คนน้ำโขงฟ้องศาล เขื่อนไซยะบุรีทำลายชีวิต โลมาอิรวดี
ก่อนถึงศาลปกครอง ชาวบ้านหลายคนต่างรู้สึกกังวลว่าแห อวน และเครือมือหาปลาพื้นบ้านอื่นๆ ที่จัดเตรียมมาเพื่อสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำโขงจะถูกห้ามนำเข้าไปในรั้วสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ยิ่งคนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาครั้งนี้เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา และไม่คุ้นเคยกับพิธิรีตรองขั้นตอนต่างๆ ทำให้ต่างรู้สึกหวั่นไหวว่าการเดินทางมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้จะสามารถสะท้อนข้อเท็จจริงให้สังคมทราบได้แค่ไหน
การตัดสินใจพึ่งกระบวนการยุติธรรมของชาวบ้านในนามเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในสังคมไทยนั้น การที่ต้องขึ้นศาลถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกระบวนการมักยืดเยื้อข้ามปี จนแทบไม่เป็นอันทำอะไร หากไม่จำเป็นจริงๆ คงไม่มีใครอยากขึ้นศาล โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยหาเช้ากินค่ำ
แต่เมื่อเดินมาถึงศาลปกครอง ชาวบ้านริมน้ำโขง ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และพวกเขาสามารถพากันสาธิตการทอดแห และได้ปลาตัวใหญ่จากแม่น้ำโขงที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของพวกเขาได้อย่างเห็นภาพ เพื่อสื่อสารให้สื่อมวลชนนำไปถ่ายทอดสู่สาธารณะได้เข้าใจ
การนั่งรถหลายร้อยกิโลเมตรเข้าสู่กรุงเทพฯของชาวบ้านในครั้งนี้เต็มไปด้วยแรงกดดันและความเจ็บปวด เนื่องจากภาพข่าวที่ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คือแม่น้ำโขงในจุดสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของลาว ถูกกางกั้นด้วยคันดินชั่วคราวจนเกือบปิดแม่น้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการสร้างเขื่อน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้คนระดับรัฐมนตรีของทางการลาว พยายามพูดให้ชาวโลกเข้าใจไปว่าโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีถูกระงับเพื่อรอผลการศึกษาตามเสียงทักท้วงของประเทศท้ายน้ำโดยเฉพาะเวียดนามและกัมพูชา แต่ในความเป็นจริงกลับมีการก่อสร้างอย่างลับๆ อย่างต่อเนื่องมาแล้วนับปีโดยไม่มีวันหยุด
เขื่อนไซยะบุรี เป็นโครงการเขื่อนแห่งแรกที่จะกั้นแม่น้ำโขงทางตอนล่าง จากทั้งหมด 11 โครงการ โดยยังไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง ภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ที่ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ตกลงกันไว้เพื่อร่วมกันใช้แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน (1995 Mekong Agreement)
แม้พื้นที่เขื่อนไซยะบุรีจะอยู่ในลาว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยเป็นตัวละครสำคัญที่มีส่วนผลักดันโครงการในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินล้วนเป็นธนาคารไทย ได้แก่ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงเทพ และกรุงไทย ที่สำคัญ ผู้รับซื้อไฟฟ้า 95 % จากเขื่อนแห่งนี้ก็คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ชาวบ้านจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ดำเนินการยื่นฟ้องกฟผ. ที่ลงนามในสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (PPA) จากบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศลาว โดยมีผู้ฟ้องคดี 37 คน และผู้สนับสนุนให้ฟ้องคดี 1019 คน ซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงในประเทศไทย นับตั้งแต่เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี
ผู้ถูกฟ้องคดีในครั้งนี้ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน ในฐานะกำกับกฟผ.และคณะรัฐมนตรี โดยข้อกล่าวหา คือ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วย การปฏิบัติตามข้อตกลงแม่น้ำโขง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
เนื้อหาในคำฟ้องระบุว่า ประชาชนใน “เครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง” รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คนเป็นผู้ที่อยู่อาศัย ทำมาหากิน อยู่บริเวณแม่น้ำโขง โดยได้อาศัยกันอยู่เป็น ชุมชน มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ที่เชื่อมโยงผูกพันกับแม่น้ำโขงมาหลายชั่วอายุคน นับแต่ครั้งอดีตตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม่น้ำโขงจึงมีความสำคัญต่อผู้ฟ้องคดีและประชาชนในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ การเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ซึ่งการศึกษาระบุว่า การประมงแม่น้ำโขงเป็นการประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าขั้นต้นปีละ 7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ แม่น้ำโขงยังเป็นแหล่งอาชีพเกษตรกรรมและร่อนทอง แหล่งลำเลียงสินค้า การท่องเที่ยว และประเพณีวัฒนธรรม
สำหรับมูลเหตุแห่งการฟ้องคดี คำฟ้องระบุว่า การทำ “สัญญาซื้อไฟฟ้า” (Power Purchase Agreement: PPA) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถือเป็นโครงการของรัฐประเภทหนึ่ง กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงถือเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่ง เมื่อกฟผ. ดำเนินโครงการใดๆในการประกอบกิจการของตน แม้จะเป็นเพียงสัญญา แต่หากสัญญาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรัฐ ประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ย่อมต้องถือว่า การดำเนินการนั้นๆเป็นโครงการของรัฐ ซึ่งนอกจากจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหากเป็นกิจการที่เกี่ยวกับการซื้อไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นกิจการเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ก็ย่อมต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติแล้ว การดำเนินกิจการดังกล่าวยังต้องถูกควบคุมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่าด้วย การประกอบกิจการหรือการดำเนินโครงการแห่งรัฐ
นั่นหมายความว่า แม้เขื่อนไซยะบุรีจะอยู่นอกประเทศไทย แต่การที่กฟผ. รับซื้อไฟฟ้า ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายไทย อาทิ การเปิดเผยข้อมูล การรับฟังความคิดเห็น การจัดให้มีมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการประเมินผลกระทบทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ ดังนั้นการที่กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อไฟกับทางการลาวจึงถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย
การฟ้องศาลปกครองของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงในครั้งนี้ ถือว่าเป็นกรณีแรกที่จะเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับผลกระทบข้ามแดน โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล มิใช่เพียงแค่ตัวเองเป็นเศรษฐีแล้วหอบเม็ดเงินเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากแหล่งธรรมชาติของประเทศที่มีรั้วติดกันอย่างไรก็ได้
ประเทศในภูมิภาคนี้มีระบบนิเวศและวัฒนธรรมที่เชื่อมร้อยกันมายาวนาน เพียงแต่รัฐสมัยใหม่ได้สมมุติเส้นเขตแดนเป็นตัวแบ่งกั้น แต่ไม่ว่าพื้นที่ใดหรือจุดใดถูกทำลาย ย่อมส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ในพื้นที่ที่เหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เราควรยกระดับจิตสำนึกของนักลงทุนและนักแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรกันบ้าง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในภูมิภาค
อ้างอิง : https://transbordernews.in.th/home/?p=1410