ข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและพัฒนาแหล่ง

fas fa-pencil-alt
ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ
fas fa-calendar
28 สิงหาคม 2547

๑ การแก้ปัญหาเขื่อนที่สร้างแล้ว

ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างไปแล้วอย่างเป็นธรรมและมีหลักประกันว่าจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข และมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมหรืออย่างน้อยที่สุด ดีเท่ากับก่อนการสร้างเขื่อน โดยฟื้นฟูครอบครัว ชุมชน และธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดหาที่ดินทำกินที่เหมาะสมต่อการเกษตร การจ่ายค่าเสียหาย การชดเชยค่าเสียโอกาส การฟื้นฟูชุมชนและวัฒนธรรม

การดำเนินการนี้ รัฐต้องจัดให้มีกองทุนที่สามารถนำมาใช้ได้โดยนำเงินจากหน่วยงานเจ้าของเขื่อนหรือผู้ได้รับประโยชน์จากเขื่อนเพื่อ นำมาใช้เป็นงบประมาณในการดำเนินการ รวมทั้งต้องแก้ไขระเบียบ ประกาศกระทรวง กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา

เขื่อนที่สร้างไปแล้วและเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่าผลได้ ได้แก่ เขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล และโครงการเขื่อนภายใต้โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ให้เปิดประตูระบายน้ำอย่างถาวร เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำและชุมชน และแก้ปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม

กรณีเขื่อนหัวนา ให้ระงับการปิดบานประตูระบายน้ำและถมแม่น้ำมูล จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบทุกด้านโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และได้รับการยินยอมจากผู้ที่จะได้รับผลกระทบ และให้มีการดำเนินการรังวัดตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ได้รับผลกระทบตามบัญชีที่ราษฎรได้เสนอต่อรัฐบาลแล้ว

กรณีโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูชุมชนเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งชดเชยค่าเสียหายแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต

๒ การแก้ปัญหาโครงการเขื่อนและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีการวางแผนไว้

รัฐจะต้องไม่ดำเนินโครงการเขื่อนใหม่ๆ และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนที่สร้างไปแล้วให้ครบถ้วน และปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจในการสร้างเขื่อนและการพัฒนาแหล่งน้ำตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก กล่าวคือ

- ต้องมีการศึกษาทางเลือกแทนการสร้างเขื่อนและการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่

- โครงการเขื่อนทุกเขื่อนจะต้องได้รับการยอมรับจากสาธารณะ โดยผู้ได้รับผลกระทบให้การยินยอม มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการและผลกระทบอย่างรอบด้านแก่ชุมชนล่วงหน้า เพื่อประกอบการตัดสินใจ ข้อมูลที่เปิดเผยและกระบวนการปรึกษาหารือกับชุมชนต้องเป็นภาษาและรูปแบบที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าใจได้ ทั้งนี้ผู้ได้รับผลกระทบต้องให้ฉันทานุมัติก่อนจึงจะดำเนินโครงการได้

- ต้องรับรองระบอบกรรมสิทธิ์ของผู้ที่จะได้รับผลกระทบและเผชิญกับความเสี่ยง

- ต้องมีการศึกษาผลกระทบจากโครงการอย่างรอบด้าน ครอบคลุมประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และวัฒนธรรม โดยผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน และรัฐต้องสนับสนุนให้ผู้ได้รับผลกระทบทำรายงานการวิจัยเพื่อนำข้อมูลประกอบการพิจารณาโครงการ เช่น งานวิจัยไทบ้านหรืองานวิจัยชาวบ้าน เป็นต้น

สำหรับโครงการเขื่อนที่มีการศึกษาไปแล้วและพบว่าไม่เหมาะสม เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ให้รัฐบาลยกเลิกโครงการ

โครงการเขื่อน ๕ เขื่อนที่มีความขัดแย้งสูงและผู้ที่จะได้รับผลกระทบไม่ยินยอมให้ก่อสร้าง ได้แก่ โครงการเขื่อนโป่งขุนเพชร โครงการเขื่อนลำโดมใหญ่ โครงการเขื่อนคลองกลาย โครงการเขื่อนรับร่อ และโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ชะลอโครงการนั้น รัฐต้องยุติการดำเนินโครงการโดยเด็ดขาด

โครงการเขื่อนแม่ขาน ขอให้ระงับการสำรวจจนกว่าจะได้รับการยินยอมจากผู้ได้รับผลกระทบ

รัฐต้องไม่ดำเนินโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหากโครงการดังกล่าวไม่ได้รับฉันทานุมัติจากคนลุ่มน้ำที่จะถูกผันน้ำไป และผู้ที่จะได้รับผลกระทบในลุ่มน้ำที่จะมีการผันน้ำเข้ามา รวมทั้งต้องพิจารณาผลกระทบทางสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน เช่น โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน โครงการผันน้ำต่างๆ จากลุ่มน้ำสาละวินลงสู่เขื่อนภูมิพล โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา (ผันน้ำแม่แตง แม่งัด แม่กวง) ฯลฯ

๓.การรับรองสิทธิการจัดการน้ำโดยชุมชน

ให้รัฐเปลี่ยนนโยบายการจัดการน้ำจากการสร้างเขื่อนและการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นการส่งเสริมและรับรองสิทธิการจัดการน้ำโดยชุมชนซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ วิถีชีวิตของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน การจัดการน้ำตามประเพณี ฯลฯ

การดำเนินการนี้จะต้องมีการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ประกาศกระทรวง มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานตามข้อเสนอข้างต้น และจัดทำกฎหมายและนโยบายที่ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

๔.โครงการบนแม่น้ำระหว่างประเทศ

การพัฒนาแม่น้ำระหว่างประเทศต้องยึดหลักเพื่อสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน

การสร้างเขื่อนและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบนแม่น้ำระหว่างประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ต้องมีการศึกษาผลกระทบตลอดทั้งลุ่มน้ำ และผู้ที่จะได้รับผลกระทบหรือจะได้รับความเสี่ยงต้องให้การยินยอม

กรณีการสร้างเขื่อนสาละวิน รัฐต้องระงับโครงการไว้ก่อนจนกว่ามีการรับรองสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบทั้งในประเทศไทยและพม่า และจนกว่าประเทศพม่าจะมีการปกครองระบบประชาธิปไตย

สำหรับกรณีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบนในประเทศจีน รัฐต้องดำเนินการและสนับสนุนให้มีการศึกษาผลกระทบทางด้านท้ายน้ำในเขตประเทศไทยและร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการศึกษาผลกระทบทางด้านท้ายน้ำ และมีการนำเสนอปัญหาผลกระทบและเจรจากับรัฐบาลจีนในการแก้ไขปัญหา

ส่วนโครงการผันน้ำไทย-ลาว รัฐจะต้องยุติโครงการจนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านทั้งในประเทศลาวและผลกระทบด้านปัญหาดินเค็ม ในพื้นที่ชลประทานในประเทศไทย

๕. ปัญหาเร่งด่วนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในขณะนี้ได้ปรากฏว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน และเขื่อนที่สร้างไปแล้ว กำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การข่มขู่คุกคามชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเขื่อนโป่งขุนเพชร โครงการเขื่อนรับร่อ โครงการเขื่อนท่าแซะ เขื่อนห้วยละห้า และเขื่อนสิรินธร รัฐจะต้องสั่งการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยุติการข่มขู่คุกคามชาวบ้าน และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความคุ้มครองชาวบ้านและมีมาตรการป้องกันการข่มขู่คุกคามโดยเร่งด่วน

๖.การแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย

ในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการพัฒนาแหล่งน้ำในระยะยาว รัฐต้องดำเนินการแก้ไขนโยบายและกระบวนการตัดสินใจในโครงการเขื่อนและการพัฒนาแหล่งน้ำ และแผนการจัดการน้ำและพลังงาน รวมไปถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ โดยการตั้งคณะกรรมการอิสระที่มีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นกรรมการ โดยพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกและบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนและสิทธิ ในการจัดการทรัพยากร

รับรองโดย

ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำดังนี้

·         ๑ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

·         ๒ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี

·         ๓ เขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

·         ๔ เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ

·         ๕ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่

·         ๖ เขื่อนสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน

·         ๗ เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบน

·         ๘ เขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี

·         ๙ เขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ

·         ๑๐ โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ จ.นครราชสีมา

·         ๑๑ เขื่อนคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช

·         ๑๒ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร

·         ๑๓ เขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร

·         ๑๔ เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี

·         ๑๕ เขื่อนเขาหลัก จ.ตรัง

·         ๑๖ เขื่อนเซบาย จ.อุบลราชธานี

·         ๑๗ เขื่อนลุ่มน้ำสงคราม จ.นครพนม

·         ๑๘ เขื่อนคลองลำแชง จ.สงขลา

·         ๑๙ เขื่อนชมพู จ.พิษณุโลก

·         ๒๐ เขื่อนคลองลำขัน จ.ตรัง

·         ๒๑ เขื่อนแม่น้ำกก – น้ำสาย จ.เชียงราย

·         ๒๒ เขื่อนสายบุรี จ.ยะลา-ปัตตานี

·         ๒๓ เขื่อนห้วยขุมคำ / เขื่อนห้วยที จ.อุบลราชธานี

·         ๒๔ โครงกาผันน้ำกก อิง น่าน จ.เชียงราย-พะเยา-น่าน

·         ๒๕ เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์

·         ๒๖ โครงการผันน้ำโขง ชี มูล

·         ๒๗ เขื่อนน้ำพรม จ.ชัยภูมิ

·         ๒๘ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง (ผันน้ำแม่แตง แม่งัด) จ.เชียงใหม่

·         ๒๙ เขื่อนแม่ขาน จ.เชียงใหม่

·         ๓๐ สมัชชาคนจน

องค์กรภาคประชาสังคม

·         ๑ กลุ่มเพื่อนประชาชน

·         ๒ โครงการเสริมสร้างสำนึกนิเวศวิทยา

·         ๓ โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา

·         ๔ โครงการแม่น้ำและชุมชน

·         ๕ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

·         ๖ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

·         ๗ มูลนิธิโลกสีเขียว

·         ๘ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

·         ๙ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

·         ๑๐ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

·         ๑๑ มหาวิทยาลัยชุมชน

·         ๑๒ สถาบันสันติประชาธรรม

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง