ความรับผิดชอบของจีนเกี่ยวกับแม่น้ำโขง
กรณีที่น้ำในแม่น้ำโขงไหลเอ่อท่วมเวียงจันทน์และบางจังหวัดในประเทศไทยนั้น มีเหตุผลอันน่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนของจีน 3 เขื่อนเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า แต่การสร้างเขื่อนดังกล่าวทำให้มีการกักน้ำและมีการปล่อยน้ำตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ผลที่เกิดขึ้นนั้นนำไปสู่ความผิดปกติ เช่น ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอดในบางตอน และในฤดูฝนน้ำก็ไหลเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ริมฝั่งโขงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือน้ำท่วมเวียงจันทน์และไหลเอ่อท่วมเชียงของในประเทศไทย
เป็นที่ทราบกันนานแล้วว่าได้มีการสร้างเขื่อนในประเทศจีนซึ่งมีอยู่เขื่อนหนึ่งสูงถึง 250 กว่าเมตร และมีข่าวว่าจะมีการสร้างอีก 5 เขื่อนรวมเป็น 8 เขื่อน นอกจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงจีนยังทำการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือ ยังมีการกล่าวว่ามีการถ่ายเทน้ำมันเครื่องลงแม่น้ำโขงด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาเรื่องน้ำแห้งและน้ำท่วม และยังมีเหตุผลอันน่าสงสัยว่าการลดจำนวนลงของปลาบึกนั้นอาจมีส่วนมาจากการรบกวนธรรมชาติ
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากล จุดเริ่มต้นมาจากทิเบตแต่ไหลผ่านประเทศจีน จีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำใช้ประโยชน์จากน้ำได้ แต่ข้อปฏิบัติระหว่างประเทศนั้นจะต้องมีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ที่สำคัญจะต้องไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศที่อยู่ทางปลายน้ำ ซึ่งประกอบด้วย ประเทศพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม กรณีเรื่องแม่น้ำโขงนั้น ผู้เขียนในขณะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้เคยเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว 3 ครั้งด้วยกัน โดยในครั้งแรกนั้นในการประชุมคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นที่กรุงฮานอย
ผู้เขียนในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยเข้าพบเจ้ารณฤทธิ์ประธานสภาผู้แทนราษฎรกัมพูชา และได้ปรึกษาหารือกับท่านในเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการเชิญสมาชิกผู้แทนรัฐสภาจากลาว พม่า เวียดนาม รวมทั้งรองประธานกรรมาธิการต่างประเทศของสภาประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้นมาปรึกษาหารือ ทางรองประธานกรรมาธิการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ขอร้องไม่ให้มีการแถลงการณ์ของประเทศในฝั่งแม่น้ำโขงดังที่กล่าวมาแล้ว และรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวรายงานไปยังรัฐบาลจีน และจะเชิญตัวแทนจากทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นเพื่อเดินทางไปหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขื่อนที่สร้างขึ้น
ผู้เขียนซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยนั้นได้กล่าวเป็นภาษาจีนกลางยกปรัชญาขงจื้อขึ้นมาว่า “ถ้าท่านต้องการยืนขึ้นท่านต้องช่วยให้ผู้อื่นยืนขึ้นได้ด้วย ถ้าท่านต้องการบรรลุเป้าหมายท่านต้องให้ผู้อื่นบรรลุเป้าหมายด้วย” และ “สิ่งที่ท่านไม่ต้องการโปรดอย่าให้กับผู้อื่น” ทำให้รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศของสภาผู้แทนสภาประชาชนสาธารณรัฐประชาชนจีนมีใบหน้าที่เคร่งเครียดขึ้นมา ขณะเดียวกันตัวแทนจากประเทศต่างๆ ยกเว้นกัมพูชาและไทยต่างก็แสดงออกถึงความเกรงใจประเทศจีนอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการเชื้อเชิญตัวแทนจากประเทศดังกล่าวไปเยี่ยมเยียนประเทศจีนแต่อย่างใด จนกระทั่งมีการประชุมที่กรุงปักกิ่งและผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งร่วมโต๊ะกับนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรัฐบาลสมัยนั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวที่โต๊ะรับประทานอาหาร เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีหันไปถามรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ทราบข้อเท็จจริงว่าได้มีการยกประเด็นดังกล่าวปรึกษาหารือกับทางจีนในระดับหนึ่ง ส่วนทางเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งนั้นทางจีนจะเชิญตัวแทนจากสถานทูตไทยไปหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขื่อนที่เป็นปัญหาอยู่ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีข่าวคราวคืบหน้าแต่อย่างใด
หลังจากนั้นเมื่อผู้เขียนในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยไปร่วมประชุมที่กรุงโตเกียว เรื่องการค้าเสรี ประเด็นหนึ่งในการประชุมนั้นก็คือเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อม ผู้เขียนได้หยิบยกเรื่องแม่น้ำโขงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งโดยกล่าวทำนองว่าจีนไม่ร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการแม่น้ำโขงและไม่ให้ข่าวสารข้อมูล และยังยกประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำ โดยเสนอเป็นประเด็นให้ทางเจ้าภาพที่จัดประชุมให้บันทึกเป็นหลักฐานว่ามีการยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อปรึกษาหารือในที่ประชุม เจ้าหน้าที่ทางฝ่ายจีนแสดงความไม่พอใจและความอึดอัดใจ และมีตัวแทนที่เป็นสตรีท่านหนึ่งพยามอธิบายด้วยภาษาจีนให้กับผู้เขียนเป็นระยะเวลานาน ฟังจับความได้ว่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอันใดต่อประเทศที่อยู่ปลายน้ำ
เมื่อผู้เขียนกลับมาประเทศไทยประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมได้โทรศัพท์มายังเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาไทย ขอร้องให้ผู้เขียนถอนประเด็นที่ยกขึ้นในที่ประชุมเพราะจีนไม่เห็นด้วยที่จะมีการบันทึกประเด็นดังกล่าวไว้ แต่ผู้เขียนได้ตอบเจ้าหน้าที่ไปว่าข้อเท็จจริงก็คือได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือ และเป็นประเด็นที่ฝ่ายจีนต้องตอบ เจ้าหน้าที่ไทยซึ่งขาดความเข้าใจในเรื่องนี้พยายามโน้มน้าวให้ผู้เขียนถอนประเด็นดังกล่าวซึ่งก็ไม่เป็นผล
หลังจากนั้นผู้เขียนในฐานะรองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ ก็ได้เดินทางไปยังมณฑลยูนนานเพื่อหาข้อเท็จจริงจากเขื่อนดังกล่าวโดยไปกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายและสมาชิกกรรมาธิการต่างประเทศท่านอื่น แต่ปรากฏว่าทางฝ่ายจีนไม่ยอมให้เดินทางไปหาข้อเท็จจริงจากเขื่อนที่สูง 250 กว่าเมตรนั้น ผลสุดท้ายก็ไม่ได้รับข้อมูลอันใดและไม่มีความคืบหน้าอันใดทั้งสิ้นเกี่ยวกับแม่น้ำโขง
ต่อมาผู้เขียนได้เห็นรายการโทรทัศน์ของ CCTV เกี่ยวกับประเทศที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงโดยมีการฉายให้เห็นวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นรายการที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็อดคิดไม่ได้ว่าทางฝ่ายจีนพยายามจะใช้โครงการโทรทัศน์ดังกล่าวนั้นสร้างความสมดุลให้เห็นว่าทางฝ่ายจีนนั้นไม่ได้ละเลยต่อความสำคัญของประเทศที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การกักน้ำและการปล่อยน้ำกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจของประเทศจีน และไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของแม่น้ำสากล ผลข้างเคียงในทางมลพิษยังไม่มีการสำรวจอย่างแท้จริง แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ การขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและน้ำมีมากกว่าปกติในฤดูฝนจนเกิดความเสียหายจากอุทกภัยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วไม่นานมานี้
สิ่งที่อยากจะกล่าวในที่นี้ก็คือ การเป็นมหาอำนาจนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบและอำนวยความยุติธรรมให้กับประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยกว่า การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าและเพื่อการชลประทานของจีน จนเกิดความเสียหายกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งถ้าน้ำทะเลหนุนขึ้นมาอาจจะทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลสาบเสียหายได้ และที่สำคัญแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากลไม่ควรที่ประเทศต้นน้ำจะใช้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่ประเทศที่อยู่ปลายน้ำ จีนควรจะให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเกี่ยวกับแม่น้ำโขง และในความเป็นจริงควรจะร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยแต่จีนหลีกเลี่ยงตลอดมา
สิ่งที่จีนกระทำนั้นนอกจากจะทำให้จีนถูกมองในแง่ไม่ดีแล้วยังทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศที่เคยอ้างถึงหลักปัญจศีล 5 ประการ คือการอยู่ร่วมกันโดยสันติที่ทางฝ่ายจีนถือเป็นหลักการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1954 เมื่อนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล และบัณฑิตเนห์รู ประกาศเป็นหลักการ และในความเป็นจริงก็เพิ่งฉลองการครบรอบ 50 ปีของหลักปัญจศีลเมื่อไม่นานมานี้เอง หลักสำคัญของปัญจศีลก็คือผลประโยชน์ร่วมกัน จีนซึ่งเป็นผู้ประกาศหลักดังกล่าวจะต้องมีภาระรับผิดชอบในการธำรงซึ่งหลักการที่เป็นแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค ดังคำกล่าวของขงจื้อที่กล่าวมานานแล้วว่า “ถ้าท่านต้องการบรรลุเป้าหมาย ต้องช่วยผู้อื่นบรรลุเป้าหมายด้วย และสิ่งที่ท่านไม่อยากให้ผู้อื่นกระทำกับท่าน ท่านก็จงอย่าทำกับผู้อื่น”
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้ยกเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของจีนให้สูงขึ้นกว่าเดิม การคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศที่อยู่ปลายแม่น้ำโขงจะมีส่วนทำให้เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของจีนสูงยิ่งขึ้น