คิดให้ดีก่อนสร้างเขื่อนสาละวินในพม่า
จู่ๆ กฟผ. ก็ออกมาประกาศว่าในวันที่ ๙ ธันวาคมนี้จะลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ร่วมกับการไฟฟ้าพม่าเพื่อจะร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำตะนาวศรี ซึ่งนี่อาจเป็นการลงนามสัญญาเปื้อนเลือดฉบับล่าสุดระหว่างไทยและพม่า
รายงานข่าวระบุว่าการร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าบนแม่น้ำนานาชาติสายนี้จะเริ่มจากเขื่อนฮัตจี และจะตามมาด้วย ๕ เขื่อนในพม่าแถบตะวันตกซึ่งเป็นเขตของชนกลุ่มน้อยนับตั้งแต่รัฐฉาน ไล่เรื่อยลงมาจนถึงรัฐมอญ และภาคตะนาวศรี เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับไทย โดยคาดว่าทุนจะมาจากจีน
สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับผู้ติดตามประเด็นเขื่อนสาละวินก็คือ ที่ผ่านมา กฟผ. ผลักดันที่จะสร้างเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ที่จ.แม่ฮ่องสอน มาตลอด แต่คราวนี้กลับลำหันไปที่เขื่อนภายในประเทศพม่าก่อน ขณะที่เขื่อนบนชายแดนถูกลดความสำคัญไปอยู่ในอันดับท้าย
แต่หากย้อนไปดูคำสัมภาษณ์ของอดีต ผู้ว่ากฟผ.ที่เคยกล่าวไว้ก็พอเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะอดีตผู้ว่าฯ กล่าวไว้ว่า (สร้างเขื่อนสาละวิน) คราวนี้ไม่มีปัญหาเรื่องคนจะออกมาประท้วงแน่ ๆ เพราะประเทศพม่ายังไม่มีเสรีภาพเหมือนประเทศไทย และที่สำคัญคือไม่มีเอ็นจีโอคอยยุยงส่งเสริม
เขื่อนแรกที่กฟผ. หมายมั่นจะสร้างที่อยู่ที่ฮัตจี (Hut Gyi) บนลำน้ำสาละวินในเขตรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากจุดบรรจบแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินที่ บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปตามน้ำประมาณ ๓๓ กิโลเมตร
กลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง ( Karen Rivers Watch) รายงานว่าเขตดังกล่าวเป็นรอยต่อระหว่าง อ.พะอัน และ อ.มือตรอว์ ของรัฐกะเหรี่ยง หลังจากฐานที่มั่นของกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่มาเนอปลอว์แตกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ กองทัพพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ซึ่งสวามิภักดิ์กับทหารพม่าก็เข้าทำการกวาดล้างหมู่บ้าน บังคับอพยพชาวบ้าน และยึดพื้นที่ดังกล่าวได้มาจนปัจจุบัน ทำให้การเข้าถึงพื้นที่แถบฮัตจีเป็นไปได้ยากยิ่งหากมิใช่ “ เพื่อนสนิท ” ของกองทัพพม่า
รายงานการศึกษาของโครงการเขื่อนฮัตจีฉบับปี ๒๕๔๑ ซึ่งทำโดยบริษัทที่ปรึกษาญี่ปุ่นภายใต้การว่าจ้างของการไฟฟ้าพม่า ระบุว่าเขื่อนแห่งนี้มีกำลังผลิตติดตั้ง ๓๐๐ เมกกะวัตต์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้น้ำท่วมไม่เพียงเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่จะเอ่อตามลำน้ำขึ้นมาถึงเขตชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านสบเมย และบ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน
ยิ่งในวันนี้ที่กฟผ.ระบุว่าเขื่อนแห่งนี้จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง ๑,๒๐๐ เมกกะวัตต์ มิใช่ ๓๐๐ เมกกะวัตต์แล้วนั้น เป็นไปได้หรือว่าขนาดเขื่อนและพื้นที่น้ำท่วมจะไม่ใหญ่ไปกว่าเดิม ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ และชาวบ้านตาดำๆ จะเกิดมากขึ้นอีกมหาศาลเพียงใด ข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้ยังไม่มีการเปิดเผยจากเจ้าของโครงการ
การที่นักสร้างเขื่อนไทยจะกระเสือกกระสนออกไปสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพม่าซึ่งรัฐบาลทหารมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนั้น เสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะถูกรุมประณามจากนานาชาติโทษฐานที่จับมือเปื้อนเลือดของเผด็จการทหาร
โครงการเขื่อนทั้งหมดซึ่งตั้งอยู่ในเขตของชนกลุ่มน้อย ยิ่งเข้าทางเผด็จการทหารพม่าที่พยายามมานานนับทศวรรษเพื่อ “ ล้าง ” กลุ่มกองกำลังกู้ชาติต่างๆ และประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยวิธีการนานับประการ รวมถึงการใช้โครงการพัฒนา อาทิ เขื่อน เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้ามา “ เคลียร์ ” พื้นที่
การที่กฟผ. รีบร้อนจะลงนามในเอ็มโอยูกับทหารพม่าเพื่อร่วมทุนสร้างเขื่อนอย่างเร่งด่วนนั้น ทำให้เกิดข้อกังวลว่าเอ็มโอยูฉบับนี้จะเป็นการผูกมัดตัวเองโดยไม่เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ สัญญาซื้อก๊าซจากพม่า ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบทุกทาง ซ้ำยังเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไทยไปส่งเสียให้รัฐบาลทหารนำเงินไปซื้อ อาวุธกดขี่บีทาประชาชนชาวพม่าได้อีกนาน
นอกจากจะยังไม่มีข้อมูลให้มั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะได้ประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยแล้ว ยังคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าของแถมชิ้นโตที่จะพ่วงมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการซื้อไฟฟ้าครั้งนี้คือ “ ผู้ลี้ภัย ” จากพื้นที่น้ำท่วมอีกมหาศาลที่จะหลั่งไหลเข้ามาพึ่งแผ่นดินไทยในวันที่บ้านของ ประชาชนจากพม่าเหล่านี้ต้องจมอยู่ใต้น้ำตลอดไป
กลุ่มพันธมิตรสาละวินว็อชต์ และเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อน จึงได้ออกแถลงการณ์ด่วนเพื่อเรียกร้องให้กฟผ.ยกเลิกการลงนามในเอ็มโอยูกับกองทัพพม่าทันที และเปิดเผยทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนในฝั่งไทยและพม่า โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ผ่านมา รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงด้านการร่วมทุนทั้งหมด แก่สาธารณะและผู้ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพิจารณาอย่างรอบคอบต่อการลงนามร่วมทุนโปรเจ็คข้ามชาติ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป