เขื่อนสาละวิน : โศกนาฏกรรมแห่งสายน้ำและชาติพันธุ์
สาละวิน สายน้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดสายสุดท้ายในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระ จากต้นกำเนิดบนเทือกเขาหิมาลัย สาละวินไหลสู่มณฑลยูนนานของประเทศจีน ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศพม่าที่รัฐฉาน เข้าสู่รัฐคะเรนนี ไหลเป็นเส้นพรมแดนระหว่าง จ.แม่ฮ่องสอนของประเทศไทยกับรัฐกะเหรี่ยง จากนั้นจึงวกเข้าสู่ประเทศพม่าอีกครั้งเพื่อไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ รวมความยาวราว ๒,๘๐๐ กิโลเมตร
สายน้ำแห่งชาติพันธุ์
สองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวินตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนจรดอ่าวเมาะตะมะ นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย ไม่ต่ำกว่า ๑๖ กลุ่ม เช่น นู ลีซู ไทยใหญ่ กะยา กะยัน กะเหรี่ยง และมอญ
ในลุ่มน้ำแห่งนี้ ยินตาเล เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนน้อยที่สุด มีประชากรทั้งหมดเพียงประมาณ ๑,๐๐๐ คนเท่านั้น ชาวยินตาเลอาศัยอยู่บนที่ราบริมแม่น้ำสาละวิน ในรัฐคะยาห์
แม่น้ำสาละวินมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป แม่น้ำตอนบนที่ไหลผ่านยูนนานถูกเรียกว่า "นู่เจียง" แปลว่า “แม่น้ำที่โกรธเกรี้ยว” เนื่องจากลักษณะของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากผ่าโตรกผาและโขดหิน
แม่น้ำตอนกลางไหลผ่านรัฐฉานซึ่งมีชาวไตหรือชาวไทยใหญ่ เรียกว่า "น้ำคง" เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในรัฐคะยา รัฐกะเหรี่ยง และแถบล้านนา ล้วนออกชื่อแม่น้ำสาละวินในสำเนียงใกล้เคียงกันว่า "คง"
สำหรับชื่อ “สาละวิน” เป็นชื่อที่ชาวอังกฤษเรียกเพี้ยนมาจากเสียงเรียกของชาวพม่าว่า "ตานลวิน"
สรุปข้อมูลความคืบหน้าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน
ข้อมูลเกี่ยวกับความสูง พื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมและพลังการผลิตของแต่ละเขื่อนจะแตกต่างกันออกไปตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดนัก ทั้งนี้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงการวางแผนและไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นทางการ
เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามใน Memorandum of Understanding (MOU) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า ของรัฐบาลพม่าเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการ สร้างเขื่อนมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทบนแม่น้ำสาละวินและตะนาวศรี
MOU นี้เป็นกรอบใหญ่สำหรับการศึกษาการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าทั้งลุ่มน้ำสาละวินและตะนาวศรี ข้อมูลปัจจุบันชี้ว่ามีโครงการที่ถูกผลักดันมากที่สุดทั้งสิ้น ๖ แห่ง ได้แก่
๑) ท่าซาง ตั้งอยู่ในรัฐฉาน ขนาด ๗,๑๑๐ เมกกะวัตต์ เขื่อนแห่งนี้จะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดบนลุ่มน้ำสาละวินและจะสูงที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ด้วยความสูงถึง ๒๒๘ เมตร เป็นโครงการของบริษัทเอกชนไทย MDX ซึ่งระหว่างปี ๒๕๓๙-๒๕๔๑ กองทัพพม่าบังคับอพยพประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวถึง ๓ แสนคน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการศึกษาโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบโครงการ และมีรายงานว่าบริษัทฯ ได้ก่อสร้างถนนจากชายแดนไทยที่จังหวัดเชียงใหม่เข้าถึงหัวงานเขื่อน โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารบ้านพักคนงาน
๒) ยวาติ๊ด ๖๐๐ เมกกะวัตต์ อยู่ในเขตรัฐคะเรนนี ประเทศพม่า
๓) เว่ยจี หรือสาละวินชายแดนตอนบน ๔,๐๐-๕,๖๐๐ เมกกะวัตต์ ความสูง ๒๒๐ เมตร ตั้งอยู่ที่ “เว่ยจี” บนชายแดนประเทศไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง เป็นโครงการของกฟผ. ส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ขณะนี้มีการตัดถนนเลียบแม่น้ำสาละวินไปจนถึงด่านออเลาะ ใกล้หัวงานเขื่อน
๔) ดา-กวิน หรือสาละวินชายแดนตอนล่าง ๕๐๐ หรือ ๗๙๒ หรือ ๙๐๐ เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นโครงการของกฟผ. อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแห่งนี้จะยาวไปจนจรดฐานของเขื่อนบน
๕) ฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่โครงการตรงข้ามกับจังหวัดตาก เขื่อนตั้งอยู่ท้ายน้ำจากชายแดนที่สบเมยลงไปในประเทศพม่าประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลเมตร
ระดับเก็บกักน้ำของเขื่อน (Head Water) อยู่ที่ระดับประมาณ ๔๘ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และ crest + ๖๐ เมตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่คาดการณ์เท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน ทั้งนี้ กฟผ. ระบุว่า เขื่อนกักเก็บน้ำอยู่ที่ระดับ ๔๘ มรทก. จึงจะไม่ท่วมในประเทศไทยเลย พื้นที่อ่างเก็บน้ำจะท่วมเฉพาะในเขตพม่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา กำลังผลิตติดตั้ง คาดว่าอยู่ในระดับ ๖๐๐-๑,๒๐๐ เมกกะวัตต์
เขื่อนฮัตจีเป็นโครงการที่มีการผลักดันมากที่สุดในขณะนี้ โดยกฟผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA)กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำพม่า ในการร่วมทุน และล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท Sinohydro รัฐวิสาหกิจของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ รายงานข่าวระบุว่ากฟผ. จะกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากประเทศจีนเพื่อลงทุนสร้างเขื่อนแห่งนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๓,๘๐๐ ล้านบาท
๖) ตะนาวศรี ๖๐๐ เมกกะวัตต์ อยู่บนแม่น้ำตะนาวศรี หรือภาษาพม่าเรียก “ตะนิ้นตะรี” ตรงข้ามกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ข้อเป็นห่วงเกี่ยวกับเขื่อนสาละวิน
เงินทุนจะสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าให้กดขี่ชนกลุ่มน้อย
โครงการเขื่อนจะเป็นการลงทุนจากต่างชาติก้อนใหญ่ที่สุดในพม่า เขื่อนแรกที่จะสร้างได้แก่ เขื่อนฮัตจีซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งระหว่าง ๖๐๐-๑,๒๐๐ เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท เขื่อนสาละวินทั้ง ๕ แห่งจะสร้างในเขตที่มีการสู้รบตามพรมแดนไทย-พม่า และที่ผ่านมารัฐบาลเผด็จการพม่าใช้กำลังทหารโจมตีประชาชนชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง การให้ความสนับสนุนทั้งทางการเมืองและการเงินต่อการสร้างเขื่อนในเขตที่มีการสู้รบ เปรียบได้กับการสนับสนุนการปกครองที่กดขี่ของรัฐบาลเผด็จการพม่า
สงครามที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อในพม่าส่งผลให้ชนชาติพันธุ์หลายล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ และอีกจำนวนมากที่หลบหนีเข้ามาฝั่งไทย โดยมีมากกว่า ๑๔๐,๐๐๐ คน ที่พักอาศัยตามแหล่งพักพิงชั่วคราวตามแนวพรมแดนไทยพม่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากมาจากพื้นที่ที่มีการวางแผนสร้างเขื่อน นับตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา กองทัพพม่าดำเนินการกวาดล้างอย่างรุนแรงในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นเขตที่จะมีการสร้างเขื่อน ๓ จาก ๕ เขื่อน มีรายงานว่าทหารพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งเผาทำลายหมู่บ้าน บังคับอพยพ และสังหาร ส่งผลให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายในประเทศแล้วอย่างน้อย ๑๖,๐๐๐ คน และชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากอพยพเข้าสู่ไทยในฐานะผู้หนีภัยความตาย
โครงการเขื่อนฮัตจีซึ่งจะเป็นโครงการแรกที่ปูทางให้แก่เขื่อนอื่นๆ มีการตรึงกำลังทหารและจัดตั้งฐานทัพจำนวนมากในพื้นที่ การสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดำเนินไปด้วยการคุ้มครองจากทหารพม่า พื้นที่ดังกล่าวยังเต็มไปด้วยกับระเบิด ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของกฟผ.หนึ่งนายที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ต้องเสียชีวิตลง และเป็นเหตุให้คณะที่ปรึกษาการสำรวจถอนตัวออกจากพื้นที่
โครงการขาดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส
กระบวนการตัดสินใจทั้งหมดดำเนินไปอย่างเร่งรีบและรวบรัด ในขณะที่สถานะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขณะที่ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมไฟฟ้าพลังน้ำขอพม่าในการสร้างเขื่อนฮัตจี มีฐานะเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้ยกเลิกการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นบริษัทมหาชน จนถึงบัดนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าบันทึกทึกข้อตกลงดังกล่าวยังมีผลผูกพันหรือไม่อย่างไร แต่กฟผ.ยังคงเดินหน้าโครงการโดยลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัทไซโนไฮโดร
ซึ่งนับว่าขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายไทยและนานาชาติที่ส่งเสริม ความโปร่งใสในการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก
แม้แต่ในฝั่งไทย ประชาชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอย่างน้อย ๕๐ ชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าสาละวิน เขต จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเป็นประชาชนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างโครงการ ยังไม่ได้รับข้อมูลโครงการแต่อย่างใด
การวางแผนด้านพลังงานของไทยมักคลาดเคลื่อนเกินจริง
ที่ผ่านมาการพยากรณ์ด้านความต้องการไฟฟ้าของไทยมีความคลาดเคลื่อนและสูงเกินจริงมาโดยตลอด เนื่องจากอิงกับการพยากรณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มักสูงเกินจริงและไม่แน่นอน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณากรอบเวลาการวางแผนระยะเวลา ๑๐-๑๕ ปี โดยการพยากรณ์ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เกิดความผิดพลาดสูงถึง ๙๐๐ เมกะวัตต์ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่การวางแผนระบบไฟฟ้าจะตัองมีการตรวจสอบและต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยไม่จำเป็น ซึ่งรวมถึงเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน อันจะกลายเป็นภาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับ
คุ้มแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยจะเอาชื่อเสียงไปเสี่ยงต่อการถูกรุมประณามจาก นานาชาติข้อหาร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในนามของการพัฒนา
หลากหลายมุมมอง
“สาละวินถูกทำลายครั้งแรกจากการสัมปทานป่า แต่ครั้งนี้จะไม่มีอะไรเหลือ”
พ่อเฒ่าจออู ศรีมาลี บ้านท่าตาฝั่ง จ.แม่ฮ่องสอน
“เขื่อนสาละวินไม่ได้สร้างเพื่อชาวบ้าน แต่ผลประโยชน์เป็นของรัฐบาลทหารพม่า
เราอยู่ฝั่งพม่า ไม่มีสิทธิที่จะปกป้องหรือทำอะไรได้
ถ้ามีเขื่อนเกิดขึ้นจริง แผ่นดินพี่น้องทั้ง ๒ ฝั่งก็จมหาย ชีวิตคนก็ไม่เหลือ”
พะตีลาเซ ชาวบ้านกะเหรี่ยงฝั่งพม่า
“ผมอยากให้ประเทศอื่นๆ คิดดูว่าเขื่อนสาละวินจะทำให้พวกเราเดือดร้อนแค่ไหน
ขนาดไม่มีเขื่อนพวกเราก็ยังทุกข์ทรมานกับปัญหามากมาย ต้องดิ้นรนหนีตายไปวันๆ
ถ้าสร้างเขื่อนจริงๆ พวกเราคงเอาชีวิตไม่รอดแน่นอน”
โพดา ชาวกะเหรี่ยงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า
“หากมีสงคราม ดอกไม้ยังคงหลบซ่อนได้ในป่า
แต่ถ้าน้ำสาละวินท่วมแผ่นดิน ดอกไม้ก็คงไม่มีที่ซ่อนอีกต่อไป”
เพลง “So long as the Salween Flows” ของวงดนตรีกะเหรี่ยง Salween Angles
“ปล่อยให้สาละวินมีอิสรภาพ เหมือนกับที่เราหวังว่าอิสรภาพจะเกิดกับประเทศของเรา”
ซายซาย ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่