โครงการผันน้ำสาละวิน

fas fa-pencil-alt
หนังสือเขื่อนสาละวินโศกนาฏกรรม สองแผ่นดิน
fas fa-calendar
2542

แนวคิดการผันน้ำโขงและสาละวินลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ แบ่งออกเป็นโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำโขง ๗ โครงการ และลุ่มสาละวิน ๗ โครงการ

ใน พ.ศ.๒๕๒๕ โครงการผันน้ำโขงถูกยุบรวมเป็นโครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่านและมีเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเขื่อนหลัก ซึ่งไม่กี่ปีมานี้ ไจก้า ได้สนับสนุนกรมชลประทานในการศึกษาโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน ภายใต้การดำเนินการของบริษัทซันยู (Sanyu) จากญี่ปุ่น

ส่วนโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปี ๒๕๓๕ เมื่อรัฐบาลไทยต้องการแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำในลุ่มเจ้าพระยา โครงการผันน้ำนี้ประกอบด้วยการสร้างเขื่อน คลองและอุโมงค์ส่งน้ำครอบคลุมสาขาหลักของแม่น้ำสาละวินทั้งหมดที่ไหลจากฝั่งไทย ได้แก่น้ำปาย น้ำยวม และสาขาของน้ำเมย เช่น แม่ละเมา โครงการทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย

โครงการผันน้ำสาละวิน ล้วนแต่มีเบื้องหลังจากการผลักดันของบริษัทกิจการน้ำระดับโลกและองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น นิวเจ็ค จากญี่ปุ่นได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการเขื่อนและผันน้ำแม่ละเมา และการศึกษาความเหมาะสมโครงการเขื่อนและผันน้ำแม่จะเรา ขณะที่บริษัทสโนวี่ เมาน์เท่น เอ็นจิเนียริ่ง จากออสเตรเลียได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นโครงการผันน้ำปาย ทั้งสามโครงการนี้ล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนการศึกษาจากธนาคารโลก

อย่างไรก็ตาม การคัดค้านของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนและผันน้ำแม่ละเมา ในช่วงปี ๒๕๓๘ ประกอบกับในประเทศไทย ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งธนาคารโลกก็สนับสนุนเช่นกัน ได้ประท้วงธนาคารโลกอย่างรุนแรง มีผลให้ธนาคารโลกถอนตัวจากการสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งโครงการผันน้ำแม่ละเมาด้วย

กระนั้นก็ตาม โครงการผันน้ำอื่นๆ ก็ยังคงถูกผลักดันต่อไป ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ รัฐบาลไทยมีมติและอนุมัติงบประมาณ ๑๘๖ ล้านบาทให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานศึกษาวางแผนคัดเลือกโครงการ การศึกษาความเหมาะสมขั้นรายละเอียดและการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียดพร้อมงาน ประชาสัมพันธ์โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินลงเขื่อนภูมิพล ๓ โครงการ โครงการผันน้ำนี้ได้ผนวกโครงการเขื่อนแม่ลามาหลวงและน้ำเงาซึ่งได้ศึกษาโดยอีพีดีซี ภายใต้การสนับสนุนของไจก้า เข้าไปด้วย

การอนุมัติงบครั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการประเคนงบประมาณให้กับบริษัทที่ปรึกษาที่ผูกขาดการจัดทำรายงานในประเทศไทย แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังการอนุมัติงบประมาณแล้ว ในพื้นที่ก็ขวักไขว่ไปด้วยรถสำรวจของไจก้า ขณะที่เจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษาต่างก็เร่งโฆษณาโครงการโดยอ้างว่าเป็นการประชาพิจารณ์

ปัจจุบัน ยังไม่มีการเปิดเผยรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ แต่เอกสารแนะนำโครงการและเอกสารประกอบการประชุมผู้นำท้องถิ่นที่เสนอโดยบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ บริษัท เซาท์อีสต์เอเชียเทคโนโลยี และบริษัท โพเทนเชียล เอ็นจิเนียริ่งฯ สรุปได้ว่า มีแนวส่งน้ำ ๓ แนวที่มีการศึกษาคือ

๑) การผันน้ำสาละวิน จะมีการผันน้ำจากแม่น้ำสาละวิน บริเวณใกล้บ้านแม่สามแลบ มาลงโครงการเขื่อนน้ำยวมตอนบนซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำยวมแถบบ้านแม่คะตวนก่อนที่จะผันลงเขื่อนภูมิพล อีกแนวคือ ผันน้ำจากแม่น้ำเงาสาขาของน้ำยวมซึ่งจะมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเงา

๒) การผันน้ำเมย จะมีการผันน้ำจากแม่น้ำเมย ลงเขื่อนภูมิพล โดยมีการสร้างเขื่อนและฝายน้ำแม่สองรวมอยู่ด้วย อีกแนวหนึ่งคือผันน้ำจากน้ำเมยผ่านไปยังแม่ตื่นสาขาที่ไหลลงเขื่อนภูมิพล โดยมีการสร้างเขื่อนห้วยขะแนงระหว่างทาง

๓) แนวส่งน้ำปายจะมีการสร้างเขื่อนน้ำปายตอนล่างกั้นแม่น้ำปายก่อนที่จะผันน้ำลงสู่แม่แจ่มและเขื่อนภูมิพล ขณะเดียวกันเมื่อ กฟผ.ผลักดันโครงการเขื่อนสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า

นอกจากนั้นในปลายปี ๒๕๔๕ เอกสารของ กฟผ. ก็ระบุว่า ประโยชน์หนึ่งของโครงการเขื่อนบนชายแดนไทย-พม่านี้คือ การผันน้ำลงไปสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดที่ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลก็คือ เสนอให้ทำการผันน้ำจากน้ำปายสาขาของแม่น้ำสาละวินในเขตแม่ฮ่องสอนมาลงเขื่อนภูมิพล เนื่องจากน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสาละวินจะท่วมเอ่อเข้าถึงเขตแม่ฮ่องสอน กฟผ.จึงจะทำการสร้างคันดินกั้นน้ำปายก่อนไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสาละวิน และจากนั้นจึงผันน้ำจากน้ำปายลงเขื่อนภูมิพล


ผลกระทบจากการผันน้ำสาละวิน

โครงการผันน้ำทั้งหมดนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณที่ต้องใช้ และยังไม่มีการเปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ประสบการณ์ของการดำเนินโครงการผันน้ำที่ผ่านมาทั้งในระดับสากลและในประเทศไทยเองพบว่า ไม่มีโครงการผันน้ำใดที่ไม่สร้างหายนะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในสายน้ำที่ถูกผันน้ำไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการผันน้ำจากทะเลอารัลในยุคสหภาพโซเวียตเป็นใหญ่ที่สร้างหายนะแก่เอเชียกลางจนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวกันว่า เป็นหายนะแห่งศตวรรษยิ่งกว่าการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนับสิบเท่า ทุกวันนี้ทะเลอารัลลดขนาดลงเรื่อยๆ จนแทบจะเหลือก็แต่บนแผนที่ ชาวประมงต้องยุติการหาปลา และเรือหาปลาก็จมอยู่กับหาดทรายที่ทะเลอยู่ห่างออกไปหลายสิบไมล์ ลมที่พัดมานั้น ก็มิใช่ลมธรรมแต่เป็นลมเกลือที่สร้างหายนะอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของคนในท้องถิ่น

บทเรียนของประเทศไทยก็คือโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูลที่ลงทุนไปแล้วนับแสนล้านบาท แต่ยังไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้แม้แต่หยดเดียว เนื่องจากโครงการนี้ทำให้เกิดการกระจายของดินเค็มไปทั่วภาคอีสาน

โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยว่าคนในลุ่มน้ำที่ถูกผันเป็นคนชายขอบ เป็นชนพื้นถิ่นที่ไร้ซึ่งอำนาจ และสิทธิของพวกเขาไม่ได้รับการเคารพ

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง