ขึ้นเขาไปดมฝุ่น โรงไฟฟ้าลำตะคองแบบสูบกลับ
“ชุ่ย” แล้วไม่รับผิดชอบ
ขึ้นเขาไปดมฝุ่น โรงไฟฟ้าลำตะคองแบบสูบกลับ
“ชุ่ย” แล้วไม่รับผิดชอบ
ศรีนิตย์ ศรีอาภรณ์ เรื่อง /ภาพ (ข่าวสด วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม 2544)
สืบเนื่องจากมติ ครม.ที่ 50/2544 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน มีนายปองพล อดิเรกสาร รองนายกฯ เป็นประธาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีรูปธรรม ลดการเผชิญหน้า
หนึ่งในกรณีปัญหาของสมัชชาคนจนที่ต้องไดรับการแก้ไขตามมติ ครม. ครั้งนี้ก็คือ ผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
จากมติ ครม. วันนั้นมาถึงวันนี้การแก้ปัญหาอยู่ในขั้นตอนจัดประชุมรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากชาวบ้านเขายายเที่ยงเหนือและใต้ ของคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ที่ศาลาอเนกประสงค์กลางหมู่บ้านเขายายเที่ยงเหนือ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นการจัดประชุมครั้งที่ 2 ของคณะทำงานชุดนี้ ในขั้นการเก็บรายละเอียด
ภายใต้เสียงสะท้อนยืนยันจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ทั้งหมู่ 6 และหมู่ 10 หลายปากเปิดใจเล่าถึงภาวะไม่เป็นปกติซึ่งเกิดขึ้นกับหมู่บ้านทั้ง 2 แห่งที่ครั้งหนึ่งเคยสงบสุข กระทั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก้าวเข้ามา พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประมวลได้ว่า
“ฝุ่นละอองจากการระเบิดเขา ทำให้เกิดฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณหมู่บ้านด้านล่างของอ่าง ทั้งหมู่ 6 และหมู่ 10 รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งฝุ่นละอองที่ปลิวลงมาตกยังบ้านเรือน โอ่งน้ำ แหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังมีอาการคัน เป็นตุ่ม ความดันต่ำ เวียนศรีษะ หน้ามืด เป็นผื่น เป็นจ้ำเลือด อาเจียน บางรายอาเจียนเป็นเลือด บางรายอาเจียนเป็นลม แน่นหน้าอก ตาพร่ามัว ปอดอักเสบ อีกทั้งมีอาการอื่น ๆ อีก มีโรคที่เกิดจากการระเบิดหิน เกิดเสียงดังเกินปกติและฝุ่นละออง สารเคมีที่มากับระเบิด ผื่นคัน ชาตามเท้า”
“ยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไม้ผล เช่น ขนุน มะม่วง ลำไย น้อยหน่า ลิ้นจี่ มะยม ไม่ติดผล ส่วนไม้ดอกก็ไม่ออกดอก ที่สุดก็ยืนต้นตายไปบางส่วน รวมทั้งสัตว์เลี้ยง อาทิ วัว หมู เป็ด โดยวัวนมถึงกับอั้นนม เต้านมเป็นแม็กเฉียบพลันอักเสบ ไม่สามารถรีดนมได้ วัวเนื้อผอมโซ เนื่องจากหญ้าที่เป็นอาหารถูกฝุ่นปกคลุม บ้านและวัดมีร่องรอยการแตกร้าวจากการสั่นสะเทือนของแรงระเบิด พบร่องรอยการแยกและทรุดตัวของแผ่นดินในพื้นที่ ตาน้ำซับอุดตัน อ่างเก็บน้ำใช้ของหมู่บ้านขุ่นไม่สามารถใช้ได้”
“ที่สำคัญการสูญเสียแหล่งที่ทำมาหากินของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ยังไม่ได้รับการชดเชยและหลักประกันที่สร้างความมั่นใจให้ราษฎร รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพสร้างกลุ่มพัฒนาตัวเองก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามที่ กฟผ. เคยรับปากสัญญาไว้ ทำให้ราษฎรมีปัญหาเรื่องหนี้สิน”
นางยวน สงนอก อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ 6 ต.คลองไผ่ บอกว่า วิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้ง 2 หมู่ มีความเรียบง่าย ประกอบอาชีพทำไร่บ้าง รับจ้างบ้าง อยู่กันแบบพี่น้อง ใครไม่มีที่ก็แบ่งให้ทำกิน หรือบางคนก็จะช่วยลงแรง
หมู่ 6 มีสภาพพื้นที่เป็นเนิน มีน้ำซับไหลผ่าน ขณะหมู่ 10 เป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ในการทำเกษตร ชาวบ้านไม่แตกแยกกันอย่างทุกวันนี้ ก่อนที่ กฟผ. เข้ามาแบ่งเป็นกลุ่ม ชาวบ้านเริ่มพูดจาดูถูกกันระหว่างกลุ่ม กระทั่งมีการระเบิดทำอ่างบนเขา เกิดควันมีกลิ่นเหม็นปกคลุมไปทั่วละแวกหมู่บ้าน ได้กลิ่นแล้วอยากอาเจียน ลูกสาวซึ่งขาพิการมีอาการช็อกใมวันที่ระเบิดนั้น ส่วนสามีที่รับจ้าง กฟผ.เจาะอุโมงค์ก็ป่วย มีเลือดออกมาจากปาก และจมูก แน่นหน้าอกจนต้องลางาน และพักรักษาตัว ไปตรวจหมอก็ไม่ระบุว่าเป็นเพราะเหตุใด
นายผัด ครัวกลาง อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 1/31 หมู่ 10 ต.คลองไผ่ ระบุว่า เดิมที่นี่อากาศปลอดโปร่ง ใครที่ขึ้นมาก็บอกว่าอากาศดี กระทั่งเริ่มมีการระเบิดเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ คนเริ่มเจ็บป่วยกันบ่อย พืชผลที่ปลูก ทั้งข้าวโพดข้าวฟ่างไม่ได้ผลผลิต เม็ดเล็กไม่เต็ม มีแต่แกน
เคยเลี้ยงหมูพันธุ์ ใช้น้ำจากคลองของหมู่บ้านล้างตัวหมู พอมีระเบิด น้ำในคลองใช้ไม่ได้ เอามาล้างหมู ก็จะเป็นตุ่มคัน ถูคอกทั้งคืนไม่ยอมหลับนอน ตอนหลังแท้งลูก แล้วก็ตายหมด ตอนนี้หมดตัวจากการลงทุน ช่วงที่ระเบิดรู้สึกผิดปกติ บางครั้งหายใจไม่ออก นอนไปเดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวร้อนวูบ ได้ยินเสียงระเบิดก็ตื่นผวา เด็กน้อยนอนอยู่ในอู่พอได้ยินเสียระเบิดก็ร้องตกใจ
“ตอนที่ระเบิดทำอ่างด้านบน ผมทำงานไม่ไกลจากจุดระเบิด มีเสียงตูมแล้วผมเห็นควันเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา แล้วควันทั้งสีเขียวและเหลืองก็กระจายออกไป ตอนพักเที่ยงผมต้องเอาผ้าคลุมกับข้าวไว้ จากนั้นมาอาการผิดปกติก็เกิดกับผม เริ่มเจ็บป่วย ไปตรวจหมอก็ไม่ระบุว่าเป็นอะไร เพียงแต่บอกว่าแพ้อากาศ ทั้งที่ผมเคยแข็งแรง ที่ทราบคือคนในหมู่บ้านบางคนเวลาดินไปไนมาไหนแข้งขาอ่อนจนล้มลง บางคนก็มีอาการตกใจเวลาถูกถาม เด็กนักเรียนที่โรงเรียนเมื่อครูตีระฆัง แทนที่จะเข้าแถว วิ่งกลับบ้านไปเลยก็มี”
นางเมธวดี ดีขาย อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ 10 ต.คลองไผ่ กล่าวว่าตอนที่ระเบิดครั้งแรกเห็นควันสีแดง สีส้ม สีเขียวลอยฟุ้งขึ้นมา ตอนนั้นยังพาลูกชายคนโตยืนดูอยู่เลย เพราะบ้านอยู่ไม่ไกลจากจุดสร้างอ่าง ตอนนั้นไม่มีใครมาบอกว่าให้หลบออกไป สักครู่ฝุ่นลอยมาคลุมหลังคา โอ่งน้ำดื่มน้ำกินแดงจากฝุ่น
ช่วงนั้นตั้งท้อง ด.ญ.มีนตรา มักจะมีอาการปวดหัวบ่อย ทั้งที่ตอนท้องลูกชายคนแรกก็ไม่เป็นไร ปกติเป็นคนแข็งแรงดี พอคลอด ด.ญ.มีนตาออกมาน้ำหนักก็เป็นปกติดีคือ 3 กิโลครึ่ง แต่เด็กตัวเหลือง ต้องเข้าตู้อบ หมอมาสอบถามว่าตนหรือสามีใครทำงานเกี่ยวกับสารเคมีหรือเปล่า ทำให้รู้สึกแปลกใจมาก เพราะตนและสามีไม่มีใครทำงานเกี่ยวกับสารเคมีเลย
ลูกสาวต้อ งถ่ายเลือดเสียค่าใช้จ่ายไปมาก ตอนนี้ผลข้างเคียงที่เด็กยังคงเป็นอยู่คือ เป็นแผลง่ายและมักจะมีน้ำเหลืองออกมา ส่วนบุตรชาย ตอนนี้ก็มีอาการป่วยเป็นโรคหอบ เหนื่อยง่าย”
เสียงบางส่วนเหล่านี้เป็นความอัดอั้นตันใจของชาวบ้านที่รอคอยความหวังว่าจะได้รับการเยียวยา และดูแลจากเจ้าของโครงการ ที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนทุกข์เข็ญให้กับชุมชนและท้องถิ่น
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมของคณะทำงาน ที่เขื่อนลำตะคอง ในวันนั้น กับท่าทีของ กฟผ. ที่ให้ข้อมูลกับคณะทำงานว่า
“สิ่งที่ผู้สื่อข่าวกับคณะกรรมการได้ไปเห็นมาในวันนี้และเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนครั้งที่จัดประชุมครั้งแรกนั้น เป็นการแสดงละครแหกตา สังเกตจะเห็นว่าราษฎรที่มาให้ข้อมูลเป็นกลุ่มเดียวมาแสดงละครทั้ง 2 ครั้ง”
เมื่อ กฟผ.รัฐวิสาหกิจอื้อฉาวของประเทศ เล่นงานชาวบ้านตาดำ ๆ อย่างไม่กลัวบาปกรรมซึ่ง ๆ หน้าแบบนี้ นายปรีชา อุยตระกูล ผอ.ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงาน จึงรีบสั่งให้ยุติการกล่าวหาในทันที
นี่แหละ กฟผ. ของแท้ !?!