คนอุบลร่วมไว้อาลัยผู้ประสบภัยญึ่ปุ่น และยืนยันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

fas fa-pencil-alt
ตัวแทนภาคประชาชน 16 องค์กร
fas fa-calendar
16 มีนาคม 2554

 ตัวแทนภาคประชาชน 16 องค์กร ร่วมกันไว้อาลัยผู้ประภัยที่ประเทศญี่ปุ่น และรวมตัวต้านไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่ จ.อุบลราชธานี ระบุชัดเจนเกรงความไม่ปลอดภัยเหมือนประเทศญี่ปุ่น พร้อมร่วมบริจาคเงินส่งไปช่วยชาวญี่ปุ่นที่กำลังประสบความหายนะจากนิวเคลียร์

            เมื่อเวลา 09.00 น. ที่หน้าศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มประชาชน เยาวชน นักศึกษา นักวิชาการจากมหาวิทยาราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวนกว่า 200 คน ในนามเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รวมตัวไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิและโรงไฟฟ้านิเคลียร์ระเบิดที่ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นได้อ่านจดหมายเปิดผนึก ถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ทบทวนและคัดค้านแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี  พร้อมอ่านแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเวียดนาม เพราะสามารถส่งผลกระทบในทางอากาศมาถึงประเทศไทยด้วย

         ต่อมาได้เดินขบวนถือป้ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานี และนำไปติดไว้ที่หน้าศาลากลางจังหวัด และในเวลา 17.00 น. ผู้แทนกลุ่มจำนวน 30 คนได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ส.ว.รสนา โตสิตระกูล และ ส.ว.สุรจิตร ชีระเวทย์  ด้วย

             นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้เข้ากราบไหว้ศาลหลักเมืองขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครองชาวเมือง และร่วมกันบริจาคเงินส่งไปช่วยเหลือช่วยญี่ปุ่นที่กำลังประสบภัย

            นางยุพา สินธุเชาวน์ อายุ 76 ปี ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานีให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้มีนักศึกษา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยได้เดินขบวนต่อต้านไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นยังไม่ทราบรายละเอียด วันนี้ได้ทราบข่าวว่าจะมีการรวมตัวก็เลยมาเข้าร่วมคัดค้านด้วย เพราะไม่อยากให้ลูกหลานคนอุบลต้องประสบชะตากรรมแบบคนญี่ปุ่น ภัยธรรมชาติที่ว่าน่ากลัวแล้วแต่นิวเคลียร์เป็นมหันตภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์นั้นน่ากลัวกว่าหลายร้อยเท่า

            นายประหวี จันพิรักษ์ ชาวบ้านคำนกหอ ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า กว่า 1 ปีแล้วที่ทางหน่วยงานเข้าไปปักหมดและทำการสำรวจพื้นที่ที่เขื่อนสิรินธรในเขตพื้นที่บ้านหัวสะพาน ต.คำเขื่อนแก้ว แต่ชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งตัวผมด้วยไม่เคยทราบ ได้ยินเพียงข่าวลือเท่านั้นว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเขตตำบลของผม และเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมาทางอำเภอได้เรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและ อสม. เข้าประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ชาวบ้านทราบข่าวนี้กันมากขึ้นและวิตกกังวลใจกันอย่างหนัก แล้วตอนนี้เกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นระเบิดยิ่งทำให้ชาวบ้านวิตกกังวลหนักมากยิ่งขึ้น จนปัจจุบันนี้ไม่มีหน่วยงานใดมาให้ข้อมูลกับชาวบ้านเลย

            ผศ.ดร.ชมภูนุช โมราชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้เหมือนเล่นซ่อนหา แอบลงพื้นที่และทำกระทำการโดยที่ไม่มีการให้ข้อมูลกับคนในพื้นที่ ดังนั้นแนวทางหลักๆ ในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้มี 2 แนวทางคือ ด้านวิชาการต้องให้ข้อมูลข้อเท็จจริงให้รอบด้านกับประชาชน และอีกทางคือการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมเหมือนเช่นที่ทำในวันนี้ และตอนนี้มีการรวมตัวของนักวิชาการจากหลายสถาบันการศึกษาในนามกลุ่มอาสาสมัครนักวิชาการ ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับภาคประชาสังคมในจังหวัดอุบล

            น.ส.สดใส สร่างโศรก ผู้ประสานงาน เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกขนาด 1,000 เมกะวัตตน์ ถูกกำหนดพื้นที่ไว้ในเขตพื้นที่ อ.สิรินธร และน้ำในเขื่อนสิรินธรจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับระบายความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ผ่านมามีข่าวออกมาว่าประชาชนในจังหวัดอุบลไม่มีปัญหาด้านการคัดค้าน วันนี้จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนอุบลได้ออกมาบอกว่าคนอุบลไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่อื่นในประเทศไทยด้วย   ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนพีดีพี 2010 และโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย

        นางสาวรสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือรัฐบาลไม่ฟังใคร กรณีประเทศญี่ปุ่นน่าจะเป็นบทเรียนให้รัฐได้ทบทวนพีดีพี๒๐๑๐ และโครงการพลังงานนิวเคลียร์และหันมาสนับสนุนและพัฒนาพลังงานทางเลือกที่มีมากมายในประเทศไทย และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานทางเลือก สร้างแรงจูงในให้ชาวบ้านไม่ใช่ให้นายทุน ที่ผ่านมาเป็นการสนับสนุนนายทุน  รวมทั้งหันมาเน้นนโนบายประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง