ความต้องการไฟฟ้า เรื่องจริงหรือมายา 'เขื่อนแม่น้ำโขง'

fas fa-pencil-alt
โพสต์ทูเดย์
fas fa-calendar
20 พฤศจิกายน 2551

การพัฒนาในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งประกอบด้วยประเทศจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม กำลังเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ความต้องการด้านพลังงานของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด พลังงานราคาถูกจากการสร้างเขื่อน ล่าสุด กลุ่มทุนจากประเทศจีน ไทย มาเลเซีย และเวียดนามกำลังสำรวจพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 11 เขื่อน ในพื้นที่ 4 ประเทศ ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทั้ง 11 เขื่อน ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมก่อสร้างเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ประเทศลาว 7 แห่ง บริเวณพรมแดนไทย-ลาว 2 แห่ง และในพื้นที่ประเทศกัมพูชาอีก 2 แห่ง ผลประโยชน์มหาศาลของโครงการเหล่านี้ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนในพื้นที่ ลุ่มน้ำแบบข้ามชาติไร้พรมแดน แต่การผลักดันการสร้างเขื่อนกลับเต็มไปด้วยคำถามซึ่งไร้คำตอบที่แจ่มชัด ได้สะท้อนถึงความไม่โปร่งใส

ข้ออ้างถึงผลที่ได้จากการผลิตไฟฟ้า เพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตของภูมิภาคนี้ เป็นจริงหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดรอบด้านจากทุกฝ่าย แต่จากมุมมองของผู้เฝ้าสังเกตการณ์แม่น้ำโขง จากเวทีประชุมนานาชาติเรื่อง “เขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก-เสียงประชาชนข้ามพรมแดน” ซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อสัปดาห์ก่อน มีมุมมองที่น่าสนใจ และควรค่าแก่การหาคำตอบอย่างยิ่ง

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง เปิดประเด็นในเรื่องมายาภาพของความต้องการไฟฟ้าว่า เขื่อนต่างๆ ที่จะสร้างขึ้นมานี้ ไม่ใช่ความต้องการพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ แต่เกิดจากการคิดว่า มีพื้นที่ไหนบ้างที่มีความเหมาะสมที่จะสร้าง จึงเป็นแรงผลักดันจากแผนการผลิตไฟฟ้า ลาว กัมพูชา ขายกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนเหล่านี้ให้ไทยตามสัญญาระหว่างรัฐบาลประเทศลาว กัมพูชา บริษัทผู้ลงทุน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สัญญานี้จะเอื้อประโยชน์แก่บริษัทผู้ลงทุน มากกว่าการเห็นถึง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบแม่น้ำ

ในฐานะผู้ติดตามการผลักดันโครงการพลังงานแม่น้ำโขงมาโดยตลอด วิฑูรย์ฉายภาพให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ประเทศใหญ่อย่างจีน ไทย และเวียดนามมีความต้องการไฟฟ้าสูง และมีอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ ลาวก็ผลิตมาป้อนไทย เวียดนามมีโครงการสร้างเขื่อน 8 โครงการ ส่วนหนึ่งจะป้อนให้แก่ภาคตะวันออกของจีน เวียดนามมีแผนการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2549-2568 ซึ่งจะเพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ถึง 8 หมื่นเมกะวัตต์ จึงต้องมีการลงทุนสร้างเขื่อนจำนวนมาก ขณะที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิต 3 หมื่นเมกะวัตต์ มีแผนพัฒนาซึ่งตั้งเป้าว่าภายในปี 2564 จะเพิ่มการผลิตให้ได้ถึง 5.8 หมื่นเมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 130% จากกำลังผลิตในปัจจุบัน ขณะที่เวียดนามจะเพิ่มขึ้นถึง 200% ภายในเวลา 17 ปีนี้

การตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าที่สูงกว่าเท่าตัวนี้เอง เป็นสาเหตุที่วิฑูรย์มองว่า “อาจเป็นการคาดการณ์ความต้องการกระแสไฟฟ้าที่เกินไปกว่าความเป็นจริง เพราะประเทศไทยเองแม้จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 3 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ใช้จริงเพียง 2 หมื่นกว่า เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นไฟฟ้าสำรองที่ไม่ได้ใช้ ขณะที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีแผนการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออกให้ประเทศเพื่อนบ้าน แผนการในขณะนี้จึงมุ่งไปที่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่”

ขณะที่ คาร์ล มิดเดิลตัน ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำโขง องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เขามองความเคลื่อนไหวผลักดันการสร้างเขื่อนเหล่านี้ ในเชิงของผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเห็นว่าการสร้างเขื่อนเป็นธุรกิจการเมืองที่มีผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้นไม่น่าแปลกใจหากจะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า มากกว่าการมองหาทางเลือกอื่นๆ

“จะเห็นว่าปัจจุบันเอกชนเข้ามามีบทบาทในการสร้างเขื่อน แทนที่จะเป็นรัฐบาลเช่นในอดีต โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งการก่อสร้าง การได้สัมปทานผลิตกระแสไฟฟ้า และขายกระแสไฟฟ้าต่อให้รัฐ หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย ทำให้แหล่งทุนในการสร้างเขื่อนจากเดิมที่เป็นธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ลดบทบาทลงไป ปัจจุบันจึงเป็นกลุ่มทุนภายในภูมิภาค จากไทย จีน และมาเลเซีย”

สำหรับประเทศไทย คาร์ล มองว่ามีการสนับสนุนให้เอกชนลงทุนในกิจการด้านพลังงาน โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เกิดผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เป็นอิสระจริง เพราะมีบริษัทลูกของ กฟผ.เข้าไปถือหุ้นอยู่ทั้งสิ้น

“เพียงแค่มีข่าวว่าบริษัทเหล่านี้จะได้สัมปทานผลิตไฟฟ้า หรือสร้างเขื่อนที่ไหน ก็จะทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นทันที แต่บริษัทเหล่านี้ไม่มีความรอบคอบต่อสภาพแวดล้อมเลย อีกทั้งแหล่งทุนในการดำเนินโครงการก็เป็นทุนภายในประเทศไทย สิ่งที่น่ากังวลก็คือ สถาบันการเงินเหล่านี้ไม่มีมาตรฐาน หรือการทำสัญญาว่าเงินกู้ที่ให้ไปนั้น จะไม่ถูกนำไปใช้ในโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และบริษัทเหล่านี้ก็ไม่มีข้อผูกมัดความรับผิดชอบต่อ ผลกระทบ ดังนั้น จึงต้องมีการจับตาโครงการเหล่านี้ รวมทั้งการผลักดันประสิทธิภาพการจัดการพลังงานที่มีอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างเขื่อน”

ข้อระแวงในประเด็นความต้องการด้านพลังงานที่แท้จริง มิใช่โจทย์เดียวที่โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงถูกตั้งคำถาม แต่หากมองถึงผลกระทบในทุกด้าน ทั้งนิเวศวิทยา ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ระบบแม่น้ำที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำแล้ว คำถามต่อเขื่อนแม่น้ำโขงจะยิ่งดังมากขึ้นกว่านี้

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง