คนโป่งอางลุกโต้กรมชลฯ จวกเป็นคำชี้แจงที่เห็นแก่ตัวมาก
1 ต.ค. 2554
ตามที่ทีมบริษัทที่ปรึกษาการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกรมชลประทานได้ออกชี้แจงเหตุผลโต้กับคำแถลงการณ์ของชาวบ้านที่คัดค้านไม่เอาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หรือที่ชาวบ้านบอกว่าคือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง ผ่านเวบไซต์กรมชลประทาน ในหน้าประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวไปก่อนหน้านั้น
ล่าสุด ชาวบ้านโป่งอาง ม.5 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ออกมาโต้คำชี้แจงว่า เป็นการแก้ตัวที่เห็นแก่ตัวเป็นอย่างมาก
นางสาวธิวาภรณ์ พะคะ ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมาการคัดค้านโครงการนี้อาจจะไม่มีการรับทราบอย่างทั่วถึง แต่หลังจากเรื่องนี้ได้ถูกเผยแพร่และโด่งดังไปทั่ว เกี่ยวกับที่มาของโครงการนี้อย่างไม่โปร่งใส จึงทำให้กรมชลฯและทีมศึกษาต้องออกมาแก้ตัว และชี้แจง เพื่อปกป้องตัวเองและำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหลังจากที่ชาวบ้านได้อ่านคำชี้แจงดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นคำชี้แจงที่เห็นแก่ตัวมาก คำชี้แจงไม่ได้เป็นจริงอย่างที่กล่าวมาเลย บางประเด็นตรงกันข้ามกับคำที่กล่่าวมาด้วยซ้ำ
“ยิ่งกรมชลประทานและทีมศึกษาออกมาชี้แจงอย่างเห็นแก่ตัวแบบนี้แล้ว ยิ่งทำให้ชาวบ้านเห็นท่าทีที่แท้จริงของทีมศึกษาอย่างชัดเจนและัไม่ไว้ใจในโครงการนี้มากขึ้น เช่น ในประเด็นคำชี้แจงในคำถามที่ว่า กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มีการดึงเอาหน่วยงานราชการ ชุมชนนอกพื้นที่ มาเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาโครงการเป็นหลัก ทีมศึกษาได้ชี้แจงว่า ได้มีการจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือในลักษณะ Focus Group ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ได้เชิญผู้นำชุมชนและคนในชุมชนเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ ชาวบ้้านโป่งอางมีประชากรรวมทั้งหมด จำนวน 546 คน แต่ได้มีการเชิญผู้เข้าร่วมประชุมเพียงแค่ 13 คน เท่านั้น ผู้เข้าร่วมเพียงแค่ 13 คน ไม่ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและตัดสินใจได้อย่างเพียงพอต่อจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ ในการตัดสินใจอย่างแท้จริง”
นางสาวธิวาภรณ์ กล่าวอีกว่า ในประเด็นที่กล่าวว่า มีชาวบ้านได้สมัครเข้าร่วมเป็นอาสาท้องถิ่น ในการสำรวจในด้านแหล่งท่องเที่ยว สัตว์ป่า ป่าไม้ คุณภาพน้ำ นิเวศทางน้ำ การประมง เป็นต้น และที่ได้ชี้แจงว่ามีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างอาสาท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญนั้น เมื่อได้มีการซักถามชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครท้องถิ่น ได้กล่าวว่า ไม่มีการกล่าวถึงที่มาของศึกษานี้เลยว่าเข้ามาศึกษาเพื่ออะไร และมีวัตถุประสงค์อะไรในการเข้ามาศึกษาเรื่องต่าง ๆดังที่กล่าวข้างต้นเลย
“อยากถามว่าอาสาสมัครจำนวน 8 คนที่กล่าวมานั้น ได้รวมถึงเด็กอายุประมาณ 13 ขวบด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้ารวมถึงเด็กเหล่านี้แล้ว เด็กเหล่านี้ไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย มีบางคนได้กล่าวว่าได้กรอกใบสมัครเป็นอาสาสมัครอยู่แต่ไม่รู้ว่าเป็นใบอาสาสมัครอะไร และยังมีบางคนกล่าวว่ามีผู้มาว่าจ้างให้นำทางไปศึกษาธรรมชาติเท่านั้น และได้ค่าตอบแทนที่เยอะด้วย เด็กได้รับค่าตอบแทนคนละ 200 บาท ผู้ใหญ่ได้รับค่าตอบแทนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป จากที่กล่าวมาทั้งหมดชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างที่ท่านได้ชี้แจงมาเลย เพราะอาสาสมัครที่ท่านว่าเป็นอาสาสมัครนั้นไม่ได้เกิดจากความสมัครใจที่แท้จริงแต่ประการใด” ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง กล่าวตั้งคำถามและตั้งข้อสังเกต
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทีมศึกษาฯ ได้เข้ามาดำเนินการโครงการดังกล่าว ได้ทำให้ชาวบ้านและชุมชนโป่งอางและชุมชนใกล้เคียง ได้เกิดความตื่นตัวและได้รับประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้อย่างเข้มแข็งมากกว่าเดิม
นางสาวธิวาภรณ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ได้รับข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับโครงการนี้เพิ่มมากขึ้นและเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น และเฝ้าดูอยู่ตลอด จากทีมศึกษาของโครงการนี้
“ที่ผ่านมาตั้งแต่ชาวบ้านตื่นตัว ก็ทำให้ชาวบ้านได้รับประสบการณ์จากการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่น การเดินทางไปยื่นหนังสือให้แก่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การร่วมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิชุมชน การชุมนุมเพื่อคัดค้านเวทีการประชุมของทีมศึกษาและกรมชลฯ การเเลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนของพี่น้องฮอด เป็นต้น ซึ่งประสบการณ์การที่ชาวบ้านได้รับในครั้งนี้จะอยู่ในความทรงจำของพี่น้องบ้านโป่งอางตลอดไปตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ และพี่น้องชาวบ้านโป่งอางจะขอยืนยันและขอแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะต่อสู้ต่อไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่” ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลประกอบ
เครือข่าย ปชช.เชียงดาวคว่ำเวทีผุดอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนของกรมชลฯ
เวบไซต์กรมชลประทาน,การชี้แจงเหตุผลของกลุ่มผู้คัดค้าน