เขื่อนลำคันฉู
“ก่อนสร้างไม่ศึกษา สร้างปัญหาไม่รู้จบ”

fas fa-pencil-alt
สมัชชคนจน
fas fa-calendar

“ก่อนสร้างไม่ศึกษา สร้างปัญหาไม่รู้จบ”

สมัชชาคนจน

ความเป็นมา

เขื่อนลำคันฉูเป็นเขื่อนดินเพื่อการชลประทานของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ที่ ต.โคก เพชรพัฒนา อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เหตุผลในการสร้างระบุว่า สร้างตามคำร้องเรียนของราษฎร เพื่อช่วยเหลือแก้ไขสภาพการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของราษฎร ตามหนังสือที่ ชย.๐๕๑๖/๒๕๑ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๖ และหนังสือที่ ชย.๐๔๑๖/๑๓๙ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๑

เขื่อนนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของราษฎร ในพื้นที่ชลประทาน ๔๓,๐๐๐ ไร่ เป้าหมายคือพื้นที่ริมฝั่งลำคันฉู ตั้งแต่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในเขต ต.โคกเพชรพัฒนา ต.มะนาว อ.บำเหน็จณรงค์ ครอบคลุมถึง ๑๒ ตำบล ได้แก่ บ.โคกเพชรพัฒนา บ.เพชร บ.ชวน บ.ตาล บ.หัวทะเล บ.ทุ่งเสมียนตรา บ.ทม บ.หนองโดน บ.กุดน้ำใส บ.กอก บ.หนองบัวใหญ่ บ.ละหาน ซึ่งตำบลเหล่านี้เป็นเขตที่ลำน้ำไหลผ่านจนเข้าเขต อ.จัตุรัส ก่อนที่จะไหลลงสู่บึงละหาน อันเป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ และไหลลงแม่น้ำชีตามลำดับ

ข้อมูลพื้นฐานโครงการ

อ่างเก็บน้ำลำคันฉูอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินายางกลัก พื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาด ๕,๘๑๐ ไร่ น้ำท่วม ๑๑ หมู่บ้าน ๔๑๖ ครอบครัว ครอบคลุม ต.โคกเพชรพัฒนา อ.บำเหน็จณรงค์ และ ต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ๒๖๖.๔๗ ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๓๒ ตัวเขื่อนเป็นคันดิน ขนาดความกว้าง ๘ เมตร ความยาวสันเขื่อนรวมคันดินรอบเขื่อนกว่า ๒ กม. แล้วเสร็จในปี ๒๕๓๙ และเริ่มกักเก็บน้ำเดือนตุลาคม ๒๕๓๙

สภาพปัญหา

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำคันฉู ครอบคลุม 2 อำเภอ 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน ดังนี้คือ:

  1. อ.บำเหน็จณรงค์ - ต.โคกเพชรพัฒนา – บ.โคกพะงาด บ.โคกคึม บ.เก่าลำคันฉู บ.คลองบงพัฒนา บ.วังอ้ายพิมย์
  2. อ.เทพสถิตย์ - ต.ห้วยยายจิ๋ว – บ.วังคมคาย บ.โนน (วังตลาดสมบูรณ์) บ.หินเพิง บ.หาดทราย (วังคมคาย) ต.บ้านไร่ – บ.วังอ้ายคง

ผู้ที่ได้รับผลกระทบมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีที่ดินและถูกน้ำท่วมและกลุ่มที่สูญเสียอาชีพจากการเก็บของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด กะบุก ผักหวาน อึ่ง และสมุนไพรต่าง ๆ โดยแทบจะไม่ต้องทำการเพาะปลูกเลย

เขื่อนแห่งนี้ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยวิถีชีวิตของชุมชนบริเวณนี้คือการหาอยู่หากินกับป่านายางกลักนี้ตลอดทั้งปี ทั้งการเก็บหาของป่า ผักหวาน ไข่มดแดง อึ่ง หน่อไม้ เห็ด และการทำไร่ ซึ่งจะไม่ตัดต้นไม้ แต่จะปลูกพืชผักต่างๆ ใต้ต้นไม้แทน ชุมชนที่พึ่งพาและอาศัยผืนป่าแห่งนี้ ยังมีชนเผ่าญากรู อาศัยอยู่ด้วย

หลังการสร้างเขื่อนลำคันฉูในปี ๒๕๓๙ ผืนป่าแห่งนี้ถูกน้ำท่วมถึง ๖,๐๐๐ ไร่ แหล่งพึ่งพิงทั้งการบริโภคในครอบครัวและรายได้ทางเศรษฐกิจจมอยู่ใต้น้ำ

ลูกหลานหลายครอบครัวที่อยู่ในวัยเรียน ต้องลาออกกลางคัน เพราะพ่อแม่ขาดรายได้ หลายครอบครัวต้องอพยพขายแรงงานในกรุงเทพ-ต่างจังหวัด บ้างเช่าที่นาทำนาทำไร่ แต่ที่สุดก็เกิดหนี้สินล้นพ้นตัว ชุมชนที่อยู่อย่างสงบช่วยเหลือกันต้องแตกสลายไป เพราะปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ

ความเดือดร้อนเหล่านี้จึงเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เดือดร้อน เรียกร้องค่าชดเชยความสูญเสีย ในสมัยรัฐบาลพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นการจ่ายค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม ไม่ครบถ้วน ชาวบ้านถูกหลอกลวงและฉ้อโกงจากนายทุนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

เช่น กรณีนายสมชัย สวัสดี ตามมติ ครม. ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ ควรได้รับค่าชดเชยไร่ละ ๒๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑๔ ไร่ แต่มีการพิมพ์ตัวเลขตกไปเหลือเพียง ๔ ไร่ และเมื่อมีการร้องเรียนภายหลัง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับอ้างถึงมติ ครม. ๒๑ เมษายน ๒๕๔๑ ที่ไม่ให้มีการจ่ายค่าชดเชยซ้ำซ้อนย้อนหลัง

กรณีนายเชย จิตต์จำนง มีพื้นที่ทำกินจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำจำนวน ๑๕๐ ไร่ ในช่วงแรก ได้รับค่าชดเชยจำนวน ๗๔ ไร่ ส่วนอีก ๗๖ ไร่ กรมชลประทานไม่จ่ายค่าชดเชย แม้จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ คือ เลี้ยงสัตว์ ทำนา ปลูกมันสำปะหลังและพืชไร่ เช่นเดียวกับ ๗๔ ไร่ที่ได้รับค่าชดเชยไปก่อนหน้านี้ โดยกรมชลประทานให้เหตุผลว่า จ่ายครบแล้วไม่ต้องพิสูจน์ใดๆ

นอกจากนั้น ตลอดเวลา ๕ ปีที่มีเขื่อนลำคันฉู ไม่มีการสร้างคลองส่งน้ำเพื่อการชลประทานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ นอกจากนั้น ปรากฏว่าน้ำจากเขื่อนแห่งนี้กลับนำไปป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผิดกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่ต้น

ปัจจุบันเขื่อนนี้ได้เกิดรอยแตกร้าว และเกิดหลุมขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านหวาดกลัวว่าเขื่อนจะพังลงในไม่ช้า

ตารางเปรียบเทียบข้อเรียกร้องของชาวบ้าน มติคณะกรรมการกลาง ๖ ก.ค.๒๕๔๓ มติ ครม. ๒๕ ก.ค.๒๕๔๓ และข้อคิดเห็นสมัชชาคนจนต่อมติ ครม.

สมัชชาคนจน

ข้อเรียกร้องของชาวบ้าน

  1. ให้มีกรรมการตรวจสอบกรณีเขื่อนร้าวว่า ซ่อมแซมแก้ไขให้มั่นคงได้หรือไม่ ถ้าสามารถซ่อมแซมได้ก็ให้ซ่อมแซม ถ้าไม่สามารถซ่อมแซมได้ก็ให้รื้อเขื่อนหรือเลิกใช้เขื่อน
  2. ในกรณีเขื่อนพัง รัฐบาลจะต้องให้หลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยรัฐบาลจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้เต็มราคาตามความเป็นจริง
  3. ให้รัฐบาลฟื้นฟูชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน (การเก็บหาของป่าจากป่าที่ถูกน้ำท่วมเคยเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ทำให้ปัจจุบันขาดรายได้ เพราะรัฐบาลได้โฆษณาเอาไว้ก่อนการสร้างเขื่อนว่าจะทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดทั้งหมด)
  4. ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเขื่อนลำคันฉูสามารถซ่อมแซมให้มั่นคงได้ ให้กรมชลประทานจัดทำคลองส่งน้ำและระบบชลประทานให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ

มติคณะกรรมการกลางฯ

  1. คณะกรรมการเห็นว่า เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบยังไม่เป็นที่ยอมรับตามข้อตกลงที่เคยมีอยู่เดิม และข้อมูลทั้งสองฝ่ายยังขัดแย้งกันไม่สามารถหาข้อยุติได้ ดังนั้นเพื่อให้เป็นที่ยุติ ควรตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลาง เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายลงไปในพื้นที่เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติอีกครั้ง และให้มีการประกันความเสี่ยงหากเกิดความเสียหายขึ้นภายหลัง
  2. กรณีนายสมชัย สวัสดี ข้อเท็จจริงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ ควรได้รับค่าชดเชยไร่ละ ๒๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๑๔ ไร่ คณะกรรมการกลางฯเห็นว่าการไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสมชัย สวัสดี โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรี ๒๑ เมษายน ๒๕๔๓ ว่าไม่ให้มีการจ่ายค่าชดเชยซ้ำซ้อนย้อนหลัง ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ชาวบ้าน เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปัญหาในเชิงเทคนิค รัฐบาลควรเร่งจ่ายค่าชดเชยตามความเดือดร้อนที่ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์มาแล้ว พร้อมทั้งควรจ่ายดอกเบี้ยด้วย

กรณีนายเชย จิตต์จำนง ซึ่งร้องเรียนว่าไม่ได้รับค่าชดเชยพื้นที่ที่ทำประโยชน์โดยเป็นพื้นที่สำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ คณะกรรมการกลางฯเห็นว่าควรดำเนินการพิสูจน์การครอบครองและทำประโยชน์ที่ให้ฝ่ายชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ โดยให้ใช้หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๒ เป็นแนวทางปฏิบัติ

  1. ควรจัดให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมย้อนหลัง โดยองค์กร/หน่วยงานที่เป็นกลาง และให้ชาวบ้านหรือตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบและกระบวนการศึกษาตลอดทั้งกระบวนการ โดยกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน และหากพบว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริง ต้องมีมาตรการในการฟื้นฟูสภาพวิถีชีวิตและชุมชนให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม หรือใช้แนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙
  2. กรณีคลองส่งน้ำ ให้รอผลการศึกษาของกรมชลประทานซึ่งกำลังจัดทำแผนคลองส่งน้ำและกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๔ โดยคณะกรรมการกลางฯเห็นว่าให้เร่งรัดทำแผนโดยต้องให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดังกล่าว และรัฐบาลต้องจัดหางบประมาณสนับสนุน

มติคณะรัฐมนตรี

  1. ให้ตั้งคณะกรรมการกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อพิสูจน์เรื่องกรณีเขื่อนร้าว หากราษฎรมีความประสงค์จะให้มีการตรวจสอบปัญหาการร้าวของเขื่อนอีกครั้งหนึ่ง แต่เรื่องนี้เคยมีการตรวจสอบโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิมาแล้วถึงสองครั้ง ซึ่งได้รับคำยืนยันว่าเขื่อนดังกล่าวมีความปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรง ส่วนรอยร้าวบริเวณผิวที่พบเห็นนั้นเกิดจากการหดตัวของวัสดุส่วนบนของสันเขื่อนซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อตัวเขื่อนแต่อย่างใด

คณะรัฐมนตรีไม่ยอมรับการประกันความเสี่ยงหากเกิดความเสียหายขึ้นภายหลังตามที่คณะกรรมการกลางเสนอ

2.เห็นชอบให้จ่ายค่าชดเชยแก่นายสมชัย สวัสดี ในส่วนของพื้นที่ที่ยังขาดอยู่อีกจำนวน ๑๐ ไร่ ส่วนรายของนายเชย จิตต์จำนงนั้น เนื่องจากว่ามีการจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วนไปก่อนแล้ว จึงไม่อาจจ่ายค่าชดเชยใดๆ ให้อีก

กรณีการจ่ายค่าชดเชยของนายสมชัย สวัสดี คณะรัฐมนตรีพิจารณาขาดไป ๔ ไร่ ส่วนกรณีนายเชย จิตต์จำนง มติคณะรัฐมนตรีไม่ยอมพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการกลางเสนอ โดยคณะรัฐมนตรีรับฟังความเห็นจากกรมชลประทานที่อ้างว่าจ่ายไปหมดแล้ว แต่ชาวบ้านยืนยันว่าได้รับค่าชดเชยเพียงบางส่วน

3.ไม่เห็นชอบให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมย้อนหลัง เนื่องจากได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนลำคันฉูเกือบแล้วเสร็จทั้งโครงการแล้ว การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมย้อนหลังจึงไม่อาจทำได้ในขณะนี้

มติคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมย้อนหลัง หรือที่จริงคือการศึกษาผลกระทบฯ หลังโครงการ (Post Project EIA) เหมือนไม่ยอมรับว่าหลังจากที่สร้างเขื่อนแล้วชาวบ้านจะเป็นอย่างไรก็เป็นผลกระทบอะไรจะเกิดก็เกิด รัฐบาลไม่รับรู้ด้วย เพราะถ้ารัฐบาลเข้าไปดูแลกรณีนี้แล้วจะเป็นตัวอย่างให้ต้องไปดูแลกรณีอื่นอีก ซึ่งไม่ควรเป็นเหตุผลที่รัฐบาลใช้ในการแก้ปัญหาให้ราษฎรที่เดือดร้อนจากผลการพัฒนา

4.เห็นชอบให้เร่งรัดการจัดทำแผนชลประทานโดยให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วม และรัฐบาลจัดหางบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๔


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง