เขื่อนแม่น้ำโขง ปัญหาข้ามพรมแดน
นับตั้งแต่แนวความคิดเพื่อการพัฒนาโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างได้ถูกริเริ่มขึ้น โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงอ้างว่ามุ่งประโยชน์ด้านการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาประเทศในแถบนี้ โดยเฉพาะส่งเสริมการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ
ต่อมามีเสียงคัด ค้าน เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณสูง ซ้ำร้ายยังเป็นโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมหาศาลอีกด้วย ทำให้แนวความคิดนี้ถูกระงับไป
กระทั่งต้นปีพ.ศ.2549 โครงการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์กลับถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยมีบริษัทเอกชน สัญชาติไทย มาเลเซีย เวียดนาม รัสเซีย และจีน ต่างได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างให้เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
โดยเล็งผลักดันทั้งหมด 11 เขื่อน ในจำนวนนี้ 7 เขื่อนอยู่ในประเทศลาว ได้แก่ เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ, เขื่อนหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง, เขื่อนไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี, เขื่อนปากลาย แขวง ไซยะบุรี, เขื่อนสานะคาม แขวงเวียงจันทน์, เขื่อนลาดเสือ แขวงจำปาสัก, และเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก
2 เขื่อนอยู่ระหว่างพรมแดนไทย-ลาว คือ เขื่อนปากชม ชายแดนไทย-ลาว ที่ อ.ปากชม จ.เลย กับบ้านห้วยหาง แขวงเวียงจันทน์ และเขื่อนบ้านกุ่ม ชายแดนไทย-ลาว ที่บ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กับบ้านกุ่มน้อย แขวงจำปาสัก
ส่วนอีก 2 เขื่อนอยู่ในประเทศกัมพูชา ได้แก่ เขื่อนสตึงเตร็ง จ.สตึงเตร็ง และเขื่อนซำบอ จ.กระเจ๊ะ
เกือบทั้งหมดล้วนผ่านขั้นตอนบันทึกความเข้าใจ เพื่อเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้วทั้งสิ้น
การรุกคืบของนโยบายนี้ สร้างความวิตกกังวลและความห่วงใยในหมู่ผู้ติดตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะภาคประชาสังคม
ในการประชุมนานาชาติ "เรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก เสียงประชาชนข้ามพรมแดน" ที่จัดขึ้นโดยองค์กรภาคประชาชนนานาชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย คณะกรรม การสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า, มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง, โครง การแม่น้ำเพื่อชีวิต, เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง, ศูนย์วิจัยสังคมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนจากกัมพูชา เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รวมกว่า 300 คน
มีประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาแลกปรึกษาหารือเกี่ยวกับโครงการนี้
ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำที่มีจิตวิญญาณ และอัตลักษณ์ของผู้คนอันโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายและสมบูรณ์ ทำให้แม่น้ำสายนี้เป็นฐานทางเศรษฐกิจของประชาชนพื้นถิ่นในลุ่มน้ำโขง เป็นแหล่งอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนจากปลาที่ประชาชนในลุ่มน้ำพึ่งพาอาศัยมานาน เสมือนเป็นสายน้ำแห่งชีวิต
แต่ในช่วงที่ผ่านมา แม่น้ำโขงกลับถูกทำลายจาก "โครงการเขื่อนในลำน้ำสาขา" และ "เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศจีน" เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ
รวมไปถึง "เขื่อนปากมูล" ในประเทศไทย ที่สร้างผลกระทบต่อวิถีประมงและนำมาสู่ความขัดแย้งของชุมชน หรือ "เขื่อนน้ำตกยาลี" ในเวียดนาม ที่สร้างผลกระทบข้ามพรมแดนแห่งรัฐชาติไปยังประเทศกัมพูชา
"เมื่อก่อนนี้ตอนเป็นเด็ก ผมและครอบครัวเคยใช้พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ปลูกข้าว หรือหากจะจับปลา เพียงนำเครื่องมือออกไปหาก็จะได้ปลากลับมาจำนวนมาก เพราะพื้นบริเวณนี้เป็นแหล่งอาหารของพวกเรา แต่มาถึงปัจจุบันนี้ ผมกลับไปบ้านอีกครั้ง พบว่าการปลูกข้าวจะต้องใส่ปุ๋ยเคมีมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่ต้องใช้เลย ในขณะที่ปลาก็แทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว"
