คนอุบลฯชี้เขื่อนกั้นโขงทำวิถีล่ม จี้ส.ส.-ส.ว.ตั้งกระทู้ถามรัฐ3ข้อ
นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ว่า ก่อนหน้านี้เคยไปดูสภาพพื้นที่ที่จะสร้าง "เขื่อนบ้านกุ่ม" เขื่อนกั้นน้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้า มูลค่า 90,000 ล้านบาท ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พร้อมกับนางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทุกคนเห็นพื้นที่แล้วได้ตั้งข้อสงสัยว่า
1.ทำไมไม่ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนไปตกลงทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับลาว
2.ทำไมไม่แจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบ หรือมีส่วนรับรู้เรื่องการก่อสร้าง
3.องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งไทย และลาวรับรู้เรื่องการทำโครงการนี้มากแค่ไหน เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ การทำโครงการอะไรจะต้องแจ้งรัฐบาลและประชาชนทั้งสองประเทศทราบ แต่เรื่องนี้รัฐบาลไทยไม่เคยแจ้งให้ใครทราบเลย ขอฝากถึง ส.ส. และ ส.ว.ควรตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภาว่า ทำไมถึงต้องทำแบบนี้
นายภูมิ สิมกันยา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลฯ กล่าวว่า ชาวบ้านแถบนี้มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขงเป็นหลัก ทั้งการหาปลาในแม่น้ำ และทำเกษตรริมฝั่งน้ำในช่วงน้ำลด เฉพาะการปลูกพืชผักริมน้ำสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยถึง 40,000 บาทต่อครัวเรือน โดยปลูกพืชต่างๆ ชาวบ้านอยู่กับแม่น้ำโขงไม่ต้องเลี้ยงปลา ปลาธรรมชาติที่นี่เลี้ยงคนมาหลายชั่วคน หากินได้ตลอดปี
นายสมเกียรติ พ้นภัย ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม กล่าวว่า เขื่อนปากมูลสร้างความเสียหายแก่ชาวบ้านและคนหาปลาในแม่น้ำมูลมามากพอแล้ว ถือเป็นบทเรียนระดับโลกที่ทำให้ธนาคารโลกขายหน้า พันธุ์ปลาสูญหาย วิถีชุมชนล่มสลาย หากสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงซ้ำอีกความเสียหายจะยิ่งกว่าเขื่อนปากมูล
"คนรุ่นผมคงเป็นพรานปลารุ่นสุดท้าย หากมีเขื่อนกั้นน้ำโขง ปลาว่ายขึ้นไปวางไข่ไม่ได้ ก็สูญพันธุ์ ลูกหลานคงไม่รู้จักปลาธรรมชาติ คงได้กินแต่ปลาทับทิมเลี้ยงในกระชัง หรืออย่างดีก็เป็นปลากระป๋องที่เจ้าของเขื่อนเอามาแจกให้ผู้ได้รับผลกระทบ" นายสมเกียรติกล่าว