เขื่อนราษีไศล: ความจริง ความขัดแย้ง และทางออก
บทนำ
เขื่อนราษีไศลสร้างในปี 2535 และแล้วเสร็จในปี 2536 แม้ว่าสร้างเสร็จไปแล้วหลายปีก็ตาม แต่เขื่อนแห่งนี้ได้ก่อให้เกิด ความขัดแย้งระหว่างรัฐคือกรมพัฒนาและส่ง เสริมพลังงานและชาวราษีไศลมากขึ้นทุกขณะ ขณะที่ข้อมูลข่าวสารเรื่องเขื่อนราษีไศล ก็มีความสับสนเนื่องจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานไม่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ สังคมไทย ขณะเดียวกันท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ชาวบ้านยังถูกกล่าวหาจากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐว่าโกงกินชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลกล่าวหาฝ่ายค้าน ในการ อภิปรายไม่ไว้วางใจโดยใช้คำว่า ราษีไศลบริโภค ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการชี้ไปยังนักการเมืองฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการเหมารวม ไปถึงชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากการสร้างเขื่อนราษีไศลด้วย
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายแม่น้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้จัดทำรายงานนี้ขึ้นเพื่อให้สังคมไทยเห็นแง่มุมที่สำคัญของเขื่อน ราษีไศลซึ่งถูกละเลยมาโดยตลอด โดยที่ราย งานนี้ได้ข้อมูลมาจากการสำรวจภาคสนาม การวิเคราะห์เอกสาร และการสรุปจากราย งานเรื่อง Social Impacts of the Rasi Salai Dam, Thailand: Loss of Livelihood Security and Social Conflict ซึ่งเครือข่ายแม่น้ำเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้รับการคัดเลือกให้นำเสนอในการประชุมปรึกษาหารือสำหรับภูมิภาคเอเซียตะวันออกและเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ ของคณะกรรมการเขื่อนโลกที่กรุงฮานอย ประเทศเวียตนามเมื่อวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ 2543 (The World Commission on Dams: East and Southeast Asia Consultation, Feb 26-27, 2000)
1.ต้นทุนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเขื่อนราษีไศล
1.1 ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว
เดิมกรมพัฒนาตั้งงบประมาณในการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ไว้ที่ 140.97 ล้านบาท แต่การก่อสร้างจริงในปี 2535-2536 งบประมาณบานปลายไปถึง 871.9 ล้านบาท มากกว่าราคาประเมินครั้งแรกถึง 600% โดยที่ต้นทุนนี้ไม่รวมถึงค่าก่อสร้างระบบชล ประทานแต่อย่างใด
1.2 ผลประโยชน์ด้านชลประทาน
ผลประโยชน์ด้านชลประทานเป็นผลประโยชน์ประการเดียวที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ระบุไว้ในโครงการ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานระบุว่า เขื่อน ราษีไศลมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 288,000 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ทางฝั่งขวาของ แม่น้ำมูนครอบคลุมพื้นที่อำเภอราษีไศล บึงบูรณ์ และเมืองศรีษะเกษ ประมาณ 78,000 ไร่ และพื้นที่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูนครอบ คลุมพื้นที่อำเภอราษีไศล ยางชุมน้อย จังหวัดศรีษะเกษ บางส่วนของอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร และพื้นที่อำเภอเขื่องใน จังหวัด อุบลราชธานี แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ว่าเขื่อนแห่งนี้จะสร้างเสร็จไปแล้ว 6 ปีกว่า แต่ระบบชลประทานของเขื่อนยังสร้างไม่เสร็จ แต่อย่างใด ทำให้เขื่อนราษีไศลยัง ไม่มีการใช้ประโยชน์แม้แต่น้อย
ดูเหมือนว่าผลประโยชน์ที่คาดไว้นี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัญหาดินเค็มซึ่งมีสาเหตุมาจากเขื่อนราษีไศล จนกระทั่งสำนักนโยบายและแผนสิ่ง แวดล้อมมีหนังสือสั่งให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานสิ่งแวดล้อมระงับการก่อสร้างระบบ ชลประทานไว้ก่อน
1.3 ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ถ้าหากนำเอาต้นทุนของโครงการโดยไม่ต้องรวมดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างเขื่อนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นมาเทียบกับผล ประโยชน์ของเขื่อนที่มีค่าเท่ากับศูนย์แล้ว ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของเขื่อนราษีไศลก็จะมีค่าเท่ากับศูนย์นั่นเอง
การกักเก็บน้ำของเขื่อนตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นการกักเก็บน้ำที่ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง และยังเป็นการก่อให้เกิดผล กระทบต่างตามมาอย่างไร้เหตุผลรองรับ
2.ผลกระทบของเขื่อนราษีไศล
2.1 การสูญเสียป่าบุ่งป่าทามและความหลากหลายทางชีวภาพ
เขื่อนราษีไศล ได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของลุ่มน้ำมูนและประเทศไทย ระบบนิเวศน์ป่าบุ่ง ป่าทาม ซึ่งพื้นที่ชุมน้ำ(wetland) ประเภทหนึ่ง นับว่าเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคนี้
คุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพของป่าบุ่งป่าทามที่สำคัญก็คือ การเป็นถิ่นอาศัยและวางไข่ของปลาในเขตลุ่มน้ำมูนที่ อพยพมาจากแม่น้ำโขง ป่าบุ่งป่าทาม จึงเปรียบเสมือนแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาซึ่งหากเทียบกับทะเลแล้วป่าบุ่งป่าทามก็ทำหน้าที่เช่น เดียวกับป่าชายเลน แต่ปัจจุบันป่าบุ่งป่าทามได้ถูกน้ำท่วมอย่างถาวรทำให้พืช ยืนต้นตายเกือบทั้งหมด ที่เหลือบางส่วนก็จะเสียหาย ภายในไม่ช้าถ้าหากว่าเขื่อนยังคงกักเก็บน้ำต่อไป
เนื่องจากไม่มีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานเรื่องจำนวนพันธุ์ปลาก่อนการสร้างเขื่อน จึงทำให้ขาดข้อมูลพื้นฐานในด้านการ ประมง แต่จากการสำรวจข้อมูลพันธุ์ปลา ที่ชาวบ้านเคยจับพบว่า ในเขตป่าบุ่งป่าทามและแม่น้ำมูนในเขตนี้มีพันธุ์ปลาอย่างน้อยที่สุด 80 ชนิด ขณะที่มีสัตว์น้ำอื่น ๆ อีกมาก เช่น กุ้ง 3 ชนิด ปู 2 ชนิด หอย 14 ชนิด
ส่วนสัตว์ป่าอื่น ๆ เท่าที่สำรวจพบมีสัตว์เลื้อยคลาน 43 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 11 ชนิด และนกน้ำอีกหลายชนิด
ป่าบุ่งป่าทามยังประกอบด้วยพันธุ์พืชหลากหลายชนิด แต่ก็ไม่ได้มีการสำรวจเอาไว้ การสำรวจหลังจากการสร้างเขื่อนไป แล้ว 4 ปีพบพันธุ์พืชสมุนไพร 44 ชนิดที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ และปัจจุบันนี้พืชสมุนไพรเหล่านี้ก็แทบจะหาไม่ได้อีกเลย
2.2 ดินเค็มและผลกระทบ
เนื่องจากภาคอีสานในอดีตก็คือทะเล ปัญหาดินเค็มกับเขื่อนในภาคอีสานนั้นจึงเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมากการสำรวจ โดยการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาว เทียมและภาพถ่ายทางอากาศประกอบทั้งการตรวจวัดคุณภาพของน้ำตามแหล่งน้ำ โดยโครงการพัฒนาดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า อ่างเก็บน้ำที่สร้างในภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือหลายแห่งมีปัญหาน้ำใน อ่างเค็มและเกิดดินเค็ม
ในเขตราษีไศลนั้น แผนที่การแพร่กระจายดินเค็มเฉพาะของจังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งจัดทำโดยกองแผนที่และการพิมพ์ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลมีบริเวณที่มีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร
ไม่เพียงแต่หน่วยงานรัฐเท่านั้นที่รับรู้ปัญหาดินเค็ม แต่ปัญหานี้คนในท้องถิ่นก็รู้กันมานานแล้ว เนื่องจากในเขตอ่างเก็บน้ำ ของเขื่อนราษีไศลก่อนการสร้างเขื่อน มีแหล่งเกลือที่ชาวบ้านได้นำมาใช้ประโยชน์โดยวิธีการขูดส่าเกลือ(ดินที่มีเกลือปน)มาละลาย น้ำและต้มเป็นเกลือถึง 150 แห่ง นอกจากนั้นแม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำมูน บริเวณนี้ เช่น ลำน้ำเสียว และห้วยคลองน้ำใส เป็นต้น ชาวบ้านรู้กันมานานแล้วว่ามีปริมาณความเค็มจนไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้
โดยปกติแล้ว น้ำเค็มและเกลือเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับชาวบ้านเพราะชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและยัง เป็นรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของ ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินในการทำเกลือแบบโบราณไปขายหรือแลกกับข้าวและปลา
ตามธรรมชาติ น้ำเค็มจากห้วยที่ไหลลงแม่น้ำมูนนั้นยังก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูน เพราะเมื่อ ไหลลงแม่น้ำมูนความเค็มก็จะลดลงจาก การผสมกับน้ำในแม่น้ำมูน ในช่วงแรกของฤดูฝน เมื่อแม่น้ำมูนไหลลงแม่น้ำโขงน้ำที่มีเกลือ ผสมนี้ก็จะกลายเป็นธาตุอาหารสำหรับปลาและเป็นตัวกระตุ้นให้ปลาอพยพมา จากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูน
เป็นที่น่าสังเกตว่า กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทราบถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในรายงานการศึกษาความเหมาะ สมงานศึกษาวางแผนโครงการ และออกแบบรายละเอียดระบบชลประทานของโครงการ ซึ่งกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานว่าจ้าง ให้ บริษัท รีซอสส์ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนทส์ จำกัด จัดทำขึ้นเมื่อปี 2537 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการกักเก็บน้ำจะทำให้การละลายของชั้น เกลือซึ่งทำให้เกิดความเค็มของอ่างเก็บน้ำสูงขึ้น และทำให้ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม
ผลจากการที่เขื่อนและพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลตั้งอยู่บนพื้นที่ดินเค็มนั้น ทำให้เกิดปัญหาดินเค็มตามมา ประการแรก การเกิดการแพร่กระจายของ ดินเค็มรอบอ่าง เนื่องจากการกักเก็บน้ำทำให้มีการยกระดับน้ำใต้ดิน(Water table)สูงขึ้น น้ำนี้ก็จะไปละลายเกลือออกมา ทำให้ความเค็มของน้ำในอ่างเก็บน้ำสูงขึ้น การยก ระดับของน้ำใต้ดินยังทำให้พื้นที่รอบๆอ่างเก็บ น้ำที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเกิดเกลือโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดินอีกด้วย ซึ่งปัญหานี้ได้ปรากฏชัดมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะขยาย ตัวออก ไปเรื่อย ๆ
ชาวบ้านรอบอ่างเก็บน้ำของเขื่อนและชาวบ้านท้ายเขื่อนเริ่มมีประสบการณ์เลวร้ายนี้มากขึ้นทุกวัน เนื่องจากระดับน้ำใต้ดิน สูงขึ้นและละลายเกลือขึ้นมาบนผิวดิน เช่นกัน
ปรากฏการณ์การขยายตัวของดินเค็มรอบอ่างเก็บน้ำนี้ยังได้รับการยืนยันจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล(2542) พบว่า การสร้างเขื่อนและการกักเก็บน้ำ เขื่อน ราษีไศลรวมทั้งการสร้างระบบชลประทาน ได้นำมาซึ่งปัญหาดินเค็มในพื้นที่ 50 % ของพื้น ที่ที่ได้สุ่มตัวอย่างจำนวน 509,800 ไร่ในเขตนี้ปกคลุมไปด้วยแผ่นเกลือและสรุปว่า ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการกักเก็บน้ำของเขื่อน ราษีไศล การสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลยังชี้ให้เห็นว่าชาวบ้าน 17.5% ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมีประสบการณ์ เกี่ยวกับปัญหาดินเค็มก่อนการสร้างเขื่อน ขณะที่ในปัจจุบันชาวบ้านประมาณ 58.75% กำลังประสบกับปัญหานี้
ประการที่สอง ปัญหาการเกิดดินเค็มในระบบชลประทานของเขื่อนราษีไศล ปัญหานี้เกิดจากเกลือในพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำถูกชะล้างไหลลงมาตามลำห้วย สาขาของแม่น้ำมูนสะสมในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ราษีไศล เขื่อนราษีไศลจึงเป็นปราการกักเก็บความเค็มที่ไหลลงมาจากแอ่งมหาสารคามให้สะสมอยู่ในอ่างเก็บน้ำโดยปริยาย จนกระทั่งในปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลมีความเค็มจนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรได้ กรมพัฒนาและ ส่งเสริมพลังงานได้อ้างเหตุผลในการสร้าง เขื่อนราษีไศลว่า เพื่อเป็นการนำน้ำมาใช้ในฤดูแล้ง แต่ผลประโยชน์นี้ก็จะต้องแลกด้วย ต้นทุนราคาแพงมหาศาล นั่นก็คือ แทนที่ระบบชลประทานนี้จะนำมาซึ่งความผาสุข และความอยู่ดีกินดีของพี่น้องในพื้นที่ชล ประทาน ตรงกันข้ามชาวบ้านกลับต้องเผชิญกับหายนะแทน ดังปรากฎว่ามีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่รัฐได้สนับสนุนให้มีการสูบน้ำ จากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนมาใช้ในระบบชลประทานเดิม ทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มไปทั่ว และหากระบบชลประทานของ เขื่อนสร้างเสร็จปัญหานี้ก็จะหนักหน่วงยิ่ง เนื่องจาก
1) ผลจากการสร้างคลองหรือถนนตัดแนวลำน้ำธรรมชาติในบริเวณโครงการ จะทำให้เกิดการละลายของเกลือทางด้านบน ของคลองและด้านล่างของถนน เนื่องจาก คลองและถนนเหล่านี้กีดกั้นการระบายน้ำของทางน้ำปกติ ดังนั้นเมื่อมีการชะล้างดินเค็ม ในช่วงฤดูฝนและปลายฤดูฝน ความเค็มของน้ำในทางระบายและทางสายน้ำหลากจะ เพิ่มขึ้นกว่าปกติ
2) ในบริเวณพื้นที่ชลประทานที่มีดินเค็ม เมื่อมีการใช้น้ำชลประทานเต็มที่ บริเวณดินเค็มผิวดินจะจางลงเพราะการเจือจาง แต่จะเกิดดินเค็มแพร่ออกด้านข้างแทน ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดความเสียหายกับพื้นที่ข้างเคียงที่มีความเค็มของดินน้อย หรือไม่มี ความเค็มอยู่ก่อน หรือหากมีการใช้น้ำชลประทานแบบส่งน้ำไปตามคลองย่อย เกลือจากชั้นล่างจะขึ้นมาที่ผิวดิน เกิดปัญหาการแพร่ กระจายของเกลือออกไปอีก
3) หากเกิดการรั่วซึมของน้ำจากอาคารบังคับน้ำ คลองส่งน้ำและคลองชลประทานจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของ เกลือ ซึ่งมาจากน้ำที่ซึมจากคลองละลาย เกลือ และอาจทำให้น้ำในคลองส่งน้ำมีปริมาณคลอไรด์สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการ เพาะปลูก
4) ผลจากการที่ดินมีความเค็มมากๆยังจะนำไปสู่การกัดกร่อนผิวคอนกรีตที่ใช้ดาดคลอง จนทำให้ค่าบำรุงรักษาคลองสูงกว่า ปกติ
แม้ว่าปัญหานี้จะสำคัญยิ่งจนกระทั่งสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมเสนอให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานสิ่งแวดล้อม ระงับการก่อสร้างระบบชลประทานไว้ ก่อน แต่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับโดยเดินหน้าทำการก่อสร้างระบบชลประทาน ต่อไป
2.4 ผลกระทบทางสังคม
2.4.1 วิถีการผลิตของผู้ได้รับผลกระทบ
ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลได้เกิดขึ้นกับชาวบ้านอย่างน้อย 3,000 ครอบครัวใน 69 หมู่บ้าน ผลกระทบที่สำคัญก็คือ การที่ชาวบ้านสูญเสียแหล่งปัจจัยใน การผลิตและการดำรงชีวิตโดยเฉพาะที่ดิน ป่าบุ่งป่าทาม แหล่งเกลือ และความอุดมสมบูรณ์ของ แม่น้ำมูน
ระบบเศรษฐกิจของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศลเป็นระบบที่ผสมผสานกันระหว่างการทำนาบนที่ สูง การทำนาทามและการปลูกพืชใน ทาม การประมงในแม่น้ำมูล การทำเกลือ การเก็บพืชผักและผลผลิตจากป่า และการเก็บเลี้ยง สัตว์โดยการปล่อยสัตว์เลี้ยงในบุ่งทาม ซึ่งเป็นวงจรหมุนเวียนตลอดทั้งปี สัมพันธ์กับสภาพธรรมชาติ
