ข้อเสนอ 'ปากมูล' จาก 'วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์'
เลิกใช้เงินฟาดหัวชาวบ้าน แปลง 'เขื่อน' ให้ใช้ประโยชน์ 'ยืดหยุ่น

fas fa-pencil-alt
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ มติชนรายวัน
fas fa-calendar
13 มิถุนายน 2543

หมายเหตุมติชน : บทความนี้เขียนขึ้นโดย น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้นำชาวบ้านที่ต่อต้านการสร้างเขื่อน ปากมูล เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ก่อนเส้นตายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ขู่ว่าภายใน วันที่ 15 มิถุนายน 2543 หากกลุ่มสมัชชาคนจนไม่ถอนกำลังคนออกจากสันเขื่อนจะให้พนักงาน กฟผ.เข้าไปผลัก ดัน 'มติชน' เห็นว่าบทความชิ้นนี้สะท้อนจุดยืนของผู้นำชาวบ้านที่มีทีท่าประนีประนอมมากยิ่งขึ้น น่าจะเป็น ประโยชน์ต่อการจับเข่าพูดคุยมากกว่าที่จะเผชิญหน้าจนนำไปสู่ความรุนแรงที่ไม่พึง ประสงค์ จึงขอนำเสนอข้อ เขียนของ น.ส.วนิดา ดังต่อไปนี้

การชุมนุมกว่า 1 เดือนของชาวบ้านแม่มูนมั่นยืนบริเวณสันเขื่อนปากมูล และบริเวณสันเขื่อนราษีไศล เกิดคำถามมาก มายหลายประการที่สังคมไทยควรใช้สติปัญญาร่วมกันค้นหาของทางออกต่อ ปัญหาความยากจนในชนบท ที่นับวันจะ ทวีความเข้มข้นยิ่งๆ ขึ้น

คำถามแรกสุดที่อยู่ในใจของคนทั่วๆ ไปก็คือ การชุมนุมที่สันเขื่อนปากมูล เป็นการใช้ความรุนแรงที่สวนทางกับ การประกาศจุดยืนการใช้สันติวิธีของชาวบ้านหรือไม่

ครั้งหนึ่ง มหาตมะ คานธี เคยเดินรณรงค์เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร เพื่อปลุกเร้าให้ชาวอินเดียหัน มาผลิตเกลือ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามผลิตเกลือ (ซึ่งออกโดยอังกฤษ) ในสมัยนั้น

การผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูล ได้ทำลายวิถีชีวิตของคนสองฝั่งลำน้ำ ทำลายชุมชน วัฒนธรรมนิเวศวิทยา และนำมาซึ่ง ความขัดแย้งของคนในท้องถิ่น

ทั้งหมดนี้เพื่อแลกกับการผลิตไฟเพียง 40 เมกะวัตต์ (รายงานคณะกรรมการเขื่อนโลก) ซึ่งเท่ากับการใช้ ไฟฟ้าของ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่เพียง 1 แห่ง

อีกทั้งหน้าที่หลักของเขื่อนปากมูลเป็นแค่เพียงการผลิตเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า หมายความว่าถ้าไม่ผลิต ไฟจากเขื่อนปากมูลเลยก็ยังคงมีไฟฟ้าใช้เพียงแต่ไฟอาจจะตกบ้างในบางครั้ง

การผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูลเพียงเพื่อไม่ให้ไฟตกบ้างในบางครั้ง กลับต้องแลกกับการทำลายชุมชนกว่า 6,000 ครอบครัว (ตัวเลขทางการ ณ ปัจจุบัน) เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯอาจมีข้อโต้แย้งในทางประเด็นเศรษฐศาสตร์อื่นๆ เช่น เขื่อนไม่มีต้นทุนการผลิต เพราะเขื่อน สร้างไปแล้ว พลังงานน้ำได้มาฟรี ถ้าไม่ผลิตไฟที่ปากมูล ก็ต้องต้นมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตเพิ่มขึ้นที่โรงไฟฟ้า บางปะกง หรือแม่เมาะ

ก็เพราะผลการพัฒนาที่ผิดพลาดเหล่านี้มิใช่หรือ ที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ มากกว่าการสูญเสีย ระบบนิเวศ พันธุ์ปลาและชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตีค่าทางเศรษฐกิจ จนกลายมาเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลก และแม้แต่ ธนาคารโลกยังต้อง หันกลับมาพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้คนและระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง

ถึงแม้การชุมนุมที่สันเขื่อนปากมูลจะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และผู้ชุมนุมทุกคนก็ยินดีให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่เมื่อคิดถึงสิ่งที่เขื่อนปากมูลได้กระทำต่อชีวิตและชุมชน ของผู้คนสองฝั่งลำน้ำกว่า 6,000 ครอบครัว

การกระทำครั้งนี้ของชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนก็ไม่ต่างจากการ "ดื้อแพ่ง" ของมหาตมะ คานธี ต่อกฎหมาย ห้ามผลิตเกลือ

สิ่งที่ชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนทำ เป็นเพียงความพยายามส่งเสียงเรียกร้องให้ดังขึ้น เพื่อให้สังคมหันมาสนใจ ความทุกข์ของพวกเขา โดยที่แทบจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป ยกเว้น กฟผ.

แต่แท้ที่จริงแล้ว กฟผ.ไม่ควรคิดว่าเป็นภาระของตนเองที่จะแก้ไขปัญหานี้ นี่เป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าที่ กฟผ.จะต้อง เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดจากความผิดพลาดของนโยบายการพัฒนาในอดีต ที่มุ่งเน้นการขยายตัวทาง เศรษฐกิจในช่วงภาวะฟองสบู่ ทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะต้องรับมรดกของความผิด พลาดที่เกิดขึ้น จากนักการเมืองผู้กำหนดนโยบายเหล่านั้นด้วย

ทั้งชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนและ กฟผ. ต่างก็เป็นเหยื่อของโครงสร้างความรุนแรงในการพัฒนา

การต่อสู้และตอบโต้ไปมาของทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องน่าเศร้าของสังคมไทย ที่ปล่อยให้เรื่องที่เป็นปัญหาทางโครงสร้าง ตกเป็นภาระของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาและปล่อยให้นักการเมืองผู้กำหนด นโยบายลอยตัวเหนือความขัดแย้ง

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะช่วยกันหาคำตอบก็คือ เมื่อยอมรับว่าการพัฒนาที่ผ่านมาผิดพลาด สังคม ควรเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้าเขื่อนมีประโยชน์น้อย มีผลกระทบมาก ควรหรือไม่ที่จะต้อง มีการทบทวนการใช้ประโยชน์จากเขื่อน เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนแปลงให้เขื่อนใช้ประโยชน์ได้อย่างยืดหยุ่นยิ่งๆ ขึ้น ตอบสนองต่อการพัฒนาในหลายมิติ ควรหรือไม่ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับการฟื้นฟูวิถีชีวิต อาชีพ และ ชุมชนของพวกเขาขึ้นมาใหม่อย่างจริงจัง เป็นการไถ่บาปความผิดพลาดที่ผ่านมา

การฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวบ้าน คงไม่ใช่การใช้เงินฟาดหัวเป็นรายบุคคล (60,000-90,000) แต่ทำอย่างไรให้พวกเขากลับ มาเป็นชาวประมง ที่มีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนเหมือนในอดีต (ลองนึกดูว่าท่านเป็นวิศวกร วันหนึ่งรัฐบอกว่าจะยึด ใบประกอบอาชีพของท่าน แล้วให้ค่าชดเชย 90,000 บาท)

10 ปีของความขัดแย้งกรณีเขื่อนปากมูล ควรเลิกคำถามไร้สาระเสียทีว่า พวกนี้ได้แล้วไม่รู้จักพอ พวกนี้ได้คืบเอาศอก พวกนี้ยากจนเพราะเกียจคร้าน รายงานล่าสุดเรื่อง การเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจและสังคมหลังจากการสร้างเขื่อน ปากมูล โดย อ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด และคณะจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวไว้ชัดเจนว่า ก่อนการสร้าง เขื่อน (4 หมู่บ้านที่ทำการศึกษา) ชาวบ้าน 97 เปอร์เซ็นต์ มีอาชีพเป็นชาวประมง มีรายได้เกือบ 50,000 บาท/ครัวเรือน/ ปี ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการทำการประมงถึง 88.9 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังจากการสร้างเขื่อนพวกเขามีรายได้ลดลงเหลือ 37,986 บาท/ครัวเรือน/ปี ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการประมงเพียง 19.1 เปอร์เซ็นต์ เพราะรายได้หลักมาจากการ อพยพไปทำงานในภาคบริการอื่นๆ ในเมือง เป็นกรรมกร รับจ้างตัดอ้อย ทำนา (ชุมชนแตกสลายยับเยิน ภายหลังจาก การสร้างเขื่อน หลายคนที่เคยมีชีวิตที่สงบสุขริมน้ำ ต้องเสียชีวิตจากการเป็นกรรมกรก่อสร้าง ตกตึก เสียชีวิตจากการ เป็นโสเภณี เสพยาบ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคที่ตามมากับการพัฒนา)

ชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ได้เรียกร้องเพียงเพื่อขอที่จะมีชีวิตอย่างเพียงพอ อย่างเรียบง่าย เหมือนในอดีตที่ ผ่านมา

ความยากจนนั้น เป็นทุกข์แสนสาหัสที่ใครไม่ประสบก็ไม่มีวันที่เข้าใจ แต่ทุกข์ที่แสนสาหัสกว่าความยากจน คือการ ไม่มีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

ชาวบ้านหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน กำลังต่อสู้เพื่อความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง