คลื่นมนุษย์ระรอกใหญ่ และแสงดาวเหนือสาละวิน

fas fa-pencil-alt
มติชน
fas fa-calendar
30 เมษายน 2549

“มาเร็ว นี่ไงขนมอร่อยๆ นะ มาหาหมอนะคนเก่ง” หมอหนุ่มยื่นลูกกวาดให้คนไข้ตัวน้อยที่ร้องไห้จ้าเกาะแม่ไม่ยอมปล่อย ไม่นานรอยยิ้มและน้ำเสียงที่เป็นมิตรของหมอก็หลอกล่อ ให้เจ้าตัวเล็กยอมเดินมาเข้ามาหาและนอนลงให้หมอตรวจอาการ

“ตัวร้อนมาก เอายาลดไข้ไปกิน เช็ดตัวให้บ่อยๆ แล้วพรุ่งนี้เช้ามาให้หมอตรวจอีกทีนะ” หมอบอกผู้เป็นแม่ ก่อนที่จะหันไปเรียกคนไข้รายต่อไป

แสงแดดยามบ่ายของวันกลางฤดูแล้งระอุไอร้อนจนเห็นเปลวแดดเต้นระยิบ ภายใต้เพิงเล็กๆ ที่มีเพียงหลังคาผ้าพลาสติกปกคลุม คือ “คลินิก” ของหม่อวาเซ (ใช้ชื่อสมมุติด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย) หมอหนุ่มชาวกะเหรี่ยงวัยเบญจเพสที่รักษาคนไข้จาก ภัยสงคราม บนแผ่นดินรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า

บนที่ราบแคบๆ ในหุบเขาริมลำธารสาขาของแม่น้ำสาละวิน ไม่ไกลจากชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพิงพักชั่วคราวหลายสิบหลังถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิงของคนทุกข์กว่า  ๘๐๐ คนที่เพิ่งหลบหนีการรุกรานของกองทัพพม่ามายัง “พื้นที่ปลอดภัย” ภายใต้การดูแลของกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู

นับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา กองทัพพม่าได้เปิดศึกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๑๐ ปี กับประชาชนในรัฐกะเหรี่ยง โดยดำเนินการกวาดล้างพื้นที่ทางตะวันตกและทางเหนือของรัฐกะเหรี่ยง ในพื้นที่จังหวัดยองเลบินและตองอู

กลุ่มบรรเทาทุกข์ Free Burma Rangers รายงานจากในพื้นที่ว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นผลให้ชาวกะเหรี่ยงกว่า ๑๑,๐๐๐ คนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ เนื่องจากกองทัพพม่าเข้าทำลายหมู่บ้านและพยายามกวาดต้อนชาว บ้านให้ไปอยู่ในแปลงอพยพที่ควบคุมโดยทหารพม่า ชาวบ้านจำนวนมากจึงเลือกที่จะหลบหนีซ่อนตัวอยู่ในป่า เป็นผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Persons-IDPs) และส่วนหนึ่งหนีภัยความตายมายังแม่น้ำสาละวินแห่งนี้  

หลังจากรอนแรมเดินเท้าข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่าจากทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง ใช้เวลานานกว่า ๑ เดือน ขบวนคนทุกข์ก็ทยอยเดินทางมาถึงที่นี่ด้วยสภาพอิดโรยและเจ็บป่วย โดยชาวบ้านอีกหลายร้อยคนกำลังรอนแรมอยู่ระหว่างทางมุ่งหน้ามาที่นี่

ชาวบ้านแต่ละครอบครัวมีเพียงตะกร้าไม้ไผ่ใส่หม้อข้าวบุบบี้ ของใช้จำเป็นเท่าที่หยิบมาได้ และเสื้อผ้าเก่าติดกาย เมื่อมาถึง แต่ละครอบครัวจะได้รับผ้าพลาสติกสำหรับสร้างเพิงพัก ข้าวสาร และเกลือ เพื่อประทังชีวิต

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวบ้านเหล่านี้คือ “ความปลอดภัย”

“ชาวบ้านป่วยกันมากเพราะเดินเท้ากันมาไกล ทางก็เป็นดอยสูง ลำบาก ผ้าห่มก็ไม่มี แล้วยังต้องคอยหลบทหารพม่า ระหว่างทางอาหารก็แทบจะไม่มีกิน รอดตายมาถึงที่นี่ได้ก็ยังนับว่าโชคดี ยังมีทหารเคเอ็นยูดูแล” หมอถอนหายใจ ด้วยรู้ดีว่าห่างไปจากหุบเขานี้เพียง ๑๕-๒๐ นาทีด้วยเรือหางยาว มีฐานทหารพม่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวินขนาบทั้ง ๒ ด้าน และไม่มีใครรู้ว่าทหารพม่าจะเข้ามาโจมตีพื้นที่พักพิงแห่งนี้เมื่อไหร่

“คนป่วยเยอะ แต่ตอนนี้ยาของเราก็มีน้อย ขนส่งกันมาลำบาก มีแต่ยาบรรเทา พวกยาฉีด ยาปฏิชีวนะมีน้อยมาก ก็ต้องจัดสรรให้ดี เพราะข่าวว่ายังมีชาวบ้านกำลังหนีกันมาอีกหลายร้อยคน” หมอกล่าวพลางชี้ให้ดูกล่องบรรจุยาที่มีวางอยู่เพียง ๓ กล่อง 

ตั้งแต่ตะวันสาง แพทย์หนุ่มชาวกะเหรี่ยงเริ่มงานตรวจรักษาคนไข้ที่เพิงพยาบาล โดยคนไข้ส่วนมากจะเป็นเด็กเล็กที่เป็นไข้ และท้องร่วง เนื่องจากกินน้ำและอาหารไม่สะอาดช่วงที่เดินทางรอนแรมในป่า หลังจากนั้นช่วงบ่ายหมอก็เดินไปตรวจรักษาคนไข้ที่ป่วยหนักตามเพิงพัก ซึ่งมักป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ และท้องร่วง

“เจ็บนิดนึงนะ” หมอบอกก่อนแทงเข็มน้ำเกลืออย่างเบามือให้แก่ คนไข้แม่ลูกอ่อนที่นอนหายใจรวยรินอยู่ในเพิง ห้องพักคนป่วยกลางป่าแห่งนี้มีเพียงพื้นดินต่างเตียงนอน  ลูกสาวคนรองนอนจับไข้อยู่ข้างๆ แม่ ขณะที่ทารกน้อยแนบอยู่กับอกพ่อ

คนไข้หญิงคนนี้ให้กำเนิดลูกชายคนเล็กระหว่างทาง เมื่อทหารพม่าบุกทำลายหมู่บ้าน เธอต้องทิ้งบ้านมาขณะที่ตั้งครรภ์ได้ ๘ เดือนเศษ หลังจากคลอดลูกชายที่กลางป่า เธอมีเวลาพักฟื้นเพียง ๓ วันก่อนที่จะออกเดินทางต่อ โดยเพื่อนบ้านอาสาช่วยอุ้มทารกมาตลอดทาง

ทำงานหนักจนย่ำค่ำ แต่ความยากลำบากไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำหน้า ที่บรรเทาทุกข์แก่พี่น้องร่วมแผ่นดินของชายหนุ่มผู้นี้

“ครอบครัวของผมเองก็หนีทหารพม่าตั้งแต่ผมอายุ ๕ ขวบ อยู่ในหมู่บ้านทหารพม่าจะเข้ามาเผาบ้าน เผายุ้งฉาง พวกเราก็ต้องหนีไปซ่อนในป่ากันแทบทุกปี รอจนทหารพม่าไปแล้วก็ค่อยกลับไปอยู่ที่บ้าน ไม่เคยอยู่กันอย่างสงบเลย ต้องคอยระวังว่าทหารพม่าจะมาบุกเมื่อไหร่”

ด้วยเข้าใจดีถึงชะตากรรมของประชาชนบนแผ่นดินที่ระอุไฟสงคราม เมื่ออายุได้ ๒๐ ปีหม่อวาเซจึงตัดสินใจจากบ้านที่ตองอูมาเรียนวิชาแพทย์ที่แม่ตาวคลินิก ของคุณหมอซินเทีย มาว แพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยงเจ้าของรางวัลแมกไซไซ

จากนั้นหม่อวาเซจึงถูกส่งตัวมาทำงานช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายใน ที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าหลบหนีทหารพม่าในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง    

“ทหารพม่าทำกับเราเหมือนไม่ใช่สิ่งที่คนทำกับคน ชาวบ้านเราถูกกวาดต้อนหนีกันมาเหมือนวัวเหมือนควาย เห็นแล้วสลดใจ แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยเหลือพี่น้องเท่าที่เรามีแรงจะทำได้” หมอพูด

เมื่อถามถึงครอบครัว หมอบอกว่าตั้งแต่จากบ้านมาเมื่อหลายปีก่อนก็ยังไม่ได้พบกันอีกเลย ตอนนี้พ่อและแม่ถูกทหารพม่าต้อนไปอยู่ในแปลงอพยพ จะหนีลงมาที่นี่ก็หนีไม่ได้ เพราะทหารพม่าคอยสกัดและวางกับระเบิดไว้ตลอดเส้นทาง โดยหมอได้ข่าวจากชาวบ้านจากหมู่บ้านเดียวกันที่เพิ่งเสี่ยงชีวิตหนีมาถึงที่นี่

“คิดถึงพ่อแม่ แต่ก็รู้ว่าเรามีหน้าที่ของเราที่ต้องทำ

“เด็กๆ เกิดใหม่ก็ไม่มีวัคซีนฉีดให้ หนีมาแบบนี้เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็หวังว่าเหตุการณ์จะไม่รุนแรงไปกว่านี้ อยากให้สถานการณ์คลี่คลาย ให้ทุกคนได้กลับบ้าน ได้ทำนาทำไร่บนแผ่นดินของตัวเอง ได้อยู่อย่างสงบสุข” ดวงดาวในตาส่องประกายขณะที่หมอพูด

ดึกแล้ว ดาวบนฟ้าทอแสงระยิบระยับ คืนนี้คงมีชาวบ้านมากมายค้างแรมนอนหนาวกันอยู่ระหว่างทางในป่า พรุ่งนี้เมื่อตะวันทอแสง ผู้ป่วยอีกหลายคนคงเดินทางมาถึง และให้หมอรักษาอาการเจ็บป่วยจากภัยสงคราม

ตราบเท่าที่ริมฝั่งสาละวินแห่งนี้ยังคงปลอดภัย

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง