เขื่อนแก่งเสือเต้น แค่ประโยชน์การเมือง
ราว 20 ปี โครง การก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งที่ข้อมูลจากนักวิชาการ ผ่านการสำรวจและวิจัย ท้วงติงย้ำชัดเจนได้ไม่คุ้มเสีย
แต่ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เขื่อนแห่งนี้มักถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อยู่เสมอ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นโครงการยักษ์ ใช้เงินลงทุนมหาศาล และต้องมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย
ในการเสวนาเรื่อง "เขื่อนแก่งเสือเต้นจำเป็นต้องสร้าง?" จัดโดยกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท สาขาพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยมี รศ.ดร.วรวุฒิ โรมรัตนพันธ์ รองคณบดีฝ่ายแผนงานและวิจัย คณะสังคมสงเคราะห์ ศาสตร์ และ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาร่วมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่พร้อม และไม่ ชัดเจนของภาครัฐ ในการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำ
รศ.ดร.วรวุฒิกล่าวว่า เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ การก่อสร้างเขื่อนในประเทศไทยมีการพูดคุยกันมานาน ว่ามีความจำเป็นต่อประเทศจริงหรือไม่ เพราะไทยก่อสร้างเขื่อนมาแล้วจำนวนมาก แต่ประโยชน์จากการใช้งานจริง มักไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เท่าไหร่
โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น จากประสบการณ์ที่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรทางน้ำ ทำให้พบว่าการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และในส่วนของรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการแก่งเสือเต้น เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากโครงการพัฒนา กก อิง ยม น่าน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เริ่มแรก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการ ด้วยการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำบนลำน้ำยม ที่ อ.สอง จ.แพร่
วัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า ต่อมาทบทวนใหม่เปลี่ยนโครงการเป็นเพื่อการเกษตร และป้องกันน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ โอนไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน
พื้นที่ก่อสร้างเขื่อน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ที่อุดมไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดของไทย ที่มีอยู่ประมาณ 60,000 ไร่
แต่เมื่อใดที่เขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างสำเร็จ ป่าสักทองผืนสุดท้ายต้องจมสู่ใต้ผืนน้ำกว่า 40,000 ไร่
ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงผูกพันกับผืนป่าต้องพินาศตามไปด้วย
นายหาญณรงค์กล่าวว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยม จ.แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร รวมถึงกรุงเทพฯ ตามที่ฝ่ายการเมืองมักใช้เป็นข้ออ้าง
จากการศึกษาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟ เอโอ) และธนาคารโลก ระบุว่า โครง การแก่งเสือเต้นจะควบคุมน้ำ และลดระดับน้ำท่วมได้เพียงแค่พื้นที่ระหว่าง อ.งาว จ.ลำปาง และ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เฉลี่ยแล้วในแต่ละปี เขื่อนแก่งเสือเต้นป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมคิดเป็นมูลค่าเพียง 3.2 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนพื้นที่ตอนล่างลงไป ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากแม่น้ำยม แต่มาจากลำน้ำสาขา และแม่น้ำน่าน
ตัวอย่างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สามารถพิสูจน์ได้จากสถิติในปีพ.ศ. 2550 มีพายุฝนขนาดใหญ่ตกในพื้นที่ทั้งสิ้น 13 ครั้ง มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่ฝนตกอยู่เหนือจุดสร้างเขื่อน ที่เหลือล้วนตกอยู่ใต้ตัวเขื่อนทั้งหมด
ในช่วงเวลาที่น้ำท่วมใหญ่ในจ.สุโขทัย และเกิดดินถล่มในจ.อุตรดิตถ์ ที่นักการเมืองต่างออกมาประโคมว่า เป็นเพราะไม่ยอมให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขณะนั้นแม่น้ำยมตรงจุดจะสร้างเขื่อน น้ำแห้งมากจนชาวบ้านเดินข้ามได้
สำหรับพื้นที่ชลประทานที่อ้างว่าสามารถช่วยเกษตรกรได้มากถึง 385,400 ไร่ เป็นพื้นที่ในโครงการชลประทานเดิมเกือบทั้งหมด แบ่งเป็นพื้นที่ 100,000 ไร่ จากชลประ ทานเดิมของโครงการแม่ยม และอีก 72,800 ไร่ เป็นพื้นที่ในโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทั้งหมด 26 โครงการ
ส่วนพื้นที่ชลประทานที่เหลือ เป็นพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 300 กิโล เมตร ไม่มีคลองส่งน้ำจากโครง การแก่งเสือเต้น แต่มีเขื่อนเจ้าพระยาเป็นตัวควบคุมการส่งน้ำและป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว
สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจระบุอีกว่า การศึกษาของมหา วิทยาลัยมหิดลที่เสนอต่อธนาคาร โลก มีข้อมูลว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้อย่างมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม มากถึง 53.85 ตารางกิโลเมตร
ส่งผลให้ผืนป่าสักทองที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศ เกือบทั้ง หมดต้องจมสู่ใต้ผืนน้ำ ส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์หายากเสี่ยงสูญพันธุ์หลายชนิด เช่น นกลุมพู และ นกยูงไทย เพราะเป็นป่าอีกแห่งหนึ่งของไทยนอกจากป่าห้วยขาแข้งที่พบนกยูงตามธรรมชาติ
ขณะที่ข้อมูลกรมป่าไม้ระบุว่า จะต้องมีไม้ถูกตัดออกนอกพื้นที่จากการสร้างเขื่อน ปริมาตรรวม 403,864.67 ลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นไม้สักทอง 130,944.31 ลูกบาศก์เมตร ไม้กระยาเลย 272,920.36 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 10,751.33 ล้านบาท
แต่หากปล่อยผืนป่าไว้ จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากผืนป่าได้เท่ามูลค่าดังกล่าวในทุก 30 ปี
ส่วนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าการสูญเสียป่าสัก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอากาศเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะอุณหภูมิ ความ ชื้น และการตกของฝน เป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำน้ำยม รวมถึงการสูญสลายความหลากหลายทางธรรมชาติที่ประเมินค่ามิได้ และไม่อาจสร้างขึ้นทดแทนได้ดังเดิม
อาจารย์วรวุฒิระบุว่า มีงานวิจัยจากทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า เขื่อนไม่สามารถช่วยเหลือในการป้องกันน้ำท่วม ในส่วนของการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้งานได้จริงเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ขณะที่เขื่อนที่สร้างขึ้นมาเพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค กว่าร้อยละ 70 ไม่ได้เป็นไปตามนั้น
ดังนั้น การสร้างเขื่อนเป็นเพียงความพยายามสร้างความเชื่อให้ประชาชนว่า ประเทศไทยต้องการเขื่อน โดยไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง เมื่อรวมกับข้อมูลในพื้นที่ ทำให้พบว่าการสร้างเขื่อนเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด
โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น มีงานวิจัยออกมาเป็นจำนวนมากว่า ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับไม่คุ้มค่าการลงทุน
แต่ที่มีความพยายามให้ก่อสร้างเขื่อน เกิดจากเรื่องของอำนาจ และผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNekUz TURnMU1RPT0=§ionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBd09DMHdPQzB4Tnc9PQ==