ชาวบ้านส่วนหนึ่งจะมีที่นาบนที่สูงขึ้นไป เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่นาที่สูงแล้ว ก็จะลงไปทำนาในป่าบุ่งป่าทามซึ่งเริ่มใน ช่วงฤดูหนาว ข้าวที่ได้จากนาที่สูงนั้นมี ไว้สำหรับขายเป็นรายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนข้าวนาทามจะเก็บไว้กินเอง
ชาวบ้านบางคน การผลิตต้องพึ่งพานาทามเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านกลุ่มหลังนี้จึงได้รับผลกระทบมากที่สุด
พื้นที่นาทามนั้น กล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่เกษตรที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเขตนี้เนื่องจากได้รับตะกอนในช่วงฤดูน้ำหลากซึ่งเป็น ปุ๋ยอย่างดี ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายใน การซื้อปุ๋ยวิทยาศาสตร์ การทำนาทามของชาวบ้านยังมีการใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อให้สอด คล้องกับระบบนิเวศน์ การสำรวจพบว่าก่อนการสร้างเขื่อนมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองถึง 13 ชนิดที่ชาวบ้านในเขตนี้ปลูกกัน ดังนั้นระบบ การทำนาทามจึงเป็นระบบที่มีการอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไปในตัว แต่ทุกวันนี้พันธุ์ข้าวเหล่านี้เริ่มหายาก มากขึ้น และคาดว่าอีกไม่นานก็จะสูญพันธุ์
การสูญเสียนาทามจากการถูกน้ำท่วม ไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียแหล่งการผลิตที่สำคัญของชาวบ้านและการสูญเสียความ หลากหลายของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์แบบทาม อีกด้วย
สำหรับการประมงนั้น นับว่ามีความสำคัญต่อชาวบ้านแถบนี้เนื่องจากปลาในแม่น้ำมูนคือโปรตีนที่สำคัญของชาวบ้านโดย ไม่ต้องซื้อหา การประมงยังเป็นแหล่งราย ได้ที่สำคัญของชาวบ้านที่นี่ แต่ทุกวันนี้ เขื่อนได้ทำลายระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์นี้ อีกทั้งยังปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลาจากท้ายเขื่อนขึ้นมาเหนือเขื่อนอีกด้วย
นอกจากการทำนาและการประมงแล้ว ชาวบ้านยังมีการทำเกลือโดยใช้วิธีสมัยโบราณนั่นก็คือ ในฤดูแล้งเมื่อเกิดส่าเกลือขึ้น ตามแหล่งเกลือ ชาวบ้านจะขูดมา ละลายน้ำและนำไปต้ม ชาวบ้านที่ทำเกลือนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ทำเกลือเป็น อาชีพซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีนาทามเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านกลุ่มนี้ทำเกลือ เพื่อนำ ไปแลกกับข้าวหรือไม่ก็ขาย ที่เหลือจะเก็บไว้กิน ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปจะทำเกลือไว้สำหรับการบริโภคในครัวเรือน โดยทั่วไปชาวบ้านจะทำเกลือในบริเวณที่เคยทำในปีที่ผ่าน มา แหล่งเกลือที่จะทำนั้นขึ้นอยู่กับความชำนาญในเส้นทางการขนเกลือจากแหล่งทำเกลือไปยังหมู่บ้านด้วย
ความรู้ในการทำเกลือนั้นได้ถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน และจำเป็นที่จะต้องทำกันเป็นกลุ่ม เนื่องจากการทำเกลือต้องใช้ เวลาในการรอนาน ความสัมพันธ์ระหว่าง ชาวบ้านในชุมชนจึงเกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มกันทำเกลือด้วย
ส่วนการเลี้ยงสัตว์นั้น ชาวบ้านแถบนี้มีการเลี้ยงวัวกันแทบทุกหลังคาเรือน โดยการปล่อยวัวให้หากินในบุ่งทาม ในช่วง ทำนาทามก็จะต้อนวัวขึ้นไปยังนาดอน การสูญเสียป่าทามจึงเป็นการสูญเสียแหล่งเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญที่สุดของชาวบ้าน ภายหลังการ สร้างเขื่อน ชาวบ้านจึงจำต้องขายวัวออกไปหมดเนื่องจากไม่มีที่เลี้ยง
นอกจากอาชีพดังกล่าวข้างต้นแล้ว พืชผักและสมุนไพรในป่าทามก็เป็นแหล่งที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน จากการเก็บพืชผักมาบริโภคในครัว เรือนโดยไม่ต้องซื้อ รวมไปถึงการพึ่งพาสมุนไพรในการรักษาโรค นอกจากนั้นพืชผักและ ผลผลิตจากป่าทามยังนำมาซึ่งรายได้ของครอบครัวซึ่งเป็นรายได้ที่ยั่งยืนถาวรอีกด้วย
กล่าวได้ว่า วิถีการผลิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำราษีไศลนั้นเป็นการผลิตที่ผสมผสานและ หมุนเวียนไปตลอดปี จนชาวบ้านกล่าว กันว่า "ไม่มีเดือนไหนที่ชาวบ้านจะว่างงาน นอกจากเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียวที่ชาวบ้าน วางมือจากการทำมาหากินและหันมารวมกันแข่งเรือตามประเพณี"
2.4.2 ระบบกรรมสิทธิ์
ปัญหาสำคัญที่กลายมาเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านราษีไศลก็คือ การที่รัฐไม่มีความเข้าใจและไม่ยอมรับระบบ กรรมสิทธิ์ในการใช้และจัดการ ทรัพยากรของชาวบ้าน ขณะที่ระบบกรรมสิทธิ์ที่รัฐให้การรับรองโดยกฎหมายนั้นมีเพียง 2 ระบบ คือระบบกรรมสิทธิ์รัฐ(state property) และระบบกรรมสิทธิ์เอกชน(private property) แต่ระบบกรรมสิทธิ์ในเขตป่าทามที่ถูกน้ำท่วม จากการสร้างเขื่อนราษีไศลนั้นเป็นระบบกรรมสิทธิ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างกรกรมสิทธิ์ส่วนรวม(common property) และสิทธิปัจเจก ซึ่งเป็นสิทธิตามประเพณี(customary right)
กล่าวคือ สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติยกเว้นที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวม แม้ว่าทรัพยากรนั้นจะอยู่ในเขตที่ดินของ ตนก็ตาม ดังเช่น การจับปลา ชาวบ้าน คนไหนก็ได้มีสิทธิ์ในการจับปลาแม้ว่าปลานั้นอยู่ในเขตที่ดินของใครก็ตามตราบเท่าที่ไม่ใช้ เครื่องมือที่เป็นการจับเชิงพานิชย์ แต่หากใช้ลอบหรือกั้นปลาซึ่งหมายถึงการจับเชิง พานิชย์ก็จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินก่อน
ส่วนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ชาวบ้านจะยึดถือสิทธิในที่ดินตามประเพณี(customary land right) ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ บรรพบุรุษ แต่รัฐไม่ได้ให้การรับรองสิทธินี้ แต่กลับเหมารวมว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ปัญหาความขัดแย้งจึงเกิดจากการซ้อนทับ ของระบบกรรมสิทธิ์ระหว่างกรรมสิทธิ์ของรัฐ และสิทธิตามประเพณี
ขณะที่สิทธิในการทำเกลือก็เป็นกรรมสิทธิ์ที่สลับซับซ้อน ชาวบ้านที่ไม่ได้มีที่นาทามและเป็นคนทำเกลือเป็นอาชีพเพื่อขาย หรือ แลกข้าวมาหลายชั่วอายุคนก็จะ มีแหล่งทำเกลือซึ่งสืบทอดกรรมสิทธิ์แบบเดียวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินนั่นก็คือการยึดถือสิทธิตามประ เพณี(เช่น ชาวบ้านแถบสุรินทร์) ขณะที่ชาวบ้านที่มีนาทามและทำเกลือเพียง เพื่อบริโภคในครัวเรือน(เช่นแถบอำเภอราษีไศล) ก็จะยึดถือสิทธิ์ร่วมกัน ใครจะทำเกลือที่ไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการรวมกลุ่มกันทำในเขตและเส้นทางการเข้าถึงแหล่ง เกลือ ที่กลุ่มชำนาญหรือเคยทำกันมา
การที่รัฐไม่รับรองสิทธิ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ ได้กลายมาเป็นปมปัญหาความขัดแย้ง เพราะหากพิจารณาจากมุมมองของกฎหมาย ประการเดียว รัฐก็สามารถกล่าว ได้ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์(ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าชดเชยด้วย) แต่หากพิจารณาความเป็นจริง โดยยึดหลักการเคารพสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครง การของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนที่บรรดานักการ เมืองและนักสร้างเขื่อนกล่าวเสมอว่า "คนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือไม่ก็เท่าเดิม" ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนราษีไศลก็มีสิทธิอันชอบธรรมในปกป้องสิทธิของพวกเขา
2.4.3 การต่อสู้ของชาวบ้าน
แรกสุดชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลไม่ได้คัดค้านเขื่อนแห่งนี้เนื่องจากได้รับการแจ้งจากกรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงานว่าเป็นการสร้างฝายยางและ เก็บกักน้ำไม่เกินตลิ่ง แต่เมื่อปรากฏว่ากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับสร้างเขื่อนคอนกรีต และกักเก็บน้ำเกินตลิ่ง 4.5 เมตร ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้กรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงานลดการกักเก็บน้ำเหลือไม่เกินระดับตลิ่งเพื่อ ไม่ให้เกิดน้ำท่วมที่นาทามและป่าบุ่งป่าทาม แต่การเรียกร้องของชาวบ้านก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ ชาวบ้าน เห็นว่าไม่สามารถต่อต้านได้แล้วจึงหันมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐจ่ายค่าชดเชยแก่พวกเขา
ในปี 2540 ได้มีการชุมนุม 99 วันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงได้อนุมัติค่าชดเชยแก่ชาวบ้าน การจ่ายค่าชดเชยครั้งนี้ สามารถกล่าวได้ว่า เป็นการรับรองสิทธิตามประเพณีครั้งแรกของรัฐไทย กระนั้นก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาล นักการเมืองที่สังกัดพรรครัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็ได้หยิบยกกรณีการจ่าย ค่าชดเชยนี้มาเป็นเกมส์การเมืองเข้าฟาดฟันกับ พรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ได้กลายมาเป็นฝ่ายค้าน
การนำกรณีการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศลมาเป็นเกมส์การเมืองของนักการเมือง ได้ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อชาวบ้าน เพราะ ข้อกล่าวหาที่พรรครัฐบาลประเคนเข้าใส่ ฝ่ายค้านนั้นได้กระทบต่อชาวบ้านราษีไศลด้วย โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับนายอดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ในข้อหาโกงเงินรัฐ และ ได้พ่วงเอาแกนนำชาวบ้านและนักพัฒนา เอกชนอีก 5 คน เข้าไปด้วย รวมทั้งการกล่าวหาต่อสาธารณะว่าชาวบ้านที่ได้รับเงินชดเชยนี้โกงเงินรัฐโดยการว่าจ้างบริษัท เอกชน เพื่อทำการโฆษณาและโจมตีชาวบ้านเป็นการเฉพาะ
ขณะเดียวกัน การจ่ายค่าชดเชยของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนทั้งหมด เนื่องจากกระบวนการของรัฐและนักการ เมืองในการจัดการกับชาวบ้านก็คือ การจัดตั้งมวลชนเพื่อให้มีการเผชิญหน้ากันเองใน ลักษณะของการ "แบ่งแยกแล้วปกครอง" ผลที่ตามมาก็คือชาวบ้านราษีไศลแตกออกเป็น 6 กลุ่ม ที่ล้วนแต่ออกมาเรียกร้องความเป็น ธรรม ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่รัฐจัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อที่จะทำลายความชอบธรรมในการเรียกร้องสิทธิ์ของชาวบ้านที่เดือดร้อน ให้ดูเหมือนว่า มีคนมาเรียกร้องเกินจริงมากเกินกว่าจะรับได้
การแก้ปัญหาที่ใช้วิธีการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินโดยใช้ให้ชาวบ้านแต่ละกลุ่มชี้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ (ซึ่งไม่มีที่ไหนทำมา ก่อน เพราะการชดเชยเขื่อนทุก เขื่อนจะต้องมีการรังวัดจริงไม่ใช่ใช้ภาพถ่าย) ก็ย่อมทำให้เกิดการซ้อนทับกัน และประเด็นนี้ก็ทำให้ ปัญหาราษีไศลวนอยู่ในอ่าง ไม่สามารถแก้ได้
การดำเนินคดีกับผู้นำชาวบ้าน การกล่าวหาชาวบ้านที่ได้รับค่าชดเชยไปแล้วว่าโกงเงินรัฐ และการที่รัฐไม่จ่ายค่าชดเชย ครอบคลุมถึงชาวบ้านที่เดือดร้อนนี้เองได้นำ ไปสึความรู้สึกของการถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียวและได้นำไปสู่การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ของชาวบ้านที่ยืดเยื้อ
ในวันที่ 25 สิงหาคม 2542 ชาวบ้าน 1,300 ครอบครัวได้ก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยการหยุดกล่าวหาพวกเขา การให้รัฐเปิด ประตูระบายน้ำเพื่อเข้าพิสูจน์สิทธิ์โดยการสำรวจภาคสนาม แต่กรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงานกลับใช้วิธีปิดประตูเขื่อนและกักเก็บน้ำให้น้ำท่วมแทนที่จะเข้าแก้ปัญหา และ การโจมตีกล่าวหาชาวบ้านก็เกิดขึ้นอย่างต่อ เนื่อง แต่ชาวบ้านก็ประกาศยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแม้ว่าน้ำท่วมจะตายก็ตาม
วันที่ 15 พฤษภาคม 2543 พ่อใหญ่โฮม ไชยงค์ อายุ 64 ปี แกนนำชาวบ้านก็ต้องจมน้ำที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
วันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ชาวบ้าน 900 คน ได้เข้ายึดหัวงานเขื่อนถาวรเพื่อให้มีการฟื้นฟูธรรมชาติ ป่าบุ่งป่าทาม และแม่น้ำมูน การสำรวจการถือครองที่ดิน และแก้ปัญหาดินเค็มโดยเร่งด่วน ขณะที่ชาวบ้าน 250 คน ก็ยังอยู่ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 แม้ว่าต้องเผชิญกับน้ำที่เขื่อนกักเก็บให้สูงขึ้น
พวกเขา เห็นว่า แม้ว่าพวกเขาอาจจะต่อสู้ได้ค่าชดเชยมาได้ แต่ชีวิตนี้ก็จะไม่มีทางที่จะมีความสงบสุขได้ การเปิดประตูเขื่อน เพื่อคืนธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ และการป้องกันหายนะต่าง ๆ โดยเฉพาะดินเค็มไม่ให้เกิดขึ้นมากไปกว่านี้
3.กระบวนการตัดสินใจสร้างเขื่อนราษีไศล
3.1 บริบทที่มาของเขื่อนราษีไศล
หากพิจารณาบริบทที่มาของเขื่อนราษีไศล เขื่อนนี้ก็เช่นเดียวกับเขื่อนอื่น ๆ ในภาคอีสานที่ไม่ได้เกิดมาจากความต้องการของ ประชาชนในท้องถิ่น แต่มาจากการ ผลักดันมาจากบรรดาบรรษัทสร้างเขื่อนจากตะวันตก ที่ร่วมมือกับหน่วยงานสร้างเขื่อนและ นักการเมือง
แรกสุด รัฐบาลไทยโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมและพลังงานได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ โดยผ่านสำนัก งานคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ตอน ล่าง(Mekong Scretariat) ทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ในชื่อ Development of the Lower Mun Basin Feasibility Study ที่ดำเนิน การโดย บริษัท Nedeco รายงานการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2525 จากรายงานสรุปได้ว่าการพัฒนาลุ่มน้ำมูนตอนล่าง สมควรที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำบนลำน้ำมูน 3 แห่ง คือที่ อ.สตึก จ.สุรินทร์ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ และอ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ โดยจะมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำและกักเก็บน้ำที่ อ.ราษีไศล ก่อน
ต่อมากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานเบื้องต้นโครงการโขง-ชี-มูล แล้วเสร็จเมื่อปี 2530 โดยจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาลงยังน้ำพอง และลำปาวเพื่อปล่อยลงแม่น้ำชี และจากแม่น้ำชีมีคลองผันน้ำข้ามลุ่มน้ำลงไปยังลุ่มน้ำมูน รวม 4 สาย โดยทำการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำรวม 4 เขื่อน เพื่อสูบน้ำเข้าคลองผัน น้ำและส่งไปยังลำน้ำมูน
โครงการราษีไศลจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล หน้าที่หลักคือการกักเก็บน้ำในลำน้ำมูนไว้ ใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค รวมทั้งทำ หน้าที่รับและควบคุมน้ำซึ่งจะส่งมาจากแม่น้ำโขง เพื่อส่งไปยังโครงการย่อยอื่นๆต่อไป โดยที่เขื่อนราษีไศลเป็นหนึ่งใน 22 เขื่อนในโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล โครงการผันน้ำ ขนาดยักษ์ในเขตลุ่มน้ำโขงทางภาคอีสาน ของไทยภายใต้ความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เพื่อทำการผันน้ำจากแม่น้ำโขง ชี และมูนใช้แก้ปัญหาการขาด แคลนน้ำในพื้นที่ 4.98 ล้านไร่ในภาคอีสาน โครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณถึง 228,000 ล้านบาท และจะใช้เวลาดำเนินการ ก่อสร้างนานถึง 42 ปี และต่อมานักการเมือง ก็เข้าสนับสนุนโครงการนี้และนำมาหาเสียง
เขื่อนราษีไศลจึงเกิดขึ้นมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลต่างชาติ และนักสร้างเขื่อนของรัฐไทย โดยมีบรรดานักการเมืองที่มี การหยิบเอาโครงการโขง-ชี-มูล ขึ้นมา หาเสียง
เขื่อนราษีไศลจึงมิใช่เป็นความต้องการของคนท้องถิ่นแต่ประการใด
3.2 กระบวนการตัดสินใจ
ปัญหาที่เขื่อนราษีไศล อาจจะไม่รุนแรงและยืดเยื้อยาวนานดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าหากว่ากรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ปฏิบัติตามกฎหมาย
ในเดือนพฤษภาคม 2532 คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ ได้อนุมัติให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน สร้างฝายราษีไศลที่อำเภอราษีไศล ซึ่งเป็น วันเดียวกับการอนุมัติเขื่อนปากมูน อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับ สร้างเขื่อนแห่งนี้ในปี 2535 และแล้วเสร็จในปี 2536 ซึ่งช้ากว่าที่อนุมัติไป 3 ปี
ปมปัญหาสำคัญที่ได้กลายมาเป็นที่มาของความขัดแย้งก็คือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานไม่ได้ดำเนินโครงการตามที่ ครม.อนุมัติและไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย
ประการแรก การสร้างเขื่อนราษีไศลขัดกับมติ ครม. เพราะตามมติ ครม.ในปี พ.ศ. 2532 นั้น ได้อนุมัติให้กระทรวงวิทยา ศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีดำเนิน การสร้างฝายกั้นแม่น้ำมูนที่บริเวณบ้านปากห้วย อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ เป็นฝายยางเก็บน้ำ ไม่เกินตลิ่งหรือสูง 4.5 เมตร แต่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับสร้างเขื่อน คอนกรีตสูง 9 เมตร และกักเก็บน้ำที่ระดับ 119 ม.รทก.ซึ่งก่อให้เกิดน้ำท่วมเกินตลิ่งแม่น้ำมูนถึง 4.5 เมตร
ประการที่สอง การสร้างเขื่อนราษีไศลขัดต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม(ไม่ว่าจะเป็นฉบับ พ.ศ.2521 หรือฉบับ พ.ศ.2535) ได้กำหนดให้โครงการเขื่อนที่มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำมากกว่า 15 ตาราง กิโลเมตรและมีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 80,000 ไร่ จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) แต่การสร้าง เขื่อนราษีไศลของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติแต่ประการใด รายงานการศึกษาความ เหมาะสมงานศึกษาวางแผนโครงการและออกแบบรายละเอียดระบบชลประทานของโครงการ ซึ่งกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ว่าจ้างให้ บริษัท รีซอสส์ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนทส์ จำกัด จัดทำขึ้นเมื่อปี 2537 ก็ไม่สามารถเรียกว่าเป็นรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อมได้ เพราะนี่คือรายงานการศึกษาความเหมาะสม และยังเป็น รายงานที่จัดทำขึ้นภายหลังจากที่เขื่อนสร้างไปแล้ว
การขาดการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้เอง ที่ทำให้เขื่อนราษีไศลขาดฐานข้อมูลในเรื่องของ ผลกระทบทั้งผลกระทบทางสังคมและ สิ่งแวดล้อม
เมื่อเกิดการประท้วงขึ้น ชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องก็จะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่ต้นตอของปัญหาทั้งปวงนั้นมาจาก การที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน มิได้ ปฏิบัติตามกฎหมายนั่นเอง และด้วยความที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานอยู่ภายใต้ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่มีหน้าที่ดูแลกฎหมาย สิ่งแวดล้อม จึงไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้า หน้าที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานแต่อย่างใด แต่รัฐกลับนำกฎหมายอื่นเข้าจัดการกับชาวบ้านราวกับว่ามิใช่ พลเมืองไทย
4.เขื่อนราษีไศล: บทเรียนและทางออก
4.1 บทเรียน
จากข้อมูลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า เขื่อนราษีไศลคือผลพวงของอุดมการณ์การพัฒนาแบบทุนนิยมที่เป็น มรดกมาจากการขยาย ตัวของลัทธิจักร วรรดินิยมในยุคสงครามเย็น โดยที่หน่วยงานสร้างเขื่อนของรัฐไทยเข้าดำเนินการภายใต้ความ เชื่อนที่ว่าเขื่อนคือการพัฒนา ขณะที่นักการเมืองก็ได้เข้ามาสนับสนุนและผลัก ดันให้สร้างเขื่อนแห่งนี้ขึ้นมา
เบื้องหลังของการสร้างเขื่อนแห่งนี้คือเขื่อนจะนำมาซึ่งความสะดวกสะบายและความอยู่ดีกินดีของประชาชนในท้องถิ่น แต่ผลลัพธ์ก็คือ เขื่อนราษีไศลได้ก่อให้เกิด ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย และชาวบ้านในท้องถิ่นคือผู้ที่แบกรับภาระทั้ง หมดนี้โดยที่ไม่มีชาวบ้านแม้แต่คนเดียวที่ได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนนี้
อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเขื่อแห่งนี้ก็คือนักการเมืองที่ใช้เขื่อนแห่งนี้และโครงการโขง-ชี-มูลหาเสียง
ความฟิดพลาดที่ร้ายแรงกรณีเขื่อนราษีไศลที่กลายเป็นที่มาของปัญหาก็คือ การดำเนินการสร้างเขื่อนที่ขัดกับมติ ครม. และ การไม่ดำเนินการจัดทำรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างที่คาดไม่ ถึง ขณะเดียวกันผลประโยชน์ของเขื่อนนั้นก็เป็นศูนย์แม้ว่าจะสร้างไปแล้ว 6 ปีกว่า
ความล้มเหลวนี้จึงเปรียบได้กับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำนั่นเอง
หากพิจารณาในแง่ของสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร ปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านยังมาจากการที่รัฐไม่ยอม รับระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวมและ สิทธิตามประเพณี และรัฐยึดแต่กฎหมายซึ่งล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมท้องถิ่น การจ่าย ค่าชดเชยนั้นก็ไม่ได้มาจากการวางมาตรการไว้ก่อน และไม่มีข้อมูล ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยครอบคลุมผู้ที่เดือดร้อนทั้งหมด
เมื่อเกิดปัญหาขึ้น แทนที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจะดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายและสอด คล้องกับสภาพปัญหา กรมพัฒนาและ ส่งเสริมพลังงานกลับกลบเกลื่อนปัญหาโดยการกักเก็บน้ำและการใช้วิธีการ "แบ่งแยก แล้วปกครอง" เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกในชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น
ต้นตอของความขัดแย้งที่มีมากขึ้นทุกวันนั้นยังมาจากการที่นักการเมืองนำกรณีเขื่อนราษีไศลมาเป็นเกมส์การเมืองเข้าห้ำหั่น กัน โดยที่ชาวบ้านที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องกลายเป็นแพะรับบาป
ประวัติศาสตร์ของเขื่อนราษีจึงถูกนักการเมืองและนักสร้างเขื่อนเขียนว่า "ชาวบ้านคือผู้ร้าย" ขณะที่ในความเป็นจริง ผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์นั่นแหละคือประวัติศาสตร์ของเขื่อนราษีจึงถูกนักการเมืองและนักสร้างเขื่อนเขียนว่า "ชาวบ้านคือผู้ร้าย" ขณะที่ในความเป็นจริง ผู้ที่เขียนประวัติศาสตร์นั่นแหละคือผู้ร้าย ตัวจริงที่เปรียบเสมือนโจรปล้นชาติและทรัพยากรของประชาชนไป
4.2 ทางออก
ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใดก็ตาม เขื่อนราษีไศลนั้นไม่ควรจะถูกสร้างขึ้นมาได้ และเมื่อสร้างแล้วก็ยังมองไม่เห็นว่าควรจะ เก็บเขื่อนนี้ไว้ทำอะไร
ยิ่งไปกว่านั้น หากระบบชลประทานสร้างเสร็จ เขื่อนแห่งนี้ก็ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มขยายวงมากขึ้น ไปอีก ซึ่งปัญหานี้ยิ่งจะแก้ยากยิ่งกว่า เรื่องของการจ่ายค่าชดเชยนับร้อยเท่า
ด้วยเหตุนี้ อย่าว่าแต่การยกเลิกการกักเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลอย่างถาวรเลย การรื้อเขื่อนนี้ทิ้งก็เป็นสิ่งที่ควรทำด้วยซ้ำไป โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ชาวบ้านลุกขึ้น มาเรียกร้องจนขั้นต้องเข้ายึดเขื่อน
เพราะไม่ว่าจะมีการประท้วงหรือไม่ก็ตาม ปัญหาของเขื่อนราษีไศลก็เปรียบเสมือนช้างตายทั้งตัวแต่เอาใบบัวไปปิด
คำถามมีอยู่ว่า รัฐบาลจะตัดสินใจต่อเรื่องนี้โดยยึดเหตุผล หรือจะเชื่อแต่ข้อมูลที่นักสร้างเขื่อนและเจ้าหน้าที่รัฐบางคนปั้น ขึ้นมาอย่างเดียวเหมือนดังที่ผ่านมา
เอกสารประกอบ
Bangkok Post “Farmers threaten to hunger strike over dam projects”, June 2, 1999
---. “Rasi Salai Dam: Villagers become tool of rival parties. Conflict turns to political game”, Nov 30, 1998
---. “Government bows to Forum pressure”, Nov 5, 1996
Chainarong Sretthachau and Shyama Shepard, “Village of the Dammed”, Bangkok Post, Jan 11, 2000.
Southeast Asia Rivers Network, Social Impacts of the Rasi Salai Dam, Thailand:
Loss of Livelihood Security and Social Conflict, Submission for the World Commission on Dams: East and Southeast Asia Consultation, Feb 26-27, 2000:
Hanoi, Vietnam.
กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (2537), รายงานการศึกษาความเหมาะสมงานศึกษาวางแผนโครงการและออกแบบรายละเอียดระบบชลประทานของโครงการ, จัดทำโดย บริษัท รีซอสส์ เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแตนทส์ จำกัด
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าทามมูลลุ่มน้ำมูล (2542), แนวทางในการอนุรักษ์ป่าบุ่งป่าทาม.
มหาวิทยาลัยมหิดล (2542), ร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล. กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
สนั่น ชูสกุล(2542), บทความชุดความขัดแย้งเขื่อนราษีไศล ตอนที่ 1-4 เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์.