แด็ง ง็อก กวง ตัวแทนจากประเทศเวียดนาม กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายเรื่อง ที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ผลกระทบจากเขื่อนมหาศาลขนาดไหน
ขณะที่ จิต ซัม ออธ์ ผอ.สภาเอ็นจีโอ กัมพูชา ระบุว่า การสร้างเขื่อนน้ำตกยาลี ในเวียดนาม โดยมิได้ปรึกษาหารือกับประเทศกัมพูชา ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชาวกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแหล่งอาหารสำคัญ พบว่าปลาจำนวนมากในแม่น้ำโขงย้ายถิ่นการวางไข่ ทำให้ปัจจุบันชาวกัมพูชาไม่สามารถหาอาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน
"สิ่งที่ผมอยากเสนอคือ การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ไม่ควรที่จะคิดแค่ผลกระทบภายในประเทศเท่านั้น แต่คิดว่าแต่ละประเทศจะต้องคิดร่วมกัน แบบเชื่อมโยงเพื่อความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรึกษาหารือร่วมกัน เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน ผมอยากจะพูดว่าเราไม่ได้ต่อต้านการสร้างเขื่อน แต่เราต่อต้านโครงการที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านมากกว่า" ตัวแทนกัมพูชากล่าว
นอกจากนี้ ในการประชุมยังระบุด้วยว่า การสร้าง "เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน" เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของประชาชาติในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นวาทกรรมหลักที่กลุ่มทุนและรัฐบาลของประเทศในลุ่มน้ำใช้เพื่อผลักดันสร้างเขื่อน
ด้วยการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าที่ล้นเกิน แต่เป็นการค้าที่มุ่งสร้างตลาดซื้อขายพลังงาน เพื่อค้ากำไรจากการขายไฟฟ้า ผ่านโครงข่ายไฟฟ้า ด้วยความร่วมมือของกลุ่มเอกชนและรัฐบาลของประเทศต่างๆ
ดังกรณีที่รัฐบาลไทยและเวียดนามลงนามในข้อตกลงการซื้อไฟฟ้าจากลาว กัมพูชา และพม่า ทำให้เกิดการขยายตัวของโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่โปร่งใส ขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ไม่ยึดถือมาตรฐานสากลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่สากลยอมรับ ละเลยการพิจารณาการพัฒนาระบบพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมอื่นๆ นับเป็นการทิ้งภาระทางสังคม และละสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมและประชาชน
อีกทั้งการสร้างเขื่อน ยังขาดการยอมรับสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงและการจัดการทรัพยากร การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่เพียงพอ แทบไม่มีการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการวางแผน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรลุ่มน้ำ ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศต้นน้ำ และปลายน้ำ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประชาชนท้ายน้ำเกิดความวิตกคลางแคลงตลอดมา นับตั้งแต่รัฐบาลจีนสร้างเขื่อน 3 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบน เป็นการจัดการน้ำโดยไม่ปรึกษาหารือกับประเทศท้ายน้ำ ดังที่เกิดปัญหาน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทย เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา
ที่ประชุมยังเห็นด้วยว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเป็นกลไกระดับภูมิภาคที่ยังขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงมีองค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยา และการประมงจากการวิจัยมากมาย แต่ประชาชนไม่อาจเข้าถึง และองค์ความรู้เหล่านี้ ไม่ได้ช่วยให้การตัดสินใจ และกระบวนการวางแผนในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงและรัฐบาลประเทศต่างๆ ยังเพิกเฉยต่อปัญหาข้ามพรมแดน ที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก
ประเด็นสุดท้าย ที่ประชุมระบุว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศควรยอมรับปฏิญญา ว่าด้วยสิทธิประชาชาติท้องถิ่นดั้งเดิม แห่งสหประชาชาติ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่มุ่งปกป้องชุมชนท้องถิ่น
รัฐชาติไม่ควรมองเพียงการพัฒนาตัวเลขทางเศรษฐกิจในพรมแดนของตน แต่ควรตระหนักว่า เขื่อนจะทำลายความงดงามของสายน้ำ ความสมบูรณ์ทางนิเวศ วิทยา ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรม ความมั่นคงของมนุษย์ และอัตลักษณ์ประชาชนลุ่มน้ำโขง