โครงการผันน้ำสาละวิน:

fas fa-pencil-alt
คณะรัฐมนตรี
fas fa-calendar
2 กุมภาพันธ์ 2542

เอกสารต้นเรื่องเพื่อขออนุมัติงบประมาณจาก คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒

ความเป็นมา

        ด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำติดต่อกันมาหลายปี ถึงแม้ว่าจะมีเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพลบนแม่น้ำปิง และเขื่อนสิริกิติ์บนแม่น้ำน่าน เก็บกักน้ำไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้กับประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่แล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั้งสองดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงทุกปี ด้วยสาเหตุการเพิ่มของประชากรและการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ ปริมาณน้ำท่าที่ลดลงทำให้น้ำในเขื่อนทั้งสองไม่เต็มอ่าง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ใช้น้ำ ทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่างและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาศัยแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำหลักเพื่อการอุปโภคปริโภค การประปา การเกษตร อุตสาหกรรม การเดินเรือ และการผลักดันน้ำเค็ม

        ในปัจจุบันการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน ไว้ใช้ในฤดูแล้งที่ขาดแคลนประสบปัญหาหลายด้านทำให้ไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้นได้  เช่นปัญหาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการหาแนวทางผันน้ำจากลุ่มน้ำนานาชาติ ซึ่งมีปริมาณน้ำบางส่วนเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะแม่น้ำเมย แม่น้ำสาละวินและสาขา ซึ่งมีปริมาณน้ำมหาศาล จึงสมควรที่จะดำเนินการศึกษาเพื่อหาลู่ทางในการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะยาวบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นการเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในการผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่นมาเสริมความต้องการน้ำ อันเป็นการแก้ไขการขาดแคลนน้ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นการถาวรต่อไป และได้ทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในการผันน้ำจากน้ำเมย-­สาละวิน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2538

ผลการดำเนินการ

        จากการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการผันน้ำเมย-สาละวิน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังกล่าวหลายๆ แนวทาง ผลการศึกษาปรากฏว่ามีแนวผันน้ำที่มีความเหมาะสมทั้งทางด้านวิศว กรรมและด้านเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุด และสมควรพิจารณานำมาศึกษาในขั้นรายละเอียด เพื่อเลือกแนวทางและองค์ประกอบที่ดีที่สุด เพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียดจำแนกได้ 3 แนวทาง ดังนี้

        1.ผันน้ำจากแม่น้ำเมย โดยการสูบน้ำจากแม่น้ำเมยผ่านเขื่อนขะแนง เข้าสู่อุโมงค์ส่งน้ำความยาวประมาณ 16 กิโลเมตร ลงสู่แม่น้ำตื่นและไหลลงสู่อ่างเก็บกักน้ำเขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก จะสามารถผันน้ำได้ประมาณปีละ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 8,000 ล้านบาท        

        2.ผันน้ำจากแม่น้ำเมยและลำน้ำแม่สอง โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำลามาหลวงและแม่น้ำยวมเพื่อเป็นอ่างควบคุมการผันน้ำ แล้วส่งน้ำผ่านอุโมงค์ความยาวประมาณ 53 กิโลเมตร มาลงลำน้ำแม่ตื่น ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก จะผันน้ำได้ประมาณปีละ 2,390 ล้านลูกบาศก์เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 16,725 ล้านบาท

        3. ผันน้ำจากแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำยวมโดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำลามาหลวงและแม่น้ำยวม ก่อนจุดบรรจบกับแม่น้ำเมย เพื่อเป็นอ่างควบคุมการผันน้ำ ซึ่งจะทำการสูบน้ำจากแม่น้ำสาละวินผ่านเขื่อนลามาหลวงและเขื่อนน้ำยวม และอุโมงค์ผันน้ำความยาวประมาณ 82 กิโลเมตร จะผันน้ำได้ปีละประมาณ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 23,200 ล้านบาท

อนึ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2541 เพื่อการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียดของโครงการดังกล่าวนี้ ซึ่งได้รับอนุมัติจัดสรรงบประมาณในชั้นแรก แต่ต่อมาด้วยเหตุภาวะวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ จึงถูกปรับลดงบประมาณส่วนนี้ลงหมด และสำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2542 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อการศึกษาวางแผน คัดเลือกองค์ประกอบที่เหมาะสมของโครงการผันน้ำเมย-สาละวิน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา(Conceptual Planning Study) อีกครั้งหนึ่ง แต่มิได้รับการจัดสรรงบประมาณ

การดำเนินงานต่อมา

        กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ทบทวนและจัดทำประมาณการค่าใช้จ่าย เพื่อการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด พร้อมด้วยการประชาสัมพันธ์ และประชาพิจารณ์ของโครงการใหม่อีกครั้ง คิดเป็นวงเงินค่าใช้จ่ายรวม 186.56 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 36 เดือน สรุปได้ดังนี้

          1. งานขั้นศึกษาวางแผน  คัดเลือกองค์ประกอบโครงการ              33.22               ล้านบาท

          2. งานศึกษาความเหมาะสมขั้นละเอียด+ GIS                     103.84            ล้านบาท

          3. งานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขั้นรายละเอียด              49.50             ล้านบาท

             พร้อมงานประชาสัมพันธ์และประชาพิจารณ์

                             รวมทั้งสิ้น         186.56           ล้านบาท

          ดังมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างการศึกษาความเหมาะสมตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ความจำเป็นในการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

          กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการผันน้ำเมย-สาละวิน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังกล่าว เป็นโครงการที่มีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการ ขาดแคลนน้ำของประชาชน ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในระยะยาว เป็นการถาวรอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

          1.ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ดำเนินการว่าจ้างศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์ และประชาพิจารณ์โครงการผันน้ำเมย-สาละวิน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในวงเงิน 186.56 ล้านบาท ในระยะเวลา 36 เดือน(เริ่มตั้งแต่ปี 2542-2544)

          2. จัดตั้งคณะกรรมการการประสานงานโครงการผันน้ำเมย-สาละวิน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ประสานงาน และกำกับดูแลในการดำเนินงานสำรวจ ศึกษา พัฒนา และพิจารณากำหนดแนวทางการให้ประโยชน์จากโครงการผันน้ำเมย-­สาละวิน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การวิเคราะห์ผลกระทบ

          1. ผลกระทบต่อนโยบายรัฐบาล มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลข้อ 2.2.1 การปรับโครงสร้างด้านการเกษตร โดยการสนับสนุนการเพิ่มผลผลิต พร้อมกับการเร่งพัฒนาระบบชลประทาน ข้อ 2.4.3 ด้านพลังงานโดยการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากการปล่อยน้ำที่ผันเข้ามา ผ่านเครื่องกังหันน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล เพื่อการใช้ประโยชน์ทางด้านท้ายน้ำต่อไป

          2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม การดำเนินงานโครงการดังกล่าว จะช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคปริโภค และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งก่อให้เกิดการกินดีอยู่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของโครงการ ซึ่งครอบคลุมถึง 20 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

          3. ผลกระทบต่อการเงินและงบประมาณ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการผันน้ำเมย-สาละวิน ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประมาณค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 186.56 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 36 เดือน ซึ่งขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายจากสำนักงบประมาณประจำปี

          4. ผลกระทบทางสังคมและการเมืองการดำเนินงานของโครงการจะก่อให้เกิดการจ้างงานของประชาชนในพื้น ที่มากขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น และจะทำให้ประชาชนและภาคเอกชนได้เห็นผลของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำที่ภาครัฐได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับผลกระทบด้านลบต่อประชากรและการปกครองมีน้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ดำเนินงานของโครงการอยู่ห่างจากชุมชน

          5. ผลกระทบด้านเทคโนโลยี โครงการผันน้ำดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยการก่อสร้างทางวิศวกรรมขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน อุโมงค์ผันน้ำ เครื่องสูบน้ำ ดังนั้น การดำเนินโครงการนี้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีการก่อสร้าง เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการ

          6. ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานของโครงการจะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านบวกและทางด้านลบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ดังนี้

          ผลกระทบทางด้านบวก ได้แก่ การเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคปริโภค เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก การคมนาคมสะดวกขึ้น เพิ่มการจ้างงาน ทำรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

          ผลกระทบทางด้านลบ ได้แก่ การเกิดน้ำท่วมพื้นที่บางส่วนที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนเก็บกักน้ำและเสียพื้นที่เพื่อการทำคลองผันน้ำ และแนวสายส่งไฟฟ้า

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง