ขู่ส่งตีความ “เขื่อนบ้านกุ่ม”
ซ้ำรอยปราสาทพระวิหาร
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จะนำเรื่องการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เข้าสู่ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเชื่อว่าโครงการนี้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แน่นอน ดังนั้น จึงต้องการการสนับสนุนจากพรรค เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า บันทึกว่าด้วยความเข้าใจการลงนามความร่วมมือด้านไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว ที่นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ในขณะนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและลงนาม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2551 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา กรณีสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ไทยไปเซ็นสัญญากับลาวในเรื่องใหญ่เช่นนี้ได้อย่างไร ที่ผ่านมาตนได้โทรศัพท์สอบถามรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น
นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ไม่มีการทำสำรวจด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงถือว่าผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม และยังขัดรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม อีกทั้งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากไทยยังเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งประกอบด้วย ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว การจะดำเนินการอะไรบนแม่น้ำโขง จะต้องขอมติจากคณะกรรมาธิการดังกล่าวก่อน แต่ปรากฏว่าไม่มีการรายงานเรื่องนี้ต่อคณะกรรมาธิการ
ด้าน นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลส่อแววงุบงิบ ไม่ชอบมาพากล ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยหลังรัฐบาลแถลงนโยบายเพียง 10 กว่าวัน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตกลงเรื่องการพัฒนาแม่น้ำโขงร่วมกับลาว จากนั้น วันที่ 10 มี.ค.51 นายนพดล ก็นำบันทึกว่าด้วยความเข้าใจในการลงนามความร่วมมือด้านไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว เข้าขอความเห็นชอบ และลงนามจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการเสนอชื่อบริษัทเอกชน 2 แห่ง คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเชียคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด ให้เข้าไปศึกษาและสำรวจพื้นที่ แต่ถูกที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกต และเปลี่ยนให้เป็นคำว่า ภาคเอกชน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะเวลาไม่กี่วัน แต่กลับไประบุชื่อบริษัทได้ ไม่เข้าใจว่าภาคเอกชนมีบทบาทเหนือการทำงานของรัฐบาลได้อย่างไร