โครงการขี่ช้างจับตั๊กแตน ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล

fas fa-pencil-alt
เพียรพร ดีเทศน์-โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
fas fa-calendar
6 กรกฎาคม 2551

โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เคยมีการวางแผนและศึกษาไว้นานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว แต่โครงการนี้กลับมาอีกครั้งเมื่อนายกรัฐมนตรีดำริจะผันน้ำจากลุ่มน้ำโขงและสาละวินเข้าสู่ประเทศไทย โดยเรียกแม่น้ำนานาชาติทั้งสองนี้ว่า "แม่น้ำสาธารณะ"

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินถูกผลักดันอย่างหนักโดยธนาคารโลก อย่างไรก็ตาม การคัดค้านของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนและผันน้ำแม่ละเมา (ในลุ่มน้ำสาละวิน) ประกอบกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งธนาคารโลกก็สนับสนุนเช่นกัน ได้ประท้วงธนาคารโลกอย่างรุนแรง มีผลให้ธนาคารโลกถอนตัวจากการสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งโครงการผันน้ำแม่ละเมาด้วย

โครงการนี้แปลงรูปแปลงร่างกลับมาอีกครั้งในชื่อ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนแก่เขื่อนภูมิพล เป็นโครงการของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยได้ว่าจ้างบริษัที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม การศึกษาดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2548 แต่ยังไม่ผ่านการเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

องค์ประกอบของโครงการ มีด้วยกัน 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1.เขื่อนน้ำยวมตอนล่าง ความสูง 69 เมตร กั้นแม่น้ำยวมบริเวณ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเมยและสาละวิน

2.สถานีสูบน้ำและถังพักน้ำ ที่บ้านสบเงา อ.สบเมย ใช้ไฟฟ้าในการสูบน้ำขึ้นไปยังถังพักน้ำ 380 เมกะวัตต์

3.อุโมงค์รูปเกือกม้า ขนาด 8-9 เมตร ความยาว 62 กิโลเมตร จากถังพักน้ำ ลอดใต้ภูเขาไปยังปลายอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

4.สายส่งไฟฟ้าจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านป่าเป็นระยะทาง 202 กิโลเมตร มายังสถานีสูบน้ำ

โครงการมูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท (คิดเมื่อ พ.ศ.2548) มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำแก่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยจะผันน้ำจากแม่น้ำยวมไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นปริมาณราว 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่หากพิจารณาอย่างรอบคอบ จะพบว่าต้นทุนและผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ต่างอะไรกับการขี่ช้างจับตั้กแตน

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ การทำลายพื้นที่ป่า ทั้งจากเขื่อน อ่างเก็บน้ำ พื้นที่ทิ้งเศษดินจากการเจาะอุโมงค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ป่าตลอดแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กว้าง 80-100 เมตร เป็นความยาวกว่า 200 กิโลเมตร ผ่าป่าลุ่มน้ำเมย ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง และบางพื้นที่จัดอยู่ในประเภทป่าต้นน้ำชั้น 1A และ 1B

ข้อมูลโครงการชี้ให้เห็นว่า ผืนป่าจะถูกทำลายถึงกว่า 11,459 ไร่ คิดเป็นคาร์บอนถึง 300,000 ตัน เลยทีเดียว และยังไม่นับมูลค่าคาร์บอนมหาศาลที่ป่าผืนนี้จะดูดซับในทุกๆ ปี

นอกจากนี้ การสร้างอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้ภูเขา เป็นระยะทางถึง 62 กิโลเมตร ต้องใช้งบประมาณถึง 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของงบประมาณโครงการ

การสร้างอุโมงค์ยักษ์ขนาดรถพ่วงวิ่งสวนกันได้ ใช้วิธีการขุดเจาะและระเบิด ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวอุโมงค์ ทั้งจากแรงสั่นสะเทือน เสียงจากการระเบิด และสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำ น้ำบาดาล ดิน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหมู่บ้านในแนวอุโมงค์อย่างน้อย 14 หมู่บ้าน

บทเรียนที่ผ่านมาคือ โรงไฟฟ้าลำตะคองแบบสูบกลับ ซึ่งสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ไว้บนเขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา และสูบน้ำจากอ่างลำตะคองขึ้นไปเก็บไว้ เพื่อปล่อยลงมาปั่นไฟฟ้า โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีการระเบิดเจาะอุโมงค์สูบน้ำ และโรงไฟฟ้าใต้ดิน โดยมีการระเบิดราว 3 ปี ส่งผลให้ชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน เจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก

บทเรียนเหล่านี้ควรนำมาประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุชัดเจนว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสุขภาพ (HIA) ควบคู่ไปกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

นอกจากนี้แล้ว การผันน้ำจากแม่น้ำยวมไปถึง 80 เปอร์เซ็้นต์ ย่อมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศ พรรณพืช สัตว์น้ำ พันธุ์ปลาอพยพ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

งานวิจัยปกากะญอสาละวิน พบว่าพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน ส่วนใหญ่เป็นปลาอพยพ ซึ่งว่ายขึ้นไปวางไข่ในลำน้ำสาขา อาทิ น้ำยวม น้ำเมย น้ำปาย และห้วยเล็กห้วยน้อย การกั้นเขื่อนบนแม่น้ำยวม ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อพันธุ์ปลาอพยพ ซึ่งบางชนิดเป็นปลาเฉพาะถิ่นคือในลุ่มน้ำสาละวินเท่านั้น

ที่สำคัญหัวงานเขื่อนน้ำยวม ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์ผู้ลี้ภัยเพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตร คือศูนย์แม่ลามาหลวง และศูนย์แม่ลาอู มีผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า อาศัยอยู่รวม 30,074 คน ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว

สำหรับประเด็นพลังงาน โครงการนี้ต้องใช้ไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำจากอ่างขึ้นไปยังถังพักน้ำ ก่อนปล่อยลงสู่อุโมงค์ โดยมีเครื่องสูบน้ำ 4 ตัว มีกำลังรวม 380 เมกะวัตต์ หรือมากกว่ากำลังผลิตติดตั้งของเขื่อนปากมูลถึง 3 เขื่อน

การสูบน้ำใช้ไฟฟ้าสูงถึง 1,241 ล้านหน่วยต่อปี ในขณะที่แม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัดใช้ไฟฟ้าเพียง 65 ล้านหน่วย ทำให้เกิดคำถามว่า ไฟฟ้ามหาศาลที่จะเสียไปนั้นคุ้มหรือไม่ในยุคขาดแคลนพลังงาน

เหล่านี้คือต้นทุนเพียงบางประการของโครงการผันน้ำที่เจ้าของโครงการอาจมองไม่เห็น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ และเปิดเผยแก่สาธารณะ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วม มิเช่นนั้นแล้ว นี่อาจเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างความเสียหายมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้มา

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง