เขื่อนฮัตจี... ระเบิดเวลาผู้อพยพลูกต่อไป

fas fa-pencil-alt
มนตรี จันทวงศ์-กรุงเทพธุรกิจ
fas fa-calendar
5 มีนาคม 2552

“ถ้าสร้างเขื่อนฮัตจี ไทยจะรับคนฝั่งนู้น ที่จะอพยพเข้ามาเพิ่มอีกได้มั้ย ตอนนี้ก็ลี้ภัยมาเยอะแล้ว

ถ้าเขาหนีมา รัฐบาลเราไม่รับ ประเทศไทยที่เป็นประเทศประชาธิปไตยจะพูดอย่างไร”

คำถามของ พ่อหลวงนุ ชำนาญคีรีไพร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านแม่ก๋อน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน สะท้อนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในเขตพรมแดนไทยกับพม่า ถ้าหากเขื่อนฮัตจีในแม่น้ำสาละวินแห่งแรกถูกสร้างขึ้น

 นอกจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าจะไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาสำคัญอีกประการก็คือการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น โครงการวางท่อก๊าซจากพม่ามายังประเทศไทย, จีนและอินเดีย โครงการเหมืองแร่ และโครงการสร้างเขื่อนตามแม่น้ำสายต่างๆ ซึ่งส่งผลมาสู่ปัญหาผู้อพยพพลัดถิ่นภายในประเทศพม่า และอพยพเข้ามายังประเทศไทย

 ย้อนกลับไป 11 ปีก่อนบทเรียนจากโครงการวางท่อก๊าซที่สร้างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในพม่า และผลักดันให้มีผู้อพยพเข้ามาพักพิงในประเทศไทยเป็นจำนวนมากไม่ได้ทำให้ประเทศไทยตระหนักแต่ประการใด

เนื่องจากรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งของไทย จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับรัฐบาลทหารพม่าและบริษัทชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจใหญ่จากประเทศจีน เพื่อดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจีมีกำลังผลิตสูงถึง 1,360 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินลงทุนทั้งหมดจะกู้จากประเทศจีน และคาดว่าสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2558-2559

 เขื่อนฮัตจีตั้งอยู่ห่างจากชายแดนประเทศไทยด้านอำเภอสบเมยลงไปเพียง 47 กิโลเมตรเท่านั้น นับเป็นเขื่อนแรกที่จะถูกสร้างบนแม่น้ำสาละวินซึ่งมีความยาวตั้งแต่ประเทศจีนลงมาประมาณ 2,600 กิโลเมตร

 ในการประชุมชาวบ้านบ้านสบเมย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สุมาตร สดใสบุษบา เล่าว่า

 “การไฟฟ้าฯ เคยเข้ามาชี้แจงในหมู่บ้านเมื่อปีที่แล้ว (2551) มากับปลัดอำเภอ เขาบอกว่าถ้าสร้างเขื่อนน้ำจะไม่ท่วมสบเมย แต่น้ำจะท่วมอยู่ในระดับเดิม คือหน้าแล้งน้ำจะสูงขึ้นกว่าระดับเดิมเพราะเขื่อนจะเก็บน้ำไว้ ส่วนหน้าฝนน้ำจะไม่ท่วมถ้ามีเขื่อน เพราะเขื่อนจะเปิดประตูระบายน้ำออก แต่เราก็ไม่เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้”

 ดึเจ (ไม่มีนามสกุล) ชาวบ้านสบเมยทวงถามถึงสิทธิในที่ทำกิน และวิถีชีวิตที่สืบสานจากบรรพบุรุษมาเนิ่นนานว่า

 “กฟผ.ไม่ได้พูดเรื่องค่าชดเชยเลย แต่บอกว่าชาวบ้านจะอยู่ได้ ทำกินได้เหมือนปกติ ผมมองดูแล้ว ถ้าระดับน้ำมันสูงขึ้นจากเดิม แค่นี้ก็วางแน่ง(อวน)ไม่ได้แล้ว เพราะมันจะไปติดต้นไม้กิ่งไม้แห้งที่จมอยู่ใต้น้ำ ถึงเอาเงินมาชดเชย เราก็ไม่ได้ต้องการมีเงินมาให้ก็หมดไป แต่เราอยู่แบบนี้เราหาปลาปลูกผักได้ชั่วลูกชั่วหลาน”

 ความกังวลนานนับปีของชาวบ้านดูเหมือนจะแผ่ขยายไปทั่วสายน้ำสาละวินที่ยังคงไหลได้อย่างอิสระ เพราะในแถบสองฝั่งแม่น้ำนี้ชาวบ้านล้วนตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ที่แทบไม่ต้องพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจจากภายนอก

 สาละวินได้สร้างวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 38 ชาติพันธุ์ที่ยังคงสืบสานวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและเรียบง่าย ทว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตนี้จะถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังจากมีเขื่อน

 คำถามถึงความจำเป็นในการสร้างเขื่อนฮัตจียังเป็นคำถามใหญ่ เพราะภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงลดลงและส่งผลต่อเนื่องต่อปริมาณไฟฟ้าสำรองทั้งระบบของประเทศพุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา ส่วนเกณฑ์มาตรฐานของปริมาณไฟฟ้าสำรองควรจะอยู่ที่ 15% เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระต้นทุนส่วนต่างมากเกินไป แต่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปริมาณไฟฟ้าสำรองดังกล่าวกลับพุ่งสูงขึ้นไปแตะตัวเลขที่ระดับ 60% หรือแม้แต่ในเดือนเมษายน 2551 ซึ่งเป็นเดือนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี ก็ยังคงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึง 29.8%

 การใช้ไฟฟ้าภายในประเทศที่ลดลงอย่างมากมายนี้ ทำให้กระทรวงพลังงานต้องปรับการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระหว่างปี 2552-2564 ใหม่ โดยปรับลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เทียบเท่ากับกำลังผลิตติดตั้งถึง 4,246 เมกะวัตต์ รวมถึงการประกาศเลื่อนหรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าออกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี รวมทั้งการปรับลดจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน

 ที่น่าสังเกตคือไม่ปรากฏชื่อเขื่อนฮัตจีในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ปรับปรุงใหม่

 ในมุมมองด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้สรุปการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี เมื่อวันที่ 9 เดือนสิงหาคม 2550 ว่าพื้นที่โครงการเขื่อนฮัตจียังคงเป็นพื้นที่ในสถานการณ์ความขัดแย้งและมีการสู้รบระหว่างสหภาพพม่ากับประชาชนกะเหรี่ยง (KNU) ดังนั้นการสร้างเขื่อนฮัตจีย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนกะเหรี่ยงเพราะต้องอพยพหลบหนีการกวาดล้างเข้ามาสู่ประเทศไทย

 การสร้างเขื่อนฮัตจีจึงเป็นการส่งเสริม ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวกะเหรี่ยงในพม่า อีกทั้งประเทศไทยต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพ

 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจึงเสนอรัฐบาลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระงับการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของกลุ่ม Karen River Watch ในเดือนกันยายนปีเดียวกันซึ่งระบุว่ามีชุมชนกะเหรี่ยงรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนฮัตจี 41 หมู่บ้าน อย่างน้อย 2,460 คนที่มีความเสี่ยงต่อการคุกคามโดยกองทัพพม่า

 นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำเขื่อนฮัตจี จะล้ำเข้ามายังเขตประเทศไทยด้านแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย ซึ่งต่างก็เป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับพม่า และในปัจจุบันยังไม่มีการปักปันเขตแดนทางน้ำ

 สิ่งนี้นำมาสู่คำถามว่าก่อนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนหรือการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี มีความจำเป็นต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่อย่างไร เพราะยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดๆ ระบุว่าอ่างเก็บน้ำและการเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลต่อเขตแดนธรรมชาติระหว่าง ประเทศไทยกับพม่าบนแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย

 พ่อหลวงนุ กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า

 “ถ้ามีเขื่อนฮัตจี อย่างแรกชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิที่ทำกิน เราจะเรียกร้องอะไรได้ ป่าที่สมบูรณ์จะเสียหาย ปากท้องเราก็ไม่เหลือแล้ว ถ้าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนฝั่งพม่าอพยพเข้ามาไทย รัฐบาลจะดูแลเราและดูแลเขาได้แค่ไหน เพราะตรงนี้ไม่มีพื้นที่ทำกินเหลือแล้ว มีแต่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับป่าสงวน สุดท้ายถ้าจะสร้างเขื่อนไม่ว่าน้ำจะท่วมเขาหรือท่วมเรา เรามองไม่เห็นทางอื่นแล้วว่าจะทำอะไรต่อไปได้ นอกจากไปปล้นเขากิน”

 บทเรียนจากการผลักดันโครงการต่างๆ ในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศ รัฐบาลควรหรือไม่ที่จะนำพิจารณาใคร่ครวญ เพราะหากเปิดการสร้างเขื่อนในรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจจะติดบ่วงกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทั้งในเรื่องเขตแดนและการลงทุนร่วมกับจีน รวมทั้งภาพลักษณ์ของไทยต่อการสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากพร้อมนำไปขยายผลเป็นประเด็นทางการเมือง

หากรัฐบาลภายใต้การนำของนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะสั่งระงับการสร้างเขื่อนฮัตจี ก็จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศแม่น้ำสาละวิน และประชาชนทั้งในฝั่งไทยและพม่า ทั้งยังสอดคล้องกับสุนทรพจน์ ในวันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี... ว่าจะบริหารประเทศโดยใช้หลักนิติรัฐ

(มนตรี จันทวงศ์ เป็นเจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง)

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง