เขื่อนลำโดมใหญ่
“ศึกษาก่อนสร้าง ถามชาวบ้านก่อนทำ”
ความเป็นมา
กรมชลประทานได้มีแผนงานในการก่อสร้างเขื่อนลำโดมใหญ่ ซึ่งเป็นเขื่อนดินแบบ HOMO GENEOUS กั้นลำโดมใหญ่บริเวณบ้านเม็กใหญ่ ต.กลาง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี โดยอ้างว่าพื้นที่ลุ่มน้ำลำโดมใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีฝนตกมากในฤดูฝน แต่มีฤดูแล้งและการขาดแคลนน้ำที่ยาวนาน การสร้างเขื่อนลำโดมใหญ่จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ทั้งสิ้นประมาณ 212,500 ไร่ ด้วยระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
ในปี 2534 กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอลซัลติ้ง เอนจิเนียร์ จำกัด และ บริษัท ที เอ แอนท์ อีคอล ซัล แตนส์ จำกัด เพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2540
ปัจจุบันรายงานการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการลำโดมใหญ่ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากการปิดกั้นข้อมูลการดำเนินโครงการของกรมชลประทาน ทำให้ชาวบ้านเกิดความสับสนและได้รวมตัวกันร่วมกับสมัชชาคนจนเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 ให้ชะลอโครงการ และตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาพิจารณาและตัดสินใจ
สภาพปัญหา
- การดำเนินโครงการลำโดมใหญ่ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีโอกาสในการรับรู้ข้อมูลและไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
- การที่ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลและไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ ความตึงเครียดจึงเกิดขึ้นในชุมชน ประกอบกับข้าราชการในพื้นที่ได้กล่าวหาโจมตีผู้เรียกร้อง ทำให้ชุมชนที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันต้องแตกแยก ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในระยะยาว
- การสร้างเขื่อนลำโดมใหญ่ทำให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน 27 หมู่บ้าน 6 ตำบล ได้แก่ ต.กลาง ต.ตบหู อ.เดชอุดม ต.โนนสมบรูณ์ ต.โนนสวรรค์ อ.นาจะหลวย ต.พรสวรรค์ ต.ยางใหญ่ อ.น้ำยืน โดย 8 หมู่บ้านต้องถูกอพยพ คือ บ้านบัวเทียม ต.กลาง อ.เดชอุดม บ้านโคกเทียม บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านฝั่งเพ บ้านโนนสวาง บ้านแก้งขอ บ้านโนนว่าน บ้านแก้งกกไฮ บ้านม่วง ต.พรสวรรค์
- ทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์สองฝั่งลำโดมใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร แหล่งพลังงานของชาวบ้าน รวมทั้งป่าประเพณี เช่น ป่าดอนปู่ตา ป่าช้า ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้าน
- ชุมชนสองฝั่งลำโดมใหญ่เป็นชุมชนเก่าแก่ มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจที่ชัดเจน หากมีการก่อสร้างเขื่อนลำโดมใหญ่จะทำให้มรดกของชาติได้รับความเสียหาย
- เนื่องจากโครงการลำโดมใหญ่มีการสร้างคันดินป้องกันน้ำท่วมเพื่อลดความเสียหายของโครงการ แต่ชาวบ้านกังวลว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนที่เคยไหลลงลำโดมใหญ่จะเอ่อท่วมบ้านเรือนและที่ทำกินของชาวบ้านเหมือนกับเขื่อนราษีไศลหรือไม่
- แม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรี 29 เมษายน 2540 ให้ชะลอโครงการและตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาพิจารณาและตัดสินใจ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณในการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าว
- กรมชลประทานได้ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีโดยพยายามออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณแล้วเป็นจำนวน 98 ล้านบาท
- ข้าราชการในพื้นที่พยายามยั่วยุสร้างความสับสนให้กับชาวบ้านในพื้นที่จนทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ชาวบ้าน
ข้อมูลพื้นฐานโครงการ
- ระดับเก็บกักสูงสุด: +141.00 ม.รทก.
- ปริมาณการเก็บกัก: 85.80 ล้านลูกบาศก์เมตร
- พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน: 313,825 ไร่
- พื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง: 47,074 ไร่
- ความสูงของเขื่อน: 21.50 เมตร
- ราคาโครงการ (ปี 2539): 4,990.39 ล้านบาท
ตารางเปรียบเทียบข้อเรียกร้องของชาวบ้าน มติคณะกรรมการกลาง ๖ ก.ค.๒๕๔๓ มติ ครม. ๒๕ ก.ค.๒๕๔๓ และข้อคิดเห็นสมัชชาคนจนต่อมติ ครม.เขื่อนลำโดมใหญ่
ข้อเรียกร้องชาวบ้าน | มติคณะกรรมการกลางฯ | มติคณะรัฐมนตรี | ข้อคิดเห็นของสมัชชาคนจน |
---|
๑) ให้รัฐบาลรอการดำเนินการติดตามผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาผลกระทบ ความเหมาะสมและพิจารณาความเป็นไปได้ ที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐ หากเห็นว่าไม่คุ้มค่าก็ให้ยกเลิกโครงการ | ๑) ระงับการดำเนินการโครงการใดๆ โดยเฉพาะการออกแบบในรายละเอียดทางวิศวกรรม | ๑) เห็นชอบให้ระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้าง ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็ให้ทำได้เฉพาะการออกแบบเพื่อศึกษาตามข้อ ๒ เท่านั้น |
๒) ให้รัฐบาลยุติการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการผลักดันโครงการฯ ในเบื้องต้น ให้ระงับการใช้งบประมาณเพื่อการออกแบบรายละเอียดโครงการฯไว้ก่อน จนกว่าคณะกรรมการฯจะได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นให้มีข้อยุติ | ๒) ให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคม (EIA และ SIA) โดยคณะกรรมการติดตามเขื่อนที่ยังไม่สร้าง ๔ เขื่อน ที่มี ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ เป็นประธาน และให้รัฐบาลจัดหางบประมาณสนับสนุนคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวเพื่อให้ได้ผลศึกษาโดยเร็ว | ๒) เห็นชอบให้คณะกรรมการติดตามการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐ กรณีเขื่อนที่ยังไม่สร้าง ๔ เขื่อน ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยให้เร่งรัดดำเนินการ | คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ตั้งขึ้นมาแต่ไม่มีการสนับสนุนงบประมาณ โดยเฉพาะกรณีของลำโดมใหญ่ ทำให้คณะกรรมการไม่สามารถดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๙ เมษายน ๒๕๔๐ ได้ |
๓) เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการทั้งหมดให้คณะกรรมการกลางฯ ชาวบ้าน และสาธารณะ รวมถึงสัญญาต่างๆ เช่น แบบเขื่อน ระบบชลประทาน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม | ๓) ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ | ๓) เห็นชอบให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลำโดมใหญ่ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ |