เขื่อนสาละวิน
เบื้องหน้า ไฟฟ้าราคาถูก เบื้องหลัง ธุรกิจและการล่าฝันของนักสร้างเขื่อน

fas fa-pencil-alt
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ-Searin
fas fa-calendar
9 เมษายน 2546

“ผมสัญญากับตัวเองว่า จะได้เห็นเขื่อนสาละวินเป็นจริงเมื่อผมเป็นผู้ว่า กฟผ. ผมอาจไม่มีโอกาสที่จะสัมผัสโครงการใหญ่ขนาดนี้อีกแล้ว”  (แปลจากคำสัมภาษณ์ของนายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่า กฟผ.ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๖)

สาละวินหรือ “น้ำคง” สายน้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดเป็นอันดับสองในอุษาคเนย์ที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยไหลลง มหาสมุทรอินเดียในวันนี้คือสายน้ำบริสุทธิ์สายล่าสุดที่พลุกพล่านไปด้วยนักสร้างเขื่อน ปัจจุบัน แม่น้ำสาละวินถูกวางแผนให้เป็นที่ตั้งของเขื่อนชุดมากกว่า ๑๐ เขื่อน เขื่อนที่ถูกผลักดันมากที่สุด ๒ โครงการคือ เขื่อนท่าซางในใจกลางรัฐฉานและเขื่อนบนพรมแดนไทย-พม่า ๒ เขื่อน เขื่อนทั้งสองโครงการถูกผลักดันด้วยเหตุผลว่า ”เพื่อสวัสดิการทางสังคม” นั่นก็คือเพื่อให้เป็นแหล่งไฟฟ้าราคาถูกดังเช่นเขื่อนจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นก่อนหน้านี้ แต่หากวิเคราะห์ในมุมมองนิเวศวิทยาการเมือง เขื่อนชุดบนลุ่มน้ำสาละวินที่กำลังถูกผลักดันในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการทางสังคมแต่ประการใด เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีพลังงานเหลือใช้ในระบบมากกว่าร้อยละ ๔๐ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินแม้แต่น้อย

แรงผลักดันที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังบรรดานักสร้างเขื่อนทั้งหลายที่กำลังมุ่งหน้าไปยังสาละวินมีอย่างน้อย ๓ ประการด้วยกันคือ แรงผลักดันของอุตสาหกรรมเขื่อนระดับโลก แรงผลักดันจากแผนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการล่าฝันของนักสร้างเขื่อน มีรายละเอียดดังนี้

เขื่อนสาละวิน: แรงผลักดันของอุตสาหกรรมเขื่อนระดับโลก

เหตุผลใหญ่สุดที่อยู่เบื้องหลังของการผลักดันเขื่อนสาละวินก็คือ ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเขื่อนและพลังงาน

กล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ของการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำสาละวินคือประวัติศาสตร์ของการลงทุนเพื่อแสวงหา กำไรจากแม่น้ำของบรรดาทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างและพลังงานในระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจสร้างเขื่อนในเอเชีย กลุ่มทุนญี่ปุ่นมีบทบาทในการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำสาละวินตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่สองภายใต้บริบทที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามให้กับพม่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ส่วนใหญ่ทุนญี่ปุ่นจะลงทุนในเอเซียตะวันออกไกล แต่หลังสงคราม  ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเป้าจากเอเซียตะวันออกไกลมายังเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทของกลุ่มทุนญี่ปุ่นในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมากบริเวณพรมแดนไทย-พม่า เช่น ลุ่มแม่น้ำแม่กลองและลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งญี่ปุ่นเคยยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เขื่อนแห่งแรกที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาในเขตนี้คือเขื่อนบาลูชองกั้นแม่น้ำบาลูสาขาใหญ่ของสาละวินในประเทศพม่า ตามด้วยเขื่อนต่างๆ บนลุ่มน้ำแม่กลอง

เอกสารกองทุนพัฒนาโพ้นทะเล: ความจริงของการช่วยเหลือ (ODA Eniyo no Genjitsu หรือ ODA-Reality of Aid) ซึ่งเขียนโดยซูมิเมื่อปี ๒๕๓๑ ระบุว่า  บริษัท นิปปอน โคอิ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาแห่งแรกของญี่ปุ่นคือผู้ผลักดันเขื่อนแห่งนี้ บริษัทนิปปอน โคอิ ก่อตั้งในปี ๒๔๙๐ โดยนายยูกาตะ คูโบตา (Yukata Kubota) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในเอเชีย โดยเฉพาะในแคว้นแมนจูเรียของจีน ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพญี่ปุ่น

หลังปี ๒๔๙๖-๒๔๙๗ คูโบตาเดินทางไปหลายประเทศในเอเชีย เช่น พม่า เวียตนาม ลาว และอินโดนีเซีย เพื่อหาพื้นที่ในการสร้างเขื่อน เขาเดินทางไปเยือนพม่าเป็นประเทศแรกและเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพม่า และเสนอโครงการสร้างเขื่อนบาลูชองบนแม่น้ำบาลูแม่น้ำสาขาของน้ำปุ่นที่เป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดสายหนึ่งของสาละวิน หลังจากการเข้าพบครั้งนั้น นิปปอน โคอิ ได้เข้าทำการศึกษาพื้นที่สร้างเขื่อนในพื้นที่ซึ่งเป็นรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์คะยาโดยมีทหารพม่าคุ้มกันความปลอดภัย

นิปปอน โคอิ ได้ส่งแผนก่อสร้างเขื่อนบาลูชองให้แก่รัฐบาลพม่า แต่งบประมาณนั้นสูงเกินกำลังของร่างกุ้ง คูโบตาจึงใช้สายสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับสูงโดยเสนอโครงการนี้ต่อนายโยชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น และโน้มน้าวว่าโครงการนี้จะช่วยภาคธุรกิจการส่งออกของญี่ปุ่น หลังจากนั้นญี่ปุ่นจึงอนุมัติงบประมาณแก่โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบาลูชองอย่างรวดเร็วในปี ๒๔๙๗ โดยเป็นส่วนหนึ่งของค่าปฏิกรณ์สงครามที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายให้พม่า ด้วยข้อเสนอแนะของนายโคบูตาทำให้บริษัทก่อสร้างของญี่ปุ่นชื่อ คาจิมะ คอนสตรักชั่น (Kajima Construction) ได้สัมปทานสร้างเขื่อนบาลูชอง ต่อโครงการเขื่อนบาลูชองนี้ต่อมาได้กลายเป็นแม่แบบโครงการพัฒนาต่างประเทศของญี่ปุ่น และเป็นแม่แบบที่บริษัทที่ปรึกษาของญี่ปุ่นที่จะล่าพื้นที่ด้วยการสำรวจเพื่อหาทางสร้าง โครงการพัฒนาเพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือโพ้นทะเลจากรัฐบาลโตเกียว ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานแก่บริษัทในญี่ปุ่น นิปปอน โคอิ ยังเป็นบริษัทแรกสุดที่ศึกษาแผนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินสายหลัก ๒ เขื่อนในรัฐฉานและเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินทางตอนล่างก่อนไหลลงอ่าวเมาะตะมะ เมื่อปี ๒๕๒๔ ซึ่งโครงการเหล่านี้ยังคงเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเขื่อนท่าซาง เห็นได้ชัดว่า การที่กลุ่มทุนและชนชั้นนำของญี่ปุ่นเข้าไปสร้างเขื่อนในพื้นที่เหล่านี้ได้ก็ เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง กลุ่มทุน ชนชั้นนำ และกองทัพ ที่รวมหัวกันเพื่อให้เกิดแหล่งสร้างงานซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของญี่ปุ่น

หลังจากญี่ปุ่นเปลี่ยนจากการจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา แผนการเข้าแสวงหากำไรจากโครงการขนาดใหญ่ของกลุ่มทุนญี่ปุ่นก็อิงและแอบกับโครงการช่วยเหลือ เพื่อการพัฒนาโพ้นทะเลของญี่ปุ่น (Japan's ODA) รูปแบบก็คือ แรกสุดรัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยเหลือทางเทคนิคผ่านไจก้า (JICA) โดยใช้เงินภาษีของคนญี่ปุ่นไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาของญี่ปุ่นให้ทำการศึกษา เมื่อรัฐบาลประเทศกลุ่มใต้อนุมัติโครงการ บริษัทจากญี่ปุ่นก็จะได้เข้าสัมปทานก่อสร้างหรือขายอุปกรณ์ โดยที่เงินกู้นั้นอาจจะมาจากญี่ปุ่นโดยตรง เช่น ธนาคารนำเข้าและส่งออก หรือไม่ก็องค์กรการเงินระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่โดยเฉพาะธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบี

ในลุ่มน้ำสาละวิน ไจก้าได้เข้าสนับสนุนการศึกษาเขื่อนหลายเขื่อน ที่สำคัญคือ เขื่อนชุด๑๐ เขื่อนบนลุ่มน้ำยวมสาขาของแม่น้ำสาละวินที่ไหลจากฝั่งไทย

ปัจจุบัน ไจก้าได้รวมตัวกับธนาคารนำเข้าและส่งออกของญี่ปุ่น เป็นธนาคารเพื่อความร่วมมือการพัฒนาแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือเจบิก (Japan Bank for International Corporation-JBIC) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่มีเงินทุนมากที่สุดในโลกมากกว่าธนาคารโลกเสียอีก

ประสบการณ์ในประเทศไทยก็คือ การศึกษาโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนนั้น บริษัทอีพีดีซี มักจะได้รับการว่าจ้างเป็นผู้จัดทำรายงานความเหมาะสมขั้นต่างๆ 

เอกสารแจกของบริษัท อีพีดีซี ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๒๓ ระบุว่า อีพีดีซีเป็นบริษัทเอกชนแต่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นและบริษัทกิจการพลังงานทั้ง ๙ เขตในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงแรกอีพีดีซีเน้นกิจการการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าในประเทศก่อน ต่อมาก็ขยายกิจการไปยังโพ้นทะเล  อีพีดีซียังเป็นบริษัทด้านพลังงานเพียงแห่งเดียวของญี่ปุ่นที่มีอำนาจตามกฎหมายในการทำธุรกิจพลังงานกับนานาชาติ ทำให้อีพีดีซีเข้ามีบทบาทในการสร้างเขื่อนในหลายสิบประเทศทั่วโลกตั้งแต่เอเซียตะวันออกไกลไปจนถึงละตินอเมริกา

ในประเทศไทย อีพีดีซี เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางวิศวกรรมข้ามชาติที่มีบทบาทในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากที่สุด เขื่อนที่อีพีดีซีศึกษาและสร้างไปแล้วได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนสิรินธร เขื่อนน้ำพรม (เขื่อนจุฬาภรณ์) เขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนา โครงการล่าสุดคือโรงไฟฟ้าสูบกลับลำตะคองซึ่งใช้งบก่อสร้างถึง ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน สำหรับในลุ่มน้ำสาละวิน อีพีดีซีได้รับว่าจ้างจากไจก้าในการจัดทำรายงานโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำลุ่มน้ำยวมซึ่ง รวมถึงเขื่อนแม่ลามาหลวงและเขื่อนน้ำเงา นอกจากนั้นอีพีดีซียังเข้าศึกษาเขื่อน ๘ เขื่อนกั้นแม่น้ำบนพรมแดนไทย-พม่าตั้งแต่แม่สายลงไปจนถึงระนอง ซึ่งรวมถึงเขื่อนสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า ๒ เขื่อน เป็นที่ชัดเจนว่า นักสร้างเขื่อนจากญี่ปุ่นมุ่งหน้าสู่สาละวินเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา เบื้องหลังก็มาจากกลุ่มทุนและชนชั้นนำในญี่ปุ่นได้นำเอาวิธีการนิวดีล (New Deal) มาใช้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำของญี่ปุ่น วิธีการนิวดีลก็คือการนำเงินภาษีประชาชนไปใช้ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ผู้มีแนวความคิดทางเศรษฐกิจแบบเคนส์ (Keynesian) ได้นำเอาวิธีการนี้มาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐฯ

วิธีการก็คือนักการเมืองจะเสนอโครงการสร้างเขื่อนและชลประทานขนาดใหญ่ซึ่งต่อ มาบริษัทก่อสร้างในท้องถิ่นที่เป็นพวกพ้องก็จะได้รับสัมปทาน และนโยบายนี้เองที่ทำให้บริษัทก่อสร้างในท้องถิ่นสะสมทุนอย่างรวดเร็วจนกระทั่งขยายกิจการกลายเป็นบริษัทข้ามชาติ

กลุ่มชนชั้นนำของญี่ปุ่นได้นำวิธีการนิวดีลมาปรับใช้โดยนายมาซากิ นากาจิม่า ประธานสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ(Mitsubishi Research Institute) ได้นำเสนอแนวคิดนี้ขึ้นในปี ๒๕๒๕ ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “Global Infrastructure Fund of DK-KAI: GIF of DK-KAI” ภายใต้การสนับสนุนของนายทาเคโอะ ฟูกูดะ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีนายโตชีโอะ โดโกะ อดีตประธานหอการค้าญี่ปุ่น (Keidanren) เป็นประธานกลุ่ม และมีนักอุตสาหกรรม นักธนาคาร นักการเมือง และนักวิชาการของญี่ปุ่นเป็นสมาชิก โครงการที่กลุ่มนี้เสนอล้วนแต่เป็นโครงการขนาดยักษ์ซึ่งวางแผนจะสร้างทั่วโลก มีทั้งสิ้น ๑๖ โครงการ ในจำนวนนี้มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับไทย ๒ โครงการ คือ โครงการขุดคลองกระทางภาคใต้เพื่อเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค และโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำต่างๆ ที่กำเนิดและไหลรอบเทือกเขาหิมาลัย บทเรียนในไทยที่ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนที่ญี่ปุ่นสนับสนุนไม่ใช่เพื่อสวัสดิการสังคมก็คือ เขื่อนศรีนครินทร์บนลุ่มน้ำแควที่กาญจนบุรี เขื่อนศรีนครินทร์ได้รับการช่วยเหลือทางเทคนิคจากรัฐบาลญี่ปุ่นโดยไจก้าจ้างอีพีดีซีให้ทำการศึกษา และสร้างขึ้นโดยกู้เงินของธนาคารโลกภายใต้การรับผิดชอบของ กฟผ. เมื่อรัฐบาลไทยอนุมัติโครงการ อีพีดีซี ก็ได้รับการว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาโครงการ และเมื่อถึงขั้นการก่อสร้าง บริษัทที่ได้รับสัญญาจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น โดยที่อีพีดีซีส่งวิศวกรเพียง ๔ คนเท่านั้นเข้ามาเตรียมการ เขื่อนแห่งนี้ แรกสุด รัฐบาลอนุมัติให้สร้างด้วยงบประมาณ ๑,๘๐๐ ล้านบาท แต่เมื่อสร้างเสร็จงบประมาณก่อสร้างจริงเพิ่มขึ้นเป็น ๔,๖๒๓ ล้านบาท งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนี้ถูกใช้จ่ายไปกับการปรับปรุงฐานรากเนื่องจากบริเวณที่สร้างเขื่อนเป็นรอยเลื่อนของเปลือกโลก เขื่อนสาละวินบนพรมแดน ๒ เขื่อนอาจจะซ้ำรอยเขื่อนศรีนครินทร์ก็เป็นได้ ผู้ศึกษาเขื่อนแห่งนี้คืออีพีดีซี และเขื่อนทั้งสองจะสร้างบนรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นเดียวกับเขื่อนศรีนครินทร์ ขณะนี้ราคาค่าก่อสร้างคงไม่ใช่ ๒ แสนล้านบาทเสียแล้ว เพราะต้องออกแบบให้เขื่อนแข็งแรงต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้น ๐.๗ จี เท่ากับว่าค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นและนั่นก็เท่ากับว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนสาละวินไม่ใช่ ๙๐ สตางค์ต่อหน่วย นอกจากญี่ปุ่นแล้วยังปรากฏว่ากลุ่มทุนอื่นๆ ก็ได้เข้ามามีเอี่ยวในโครงการขนาดใหญ่บนลุ่มน้ำสาละวิน ได้แก่กลุ่มทุนจากออสเตรเลียและเยอรมัน กลุ่มทุนล่าสุดที่มุ่งมายังสาละวินคือกลุ่มทุนจากจีน ดังจะเห็นได้จากการที่ นายเริ่น ฮงบิน ประธานกลุ่มบริษัทแห่งหนึ่งของจีนที่เคยเกี่ยวข้องกับการขายอุปกรณ์การสร้างเขื่อนสามผา ในจีนซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เข้าพบรัฐมนตรีพลังงานของไทยเพื่อเสนอตัวเข้าร่วมลงทุนการสร้างเขื่อนสาละวินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่เอกชนของไทยก็เข้ามีบทบาทสำคัญในโครงการเขื่อนบนลุ่มน้ำสาละวินด้วย โดยเฉพาะโครงการเขื่อนท่าซางในรัฐฉานที่บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ ได้ลงนามเพื่อความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลทหารพม่าเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ ส่วนรัฐวิสาหกิจนั้น กฟผ. ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นองค์กรด้านพลังงานข้ามชาติในภูมิภาคนี้ก็เข้าผลักดันเขื่อนสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เหตุผลลึกๆ ของ กฟผ.ยังอาจจะมาจากต้องการให้รัฐบาลไทยอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนสาละวินซึ่งเท่ากับเป็นหลักประกันไม่ให้ กฟผ.ต้องถูกแปรรูปเนื่องจากเขื่อนแห่งนี้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เป็นที่สังเกตว่า กฟผ.ยังได้ระบุว่า การสร้างเขื่อนสาละวินก็เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำของไทยด้วย แม้ว่าแนวคิดนี้เป็นเพียงกลยุทธ์ในการใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อรวมหัวกันแสวงหา ประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม 

เขื่อนสาละวินกับแผนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

แผนการเชื่อมโครงข่ายพลังงานของอาเซี่ยนคือส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือจีเอ็มเอส (Greater Mekong Subregion-GMS) ซึ่งเอดีบีที่รัฐบาลญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ได้เสนอต่อประเทศลุ่มน้ำโขง ๖ ประเทศซึ่งรวมถึงแคว้นยูนานของจีนเมื่อปี ๒๕๓๕ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศบนฐานคิดที่ว่าเพื่อให้เกิดการ พัฒนาเศรษฐกิจที่นำมาซึ่งความมั่งคั่งและให้ภูมิภาคนี้ปราศจากความยากจน เอดีบียังมองว่าประเทศลุ่มน้ำโขงกำลังก้าวเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้น บางประเทศพัฒนาไปมากแล้ว แต่อีกหลายประเทศยังยากจนและพึ่งพาเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเอง ดังนั้นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงควรขายให้แก่ประเทศที่ต้องการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น

            โครงการหลักของจีเอ็มเอส นอกจากเน้นการอำนวยความสะดวกแก่การค้าข้ามพรมแดนและการลงทุนแล้ว แผนนี้ยังเน้นการสร้างเส้นทางเศรษฐกิจ (Economics corridors) ที่สำคัญได้แก่ เส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ประกอบไปด้วยถนนจากคุนหมิงผ่านพม่าเข้าเชียงราย ถนนจากจีนเข้าลาวผ่านหลวงน้ำทามายังเชียงของ การระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ เส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกที่เน้นการพัฒนาการขนส่งระหว่างทะเลอันดามันในพม่า ทะลุไทย ออกทะเลจีนใต้ที่เวียตนามเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศนอกภูมิภาคโดยเฉพาะญี่ปุ่น มีโครงการหลัก เช่น ท่าเรือน้ำลึกที่มะละแหม่ง ถนนในพม่าถึงเมียวดี รวมไปถึงเขตอุตสาหกรรมพิเศษที่ อ.แม่สอด

ในด้านพลังงานนั้น แผนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเน้นไปที่การเชื่อมต่อพลังงานเข้าด้วยกันจากลาวมายังไทย จากเขื่อนจินหงในจีนมายังไทย และจากโครงการเขื่อนท่าซางและเขื่อนสาละวินตอนบนเหนือเขื่อนท่าซางในรัฐฉานมายัง แม่เมาะและท่าตะโกเพื่อรวมกับระบบเครือข่ายพลังงานของ กฟผ. ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เขื่อนสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่าและในรัฐฉานถูกผลักดันอย่างหนักจากนักสร้างเขื่อน เพราะเชื่อว่าโครงการเหล่านี้เป็นหัวใจของโครงข่ายพลังงานอาเซียน ผู้ว่า กฟผ.ถึงกับให้สัมภาษณ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ ๙ เมษายนว่า “ความฝันของการเชื่อมโยงข่ายพลังงานในอาเซียนจะเป็นจริงไม่ได้หากขาดเขื่อนสาละวินตอนบนและตอนล่าง” ปัจจุบัน ยังไม่มีใครตั้งคำถามว่า ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค (Hub) นี้จะต้องมีต้นทุนอะไรบ้าง เช่น ภาพพจน์ที่ไทยกำลังถูกมองจากเพื่อนบ้านอย่างไม่ไว้วางใจว่าเป็นประเทศที่ดูดเอาทรัพยากรแทบทุกอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ความหวังที่ไทยจะได้กำไรจากการขายไฟฟ้าที่รับมานั้น จะเป็นจริงหรือไม่ก็ไม่มีใครตอบได้ในเมื่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่างก็เร่งสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้ากันถ้วนหน้า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าแผนสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนไม่ทำ ให้อนาคตประเทศไทยเป็นถังขยะรองรับพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ตัวอย่างที่ดีก็คือ การที่แคว้นยูนานของจีนขายไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนในแม่น้ำโขง ตอนบนให้กับไทยนั้น เป็นเพราะยูนานขายไฟฟ้าให้กับแคว้นอื่นๆ ในจีนไม่ได้แล้วจึงขายให้ไทย

กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการเมืองเรื่องของพลังงานที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ และอาจจะเกิดมากขึ้นในอนาคต

เขื่อนสาละวินกับการล่าฝันของนักสร้างเขื่อน

ประวัติศาสตร์ของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน มากทั่วโลกยังเกี่ยวข้องกับความคิดที่ว่าการสร้างเขื่อน ขนาดใหญ่คือสิ่งท้าทายความสามารถของบรรดานักการเมือง ผู้นำประเทศ และวิศวกร ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในยุคของการสร้างรัฐชาติ (nation state building) ของบรรดาชาติเกิดใหม่ที่ได้รับเอกราชหลังการล่มสลายของลัทธิล่าอาณานิคม

แม้ว่าประวัติศาสตร์การสร้างเขื่อนในยุคล่าอาณานิคมาจากเจ้าอาณานิคมต้องการ ขูดรีดเอาทรัพยากรไปป้อนให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศเจ้าอาณานิคม เช่น การเข้าสร้างเขื่อนในเอเซียใต้และแอฟริกาเพื่อผลิตฝ้ายให้กับอุตสาหกรรมในยุโรป แต่เมื่อชาติเหล่านี้ได้เอกราช เขื่อนก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติของบรรดาชนชั้นนำ ผู้นำของชาติเกิดใหม่มักมองว่าเขื่อนคือ “สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นอิสระและความก้าวหน้า” ชาติใดมีเขื่อนจึงหมายถึง “ความมีอารยะ” เช่นเดียวกับการมีสนามกีฬาแห่งชาติ หอประชุมแห่งชาติ หรือสายการบินแห่งชาติ นครูมาห์ (Nkrumah) ของกาน่าและเนรูห์ (Neruh) ของอินเดียถึงกับเปรียบเขื่อนเสมือนหนึ่งว่าเป็น “วิหารยุคใหม่” (modern temple) ขณะที่นาสเซอร์ (Nasser) ของอียิปต์ถึงกับเปรียบการสร้างเขื่อนอัสวานสูงว่าเป็นการสร้าง "ปิรามิด" เลยทีเดียว การสร้างเขื่อนเพื่อแสดงให้เห็นความสามารถที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นระลอกใหญ่ในยุคสงครามเย็นเมื่ออเมริกา กับสหภาพโซเวียตแข่งขันกันสร้างเขื่อนในประเทศในค่ายของตนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ตนมี เมื่อประเทศเหล่านี้ส่งวิศวกรมาศึกษาการสร้างเขื่อนในประเทศในกลุ่มค่ายของตน ความคิดที่ว่าต้องสร้างเขื่อนเพื่อท้าทายความสามารถก็ถูกนำมาเผยแพร่ ตัวอย่างเช่น วิศวกรอเมริกันที่ออกแบบเขื่อนผามองที่เสนอให้สร้างกั้นแม่น้ำโขงบริเวณชายแดนไทย-ลาว ก็ฝันว่าเขื่อนผามองจะยิ่งใหญ่และกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนฮูเวอร์ที่กั้นแม่น้ำโคโลราโดถึงสองเท่า ความคิดนี้ยังเกิดจากการที่บรรดาวิศวกรในประเทศกำลังพัฒนาถูกฝึกให้คิดแบบนี้ในช่วงที่ไปศึกษา หรืออบรมในอเมริกาและรัสเซีย แม้เวลาจะผ่านมานานหลายทศวรรษและโลกได้เรียนรู้บทเรียนที่ผิดพลาดจากการสร้างเขื่อนมามากมาย ดังเช่น รายงานเรื่องเขื่อนกับการพัฒนาของคณะกรรมการเขื่อนโลกที่ออกในปี ๒๕๔๓ ที่ชี้ให้เห็นว่า เขื่อนให้ผลประโยชน์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่คนจนต้องแบบรับภาระ แต่ความคิดของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อสนองความท้าทายส่วนตัวก็ยังคงดำรงอยู่ในบรรดาบรรดานักสร้างเขื่อน เขื่อนสาละวินเป็นกรณีล่าสุดที่อธิบายได้ดีถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเขื่อนว่า การสร้างเขื่อนคือการล่าฝันของนักสร้างเขื่อนบางคน แม้ว่าเขื่อนจะสร้างขึ้นบนคราบน้ำตาของชนพื้นถิ่นและหายนะทางสิ่งแวดล้อมมหาศาลแค่ไหนก็ตาม

