ป่าหี่น้ำ 3.5 แสนล้าน เวทีแรกพลิกล็อก ชาวบ้านโฮ่ง ลำพูน แห่ค้านเขื่อนห้วยตั้ง
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือแฉซ้ำ กบอ. ต้องฟังเสียงชาวบ้าน ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
เสียง 80-90 เปอร์เซ็นต์ คัดค้านโครงการเขื่อนห้วยตั้งในเวที รัฐบาล, กบอ. ต้องทบทวนตัวเอง

fas fa-pencil-alt
ไทยพีบีเอส
fas fa-calendar
13 ตุลาคม 2556

บ้านแม่ขนินท์ใต้ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ /////

               เมื่อวันที่ 15-16 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียบการสร้างเขื่อนการพัฒนาที่ผิดแนวทาง โดยมีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน อุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ยม เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนชมพู อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กว่า 70 คนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่ศาลาวัดแม่ขนิลท์ใต้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่

               ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนต่างๆ ในโมดูล A1 ของ กบอ. ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดลำพูน ที่โรงเรียนจักคำคณาทร อ.เมือง จ.ลำพูน ในวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าประชาชน 80-90 เปอร์เซ็นต์ แสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการเขื่อนห้วยตั้ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยเสนอให้ กบอ. พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้ทั่วทุกหมู่บ้าน เพราะการสร้างเขื่อนห้วยตั้งจะกระทบต่อชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานหลายหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่ยอมให้สร้างแน่ แต่หากเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทุกหมู่บ้าน ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งจาการรับฟังเวทีแรกนี้ทำให้ กบอ. ต้องคิดหนัก เพราะผลการรับฟังออกมาเช่นนี้ รัฐบาลและ กบอ. จะดำเนินการต่อเช่นไร เพราะเสียงของคนในพื้นที่ออกมาคัดค้านโครงการของ กบอ. อีกทั้งเสนอให้สร้างอ่างขนาดเล็กทั่วทุกชุมชน ซึ่งแม่มีในแผนและ ไมมีใน TOR ของ กบอ.

               ด้านเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้จัดเวทีประชุมหารือกันต่อจากการสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของ กบอ. โดยได้ออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายภาคประชาชนเสนอข้อเสนอแนะต่อ กบอ. 3 เรื่อง คือ

               1.การให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอ พบว่าเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้เป็นเอกสารเดิมๆที่มีการแจกจ่ายในการจัดนิทรรศการ “น้ำเพื่อชีวิต” มาแล้วก่อนหน้านี้ ในเอกสารมีข้อมูลระบุเพียงสั้นๆ ถึงจุดสร้างเขื่อน ที่ตั้งโดยสังเขป ความจุอ่างเก็บน้ำ แต่กลับไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบ ตามระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ. 2548 ข้อ 7(7) คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ที่จะดำเนินโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ในเวทีมีเพียงคู่มือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่แจกช่วงลงทะเบียนในช่วงเช้าเท่านั้น ไม่ได้มีการจัดส่งเอกสารให้กลุ่มเป้าหมายล่วงหน้าก่อน 15 วัน จึงขาดโอกาสทำความเข้าใจในเอกสารก่อนร่วมเวที

               2.ผิดกลุ่มเป้าหมาย ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงที่เข้าร่วมเวทีในวันนี้มีจำนวนน้อย ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักที่เจ้าของเวทีจัดไว้ เมื่อมาลงทะเบียนผู้เข้าร่วมจึงถูกผลักไปอยู่ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในห้องประชุมหลัก ขาดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และกระบวนการรับฟังได้กำหนดเวลาให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงคนละ 3 นาที จึงไม่สามารถอธิบายเนื้อหาได้ครบถ้วน

               3.สถานที่จัดเวทีไม่เหมาะสม เวทีในวันนี้จัดที่หอประชุมโรงเรียนจักคำคณาทร ที่มีพื้นที่จำกัดไม่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ทั้งหมดในห้องเดียวกัน จึงทำให้ผู้เข้าร่วมขาดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ด้วยข้อสังเกตุดังที่กล่าวมา เครือข่ายภาคประชาชนฯ มีความเห็นว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550  มาตรา 57(2) ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็น

               จากการประชุมหารือของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนเห็นว่า กบอ. วางแผนการจัดการน้ำในห้องแอร์ ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านต้องการอะไร เป็นการรวมพวงโครงการของกรมชลประทานเก่าๆ ที่ดำเนินการไม่ได้มารวมพวงกัน เหมาเข่งขายโครงการให้ต่างชาติ ทั้งอิตาเลียนไทย และเกาหลี ซึ่งไม่สอดคลองกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้รับรู้ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการใช้อำนาจรวมศูนย์ไม่สอดคลองกับความต้องการในพื้นที่ก็จะถูกต่อต้านอย่างแน่นอน

               นายสมเกียรติ มีธรรม แกนนำการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (เขื่อนผาวิ่งจู้) อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า “เขื่อนแม่แจ่มจะทำลายป่าต้นน้ำ 1A ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำหล่อเลี้ยงแม่น้ำปิง อันจะทำให้เกิดภัยแล้งน้ำท่วมหนักขึ้นกว่าเดิม ป่าไม้เมืองไทยเหลือน้อยมากแล้วไม่ควรผลักดันโครงการใดๆ ที่ทำลายป่าอีกต่อไป เราควรรักษาป่าที่เหลืออยู่ให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นเราควรฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวในการรักษาสมดุลธรรมชาติ จะได้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งตามมา” นายสมเกียรติ กล่าว

               ด้านนายพิษณุ สร้อยเงิน แกนนำการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่น้ำยม เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แบ่งออกเป็น 2 เขื่อน โดยเว้นชุมชนสะเอียบไว้ไม่ให้น้ำท่วมนั้น กล่าวว่า “ชาวสะเอียบ ยืนยันที่จะคัดค้านโครงการเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เช่นเดียวกับเขื่อนแก่งเสือเต้น ถึงแม้ว่าเราไม่ต้องอพยพออกจากบ้านเรา แต่เขื่อนก็จะท่วมป่า ท่วมที่ทำกินของพวกเราชาวสะเอียบ เราคงไม่ยอมให้รัฐบาลหรือ กบอ. สร้างอย่างแน่นอน เพราะเรามีทางออก มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาทั้ง 12 แนวทาง ซึ่งได้เสนอต่อนายก เสนอต่อรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง แต่ กบอ. ตาบอด มองไม่เห็น ไม่เคยคิดที่จะแก้ไขปัญหาแบบอื่น จะสร้างแต่เขื่อนอย่างเดียว หรือว่า กบอ. อยากกินป่าสักทองที่พี่น้องสะเอียบอนุรักษ์ รักษา กันมากว่ายี่สิบปี” นายพิษณุ กล่าว

               การหารือกันของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนของ กบอ. ตามโมดูล A1 ได้มีมติในการตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ของรัฐบาลและ กบอ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนปัญหาจากพื้นที่ให้สาธารณะชนได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ จะได้มาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง