"เขื่อนบ้านกุ่ม"ส่อขัด ม.190

fas fa-pencil-alt
เดลินิวส์
fas fa-calendar
13 สิงหาคม 2551

รัฐบาลงานเข้าอีก! "ไกรศักดิ์" แถลงแฉโครงการสร้างเขื่อนน้ำโขงผลิตไฟฟ้า "บ้านกุ่ม" อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ เข้าข่ายขัด ม.190 แถมไม่มีการทำสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมก่อน ปชป.เล็งยื่นศาล รธน.ตีความสัญญาร่วมไทย-ลาว "สุทัศน์" อัดรัฐบาลส่องุบงิบซ่อนเงื่อน เจอ 2 บริษัททุนใหญ่พรรคการเมืองจูงจมูก

วันนี้ (5 ส.ค.) ที่รัฐสภา นาย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนกั้นน้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ว่า โครงการนี้ ไม่มีการทำการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ถือว่าผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม และขัดรัฐธรรมนูญเพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ทั้งนี้การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไม่สามารถทำได้ เพราะไทยยังเป็นสมาชิกกรรมาธิการน้ำโขง (MRC) ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว ซึ่งถ้าประเทศใดจะดำเนินการอะไรบนแม่น้ำโขง จะต้องขอมติจากกรรมาธิการดังกล่าว เรื่องนี้ โดยต้องอาศัยมติก่อน เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่ไทยไปเซ็นสัญญากับประเทศลาวในเรื่องใหญ่เช่นนี้ ทำไมถึงทำได้ เพราะที่ผ่านมาตนได้โทรศัพท์ติดต่อกับรองอธิบดีกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้รับการปฏิเสธ ว่าไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับที่ประชุมพรรค โดยเบื้องต้นคิดว่าโครงการนี้ ขัดต่อมาตรา 190 แน่นอน แต่อยากได้การสนับสนุนจากพรรค เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดมาตรา 190 หรือไม่ เช่นเดียวกับการตีความกรณีปราสาทพระวิหาร

 ด้านนาย สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลส่อแววงุบงิบ ไม่ชอบมาพากล ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยหลังรัฐบาลแถลงนโยบายเพียง 10 กว่าวัน นายกรัฐมนตรีก็ได้เดนทางไปตกลงกบประเทศลาว ในการร่วมกันพัฒนาแม่น้ำโขง จากนั้น วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา นาย นพดล ปัทมะรมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ได้นำบันทึกว่าด้วยความเข้าในการลงนามความร่วมมือด้านไฟฟ้า ร่วมไทย-ลาว เข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบและลงนาม โดยมีการเสนอชื่อบริษัทเอกชน 2 แห่งคือบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอเชียคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด ให้เข้าไปศึกษาและสำรวจพื้นที่  แต่ถูกที่ประชุมครม.ตั้งข้อสังเกตและเปลี่ยนให้เป็นคำว่า “ภาคเอกชน”  จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะเวลาไม่กี่วันแต่กลับไประบุชื่อบริษัทได้อย่างไร  บริษัทได้ชักนำให้รัฐบาลไปเจรจาได้อย่างไร  จึงไม่เข้าใจว่าภาคเอกชนมีบทบาทเหนือการทำงานของรัฐบาลได้อย่างไร

“เขื่อนนี้ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนด้านการเกษตรเลย เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีตลิ่งสูงมาก และเรื่องผลประโยชน์ได้สนการไฟฟ้าไม่ทราบว่าใครได้ประโยชน์  ใครจะเป็นผู้ขาย และยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกมาก การกระทำครั้งนี้ ถือว่ารัฐบาลไม่คำนึงผลประโยชน์ของประเทศ และความเสียหายของประชาชน มีความรุกรี้รุกล้น เร่งทำเพื่อสนองประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ ไม่แน่ใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากบริษัทเอกชนเหล่านี้ หลังจากได้ทำการศึกษาแล้วจากนี้ข้อมูลอยู่ในมือทั้งหมด จึงมีแนวโน้มว่า 2 บริษัท จะได้ประโยชน์จากรัฐบาลในการสร้างเขื่อน” นายสุทัศน์ กล่าว

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง