เขื่อนแก่งเสือเต้น
อุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำในบริเวณภาคเหนือตอนล่างนั้น นำมาซึ่งข้อเสนอให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจากนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมไปถึงข้าราชการจำนวนหนึ่งซึ่งผลักดันเรื่องดังกล่าวทุกครั้งไป
ทั้งที่ยังยังมีข้อถกเถียงในเชิงวิชาการมาโดยตลอดว่า หากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่บริเวณเกือบบนสุดของลุ่มแม่น้ำยม เขื่อนดังกล่าวจะมีความสามารถในการลดปัญหาน้ำท่วมในบริเวณตอนล่างของเขื่อนมากน้อยเพียงใด
ยังไม่นับผลกระทบในเชิงนิเวศวิทยา อันเคยปรากฏขึ้นมาแล้วกับเขื่อนต่างๆ ที่ระดมสร้างกันมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกับผืนป่าสักทองขนาดใหญ่ในจังหวัดแพร่
รวมไปถึงข้อสังเกตของผู้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างอยู่บนบริเวณรอยแยกของโลก
อันแปลว่าตัวเขื่อนเองก็อาจจะเป็นภัยแก่คนที่อยู่ใต้เขื่อนอีกด้วย
ผลการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากผลการวิจัยของท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้เอาไว้อย่างชัดเจนถึงความไม่คุ้มค่าของโครงการดังกล่าว
แต่ผลการศึกษาที่เป็นระบบที่สุดชิ้นนี้กลับไม่ได้รับการให้ความสำคัญจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย แม้แต่ในพรรคการเมืองและรัฐบาลที่สามีของผู้ทำวิจัยมีตำแหน่งบริหารร่วมอยู่ด้วย
นอกจากนั้นแล้ว มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯยังเสนอวิธีจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ 10 ประการในลุ่มแม่น้ำยม ที่จะลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นจะต้องก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ก็ยืนยันว่ารายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ไม่เคยผ่านการพิจารณาแม้แต่สักครั้ง
มีความจำเป็นที่จะต้องหาทางบรรเทาผลกระทบ และป้องกันมิให้ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายและความเดือดร้อน ไม่ว่าจะต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของพี่น้องในพื้นที่ดังกล่าวอย่างแน่นอนที่สุด
แต่เขื่อนแก่งเสือเต้นมิใช่ยาวิเศษและมิใช่ทางเลือกทางเดียวในการจัดการปัญหา
และที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากผู้มีอำนาจเลือกใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อโดยละเลยข้อเท็จจริง ไม่เพียงแต่จะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรแล้ว กลับจะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดและอคติในสังคมเพิ่มขึ้น
ยิ่งโฆษณาชวนเชื่อแบบละเลยข้อเท็จจริงมากขึ้นเท่าใด ก็เหมือนยิ่งเร่งให้บรรยากาศของการเผชิญหน้าในสังคมรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
นี่ย่อมตรงกันข้ามกับเป้าประสงค์ในการบริหารของรัฐบาลไหนๆ ที่จะต้องมุ่งหวังความสุขและความสงบของประชาชนในสังคมเป็นสำคัญ
อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?day=2004/06/22&s_tag=03edi01220647§ionid=0302&show=1&sk=2&searchks=''