            เขื่อนกั้นสาละวิน: ไม่สร้างไม่ได้หมายความว่าไม่มีไฟฟ้า

            ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นบทความนี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากเขื่อนสาละวินแม้แต่น้อย แต่หากประเทศไทยต้องการที่จะหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม ทางเลือกที่สามารถทำได้เลยก็คือ การใช้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วให้ผลิตไฟฟ้าได้ ดังเช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับลำตะคองขนาด ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ ที่ลงทุนไป ๒๐,๐๐๐ ล้านบาทแต่ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน รวมไปถึงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าในเขื่อนอื่นๆ อีกหลายเขื่อนที่ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามที่ได้วางแผนไว้

การลงทุนด้านการประหยัดพลังงานหรือที่เรียกว่าการจัดการด้านความต้องการ (Demand-Side Management-DSM) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง ๓๐๐ เมกกะวัตต์ต่อปี วิธีการนี้ไม่เป็นที่สนใจของผู้ที่วางนโยบายด้านพลังงาน ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายต่ำและไม่เกิดหายนะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน การสร้างเขื่อนกั้นสาละวินอาจจะยิ่งทำให้ค่าไฟฟ้าแพงยิ่งขึ้นเนื่องต้องลงทุนมหาศาล ต้นทุนที่มีการเปิดเผยนั้นยังไม่รวมดอกเบี้ย แม้เขื่อนทั่วๆ ไปนั้น ปกติต้นทุนก็เพิ่มอยู่แล้วดังการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกในปี ๒๕๔๓ พบว่า ค่าใช้จ่ายในการสร้างเขื่อนทั่วโลกจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ๕๖ เปอร์เซ็นต์จากงบประมาณที่วางแผนไว้ ต้นทุนเขื่อนสาละวินที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่แค่ต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากการที่เขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่ต้องออกแบบให้เขื่อนแข็งแรงขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่สังคมไทยจะต้องแบกรับเป็นภาระอย่างหนักก็คือการที่โครงการเขื่อนกั้นสาละวินเป็น การร่วมทุนกันของสองประเทศที่มีระบบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกัน แต่เหมือนกันตรงที่มีระบบการรวมหัวกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง

            บทเรียนในกรณีการสร้างเขื่อนบนพรมแดนก็คือ เขื่อนอิไตปูบนพรมแดนบราซิลกับปารากวัย เขื่อนแห่งนี้ถูกนักสร้างเขื่อนของไทยหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการร่วมลงทุนกันของ ๒ ประเทศในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำระหว่างพรมแดนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างเขื่อนสาละวิน แต่ความจริงที่นักสร้างเขื่อนไม่ได้บอกก็คือ เขื่อนแห่งนี้ราคาค่าก่อสร้างแรกสุดตั้งไว้ ๓.๔ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับถูกตักตวงไปโดยผู้มีอำนาจและพวกพ้องของทั้งสองประเทศ ทำให้ค่าใช้จ่ายพุ่งสูงขึ้นถึง ๒๐ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จนเขื่อนอิไตปูถูกจัดว่า “เป็นโครงการที่มีการคอรัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกทุนนิยม”

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง