'เขื่อนปากชม'...ความจริงที่ชาวเมืองเลยยังไม่รู้?
กับผลกระทบริมสองฝั่ง'โขง'ของโครงการยักษ์'

fas fa-pencil-alt
เดลินิวส์
fas fa-calendar
16 กันยายน 2551

พลังงานน้ำ เป็นพลังงานชนิดเดียวที่สามารถลดต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เพราะแหล่งพลังงานทางธรรมชาติ นั้นไม่มีต้นทุนเหมือนกับน้ำมันเชื้อเพลิง
 
ดังนั้น โครงการเขื่อนปากชม หรือ โครงการเขื่อนผามอง เป็นโครงการเขื่อนขั้นบันไดแม่น้ำโขง ที่เคยถูกเสนอไว้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2539 โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขง หรือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) หรือ MRC ซึ่งแผนการสร้างเขื่อนในตอนนั้นต้องชะงักไปด้วยภาวะสงครามความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดจีน และมูลค่าการก่อสร้างมีราคาสูงจนเกินไป มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน นำมาปัดฝุ่นเสนอใหม่
 
สำหรับ “เขื่อนปากชม” เป็นโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงบริเวณเขตชายแดนไทย-ลาว ซึ่งล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศ และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อให้ภาคเอกชนมอบหมายให้บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวลลอปเมนท์ และเอเซีย คอร์ป จำกัด เข้ามาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ “เขื่อนปากชม” ขนาดกำลังการผลิต 1,079 เมกะวัตต์ จะตั้งอยู่ระหว่างแนวพรมแดนไทย-ลาว ห่างจากปากแม่น้ำโขง ตรงบ้านห้วยขอบ หมู่ 3 ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย และบ้านห้วยหาง เมืองสังทอง แขวงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว มูลค่าการลงทุนโครงการอยู่ที่ 69,641 ล้านบาท
 
จากการสัมมนาของมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ที่หอประชุมศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 สรุปว่า รัฐอ้างว่าเขื่อนพวกนี้เป็นเพียงฝาย แบบ run of river เท่านั้น แต่แท้จริงกลับเป็นเขื่อน ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อำเภอปากชม เพื่อสรุปประเด็น ต่าง ๆ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม มีความเห็นแตกต่างจากผลการรายงานของบริษัทฯ ที่ทาง กระทรวงพลังงานมอบหมายมีประเด็นที่ควรพิจารณา   ดังนี้ คือ ความคุ้มค่าของโครงการฯ กับการลงทุนถึง 69,641 ล้านบาท แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 210.14 เมกะวัตต์ ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เนื่องจากหลังจากสร้างเขื่อนแล้ว จะมีพื้นที่น้ำท่วมถึง 3,700 ตารางกิโลเมตร กว่า 50,217 ไร่ จะมีพื้นที่น้ำท่วมขึ้นไปทางเหนือ ตั้งแต่บ้านคกเว้าหมู่ 2, บ้านหาดคัมภีร์ หมู่ 1, บ้านปากมั่ง หมู่ 5, ต.หาดคัมภีร์ แล้วยังจะท่วมบ้านสงาว หมู่ 4, บ้านปากเนียม หมู่ 5 ต.ห้วยพิชัย และบ้านศรีภูธร หมู่ 3 ต.ปากชม และบางส่วนของอำเภอเชียงคาน ตลอดจน “แก่งคุดคู้” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเลย น้ำจะท่วมทั้งปีจนไม่สามารถเห็น “แก่งคุดคู้” ในฤดูแล้ง อีกต่อไป “ปลาบึก” จะไม่สามารถว่ายผ่านได้อีก  การสร้างบันไดปลาโจนจะไม่เกิดประโยชน์ใดกับการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง สูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้านทั้งสองฝั่งโขง
 
นายกัญจน์ วงศ์อาจ ชาวอำเภอเชียง คาน ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาอิสระ ยืนยันว่า  90 เปอร์เซ็นต์ ชาวจังหวัดเลยยังไม่ทราบผลเสีย หากสร้างเขื่อนจริง ในช่วงฤดูฝนจะทำให้ระดับน้ำเอ่อท่วมริมตลิ่งตลอดแนว ลำห้วยสาขาไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขง โดยเฉพาะลำน้ำเลย ต.บ้านธาตุ ที่ลึกเข้าไป 20 กิโลเมตร จะท่วม และอาจท่วมตัวเมืองเลย รวมทั้งไม่สามารถปลูกพืชสวนครัว ในฤดูแล้ง ซึ่งชาวบ้านสร้างรายได้จากสิ่งเหล่านี้โดยที่ไม่ต้องอพยพแรงงานไปต่างถิ่น
 
“ที่สำคัญที่สุด ต้องการให้ปฏิบัติตาม  รัฐธรรมนูญว่าด้วยการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง  ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งต้องให้องค์ กรเอกชนด้าน  สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และ  ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ให้ความเห็นประกอบก่อนอีกด้วย
 
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ชาวบ้านจะทำนิ่งเฉยกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศ หากช่วยกันลดใช้ไฟฟ้า เขื่อนเหล่านี้ก็คงไม่ต้องสร้างให้เปลืองเงิน.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง