลิกใช้ไปแล้ว แต่เครื่องมือหาปลาบางชนิดที่เลิกใช้เพราะมีเครื่องมือแบบใหม่บางตัวก็เข้ามาแทนเครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน คนหาปลาจึงเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องมือหาปลาไปด้วย ในจำนวนเครื่องหาปลาทั้ง ๗๑ ชนิดที่สำรวจพบโดยนักวิจัยชาวบ้านนั้นมีเครื่องมือหาปลาที่เลิกใช้ไปแล้ว ๑๐ ชนิดคือ
เบ็ดน้ำเต้า ทำมาจากผลบวบที่ตากจนแห้งแล้วเอามาทำเป็นทุ่นลอย มีเชือกผูกไว้ข้างใต้ติดกับตะขอเบ็ด เหยื่อคือลูกมะเดื่อสุกสีแดงทาที่ผลน้ำเต้า เพื่อให้ส่งกลิ่นล่อปลา แล้วเอาเบ็ดน้ำเต้าไปลอยไว้ในน้ำบริเวณที่น้ำนิ่งๆ ในแม่น้ำโขง เช่น คก หลง ลูกมะเดื่อจะล่อปลามากินเบ็ด
คนหาปลาเล่าว่า “แต่ก่อนใช้เบ็ดนี้เริ่มตั้งแต่เดือน ๗ ใช้จับปลาปลาโมง ปลาเลิม ที่กินทั้งพืชและซากสัตว์ ตอนนี้ไม่เห็นแล้ว น้ำของมีสิ่งรบกวนมาก เรือใหญ่ๆ วิ่งกันเยอะ ปลาหายหมด”
การลากจะคาก อ้ายเงิน คนหาปลาเล่าว่า “ใช้เชือกเส้นเดียว แต่ก่อนเชือกไม่มีต้องใช้ปอมาฟั่นเป็นเชือก ได้เชือกแล้วก็เอาตอกไม้ไผ่เหลามามัดเข้ากับเชือกอีกที การมัดจะมัดห่างกันซัก ๑ คืบ เวลาใช้ก็เอาจะคากไปปล่อยตามหาดหิน ต้องช่วยกันปล่อยอย่างน้อย ๓ คน นั่งกันอยู่บนเรือคอยปล่อยจะคากให้ไหลไปกับน้ำ อีกคนหนึ่งจับแล้วค่อยๆ ดึงเข้ามาเป็นครึ่งวงกลม คนที่อยู่บนฝั่งก็จะกางแหออกให้กว้างแล้วเอาเศษไม้ยัดไว้ในแห พอคนที่ลากๆ มาจนถึ่งฝั่งแล้วก็จะหว่านแหครอบลง แล้วเอาแหขึ้นจับเอาปลา ใช้ช่วงเดือน ๕-๖ ทุกปี จับปลาได้ทุกอย่าง ปลาเพี้ย ปลาบอก”
เบ็ดปลาเลิม ลุงสม อินโน คนหาปลาบ้านดอนที่ เล่าว่า เป็นเบ็ดพิเศษ ทำมาจากเหล็กเส้นที่มีเส้นผ่าสูญกลางประมาณ ๕ มิลลิเมตร “แต่ก่อนเหล็กนี้เอามาจากข้อเหล็กที่ผูกกับขานักโทษที่ถูกประหารชีวิตแล้ว เอาข้อเหล็กมาตีเป็นเส้นตรงแล้วขึ้นโครงให้เหมือนเบ็ด ด้านบนผูกติดกับเชือก ปลาเลิมมันตัวใหญ่ คล้ายๆ กับปลาบึก เบ็ดใหญ่ คันเบ็ด ต้องใช้ไม้ไผ่ ๓-๔ ลำ เหยื่อเป็นลูกปลาตัวประมาณ ๑ กิโล ตอนนี้ปลาเลิมไม่ค่อยมี เบ็ดก็ไม่ได้ใช้แล้ว”
ลี้น้ำหาย ใช้ใส่ในที่สูงและมีน้ำไหลตกลงมา ด้านใต้สานขัดแตะไม่ห่างมากใส่ไว้ด้านใต้ตัวคั่ง เนื่องจากลี้ชนิดนี้ต้องใส่ไว้บนที่สูงและมีน้ำตกลงมาแล้วน้ำหายไป แทนที่น้ำจะไหลไปเมื่อมีลี้มากั้นน้ำก็ไม่สามารถที่จะไหลไปได้มากจึงเรียกว่า ลี้น้ำหาย
ลี้น้ำหายใช้จับปลาที่อาศัยอยู่ในลำห้วยในเดือน ๑๑ – ๑๒ เช่น ปลาบอก เป็นต้น
ลุงเสาร์ บอกว่า “ก่อนจะใส่ลี้ต้องเก็บเศษไม้ที่จมอยู่ในน้ำออกให้หมด ถ้าเราเดินลงไปไม่มีอะไรจะมาเกี่ยวขาได้ เวลาลงไปใจลี้ต้องเอาปืนมะแต๊บไปด้วย งูมันจะมากินปลาในลี้ ต้องเอาปืนยิงเพื่อไล่งูให้หนีไปก่อนคิดว่าในประเทศไทยไม่มีคนใช้แล้ว เห็นมีอยู่ที่ห้วยมะเขือ บ้านน้ำเกี๋ยง ฝั่งลาว”
สะเบ็งมีลักษณะเป็นเหล็กปลายแหลมผูกติดกับไม้ไผ่หรือไม้อื่นซึ่งใช้เป็นด้ามจับ มีเงี่ยงทั้งสองด้านของปลายเหล็กเหมือนฉมวก ตัวสะเบ็งจะผูกติดกับเชือกป่าน เครื่องมือชนิดนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้จับปลาบึกแบบโบราณ เวลาใช้คนหาปลาจะผูกไม้ไผ่เป็นนั่งร้านอยู่บนดอนเพื่อสังเกตว่ามีปลาบึกขึ้นมา การสังเกตนี้จะสังเกตการกระเพื่อมของน้ำ เมื่อเห็นว่าปลาบึกขึ้นมาบริเวณใดคนหาปลาก็จะพุ่งสะเบ็งใส่ เมื่อสะเบ็งปักเข้ากับตัวปลาจะปล่อยเชือกให้ไปกับปลาบึกจนกว่าปลาบึกจะหมดแรงจากนั้นก็จะค่อย ๆ ลากปลาบึกเข้าฝั่ง ปัจจุบันไม่มีคนใช้แล้ว
กวัก เป็นเครื่องมือหาปลาไว้จับปลาบึกและปลาเลิม กวักจับปลาบึกมีขนาดตาของกวักใหญ่กว่ากวักปลาเลิม กวักมีลักษณะคล้ายมอง แต่จะมีขนาดที่เล็กกว่า มีความยาวประมาณ ๔ เมตร กว้างประมาณ ๒-๒.๕ เมตร ถ่วงด้วยหินที่รูตรงกลางทางด้านล่างของกวักด้วยกัน 3 จุด และระหว่างทั้ง 3 จุดจะถ่วงด้วยตะกั่วอีกที การใช้กวักจะใช้คนประมาณ 3 คน คนที่อยู่กลางลำเรือหาปลาจะคอยสังเกตว่ามีปลาขึ้นมาหรือไม่ หากมีก็จะเอาเรือไปดักข้างหน้าปลา และคอยบอกให้คนที่อยู่หัวเรือและท้ายเรือให้ปล่อยสายกวักทั้งสองข้าง เมื่อปลาติดกวักคนที่อยู่ตรงกลางลำเรือจะดึงสายหอนเพื่อให้กวักรูดเป็นถุง ตัวปลาก็จะติดอยู่ด้านในของกวัก
นาม มีลักษณะเหมือนมองปลาบึก แต่มีขนาดสั้นกว่ามีความยาวประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ เมตร เส้นใยทำมาจากป่านปอ ความสูงประมาณ ๒ เมตร มีทุ่นลอยทำจากน้ำเต้าผูกไว้ด้านบนของนามเพื่อให้นามลอย ด้านล่างถ่วงด้วยดินเผาที่มีรูตรงกลาง คนหาปลาหากสังเกตเห็นว่ามีปลาขึ้นมาก็จะเอาเรือไปดักข้างหน้าของปลา ในเรือมีคนประมาณ ๓ คนเป็นอย่างน้อย การปล่อยนามต้องปล่อยดักทางปลา เมื่อปลามาติดนาม นามจะพันตัวปลาไว้ จากนั้นคนหาปลาก็จะรอให้ปลาอ่อนแรงแล้วก็ลากเข้าฝั่งเพื่อจะผูกปลาแล้วเอาปลาใส่ในเรือ
บริเวณที่ใช้นามจับปลาบึกจะอยู่ที่ดอนแวง คนหาปลาจะใช้นามในช่วงเดือน ๖-๗ (เดือนเมือง) ปลาที่จับได้มีทั้งปลาบึกและปลาเลิม
ส่วนเครื่องมืออีก ๒ ชนิด คือ แหป่อง และมองหว่า ได้เลิกใช้มานานแล้ว จนไม่มีใครสามารถอธิบายลักษณะและวิธีการใช้ได้
นอกจากจะใช้เพื่อหาปลาแล้ว เครื่องมือหาปลายังได้แบ่งสิทธิในการเข้าถึงเครื่องมือหาปลาไว้อย่างชัดเจน เครื่องมือหาปลาบางชนิด เช่น จ๋ำ (สะดุ้ง) หิง (สวิง) แซะ ซึ่งใช้ตามริมห้วย แม่น้ำสาขา หรือทุ่งนา และริมฝั่งแม่น้ำโขง ผู้ที่เข้ามามีบทบาทในการทำและใช้เครื่องมือหาปลาเหล่านี้คือกลุ่มผู้หญิงที่สร้างและใช้เครื่องมือด้วยตนเอง
ปลาที่จับตามห้วย หนอง โดยผู้หญิงที่ใช้เครื่องมือข้างต้น เป็นปลาชนิดที่มีขนาดเล็ก และจับเพื่อเป็นอาหารของครอบครัวเป็นหลัก หากเหลือก็จะขายเป็นรายได้เข้าครอบครัวหรือแปรรูปขาย เช่น นำมาแอ๊บ (ลักษณะคล้ายห่อหมกแต่ต่างกันตรงที่แอ็บไม่ใช้เครื่องปรุงมากเหมือนห่อหมก) เป็นห่อขายในชุมชน
บทบาทของผู้หญิงในเรื่องเครื่องมือและการหาปลาจึงเกี่ยวข้องกับความมั่งคงทางอาหารของครอบครัวในชุมชนสองฝั่งของไปด้วย
เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านยังมีความเชื่ออยู่ด้วย อุ้ยซ้อ จินะราช คนหาปลาที่รอบรู้เรื่องเครื่องมือจับปลาบึก กล่าวว่า “คนหาปลาบึกรู้เรื่องเครื่องมือแล้วต้องรู้เรื่องพิธีกรรมในการจับปลาบึกด้วย คนหาปลาทุกคนก่อนลงจับปลาบึกต้องบวงสรวงเครื่องมือของตัวเอง บวงสรวงเจ้าที่ บนบานให้จับปลาบึกได้ จับปลาบึกได้แล้วก็ต้องแก้บน เอาไก่ตัวเป็นๆ ฟาดไปตามเครื่องมือหาปลาแล้วเอาไก่ไปต้ม แล้วเอากลับมาทำพิธีแก้บนอีกครั้ง”
เครื่องมือหาปลายังเป็นสิ่งเชื่อมร้อยผู้คนในชุมชนเข้าหากันและพึ่งพาอาศัยกัน เห็นได้ชัดเจนจากการไหลมองปลาบึก ซึ่งทำคนเดียวไม่ได้ต้องทำหลายคน เมื่อได้ปลาแล้วคนหาปลาก็จะแบ่งปลาหรือเงินที่ได้จากการขายปลาอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย
แม่น้ำเปลี่ยนแปลง เครื่องมือหาปลาหายไป
มีเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านหลายชนิดในสมัยก่อนที่ทำมาจากไม้ไผ่หรือวัสดุที่หาได้จากชุมชน แต่ปัจจุบันเครื่องมือเหล่านี้ถูกแทนด้วยวัสดุอย่างอื่นไปแล้ว เช่น มอง (ตาข่าย) จับปลาบึก ซึ่งทำมาจากปอที่นำมาฟั่นเป็นเชือกเพื่อสานเป็นมอง ซึ่งมองแบบนี้ก็เข้ามาแทนที่แหลมเหล็กที่ต่อกับด้ามไม้ไผ่และผูกไว้ด้วยเชือกซึ่งเป็นเครื่องมือในการจับปลาบึกในอดีต และมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาถึงมองที่ทำจากเชือกไนล่อนอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนเบ็ดน้ำเต้าก็ถูกแทนที่ด้วยเบ็ดฝรั่ง
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายประการ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของสายน้ำ อ้ายเงิน พรานปลาบ้านผากุบเล่าว่า “เดี๋ยวนี้เรือจีนเยอะ ปลาบ่ค่อยมี น้ำก็ขึ้นๆ ลงๆ เขาว่าข้างบนมีเขื่อน ปลาหายไป เครื่องมือก็ใช้ยากขึ้น“ อ้ายเงินพรานปลาบ้านผากุบเล่า
คนหาปลาบางคนก็บอกว่าที่ต้องเปลี่ยนเครื่องมือหาปลาให้ทันสมัย เพราะตอนนี้หาปลาเป็นอาชีพไปแล้ว เราไม่มีที่ดิน จับปลาขายเพื่อเลี้ยงตัวเองเลี้ยงลูกเมียได้พออยู่พอกิน เปลี่ยนเครื่องมือหาปลาเพื่อให้จับปลาได้มากขึ้นอีกหน่อย
ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น คนหาปลาที่บ้านปากอิงใต้ แหล่งหาปลาที่ใหญ่ที่สุดในเขตนี้ ซึ่งแต่ก่อนเคยใช้มองผืนเดียว แต่ปัจจุบันเครื่องมือหาปลาเหล่านี้ก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ คนหาปลาบางคนก็มีการใช้มอง ๒ ผืน หรือ บางคนก็ใช้ ๓ ผืน นำมาเย็บซ้อนกันให้เป็นผืนเดียว ถึงกระนั้นช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมาที่น้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติ ก็ทำให้หลายคนไม่มีปลาติดมือกลับบ้านเลยแม้แต่ตัวเดียว
“ช่วงแล้งที่น้ำของขึ้นๆ ลงๆ ปลาก็บ่ออก จับบ่ได้ซักตัว ช่วงนี้น้ำปกติแล้วก็จับได้มากหน่อย” หนึ่งในคนหาปลาที่ปากอิงเล่า
อ้ายสุขสันต์ ธรรมวงค์ คนหาปลาบ้านหาดบ้ายเล่าว่า “อ้ายเคยคิดนะ ว่าอยากจะเก็บรักษาเครื่องมือหาปลาที่เคยใช้ในน้ำของไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้เห็น ได้เรียนรู้ถึงพัฒนาการของมัน แต่คิดไปแล้วจะเป็นจริงหรือเปล่าไม่รู้ ตอนนี้ลูกหลานในหมู่บ้านบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปลาที่กินอยู่เรียกว่าปลาอะไร ใช้เครื่องมืออะไรจับ ยิ่งตอนนี้จับปลาก็ยากขึ้น เครื่องมือพวกนี้ก็ค่อยๆ หายไป เสียดาย เคยใช้มาแต่ปู่แต่ย่า”
แม้ความคิดของเขาจะยังไม่เป็นจริง แต่วันนี้เขายังคงเป็นคนหาปลาที่ใช้เครื่องมือหาปลาแบบพื้นบ้านอยู่เช่นเดิม ยังคงเป็นคนหาปลาที่รอบรู้เรื่องการทำและการใช้เครื่องมือ รวมทั้งมีความรู้ในเรื่องของปลา และพื้นที่ในการหาปลาอีกด้วย
แต่ความรู้เหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้อย่างไร ในเมื่อภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นยังคงถูกมองข้าม ถูกมองว่าเป็นเพียงความรู้ของชาวบ้าน ความรู้ของคนไม่รู้หนังสือ หลักสูตรการศึกษาเองก็เขียนขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งแล้วนำมาใช้กับคนทั้งหมดของประเทศ หลักสูตรสำเร็จรูปเช่นนี้จำกัดการเรียนรู้ของคนท้องถิ่นในเรื่องของรากเหง้าตนเอง
ยิ่งในวันนี้ที่สายน้ำของถูกคลื่นการพัฒนาถาโถม ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดแก่งเพื่อเดินเรือพาณิชย์ หรือการกั้นน้ำสร้างเขื่อน วันนี้คนหาปลา เครื่องมือหาปลา และความรู้พื้นบ้านเหล่านี้ก็กำลังจะเลือนหายไป
ในอนาคตเราอาจเห็นเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านกลายเป็นเพียงเครื่องประดับที่ห้อยอยู่ตามร้านอาหารหรือในผับเพื่อชีวิตเท่านั้นเอง
พิมพ์ครั้งแรกจุดประกายวันศุกร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๗