ไขความลับปลากระเบนแม่น้ำโขง
น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงรายมีปลากระเบน ถ้าไม่ใช่คนที่ศึกษาติดตามเรื่องปลาแม่น้ำโขงหรือชุมชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ความเข้าใจส่วนใหญ่จะรู้จักปลากระเบนทะเลหรือจากลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือทางแม่น้ำโขงตอนใต้จากสื่อ สารคดี
ปลากระเบนแม่น้ำโขง หรือคนท้องถิ่นเรียกว่าปลาฝาไม คนลาวเรียกปลาฝาไล ไมหรือไลหมายถึงเงี่ยงพิษที่หางปลากระเบน เลยเป็นที่มาของชื่อเรียกปลาฝาไม
ปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือปลากระเบนลาว มีชื่ออังกฤษว่า Mekong stingray และ Mekong freshwater stingray มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis laosensis เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง
ปลากระเบนแม่น้ำโขงเป็นปลาหายาก ทางทีมสมาคมติดตามสถานการณ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง พบเจอเพียงแค่ 2 ตัวตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมา และสถานภาพการอนุรักษ์ถูกจัดอยู่ในสภาพภาพ ใกล้สูญพันธุ์ IUCN Red List Status (Ref. 126983)Endangered (EN) และองค์ความรู้ท้องถิ่นในการจับปลากระเบนของชุมชนชาวประมงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ไม่มีเครื่องมือเฉพาะที่ใช้จับปลากระเบน ส่วนใหญ่จับได้โดยบังเอิญ ในปีหนึ่งในชุมชนชาวประมงสามารถจับได้เพียงปีละ 2-3 ตัวเท่านั้น การหายาก จับได้น้อย ทำให้ปลากระเบนจึงไม่เป็นที่รู้จักของคนทั้วไปในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แม้แต่ทางทีมงานสมาคมเองยังคิดว่ามันน่าจะใกล้สูญพันธุ์ไปลแล้ว
ปลากระเบนแม่น้ำโขงออกลูกเป็นตัว เคยมีชาวประมงจับได้ปลาที่มีลูกตัวเล็กอยู่ในโพรงจมูก 1 ตัว สามารถให้กำเนิดลูกน้อย 10-15 ตัว ส่วนมากพบในตัวขนาดเต็มวัยที่มีน้ำหนัก 5-6 กิโลกรัมขึ้นไป ปลากระเบนมีพฤติกรรมเก็บลูกไว้ในโพรงจมูก
“ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ปลาฝาไมจะมีลูกน้อย ถ้าจับได้ช่วงนี้ ถ้าเป็นตัวเมียน้ำหนัก 6 กิโลกรัมขึ้นต้องระวังอย่าล้วงรูจมูกมัน จะโดนไมพิษของตัวลูกมันที่อยู่ในโพรงจมูก ลุงเคยเจอครั้งหนึ่งมีลูกน้อย 12 ตัว ตัวประมาณ 3 นิ้ว”
(นายวันดี ศรีสุดาวรรณ นักวิจัยชาวบ้านบ้านดอนที่ มิถุนายน 2567)
ปลากระเบนแม่น้ำโขงมีหางเรียวยาว มีหนามแหลมหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไม บริเวณโคนหางด้านบนลักษณะหนามเป็นแท่งแบนยาว ปลายแหลม ขอบหนาม มีรอยหยักเป็นฟันเลื่อย พบบางตัวมี 1 อัน บางตัวมี 2 อัน มีต่อมพิษอยู่ใต้ผิว การบาดเจ็บจากปลากระเบนส่วนใหญ่เกิดจากการพลาดจับปลากระเบน ทำให้ถูกหนามของปลากระเบนทิ่มแทง ทำให้มีมีอาการปวดบริเวณแผลอย่างรุนแรง อาจมีอาการบวม แดง มีจุดจ้ำเลือด และอาจรุนแรงเป็นเนื้อตายบริเวณแผลได้
“ไมมันปวด เมือกยางมันก็พิษนะ เวลามือเราเป็นแผลจับโดนใส่เมือกยางมันก็ปวดเน้อ คล้ายเหมือนโดนไมมันปักเลย คนที่ร่างกายปวดออดๆแอๆ หรือเป็นฝี ห้ามกินเนื้อมันจะทำให้ป่วยได้”
(นายใหม่อุ่น ธรรมวงศ์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านหาดทรายทอง มิถุนายน 2567)
ปลากระเบนแม่น้ำโขงเป็นปลากินเนื้อ หากินตามพื้นท้องน้ำ ในระบบนิเวศที่เป็นแอ่งน้ำวน พื้นที่ลึกเว้าริมฝั่ง หรือใกล้ปากแม่น้ำ มีพื้นดินเป็นโคลนปนทราย น้ำนิ่งไหลวน ไม่ไหลเชี่ยว กินเนื้อ อาหารของปลากระเบนได้แก่ ไส้เดือน ลูกปลา กุ้งฝอย ปลาขนาดเล็ก หรือหอยชนิดต่าง ๆ และมีพฤติกรรมว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้ง จุดที่ชาวบ้านพบปลากระเบน ได้แก่ บริเวณ คก แจ๋ม กว๊านและปากแม่น้ำหรือลำห้วยสาขา
ด้วยปลากระเบนเป็นปลากินเนื้อ จึงมักพบระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแมลงน้ำที่เป็นอาหารของปลา และปลาเป็นเหยื่อของปลากระเบนอีกที ปลากระเบนเป็นปลานักล่า น่าจะอยู่บนห่วงโซ่แม่น้ำโขง
“มันจะหากินตามคก ตามวังที่เป็นแอ่งน้ำวนขนาดใหญ่คล้ายหนอง และมันจะมีไส้เดือนเยอะ ไส้เดือนน้ำของจะอยู่ริมฝั่งดินมันจะอูดขวยดินเป็นกองๆ ปลาฝาไมมันจะเอาคือปีกมันตบๆ เป็นหลุมๆกินไส้เดือน ถ้าคนไม่รู้ว่าเป็นปลาฝาไมจะนึกว่าเป็นสัตว์ประหลาดเป็นผีเงือกจะกลัวเลย”
(นายบุญสุข สุวรรณดี นักวิจัยชาวบ้าน บ้านสบคำ มิถุนายน 2567)
ด้วยพฤติกรรมการหากินของปลากระเบนที่มักพบอยู่วันน้ำลึก ตามคก กว๊าน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับหินผา ด้วยกระแสน้ำที่เชี่ยวไหลชนผา จนทำให้เกิดแอ่งน้ำวนขนาดใหญ่ในพื้นที่ริมฝั่ง และพื้นที่เหล่านี้มีความลึกและอันตราย และชุมชนในแม่น้ำโขงต่างเชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นที่อยู่ของผีเงือก หรือพญานาค จึงทำให้คนไม่ค่อยเข้าใกล้พื้นที่ดังกล่าว และคนหาปลาที่ไม่เคยจับปลากระเบนได้ เมื่อเจอปลากระเบนในตอนกลางคืนหรือขณะกินเบ็ด ปลากระเบนจะมีแรงดึง และเกาะพื้นแน่นคล้ายที่ดูดกระจก บางคนกลัวคิดว่าเป็นงูใหญ่ปลาใหญ่หรือสิ่งลี้ลับจึงไม่ค่อยไปหาปลาใกล้กับที่อยู่ของปลากระเบน และพฤติกรรมการหาเหยื่อของปลากระเบน มักจะกระพือขอบตัว ตีขุดกินไส้เดือน แมลงที่อยู่ผิวดิน หรือกระพือน้ำให้หาดทรายพังเพื่อกินไส้เดือน ในช่วงตอนกลางคืนทำให้เกิดเสียงดังและมีฟองน้ำผุดใต้น้ำทำให้คนที่พบเจอเชื่อว่าเป็นผีเงือกมาหลอกคนหาปลา
“ปลาฝาไมมันอยู่ที่กว๊านอิงวัดดอยย่าม่อน เพราะมันมีถ้ำ น้ำมันลึก เป็นน้ำวน ชาวบ้านเชื่อว่ามีถ้ำพญานาค เขามาถมหินเอารถสิบมาถม ถมอย่างไรก็ไม่เห็นก้อนหินเลยทำไม่ได้ ตรงนั้นมันลึก มันเป็นถ้ำ ตอนน้ำแห้งสุดๆ เห็นก้อนหินเหมือนเป็นปากถ้ำ ตรงน้ำวนก็มีคนเคยเห็นพญานาค ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวังของพญานาค เป็นที่อยู่ของปลาบึกปลาฝาไมเลยจุดนี้”
(นายอำนวย คงสวน นักวิจัยชาวบ้าน บ้านปากอิงใต้ มิถุนายน 2567)
ปลากระเบนส่วนใหญ่จับได้ด้วยความบังเอิญ จากเครื่องมือมองไหล มองยังหรือตาข่ายดักปลา โดยการเอาหางที่มีเงี่ยงฟันเลื่อยมาพันกับสายตาข่ายดักปลา และกินเหยื่อลูกปลา กุ้ง ไส้เดือนของเบ็ด และส่วนใหญ่จะได้ปลากระเบนจากการตะขอเบ็ดเกี่ยวลำตัวปลาไว้ เช่นเบ็ดระแวง เบ็ดค่าว เบ็ดล่ามเป็นต้น
“ผมได้ปีที่แล้ว(2566)เดือนพฤษภาคตัว 6 กิโลกรัม แต่ติดเบ็ด ขอเบ็ดเบอร์ห้าที่หางเกาะช้างตายใส่เบ็ดล่าม มันเกาะใส่หางมันนะครับไม่ได้กินเบ็ด ทีแรกนึกว่าเป็นปลากินเบ็ด สาวเชือกขึ้นมาเป็นปลาฝาไม”
(นายสวัสดิ์ แก้วดำ นักวิจัยชาวบ้าน สบกก มิถุนายน 2567)
การจับปลากระเบนน้ำหนักสูงสุดที่จับได้ 31 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันมีการจับปลากระเบนได้ตัวแต่ตัวขนาด ครึ่งขีดถึง 16 กิโลกรัม ถือว่ามีการพบปลากระเบนทุกขนาด ช่วงที่จับปลากระเบนได้จะเป็นช่วงน้ำขึ้นอยู่ในระว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลหาปลาทั่วไปของชุมชน และช่วงน้ำลด ประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน ปลากระเบนเป็นปลาท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง ทำปลากระเบนพบได้ทุกช่วงฤดู แต่ฤดูน้ำหลากชุมชนไม่สามารถใช้เครื่องมือจับปลาได้ และฤดูแล้งมีไกที่ไหลมากกับน้ำทำให้ใช้เครื่องมือหาปลาลำบาก จึงไม่ค่อยมีการจับปลากระเบนและปลาอื่นๆได้
ด้วยความเป็นปลาหายาก อาศัยอยู่ในระบบนิเวศเฉพาะ ทำให้ชุมชนมีความเชื่อเกี่ยวกับปลากระเบน ทั้งความเชื่อที่เกี่ยวกับตัวกระเบน และความเชื่อเกี่ยวกับระบบนิเวศที่อยู่ของปลากระเบน
ความเชื่อเกี่ยวกับตัวปลากระเบน ชุมชนเชื่อว่า ปลากระเบนมีอำนาจลึกลับบางอย่างในตัวอยู่แล้ว และหางปลากระเบนมีพิษมีความอันตรายหากโดนทิ่มจะมีความปวด หางปลากระเบนเปรียบเหมือนอาวุธของปลาลี้ลับชุมชนเชื่อว่าหางปลากระเบนสามารถนำมาไล่ผีกะ หรือผีปอบได้ โดยการนำหางปลามาตากแห้งนำมาติดไว้ทางเข้าประตูหน้าบ้านสามารถป้องกันภูตผีไม่สามารถเข้ามาในตัวบ้านได้ และผีกะหรือผีปอบกลัวหางปลากระเบน หากมีคนที่ถูกผีกะเข้าสิงหรือทำร้าย พ่อหมอจะมีการเป่าคาถาพร้อมกับหางปลากระเบนฟาดขู่ลงคนที่ถูกผีเข้า ทำให้ผีกลัวแล้วออกจากร่างคนที่ถูกผีเข้าสิ่งได้
“หางปลาฝาไมใช้ไล่ผีที่เข้าคน แต่ใช้กับคนที่มีคาถาด้วย แต่หางปลาฝาไมมันก็มีฤทธิกล้าในตัวของมันอยู่ ถ้าคนที่ไล่ผีกะ ใช้คู่กับหางปลาฝาไมผีมันกลัวมันจะออกเร็ว”
(นายใหม่อุ่น ธรรมวงค์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านหาดทรายทอง มิถุนายน 2567)
นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องที่อยู่ของปลากระเบนมักจะพบอาศัยอยู่ตามคก และกว๊านซึ่งเป็นแอ่งน้ำวนขนาดใหญ่ เช่นกว๊านบ้านแซว กว๊านดอยย่าม่อน ชุมชนเชื่อว่า กว๊านเป็นที่อยู่ของพญานาค เนื่องจากเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่มีความลึก มีหินผา มีโพรงถ้ำใต้อยู่ใต้กว๊านทั้ง 2 แห่ง แม่น้ำโขงตอนบนมีระบบนิเวศย่อยที่หลากหลายถึง 12 ระบบนิเวศ บางจุดมีความลึก เช่นที่บริเวณผาเผามีความลึก 57 เมตร กว๊านดอยย่าม่อน 97 เมตร ลักษณะเป็นหลุมลึก และมักมีเรื่องเล่าลี้ลับ และพบปลาหายากเช่นปลาบึก ปลาเลิม ปลากระเบนในพื้นที่ดังกล่าว
เรื่องเล่าปากระเบนจากองค์ความรู้ท้องถิ่น ของชาวประมงลุ่มน้ำโขงจังหวัดเชียงราย ปลากระเบนปลาหายากรอติดตามเรื่องเล่าปลากระเบนตอนต่อไปได้จากทางเพจสมาคมนะครับ
ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
เรื่อง : เกรียงไกร แจ้งสว่าง
11 กรกฎาคม 2567