“เขื่อน” ในเวทีโลก
อินไซด์จากการประชุมโครงการเขื่อนกับการพัฒนา UNEP
เมื่อเอ่ยถึง “เคนยา” หลายท่านในวงการสิ่งแวดล้อมคงทราบดีว่าประเทศกำลังพัฒนาในดินแดน แอฟริกาตะวันออกไม่เพียงแต่เป็นแหล่งที่ขึ้นชื่อสำหรับนักนิยมธรรมชาติโดยเฉพาะ การศึกษาธรรมชาติประเภทซาฟารีเท่านั้น แต่เคนยายังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาติหรือ UNEP อีกด้วย
ไนโรบี เมืองหลวงของเคนยาที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรแต่อากาศหนาวเย็นเนื่องจากอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง ๑,๕๐๐ เมตร ถูกUNEP ที่ตั้งขึ้นในปี ๒๕๒๕ ภายหลังการประชุมที่สต็อกโฮม เลือกเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ สำนักงานของ UNEP ถือว่าเป็นสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติแห่งแรกในประเทศกำลังพัฒนา
เมื่อวันที่ ๘-๙ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปไนโรบีโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน เพราะ UNEP เชิญไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมของ “สภาเขื่อนกับการพัฒนา” (Dams and Development Forum หรือ DDF) ซึ่งจัดโดยโครงการเขื่อนกับการพัฒนา (Dams and Development Program: DDP) ของ UNEP
โครงการเขื่อนและการพัฒนา เป็นโครงการล่าสุดของ UNEP ที่ก่อตั้งเพื่อดำเนินงานสืบต่อจากคณะกรรมการเขื่อนโลก (WCD) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นโดยธนาคารโลกและสหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์สากล (IUCN) เพื่อประเมินเขื่อนที่สร้างไปแล้วทั่วโลก รวมทั้งเขื่อนปากมูลของ กฟผ. เมื่อคณะกรรมการเขื่อนโลกเสร็จสิ้นการจัดทำรายงานที่ชื่อว่าเขื่อนกับการพัฒนา (Dams and Development Report) คณะกรรมการดังกล่าวก็ยุติบทบาทลง ต่อมา UNEP ก็ได้รับการผลักดันจากหลายฝ่ายให้เข้ามาดำเนินการสืบต่อผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก
ในช่วงเช้าวันแรกของการประชุม เป็นการแถลงของคณะทำงานและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของUNEP เรื่องโครงการเขื่อนกับการพัฒนาของ UNEP โครงการนี้มีตั้งคณะเตรียมการขึ้นมา ๑๔ คนที่มาจากฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายอุตสาหกรรมเขื่อน องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิจัย และตัวแทนองค์กรชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน และตัวแทนชนเผ่าพื้นถิ่น
ที่สำคัญก็คือโครงการนี้ กำหนดให้มีสภาเขื่อนกับการพัฒนา (Dams and Development Forum) ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นตัวแทนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนเช่นกัน โดยมีสัดส่วนจากแต่ละกลุ่มที่สมดุล มีจำนวนสมาชิกมากกว่า ๑๐๐ องค์กร เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่โครงการเขื่อนกับการพัฒนาของ UNEP รวมไปถึงการพิจารณานโยบายและการปฏิบัติงานด้วย การประชุม DDF ที่จัดขึ้นที่ไนโรบีครั้งนี้ ก็คือการประชุมครั้งแรกของสภาดังกล่าว
โครงการเขื่อนกับการพัฒนา UNEP มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการถกเถียงเพื่อปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจ การวางแผน และการจัดการเขื่อน และทางเลือกอื่นๆ โดยอาศัยรายงานเรื่องเขื่อนกับการพัฒนาของคณะกรรมการเขื่อนโลก
โครงการนี้จะสนับสนุนให้เกิดเวทีประชุมเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมเขื่อนโลกทั้งระดับชาติ ภูมิภาค ระดับนานาชาติ การเผยแพร่รายงานเขื่อนกับการพัฒนา และช่วยเหลือให้เกิดการกระจายของข้อมูลรวมทั้งให้คำปรึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับเขื่อนและการพัฒนา
สิ่งที่สำคัญซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งก็คือ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์การปฏิบัติตามรายงานคณะกรรมการเขื่อนโลกเพื่อเผยแพร่ในวงกว้าง และโครงการจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในการแสดงจุดยืนและเข้าไปตัดสินโครงการใดๆ เป็นการเฉพาะ
โครงการเขื่อนและการพัฒนา UNEP จึงถือว่าเป็นเวทีระดับสากลสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเขื่อน เพื่อสืบทอดการทำงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกนั่นเอง
การประชุมในวันแรก ยังได้มีการนำเสนอการทำงานที่ต่อเนื่องหลังการจัดทำรายงานเขื่อนและการพัฒนาของ คณะกรรมการเขื่อนโลกของแต่ละองค์กรจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าส่วนต่างๆ ในสังคมโลกไม่ว่าอุตสาหกรรมเขื่อน องค์กรการเงินระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JBIC) สถาบันวิจัยต่างๆ รวมไปถึงองค์กรชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับรายงานเขื่อนกับการพัฒนาของคณะกรรมการเขื่อนโลก
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รายงานนี้ได้ถูกแปลเป็นภาษาท้องถิ่นมากมาย ทั้งแปลรายงานฉบับเต็ม และรายงานสรุป หลายประเทศได้มีการจัดประชุมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติ และผู้ได้รับผลกระทบเพื่อถกเถียงและพิจารณารายงานเพื่อผลักดันให้ไปสู่การปรับปรุงกระบวนการ ตัดสินใจเรื่องเขื่อนในประเทศของตนตามข้อเสนอของรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลก ไม่ว่าจะเป็นเนปาล แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร เยอรมัน โปแลนด์ ปากีสถาน เลโซโท แม้แต่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบีเองก็จัดให้มีเวทีการประชุมหลายฝ่ายเพื่อจะปรับปรุงนโยบายของตน
นอกจากการรายงานให้สภาทราบถึงการเคลื่อนไหวแล้ว ประเด็นหนึ่งที่การโต้แย้งกันก็คือ เรามองรายงานเขื่อนกับการพัฒนาอย่างไร
ทางฝ่ายตัวแทนผู้เดือนร้อนจากการสร้างเขื่อนเองจากทุกภูมิภาคทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ยูกันดา ไปจนถึงฮอนดูรัส และบราซิล ต่างก็ย้ำถึงผลกระทบของเขื่อนที่เกิดกับชาวบ้านและชนพื้นถิ่นที่ยังดำรงอยู่แม้ว่าเขื่อนจะสร้างไปนานนับสิบยี่สิบปีก็ตาม เพราะว่าคำสัญญาที่ฝ่ายอุตสาหกรรมเขื่อนเคยให้ไว้นั้นไม่เคยได้รับการปฏิบัติ ดังนั้นรายงานเขื่อนกับการพัฒนาจึงเป็นผลดีกับการแก้ไขความขัดแย้งเรื่องเขื่อน
ตัวแทนชนเผ่าจากฮอนดูรัสถึงกับกล่าวต่อสภาว่าปัญหาเขื่อนนั้นไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่เกี่ยวข้องวิธีคิดของ มนุษย์ในการให้ความหมายและคุณค่าความเป็นมนุษย์โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นช่นพื้นถิ่นหรือคนชายขอบ เธอยกตัวอย่างว่า ในกัวเตมา ประเทศหนึ่งในภูมิภาคเดียวกับเธอนั้น การสร้างเขื่อนชิซอยได้เข่นฆ่าชนเผ่าพื้นถิ่นไปถึง ๔๐๐ คน
ขณะที่ตัวแทนอุตสาหกรรมเขื่อนจากบราซิลกลับมองว่า ปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมนั้นเป็นปัญหาการจัดการเท่านั้น
สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายงานแล้ว ยืนยันว่า คณะกรรมการเขื่อนโลกได้ทำรายงานอย่างดีที่สุดแล้ว และนั่นก็หมายถึง คุณค่าของผลการศึกษารวมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกควรจะนำมาเป็นฐานในการแก้ปัญหาเขื่อนต่อไป
ในการประชุมวันแรกของสภา ดูเหมือนว่า หลายคนอึดอัดเพราะต้องมานั่งถกเถียงเรื่องเขื่อนกันใหม่ ขณะที่มีเวลาจำกัด ดังนั้นวันต่อมาจึงได้ปรับวิธีการประชุมใหม่ให้เป็นทางการน้อยลง
ในวันที่ ๒ ของการประชุม จึงได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยตามประเด็นเพื่อระดมความคิดก่อนที่จะนำเสนอ ต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อให้คณะทำงานนำไปปรับเป็นนโยบายของโครงการเขื่อนและการพัฒนาของ UNEP อีกครั้ง โดยมีประเด็นที่สำคัญ เช่น ประเด็นการสร้างความยอมรับจากสาธารณะ ประเด็นทางเลือกในการจัดการน้ำและพลังงาน ประเด็นเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ฯลฯ
ประเด็นที่น่าสนใจและข้าพเจ้าเข้าร่วมก็คือ การพิจารณาเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่ามีกลุ่มใหญ่ ๆ ๒ กลุ่มที่เข้าร่วม คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อน ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เน้นไปที่ประเด็นความปลอดภัยของเขื่อน และกลุ่มผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน ที่เน้นไปที่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับเขื่อนที่สร้างไปแล้ว
แม้ว่า แต่ละฝ่ายจะมีความสนใจที่แตกต่างกัน แต่ดูเหมือนว่าประธานกลุ่มซึ่งมาจากคณะกรรมการเตรียมงานได้เปิดโอกาสให้ผู้เดือดร้อนจากการ สร้างเขื่อนได้พูดถึงปัญหาของตนและแนวทางแก้ไขก่อน ซึ่งกรณีของประเทศไทยได้เสนอว่าจะต้องมีการฟื้นฟูชีวิตและชุมชนของผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน และหากจำเป็นก็ควรจะยกเลิกการใช้เขื่อนที่ได้ไม่คุ้มเสีย
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนั้น ไม่ได้มีเพียงชาวบ้านหรือชนพื้นถิ่นเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศที่อยู่ท้ายน้ำ เพราะปัญหาเขื่อนมีลักษณะของปัญหาข้ามพรมแดน ซึ่งปัญหานี้นำเสนอโดยตัวแทนรัฐบาลเวียตนาม กรณีเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ที่ประเทศตอนบนสร้างเขื่อน แต่ผลกระทบตกอยู่กับประเทศท้ายน้ำอย่างเวียตนาม
แม้ว่าการเสวนากลุ่มนี้จะไม่มีทางออกอย่างชัดเจน แต่ประเด็นเหล่านี้ก็ได้นำไปเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในภาคบ่าย ซึ่งคณะทำงานจะนำไปพิจารณาอีกครั้งเพื่อกำหนดเป็นแผนการทำงานในช่วง ๒ ปีต่อจากนี้ของโครงการเขื่อนกับการพัฒนาของ UNEP ก่อนที่จะมีการปิดประชุมสภา โดยนัดหมายกันคร่าวๆ ว่า การประชุมสภาครั้งต่อไปซึ่งคาดว่าอีกประมาณ ๑ ปี UNEP จะรับเป็นเจ้าอีกครั้งที่ไนโรบี
บทบาทของ UNEP ในโครงการเขื่อนและการพัฒนานี้ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องทิศทางเรื่องเขื่อนในอนาคต เพราะเขื่อนได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาสากลที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำให้ก้าวพ้นไปจากความขัดแย้ง แม้ว่าโครงการเขื่อนกับการพัฒนา UDEP จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือตัดสินเขื่อนใดเขื่อนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่กิจกรรมเท่าที่กำหนดไว้ก็ย่อมมีผลกระทบต่อความคิดของประชาคมโลกไม่มากก็น้อย
แม้ว่าการประชุมสภาครั้งแรกนี้จะผ่านไปด้วยดี และประเด็นที่มีการคำนึงกันมากก็คือ ทำอย่างไรรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้เข้ามาร่วมเวทีและหันมาพิจารณารายงานเขื่อนกับการ พัฒนาอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงนโยบายการสร้างเขื่อนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก
ในความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว หากว่ารัฐบาลแต่ละประเทศ (รวมทั้งรัฐบาลไทย) ยังเพิกเฉยต่อรายงานเขื่อนกับการพัฒนา และหลับหูหลับตาสร้างเขื่อนต่อไปบนความเชื่อว่า “การสร้างเขื่อนคือการพัฒนา” โดยไม่มองเขื่อนอย่างเป็นระบบแล้ว “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ทั่วโลกได้เรียกร้องมานับสิบปีนับแต่การประชุมที่ริโอก็จะกลายเป็นเพียงวาทะกรรมของการพัฒนาเท่านั้นเอง
ติดตามข้อมูลการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการเขื่อนกับการพัฒนา UNEP ได้ที่ www.unep-dams.org