เมนูที่ 1 “มอกปู” อาหารของคนไทลื้อ
โครงการ “แม่ญิง(ผู้หญิง)ลุ่มน้ำโขงกับความมั่นคงทางอาหาร”
แม่น้ำโขงนับว่าเป็นแม่น้ำที่ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ล้วนอิงอาศัยและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำนี้เป็นสายธารดำรงวิถีชีวิต เพื่อสืบเชื้อสายความเป็นเผ่าพันธุ์ของตน หากจะรักษาความเป็นชาติพันธุ์ผ่านประเพณี วัฒนธรรมและความเชื่อแล้ว เมนูอาหารและวิธีการปรุงอาหารคือกิจกรรมหนึ่งที่สามารถบอกความเป็นเอกลักษณ์ พร้อมรักษาความเป็นเผ่าพันธุ์ของคนกลุ่มนั้นๆ ในการปรุงหรือการถนอมอาหารส่วนใหญ่ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมักพบว่าแม่ญิง(ผู้หญิง) แม่บ้าน ภรรยาเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ เมื่อเกิดความหิวอาหารในแต่ละมื้อจะนึกถึงแม่ญิง ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอาหาร ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำโขงมักสรรหาเครื่องปรุงและวัตถุดิบจากแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นปลา พืชผัก สมุนไพรริมแม่น้ำมาประกอบขึ้นเป็นอาหารสำหรับคนในครอบครัว
การศึกษาวิธีการขั้นตอนปรุงและถนอมอาหารโดยกลุ่มแม่ญิงในลุ่มน้ำโขงจึงเกิดขึ้น ได้รวบรวมสูตรเมนูอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ชาติพันธุ์ลาว และชาติพันธุ์ยวน(คนพื้นเมือง)ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเผยแพร่ความรู้และภูมิปัญญาเรื่อง “แม่ญิงลุ่มน้ำโขงกับความมั่นคงทางอาหาร” ถ่ายทอดไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่น รวมถึงรุ่นลูกรุ่นหลานที่ยังหวนหาอยากสัมผัสรสชาติอาหารดั้งเดิมด้วยฝีมือของตนเอง วันนี้จึงขอนำเสนอเมนูที่มีชื่อว่า “มอกปู” อาหารของคนไทลื้อ เป็นจานแรก
เครื่องปรุง สำหรับ ๕ ที่ (ได้ห่อหมก ๕ ห่อ)
1. ปูนา ๑๐ ตัว
2. หัวปลีอ่อนหั่นละเอียด ๑ หัว (แช่น้ำไว้ไม่ให้ช้ำ)
3. หยวกกล้วยหั่นคั้นด้วยมือ ๑ ถ้วย (แช่น้ำไว้ไม่ให้ช้ำ)
4. พริกสด(พริกขี้หนู) ๑๐ เม็ด (ตามชอบ)
5. กระเทียม ๘ กลีบ
6. ตะไคร้ ๒ ต้น
7. ข้าวเบือ (ข้าวสารแช่น้ำ ตำละเอียด) ๑ ช้อนโต๊ะ
8. เกลือป่น ๑ ช้อนชา
9. ใบกอมก้อหั่นหยาบ (ใบแมงลัก) ๑ กำมือ
อุปกรณ์ที่ใช้คือ ใบตองกล้วย และไม้จิ้มฟัน
วิธีทำ
1. ล้างปูนาในน้ำให้สะอาด แกะส่วนหน้าอกออก ตำให้ละเอียดกรองเอาแต่น้ำ นำน้ำที่ได้หมักรวมกับกระดองปู ก้ามปู ทิ้งไว้ ๑๐-๑๒ ชั่วโมง เพื่อต้องการให้ปูมีกลิ่นหอม
2. โขลกพริกสด กระเทียม ตะไคร้ ข้าวเบือ ให้ละเอียด
3. นำปูที่หมัก(จากข้อ๑)และ เครื่องปรุง(จากข้อ๒) เนื้อหัวปลี เนื้อหยวกกล้วยและใบกอมก้อ มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน (เตรียมหม้อนึ่งตั้งเตาไฟไว้ด้วย)
4. นำใบตองที่เตรียมไว้มาซ้อนกันสองชั้น ตักส่วนผสม(จากข้อ๓) ห่อและกลัดด้วยไม้จิ้มฟัน นำไปนึ่ง
5. พอสุกแกะห่อใบตองออก โรยหน้าด้วยใบกอมก้อสด เพื่อความหอมน่ากิน