ใคร? ทำน้ำโขงแห้งขอด – ข้อโต้แย้งสถานทูตจีน

fas fa-pencil-alt
ประสาร มฤคพิทักษ์-มติชน
fas fa-calendar
21 มีนาคม 2553

ในระยะหนึ่งเดือนเศษนับแต่ปลายเดือนมกราคม 2553 มานี้ น้ำโขงแห้งขอดมากที่สุดในรอบ 50 ปี เป็นสภาพที่ยอมรับใน 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง เนื่องจากจีนเป็นเจ้าของเขื่อนผลิตไฟฟ้าด้านหลังน้ำ 3 แห่งในลุ่มน้ำโขงในมณฑลยูนนาน คือ เขื่อนต้าเฉาซาน เขื่อนม่านวาน และเขื่อนจิ่งหง ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำโขง จึงกลายเป็นจำเลยของประเทศท้ายน้ำไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 นายเฉิน เต๋อ ไห่ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและข่าวสารบทสถานทูตจีน แถลงเรื่องเขื่อนจีนกับแม่น้ำโขงแห้งว่า น้ำโขงแห้งเนื่องจากภัยแล้ง โดยชี้ว่า “ทั้ง 3 เขื่อนปล่อยน้ำไหลตามปกติ ไม่ได้ปิดกั้นแต่อย่างใด และเขื่อนจีนก็ห่างไกลกับไทย” และยังชี้ว่า “แม่น้ำโขงในไทยส่วนใหญ่ รับปัจจัยมาจากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เป็นปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง 35% มาจากฝนตกในลาว เขื่อนจีนส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงเพียง 4% เท่านั้น”

ความจริงเป็นเช่นไร

  1. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงเร็วผิดปกติ

เมื่อวันที่ 6-7 มีนาคม 2553 สื่อมวลชน 17 สำนัก รวม 22 คน เป็นสื่อไทย 13 แห่ง และสื่อต่างประเทศ 4 แห่ง พร้อมผู้เขียน ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง ใน กมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภา และคณะ รวม 30 คน ล่องเรือในแม่น้ำโขงบริเวณคอนผีหลง-เชียงของ-ปากอิง-ผาได (สุดชายแดนไทย-ลาว) ได้สัมผัสด้วยตนเองว่า ในช่วงสัปดาห์นั้นน้ำขึ้นเร็วอย่างผิดปกติ ดูจากสถานีวัดน้ำเชียงของ โดยกรมทรัพยากรน้ำ มีความแจ่มชัดว่า เวลา 06.00 น.

  • 27 กุมภาพันธ์ 2553 วัดน้ำได้ 0.36 มม.
  • 28 กุมภาพันธ์ 2553 วัดน้ำได้ 0.56 มม.

ในวันเดียวระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 20 เซนติเมตร โดยไม่มีฝนตกเลยแม้แต่เม็ดเดียว เพราะน้ำสาขาต่าง ๆ เช่น น้ำกก น้ำอิง ล้วนแห้งขอดเพราะภัยแล้ง

ในขณะที่ในเดือนสิงหาคม 2551 น้ำโขงขึ้นเร็วผิดปกติ วัดเมื่อเวลา 06.00 น. ดังนี้

  • 11 สิงหาคม 2551 วัดน้ำได้ 11.18 มม.
  • 12 สิงหาคม 2551 วัดน้ำได้ 12.50 มม.
  • 13 สิงหาคม 2551 วัดน้ำได้ 13.60 มม.

ในช่วงนั้น หมู่บ้านหลายแห่งริมน้ำกก ริมน้ำอิง ต่างจมน้ำ บางแห่งท่วมถึงระดับหลังคาบ้าน ตลิ่งโขงพังพินาศจนเพื่อนมิตร ทั้งชาวบ้านและนักสิ่งแวดล้อมจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ร่วมระดมกำลังกันไปซ่อมตลิ่งพังที่บ้านปากอิง และปรากฏเป็นข่าวทั่วไป

แม้ว่าช่วงนั้นจะมีฝนตกหนัก แต่ฝนไม่ได้เลือกตกเฉพาะใต้เขื่อน ฝนได้ตกเหนือเขื่อนด้วย ฝนจึงไม่ใช่สาเหตุแห่งน้ำท่วมในปีนั้น หากแต่เป็นเพราะเขื่อนจีนปล่อยน้ำออกมาเป็นระลอกใหญ่ เพราะน้ำมากล้นเกินความต้องการของเขื่อนจีนในเวลานั้น

หากน้ำท่วมและน้ำแห้งเป็นเพราะฝนมาก หรือเป็นเพราะภัยแล้ง น้ำจะไม่ขึ้นลงเร็วฉับพลันในระดับนี้

  1. สาละวินปกติ โขงผิดปกติ

ในขณะที่น้ำโขงขึ้นเร็วลงเร็วผิดปกติ ในช่วงเวลาสั้น ๆ มีข้อเท็จจริงว่า แม่น้ำสาละวินซึ่งมีต้นน้ำจากที่ราบสูงทิเบตทางตอนเหนือของจีน แหล่งกำเนิดเดียวกับต้นน้ำโขง ไหลคู่ขนานมากับแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานเข้าสู่พม่า ปรากฎว่าน้ำในแม่น้ำสาละวินไหลเคลื่อนอย่างอิสระ กล่าวคือ เมื่อฝนตกระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ย่างเข้าหน้าแล้งน้ำจะแห้งลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการขึ้นลงเร็วอย่างผิดปกติ

นายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย เพิ่งเดินทางกลับจากการล่องน้ำสาละวินเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2553 กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าวันนี้แม่น้ำสาละวินยังคงไหลได้อย่างอิสระ เพราะไม่มีเขื่อนกั้น ทำให้แม่น้ำยังคงอุดมสมบูรณ์และชาวบ้านอยู่ดีกินดี แตกต่างจากแม่น้ำโขงที่กำลังวิกฤต ทั้งน้ำท่วมและน้ำแห้งจนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า” (น.ส.พ.มติชน 15 มีนาคม 53)

  1. สัดส่วนที่เป็นจริงของปริมาณน้ำ

ตามตัวเลขของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (MRC) ระบุว่าลำน้ำโขงนั้น มีสัดส่วนของน้ำดังนี้

  • จีน 16%
  • ลาว 35%
  • ไทย 18%
  • กัมพูชา 18%
  • เวียดนาม 11%

นี่เป็นเหตุให้จีนกล่าวอ้างว่า จีนมีส่วนต่อน้ำโขงเพียงเล็กน้อย ความจริงก็คือ ตัวเลขนี้เป็นตัวเฉลี่ยตลอดทั้งปี และเป็นการวัดที่ปากน้ำโขงตรงเวียดนามที่ไหลลงทะเลจีนใต้ และเป็นการวัดในช่วงฤดูฝน

ตารางของ MRC ทั้ง 2 นี้ชี้ให้เห็นว่า เป็นความจริงในฤดูฝนมีสัดส่วนน้ำจากจีนเพียง 16% ที่ปากแม่น้ำโขง เพราะน้ำจากแม่น้ำสาขาในลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม เข้ามาเติมน้ำโขง

แต่ในฤดูแห้ง บริเวณอำเภอเชียงของ เชียงแสน และเวียงแก่น จ.เชียงราย เป็นพื้นที่รับน้ำจากจีนเต็ม ๆ ถึง 95% และอยู่ห่างจากจีนเพียง 200 กิโลเมตร ไม่มีแม่น้ำสาขาใหญ่ของลาวมาเติมแต่อย่างใด

นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น่าเชื่อว่าน้ำโขงแห้งในระยะเดือนเศษที่ผ่านมาเป็นเพราะเขื่อนจีนเป็นปัจจัยสำคัญ

  1. ผู้ว่าสิบสองปันนายอมรับว่าเขื่อนจีนกักเก็บน้ำไว้

จากการติดต่อระหว่าง คุณสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กับผู้ว่าการเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ผู้เขียนจึงโทรศัพท์คุยตรงกับคุณสุเมธ ซึ่งแจ้งว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อพบว่าน้ำโขงแห้ง ท่านจึงโทรศัพท์คุยกับนางเตาหลินอิง ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เพื่อหารือเรื่องแม่น้ำโขงแห้ง โดยนางเตา หลินอิง ยอมรับว่า “จำเป็นต้องกักเก็บน้ำในเขื่อนไว้ เพราะยูนนานแห้งแล้งมาก”

เหตุผล 4 ประการนี้ ขอหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งกับผู้แทนสถานทูตจีนเพื่อตรวจสอบความเป็นจริงระหว่างภัยแล้งกับการกักเก็บน้ำของเขื่อนจีน อะไรเป็นสาเหตุหลัก อะไรเป็นสาเหตุรอง

หากจีนยืนกรานว่าเขื่อนจีนไม่ได้เป็นสาเหตุให้น้ำโขงแห้ง ก็แปลว่าการร่วมมือกันฉันท์มิตรของ 6 ประเทศรวมถึงจีนด้วย คงเป็นไปได้ยาก

การประชุม 6 ชาติลุ่มน้ำโขง โดยมีจีนกับพม่าร่วมสังเกตการณ์ต้นเดือนเมษายนนี้ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง