เขื่อนสาละวิน คำตอบสุดท้ายของ กฟผ.
รายงาน
วินาทีนี้ พนักงาน กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึง นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการ กฟผ. หายใจเข้าหายใจออกเป็นโครงการเขื่อนสาละวินไปหมดแล้ว ตัวเลขการลงทุนคร่าวๆ ประมาณ 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 แสนกว่าล้านบาท จึงเป็นระดับการลงทุนอภิเมกะโปรเจ็กต์ และไปๆ มาๆ กำลังถูกโยงเข้ากับอนาคตการแปรรูป กฟผ.
เพียงกว่าสองเดือนที่นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. นายสิทธิพร หรือ 'พี่บิ๊ก' นัดคุยนักข่าวสายอุตสาหกรรม-พลังงาน เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้ถึงที่มาที่ไปของโครงการเขื่อนสาละวินโดยเฉพาะ
ในช่วงคำถาม-คำตอบ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ว่าการ กฟผ. ตอบคำถามชัดถ้อยชัดคำว่า เขื่อนสาละวินจะเกิดได้ต้องมีคนลงทุน ซึ่ง กฟผ.มีสินทรัพย์ 4 แสนล้านบาท สามารถลงทุนได้แต่ต้องแลกกับไม่มีการแปรรูป กฟผ. เพื่อให้คงสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจที่องค์กรใหญ่เป็นหนึ่งเดียว เป็นเจ้าของสินทรัพย์ 4 แสนล้านบาทที่สามารถไปสร้างเครดิตในการขอเงินกู้เพื่อลงทุนโครงการ 2 แสนล้านบาทได้
โฟกัสจึงกลับมาอยู่ที่เขื่อนสาละวินอีกครั้ง เพราะสถานะเขื่อนแห่งนี้กลายเป็นหมากเดิมพันอนาคตของ กฟผ.ไปแล้วในขณะนี้
'อาเซียนกริด' ต้นทางเขื่อนสาละวิน
กฟผ.ให้น้ำหนักที่มาที่ไปของการหยิบยกโครงการเขื่อนสาละวินมาปัดฝุ่นใหม่ในครั้งนี้ว่า เป็นการต่อยอดมาจาก 'อาเซียนกริด' โครงการเชื่อมโยงการใช้พลังงานไฟฟ้าในระดับอาเซียน เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยกับมาเลเซีย โดยพูดกันภายใต้หลักการที่ให้มีการใช้พลังงานที่ใช้เวลาแตกต่างกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีสภาพเป็นสัญญาระหว่างประเทศ (bilateral)
ต่อมาเมื่อ สปป.ลาวเริ่มสร้างเขื่อน เวิรลด์แบงก์ให้เงินมาสร้างเขื่อนน้ำงึม ไทยไปช่วยสร้างและซื้อไฟฟ้ากลับมา คิดราคาแบบประเทศพี่น้อง และนี่คือจุดเริ่มต้นที่มีการแลกไฟฟ้าระหว่างประเทศ นั่นคือ ไทยแลกกับมาเลเซีย ไทยแลกกับ สปป. ลาว
พัฒนาการของอาเซียนกริดเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างเมื่อมีการมองในภาพรวมกลุ่มประเทศ กางแผนที่ดูจะพบว่าลักษณะภูมิศาสตร์ที่ตอนเหนือของแผนที่มีน้ำเยอะ ตอนใต้มีทรัพยากรไม่ว่าน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซ จุดที่เห็นตรงกันคือทางใต้ลงมามีแหล่งเชื้อเพลิงที่อุดมสมบูรณ์แต่ก็ทำให้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มีต้นทุนสูง ดังนั้นถ้าหากผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้จะเป็นส่วนเสริมในระดับภูมิภาคได้
'ใน 8 ประเทศนี้ มีเพียงประเทศเดียวที่ไฟฟ้ายังไม่ถึงกันคือประเทศไทยกับพม่าที่ยังไม่มีระบบสายส่งเชื่อมโยงถึงกัน วันนี้ กฟผ.ไปเจรจากับพม่าพยายามก่อสร้างสายส่งเชื่อมโยงจากสถานีไฟฟ้าแม่สอดไปสู่เมืองท่าต้น เมืองด่านหน้าของเมียวดี ระยะทาง 100 ก.ม.กว่าๆ เมื่อถึงตอนนั้น ไทยกับพม่าจะมีการแลกเปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าถึงกัน และนี่คืออาเซียนกริดซึ่งความหวังใกล้เป็นจริง ภาพจะชัดเจนในอีกไม่นานเกินรอ'
ผู้ว่าการ กฟผ.สรุปในบรรทัดนี้ว่า อาเซียนกริดนั้นเป็นเพียงสายไฟ (ระบบส่ง) ต่อเชื่อมโยงถึงกัน แต่ถ้าไม่มีพลังงานไฟฟ้าก็ไร้ประโยชน์ คำถามคือไฟฟ้าจากฟากนี้จะมาจากไหน นั่นคือเรากำลังพูดถึง 'เขื่อนสาละวิน' นั่นเอง
เขื่อนพลังน้ำ 5 พันเมกะวัตต์
เขื่อนสาละวิน หรือชื่อเต็ม 'โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสาละวินชายแดน' จะสร้างกั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านที่ราบสูงเข้าในเขตพม่า ตลอดเส้นทางสาละวินมีบางช่วงที่ขนานกับชายแดนไทยระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรก่อนไหลลงสู่ทะเลอันดามัน
ข้อมูลจำเพาะ เขื่อนนี้เมื่อก่อสร้างจะมีพื้นที่รับน้ำประมาณ 3 แสนตารางกิโลเมตร (อ่านตารางประกอบ) เปรียบเทียบกับไทยทั้งประเทศที่มีพื้นที่ 5 แสนตารางกิโลเมตร จึงเป็นเมกะโปรเจ็กต์อย่างไม่ต้องสงสัย โครงการนี้ไม่ใช่ของใหม่เพราะได้มีการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 1991 โดย EPDC ของประเทศญี่ปุ่น ระบุจุดที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างตัวเขื่อนไว้ 5-6 จุดตลอดลำน้ำสาละวิน
แบ่งเป็น จุดบนสุดของต้นน้ำ สามารถสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้ขนาด 3,200 เมกะวัตต์ รองลงมา 3,600 เมกะวัตต์ (จุดนี้พม่าได้จ้างบริษัท MDX ดำเนินการแล้ว และเพิ่งจะเป็นจุดเดียวที่มีการเซ็นสัญญาเป็นรูปธรรม) อีก 3 จุดคือก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 4,540 เมกะวัตต์, 792 เมกะวัตต์ และ 6,000 เมกะวัตต์ตามลำดับ รวมศักยภาพกำลังผลิตไฟฟ้าของแม่น้ำสาละวินทั้งสายจะมีมากกว่า 20,000 เมกะวัตต์ โดยจะมีปริมาณน้ำเข้าอ่างเฉลี่ย 118,627 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ผู้ว่าการ กฟผ.คนปัจจุบัน ในฐานะคีย์แมนที่เดินหน้าผลักดันโครงการนี้ตั้งแต่ขึ้นรับตำแหน่งใหม่ เปิดประเด็นเขื่อนสาละวินว่า แม่น้ำสาละวินมีน้ำมากกว่าปริมาณเก็บกักของเขื่อนภูมิพลถึง 20 เท่า ตกปีละเกือบ 1.2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนภูมิพลมีเพียงปีละ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ปริมาณน้ำมหาศาลทำให้มีผลพลอยได้แรงดันน้ำจากธรรมชาติเพราะหน้าฝนได้มรสุมช่วย ขณะที่หน้าร้อนหิมะจากเทือกเขาละลายลงมา จึงเป็นแหล่งน้ำไหลที่ไม่มีวันหมดตลอดทั้งปี
'สาละวินอาภัพไม่มีเมืองใหญ่ตั้งอยู่ด้วยเลย เขตแดนพม่ายิ่งไม่มีคนอยู่อาศัยไปใหญ่ ดูจากทำเลที่จะสร้างเขื่อนเท่ากับศักยภาพดีเยี่ยม พื้นที่รับน้ำไม่รบกวนเพราะปัญหาการอพยพคนออกจากพื้นที่จะน้อย แต่จะกระทบคือรบกวนธรรมชาติ' คำกล่าวของนายสิทธิพร
จากรายงานผลศึกษาระบุว่า โครงการเขื่อนที่คาดว่าจะขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยจะตั้งอยู่ใกล้พรมแดนไทย โดยตัวเขื่อนจะมีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนภูมิพลเล็กน้อย ซึ่งจุดที่ กฟผ.เล็งทำเลไว้ว่ามีความเป็นไปได้จะมี 2 จุด เรียกว่า 'เขื่อนสาละวินตอนบนและเขื่อนสาละวินตอนล่าง' ขนาดกำลังผลิต 4,540 เมกะวัตต์ และ 792 เมกะวัตต์ โดยมีน้ำท่วมฝั่งไทยประมาณ 20,000 กว่าไร่ เปรียบเทียบกับเขื่อนภูมิพลที่มีน้ำท่วมกว่า 2 แสนไร่
'วิธีการจะลงทุนคือ แม่น้ำช่วง อ.แม่สะเรียง จะเป็นช่วงเดียวที่สาละวินแบ่งเขตไทยกับพม่า ระยะทางหลายสิบกิโลเมตรเหมือนกัน การศึกษาที่ทำไว้ 2 เขื่อนกำลังผลิตรวมกันกว่า 5,000 เมกะวัตต์ คงจะหาคนให้กู้เงินได้ แต่จะพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากพม่าไม่ได้ จึงจะใช้หลักการ condominium concept ที่บราซิลลงทุนทั้งหมดในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าให้กับปารากวัย ถือหุ้นคนละครึ่งไม่มีการโอนทรัพย์สิน
เช่นเดียวกัน ไทยจะลงทุนทั้งหมด ไม่มีรายที่ 3 สำหรับโครงการนี้ รูปแบบจะเป็นโครงการรัฐต่อรัฐ แบ่งครึ่งเมื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าออกมาได้แล้ว แต่พม่าไม่มีดีมานด์ ฉะนั้นจะขายให้ไทยหมด ราคาจึงไม่ถึงหน่วยละ 2 เซนต์ ซึ่งถูกมากเทียบกับราคาไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำเทินหน่วยละ 4.2 เซนต์ ซึ่งเวลานี้ กฟผ.มีเงินสดอยู่ 1-2 หมื่นล้านบาทต้นๆ อาจจะใช้เงินเราเองไปก่อน จากนั้นอาจจะออกบอนด์ 5 ปี 2 ครั้ง' คำตอบของนายสิทธิพร ต่อประเด็นคำถามกรณีได้รับอนุมัติให้สร้างเขื่อนสาละวินขึ้นมาจริงๆ
69 NGO แบะท่าคัดค้าน
โครงการนี้ยังอยู่ระหว่างขายฝันอยู่ แต่ก็เริ่มมีร่องรอยความเคลื่อนไหวคัดค้านจากกลุ่มองค์กรเอกชน อ้างอิงจากสำนักข่าวเอพีเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2545 รายงานว่าหนังสือพิมพ์นิวไลต์ออฟเมียนมาร์รายงานเหตุการณ์การเซ็นสัญญาสร้างเขื่อนสาละวิน บริเวณท่าซาง ทางตอนใต้รัฐฉาน ตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างนายสว่าง จำปา ผู้แทนบริษัท MDX กับนายวิน จอ ผู้อำนวยการใหญ่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ สังกัดกระทรวงพลังงานของพม่า
ซึ่งก่อนหน้าการลงนามในสัญญา ได้มีตัวแทนเครือข่ายองค์กรพันธมิตรคัดค้านเขื่อนสาละวิน 69 องค์กรจากประเทศไทยและพม่ายื่นแถลง การณ์คัดค้านโครงการใน 4 ประเด็นคือ
1)โครงการเขื่อนบนลุ่มน้ำสาละวินไม่ได้ประเมินความจำเป็นที่จะต้องสร้างเพราะไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินกว่าร้อยละ 40 2)โครงการเขื่อนสาละวินจะทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลก 3)โครงการเขื่อนท่าซางในรัฐฉาน เป็นพื้นที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เท่ากับดึงประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกระบวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า 4)ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องอพยพเข้าสู่ประเทศไทย
ท่าทีของนายสิทธิพรต่อประเด็นเหล่านี้ไม่แสดงถึงอาการวิตกจริตใดๆ โดยอธิบายว่า การศึกษาโครงการได้ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมไว้หมดแล้ว ในแง่พื้นที่รับน้ำ จุดที่สร้างเขื่อนขนาด 4,540 เมกะวัตต์ น้ำจะไม่ออกนอกบริเวณมากเพราะเป็นทำเลซอกเขา เป็นร่องน้ำตามภูเขาตลอด เฉพาะในฝั่งไทยพื้นที่เลียบลำน้ำที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนนี้จะมีเพียง 21,400 ไร่เท่านั้น เทียบกับพื้นที่รับน้ำเขื่อนภูมิพล 197,500 ไร่, เขื่อนสิริกิติ์ 162,500 ไร่ เท่ากับประมาณ 10 เท่าของเขื่อนสาละวิน โดยสรุปคือความสูญเสียจากน้ำท่วมมีแน่นอน แต่เทียบกับที่เคยทำจะแตกต่างกันเป็น 10 เท่าทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น นายสิทธิพรกล่าวว่า นักวิชาการบางคนสงสัยว่าสร้างเขื่อนน้ำกักเก็บเป็นนับแสนๆ ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีปัญหาแผ่นดินไหวหรือไม่ ซึ่ง EPDC ได้ศึกษาคลุมเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน และมีผลศึกษาที่รับประกันได้ว่าไม่กระทบแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ข้อวิตกของนายสิทธิพรดูเหมือนจะอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลไทยเป็นหลัก โดยย้ำอยู่ 2-3 ประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนสาละวิน ได้แก่ 1)โครงการนี้ต้องเป็นจีทูจีเท่านั้นจึงจะมีศักยภาพเข็นโครงการได้ตลอดรอดฝั่ง 2)เขื่อนสาละวินเป็นข้อเสนอ 'แผนทางเลือก' ที่รัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือไม่ 3)มีการจำลองโดยนำโครงการเขื่อนสาละวินไปใส่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งหากไม่มีการสะดุด หมายถึงจะเข้าแผนได้อย่างเร็วสุดคือปี 2013 หรืออีก 11 ปีจึงจะมีการจ่ายไฟเข้าระบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
พิจารณาจาก 2 ข้อแรกก็ยากจะมองเห็นฝั่งในตอนนี้ เพราะนับแต่ขายความคิดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ว่ากันว่านายสิทธิพรแอบถอนหายใจไปหลายครั้งแล้วเพราะ CEO ในคณะรัฐบาลคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีท่าทีขานรับหรือแม้แต่จะสนอกสนใจโครงการนี้แต่อย่างใด