'เขื่อนปากลาย' ใหญ่กว่าน้ำเทิน 2 จีนทุ่ม $1.7พันล้าน

fas fa-pencil-alt
ผู้จัดการออนไลน์
fas fa-calendar
15 มิถุนายน 2550

ผู้จัดการรายวัน -- หากสามารถก่อสร้างได้ในอีก 30 เดือนข้างหน้า เขื่อนผลิตไฟฟ้ากั้นลำน้ำโขงที่เมืองปากลาย แขวงไซยะบูลี จะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว ใหญ่กว่าและใช้เงินลงทุนก่อสร้างมากกว่าเขื่อนน้ำเทิน 2 ในภาคกลางของประเทศ

บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากจีน 2 ราย คือ Sinohydro Corp และ China National Electronics Import and Export Corp ได้ทำบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจกับทางการลาวในวันจันทร์ (11 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อเริ่มสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว

เมืองปากลายอยู่ตอนใต้ของแขวงไซยะบูลีใกล้กับชายแดน จ.เลยของไทย ซึ่งเป็นจุดที่เส้นทางไหลของแม่น้ำโขงยังอยู่ในดินแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

เขื่อนปากลายจะใช้เงินลงทุนถึง 16.2 ล้านล้านกีบ หรือประมาณ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีกำลังติดตั้งขนาด 1,320 เมกะวัตต์ สำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) รายงานเรื่องนี้ในวันพฤหัสบดี (14 มิ.ย.) โดยอ้างคำกล่าวผู้บริหารบริษัทซิโนไฮโดร

"นี่เป็นโครงการพัฒนาการไฟฟ้าพลังน้ำของรัฐบาล ที่ได้มีแผนการสร้างขึ้นเพื่อปั่นไฟฟ้า เพื่อสนองความต้องการใช้ภายในประเทศและเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน" ข้อความในคำแถลงที่ออกมาหลังการเซ็นบันทึกฯ

ปี 2536 ประเทศไทยซื้อไฟฟ้าจากลาวเพียง 1,500 เมกะวัตต์ และเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นปี 2549 คำแถลงฉบับเดียวกันระบุ

สำนักข่าวของทางการลาวกล่าวว่า หากการศึกษาความเป็นไปได้ประสบความสำเร็จ บริษัทจากจีนจะได้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้าในโครงการเขื่อนปากลายเป็นระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างด้วย

เขื่อนปากลายกำลังจะเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งที่ 3 ในดินแดนลาว ถัดจากเขื่อนดอนสะหง ในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้สุดของประเทศ ที่กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจศึกษาโดยบริษัทเอกชนจากมาเลเซีย และเขื่อนกั้นลำน้ำโขงอีก 1 แห่งในช่วงไซยะบูลี-หลวงพระบาง

บริษัทผลิตไฟฟ้าน้ำเทิน 2 (Nam Theun 2 Power Co) กำลังเร่งการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ในแขวงคำม่วนของลาว โดยมีกำหนดเริ่มปั่นไฟในปี 2553 และส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของไทยเป็นปริมาณ 5,600 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh) ที่เหลืออีกราว 300 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีจะใช้ในประเทศ

การก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 เริ่มมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2548 บริษัทฯ ยืนยันว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งจำหน่ายให้แก่ประเทศไทยได้ตามเวลาที่กำหนด

บริษัทไฟฟ้าฝรั่งเศส (Electricite du France Internationale) ถือหุ้น 35% ในบริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 อีก 25% ถือโดยรัฐบาลลาว ที่เหลืออีก 25% ถือโดย บมจ.ผลิตไฟฟ้าของไทย และอีก 15% เป็นของ บมจ.อิตาเลี่ยนไทยดีเวลลอปเมนต์ จากไทย

น้ำเทิน 2 ได้กลายเป็นโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในลาว มีกำลังติดตั้งขนาด 1,070 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนราว 1,450 ล้านดอลลาร์ โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

ตามข้อมูลของธนาคารโลก รัฐบาลลาวจะมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทิน 2 เฉลี่ยปีละ 30 ล้านดอลลาร์ตลอดช่วง 10 ปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 110 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2563-2577 ตลอดอายุสัมปทาน

อย่างไรก็ตาม หลายท้องถิ่นในลาวยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากระบบสายส่งยังไปได้ไม่ทั่วถึง รวมทั้งในแขวงไซยะบูลี ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม 1 ในแขวงเวียงจันทน์ อีกส่วนหนึ่งต้องกลับคืนจากประเทศไทย 15 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง