เขื่อน ในมุมมืด-สว่าง ข้อสรุปร่วมระดับโลก

fas fa-pencil-alt
Professor S.Parasuraman
fas fa-calendar
25 สิงหาคม 2544

หมายเหตุ: ข้อมูลต่อไปนี้ เป็นการอภิปรายของ Prof. S.Parasuman นักวิชาการชาวอินเดียซึ่งเป็นอดีตกองเลขาธิการคณะ กรรมการเขื่อนโลก (WCD) ที่ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมในวันที่ 2 ของการสัมมนาวิชาการเรื่องเขื่อนกับการพัฒนาการตัดสินใจ บนฐานองค์ความรู้ใหม่ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 สิงหาคม ที่ผ่านมา และได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 1 กันยายน 2544 มีรายละเอียดดังนี้

            “ผมรู้สึกยินดีที่จะมาเล่าให้ฟังถึงงานที่ได้ทำหลายปีในระดับกรรมาธิการเขื่อนโลกและชี้ให้เห็นข้อสรุปร่วมกันในระดับโลก แรงกดดันในระดับโลกที่ทำให้ธนาคารโลกมีการทบทวนตัวเอง โดยตรวจสอบอย่างรอบด้านในการสร้างเขื่อนเพื่อเกื้อกูลให้เกิดการพัฒนา ไม่ใช่ความบังเอิญ ธนาคารโลกถูกเรียกร้องให้มีการทบทวนผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนาร์มาดาที่อินเดีย ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ เมื่อตั้งคณะกรรมการศึกษามีรายงานว่ารัฐบาลอินเดียขาดสมรรถนะในการตรวจสอบผลกระทบทางสังคม ธนาคารโลกจึงถอนตัวจากการสนับสนุน ส่งผลกระทบถึงประเทศบราซิล รวมทั้งเขื่อนปากมูลในประเทศไทย ที่นำมาสู่การร่วมมือของฝ่ายที่เรียกร้องให้ทบทวนเขื่อน เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่เป็นธรรมและรอบด้าน

            ดังนั้น ปี 2538 จึงมีการทบทวนการสร้างเขื่อน 50 เขื่อนทั่วโลกที่ธนาคารโลกเคยสนับสนุน โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 3 ปี ให้หลังรายงานเสร็จ จึงมีข้อสรุปเสนอต่อผู้ได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้อง

            ในปี 2540 ธนาคารโลกอยากเสนอผลการประเมินตัวเอง ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเขื่อน และธนาคารต่าง ๆ ที่ให้ทุน รวมถึงสหภาพนักวิชาการพลังน้ำ ทั้งหมด 60 องค์กรนานาชาติจึงมาร่วมประชุมกันที่สวิตเซอร์แลนด์

            ธนาคารโลกเสนอว่ามีโครงการ 25% ของโครงการที่ธนาคารโลกสนับสนุนแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมที่ตั้งไว้ มีโครงการ 1 ใน 4 ที่ไม่น่าผ่านแต่ผ่านไปแล้ว นอกนั้นเป็นโครงการที่เหนือมาตรฐาน ผู้ได้รับผลกระทบบอกว่าธนาคารโลกประเมินตัวเองโดยข้อมูลของตัวเอง จึงตั้งกรรมาธิการที่เป็นอิสระคือ คณะกรรมการเขื่อนโลกขึ้น

            ภารกิจของกรรมการคือ 1.ศึกษาผลกระทบการพัฒนาของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในโลก 2.พัฒนาหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่ถูกต้องในการใช้พลังงาน รวมถึงการตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ กรรมาธิการมีองค์ประกอบหลากหลาย คณะกรรมการได้สะท้อนความคิดในการสร้างเขื่อน ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน สองสะท้อนภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย เพราะมีตัวแทนจากอเมริกา จีน เยอรมัน บราซิล ฯลฯ

            มีการทบทวนการสร้างเขื่อนใน 79 ประเทศ นับได้ทั้งหมด 1,000 เขื่อน เลือกกรณีศึกษา 7 กรณี รวมถึงปากมูล หัวข้อเฉพาะเช่น การอพยพ ผลกระทบต่อชีวภาพ รวม 17 หัวข้อใหญ่ มีการจัดประชาพิจารณ์สี่ภูมิภาคของโลก กระบวนการโปร่งใส มีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้อง ยอมรับกันและกันเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป

-ข้อค้นพบ

1.      เขื่อนนำมาซึ่งผลประโยชน์ไม่น้อย

2.      มีหลายกรณีที่ผลประโยชน์ดังกล่าวได้มาด้วย ต้นทุนและการเสียสละที่ยอมรับไม่ได้ และไม่จำเป็นประโยชน์ได้แก่ หนึ่ง เป็นแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำประมาณ 30 ประเทศใน 63 ประเทศ อาศัยไฟฟ้าพลังน้ำ สอง ระบบชลประทานสำหรับพื้นที่หลายประเทศ ช่วยให้กระบวนการผลิตอาหาร 12-16%  สาม มีบทบาทดูแลแหล่งน้ำ ในหลายกรณีเขื่อนเป็นเครื่องมือควบคุมน้ำท่วม

-ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

เขื่อนมากกว่า 50% ใช้งบฯสร้างเกินที่อ้างไว้ 50% ล่าช้ากว่ากำหนดหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น 3.ผลตอบแทนกลับคืนไม่ได้ตามที่เสนอไว้โดยเฉพาะเรื่องการชลประทาน 4.ผลกระทบเรื่องพลังน้ำมีความไม่แน่นอน

-ผลกระทบต่อชุมชน

ผู้ที่อพยพมี 40-80 ล้านคน โดยหลักอยู่ในอินเดียและจีน หลายประเทศให้ข้อมูลไม่ได้ แม้แต่อเมริกาและไทยมีคนพลัดถิ่นจำนวนมากแต่ไม่มีใครนับได้ว่าเท่าไร กรณีเขื่อนปากมูล ตัวเลข 240 ครัวเรือนนั้นเป็นแค่บางส่วน และอยู่เหนือน้ำ แต่ที่ได้รับผลกระทบแบบอื่น ๆ ไม่ได้พูดถึง สังคมไม่ได้ตระหนักและชดเชยผู้ได้ผลกระทบอย่างเพียงพอ

            ประเด็นที่น่าตระหนกอีกอย่างคือ ผลกระทบเกิดขึ้นต่อคนที่มีฐานะย่ำแย่อยู่แล้วในสังคม ที่อินเดียมี 70% เท่านั้นที่เป็นชนเผ่า 40% ของผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นชนกลุ่มน้อย ในแอฟริกาและละตินอเมริกาก็เหมือนกัน ผู้เสียประโยฃน์คือเกษตรรายย่อย ประมงรายย่อย ผู้ที่ได้รับประโยชน์มักเป็นเกษตรกรรายใหญ่ มีที่ดินมาก

            ผลได้ผลเสียจากเขื่อน พบว่ามีการแบ่งปันอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างคนต่างกลุ่มต่างชั้น สถานการณ์นี้ไม่ได้เป็นไปโดยบังเอิญ แต่เป็นไปอย่างเป็นระบบ แม้หลายกรณีมีมาตรการแก้ไขผลกระทบ บรรเทาผลที่ร้ายแรง เช่น จ่ายค่าชดเชย แต่พบว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้นน้อย เป็นการตัดสินใจจากบนลงล่าง อาศัยเหตุผลทางการเมืองเป็นตัวตั้ง ความขัดแย้งในอดีตไม่ได้มีการดูแลแก้ไข ในอเมริกาสร้างเขื่อนปี 2470 ใช้เวลา 60 ปี จึงจ่ายค่าชดเชยเสร็จกรณีนามาดาเรื่องการช่วยเหลืออพยพก็คล้ายกัน

-ข้อค้นพบในด้านทางเลือก

            พบว่าไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนในทุกกรณี ในหลายวัตถุประสงค์มีทางเลือกอยู่ แต่ฝ่ายตัดสินใจไม่สำรวจทางเลือกอย่างเพียงพอ หรือหาทางใช้ประโยชน์จากเขื่อนที่สร้างไปแล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นสร้างเขื่อนแต่ไม่สร้างคลองระบายน้ำ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ

-ข้อเสนอสำหรับอนาคต

            ต้องดูว่าใครมีสิทธิบ้าง และใครเผชิญความเสี่ยงอะไรบ้าง สิทธิ หลักการ คือ ไม่ควรมีใครมีสิทธิหักล้างสิทธิของผู้อื่น สอง เมื่อใดที่สิทธิขัดกันจำเป็นต้องมีเวทีตกลงให้ได้ข้อสรุป ต้องพิจารณาความเสี่ยงของทุกฝ่าย รัฐและแหล่งเงินกู้ต่างเป็นหลักประกันซึ่งกันแต่ความเสี่ยงของผู้ได้รับผลกระทบกลับไม่มีหลักประกัน และไม่มีใครดูแล ถ้าจะให้การพัฒนาเสมอภาค ต้องดูแลสิทธิและความเสี่ยงอย่างเสมอภาค และชอบธรรม

            คนที่เกี่ยวข้องต้องสนใจทั้งเรื่องเขื่อนและทางเลือกอื่น ที่ผ่านมาโครงการตัดสินใจโดยคนระดับสูง แต่ไม่ได้สนใจผู้ได้รับผลกระทบ คณะกรรมการเห็นว่าจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นสรุป ข้อเสนอเรื่องแนวทางและหลักเกณฑ์ที่กรรมาธิการเสนอ เน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

-การมีส่วนร่วมตัดสินใจ

            การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วมด้วย มีส่วนร่วมทั้งในการดูแลการชดเชย โยกย้ายถิ่นฐาน มาตรการบรรเทาต่าง ๆ หลักการจะเป็นไปได้ต้องมีกระบวนการยุติธรรมดูแลและมีกองทุน

            ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้เสนอใหม่จากกรรมาธิการทั้งหมด แต่เกิดจากประสบการณ์ของหลายประเทศ รัฐบาลหลายประเทศกำลังทบทวนข้อเสนอเหล่านี้ อยากเห็นตั้งกรรมการอิสระในประเทศมาพิจารณาข้อค้นพบและข้อเสนอ พร้อมทั้งให้ความเห็นเพื่อให้บทเรียนเหล่านี้ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างแท้จริง เพื่อให้การพัฒนาเป็นธรรมและเสมอภาค อย่างที่ทุกคนคาดหวัง

            บางรัฐบาลอาจเลือกกรณีศึกษาเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอนี้ ทั้งหลักการและการมีส่วนร่วม ถ้ามีรูปธรรมของการผลักดันในลุ่มน้ำที่สำคัญ ก็จะสามารถผลักดันให้กระบวนการนี้ไปข้างหน้าได้มากขึ้น

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง