ข้อมูลพื้นฐานกรณีเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง
- ความเป็นมาของเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2520 มีหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าได้รับหนังสือจาก นายครอบ โวหาร สมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ทำหนังสือร้องเรียนถึงรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่าราษฎรชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย มีความต้องการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงสั่งการไปยังกรมชลประทานและสำนักงานชลประทานที่ 3 ให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 150 ล้าน ลบ.ม. ขนาดความสูง 22.00 ม. ต่อมาสำนักงานชลประทานที่ 3 ได้สำรวจพื้นที่จริงและขยับจุดที่จะสร้างอ่างขึ้นไปทางต้นน้ำเป็นระยะทาง 9 กม. (จุดสร้างเขื่อนปัจจุบัน) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับชาวบ้านที่อยู่ตามลำห้วยแม่มอกให้มากที่สุด
วันที่ 23 เมษายน 2526 คณะกรรมการพิจารณาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตกองทัพภาคที่ 3 ประชุมพิจารณาอนุมัติให้การสร้างอ่างเก็บน้ำแม่มอกนำเสนอเป็นทางการต่อไป
วันที่ 28 มิถุนายน 2526 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย (นายอาษา เมฆสวรรค์) ได้ทำหนังสือด่วนมากถึงสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และแจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรในอำเภอทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย และมีพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมชลประธานให้พิจารณาวางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่มอก และมีพระราชดำริว่าควรสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำในลำน้ำแม่มอก
วันที่ 15 กรกฎาคม 2526 ผู้อำนวยการสำนักงาน กปร. (นายสุเมธ ตันติเวชกุล) มีหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทานว่าทางสำนักเลขานุการ กปร. พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่กรมชลประทานรับผิดชอบและเป็นโครงการขนาดเล็กที่ต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายสูง จึงใคร่ขอทราบการพิจารณาของกรมชลประทานในส่วนที่เกี่ยวกับการรับเป็นเจ้าของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ และความเหมาะสมในด้านของงบประมาณ ซึ่งจะมีผลผูกพันต่องบประมาณปกติของกรมต่อไป
ในปี พ.ศ. 2536 กรมชลประทานได้ชะลอการดำเนินงานเพราะมีปัญหาเรื่องการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ เนื่องจากยังไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมติ ครม. 10 มี.ค. 2535 และ พรบ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 47 กำหนดให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้ทำการศึกษาและให้เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ในปี พ.ศ. 2536-2538 การศึกษาผลกระทบยังไม่รู้ผลว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ แต่การดำเนินงานบางอย่างยังดำเนินไปตามปกติ เช่น การสัมปทานตัดไม้เหนือเขื่อนในแปลงน้ำท่วม ยังมีการตัดไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากต่อไปโดยไม่ได้ชะลอการตัดแต่อย่างใด
ในเดือนตุลาคม 2538 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จสิ้น โครงการเริ่มดำเนินงานต่อไป
- การเข้าดำเนินการในพื้นที่
ต้นปี พ.ศ. 2532 สำนักงานชลประทานเขต 3 ได้เข้าไปประชาสัมพันธ์เรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่มอกอย่างเป็นทางการ โดยแจ้งให้สภาตำบลเวียงมอกและชาวบ้านปางอ้า ม.4 บ้านแม่พุ ม.5 บ้านท่าเกวียน ม.7 บ้านหอรบ ม.9 ตำบลเวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง ได้รับทราบว่าจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านได้ทราบเป็นครั้งแรกว่าจุดที่ตั้งของอ่างอยู่ตรงจุดใด และรู้ว่าหมู่บ้านที่จะต้องโดนน้ำท่วมแน่นอนคือบ้านท่าเกวียน ม.7 และที่ทำกินของชาวบ้านปางอ้า บ้านแม่พุ บ้านหอรบบ้างเป็นบางครอบครัว หมู่บ้านที่ต้องถูกเวนคืนที่ดินเพื่อนำที่ดินนั้นไปจัดสรรให้กับชาวบ้านท่าเกวียนที่จะต้องอพยพมาอยู่ในที่แห่งใหม่คือ บ้านแม่พุ บ้านหอรบ ชลประทานได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านใน 4 หมู่บ้านดังกล่าวอย่างหนัก ให้ชาวบ้านได้เห็นว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่มอกเป็นโครงการที่ดี ให้ประโยชน์สูงและเป็นโครงการในพระราชดำริ ชาวบ้านควรเสียสละ หากใครเสียสละทางราชการจะมีค่าตอบแทนให้ตามที่ทางราชการได้กำหนดเอาไว้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้ (เป็นการแจ้งให้ชาวบ้านทราบในที่ประชุมแบบปากเปล่าโดยไม่มีเอกสาร)
เงื่อนไขที่ทางเจ้าหน้าที่ชลประทานได้แจ้งให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเก็บน้ำแม่มอกทั้ง 4 หมู่บ้านได้รับรู้ร่วมกัน
2.1. จะจ่ายค่าบ้าน ค่าที่ดินปลูกบ้าน ค่ารื้อถอนและค่าขนย้ายตารางเมตรละ 1,212.75 บาท
2.2. จะทำการจัดสรรที่ปลูกบ้านให้ใหม่ครอบครัวละ 1 ไร่
2.3. จะทำการปรับถมที่ให้ชาวบ้านสามารถปลูกสร้างบ้านได้ทันทีอย่างสะดวก
2.4. จะทำการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำดื่ม น้ำใช้ ไฟฟ้า ถนนหนทางให้สามารถใช้ได้ดีกว่าบ้านเดิม
2.5. จะจ่ายค่าผลผลิตที่ชาวบ้านได้ผลิตมาก่อนหน้านี้แล้วทั้งหมด เช่น ไม้ผลและไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ที่ชาวบ้านได้ปลูกเอาไว้
2.6. จะจัดสรรที่ทำกินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ โดยไม่เกี่ยวว่าที่ดินเดิมของผู้ใดจะมีอยู่เท่าใด
2.7. ผู้ที่ยินยอมเสียสละที่ดินทำกินจากบ้านแม่พุและบ้านหอรบ เพื่อให้ชลประทานนำไปจัดสรรเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับบ้านท่าเกวียน จะได้รับค่าชดเชยที่ทำกินไร่ละ 6,666.66 บาท และจ่ายค่าชดเชยให้กับผลผลิตที่ปลูกเอาไว้ทั้งหมด พ.ศ. 2533 เป็นต้นมาเริ่มนำเครื่องจักรเข้ามาดำเนินการ
2.8. ผู้ที่ไม่เอาที่ดินที่ทางชลประทานจัดให้ ถือว่าเป็นผู้สละสิทธิพิเศษ ทางชลประทานจะจัดหาเงินพิเศษให้หนึ่งก้อน และมากพอที่จะสามารถนำไปจัดซื้อที่ดินแห่งใหม่ได้ (ไม่แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าเท่าใด)
- ผลที่เกิดขึ้น
ด้วยความเป็นชุมชนที่เคยอยู่อย่างสงบเงียบ ว่านอนสอนง่ายจิตใจสัตย์ซื่อ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมแต่มีความรักต่อราชการเสมือนญาติ ชาวบ้านท่าเกวียนยินดีอพยพโยกย้ายออกจากหมู่บ้านเดิมอย่างง่ายดาย บ้านแม่พุบ้านหอรบก็ยินดีเสียสละที่ดินอย่างเต็มใจเพราะในด้านหนึ่งชาวบ้านท่าเกวียนก็คือญาติ และในระยะยาวชาวบ้านเองก็หวังว่าจะได้ประโยชน์จากการทำอาชีพประมงตามที่ชลประทานบอก ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่จะเชื่อว่าจะถูกหลอก ชาวบ้านท่าเกวียนจึงได้เริ่มทยอยย้ายตัวเองออกจากหมู่บ้านเดิมในวันที่ 4 เมษายน 2536 มาสิ้นสุดเอาในปี พ.ศ. 2538
ประเด็นต่างๆ ที่เคยบอกกับชาวบ้านเอาไว้ไม่เป็นไปตามที่บอก เมื่อชาวบ้านถามมากๆ ก็บอกว่าไม่เคยพูดไม่เคยว่า ไม่เคยทำ ไม่มีหลักฐาน ใครคนไหนพูดเอาอำนาจอะไรมาพูด เมื่อนั้นเองชาวบ้านจึงรู้ว่าโดนหลอก
สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
3.1. ค่ารื้อย้ายบ้าน ชาวบ้านไม่ติดใจที่จะเรียกร้อง
3.2. ค่าปรับถมที่เพื่อปลูกบ้าน ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านไม่ติดใจแม้จะมีหลายครอบครัวที่ต้องเสียเงินเพื่อปรับที่เอง
3.3. ระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำดื่มกินไม่ได้ ซักผ้าขาวไม่ได้ เพราะเป็นสนิมและมีไม่พอกับความต้องการของชาวบ้าน ไฟฟ้าติดตั้งเสาไปไม่ถึงชาวบ้านต้องลากสายไฟเข้าบ้านไกลเสียค่าใช้จ่ายแพง ถนนหนทางไม่ทำให้เป็นล็อกและทำให้ไม่ครบล็อก ชาวบ้านต้องลงทุนทำถนนเอง แต่โดยรวมแล้วชาวบ้านไม่ติดใจ
3.4. ค่าผลผลิตที่ชาวบ้านได้ผลิตมาก่อนหน้านี้แล้วทั้งหมด เช่น ไม้ผลและไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ที่ชาวบ้านได้ปลูกเอาไว้ เป็นประเด็นที่ชาวบ้านเรียกร้อง เพราะยังมีการจ่ายค่าชดเชยไม่ครบทุกราย ที่ควรจ่ายไม่จ่าย ที่ไม่ควรจ่ายแต่จ่าย ทุกอย่างสับสนไปหมด
3.5. จะจัดสรรที่ทำกินให้ครอบครัวละ 15 ไร่แต่ความเป็นจริงให้ 7 ไร่แต่ก็ไม่สามารถเข้าทำกินได้ทั้งหมด เพราะยังไม่จ่ายค่าที่ดินให้กับเจ้าของเดิม เจ้าของเดิมจึงไม่ยอมให้เข้าทำกิน
3.6. ผู้ที่สละสิทธิ์ตามข้อ 2.8 ไม่ได้รับการจัดสรรให้อย่างที่บอก
- สถานการณ์ปัจจุบัน
ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ปีที่ชาวบ้านได้เริ่มย้ายออกไปจากหมู่บ้านจนกระทั่งบัดนี้ปัญหาที่สำคัญๆ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านได้ไปร้องเรียนผ่านหน่วยงานต่างๆ ของทางราชการและยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลายครั้งแต่ไม่ได้รับการแก้ไข จนหลายครั้งชาวบ้านต้องแก้ปัญหาด้วยการปิดอ่างห้ามมีการก่อสร้างจนกว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชย เมื่อมีการขอร้องให้ชาวบ้านยุติและทางราชการก็รับปากจะแก้ปัญหาให้แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงการหลอกลวง
จนกระทั่ง วันที่ 22 มกราคม 2542 ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (นายเฉลิมพล ประทีปวณิช) ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ขึ้นโดยมีนายอำเภอเถินเป็นประธานและมีผู้แทนชาวบ้านหมู่บ้านละ 5 คน ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนหมู่บ้านละ 2 คน ผู้แทนจากหน่วยงานภาคราชการหมู่บ้านละ 7 คน ผลจากการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นที่พอใจของชาวบ้านแต่ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจว่าเมื่อมีข้อมูลความเป็นจริงอย่างนี้แล้วทางหน่วยงานราชการต่างๆ จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วปัญหาเหล่านี้อยู่นอกเหนืออำนาจการจัดการของเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่
- กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 723 ราย
5.1 บ้านท่าเกวียน หมู่ 7 จำนวน 287 ราย
- 5.1.1 ปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกินแปลงอพยพ (รายละเอียดตามเอกสาร 1 แนบท้ายนี้) จำนวนราษฎรมีปัญหารวม 81 ราย
- ก. ปัญหาเข้าทำกินในแปลงที่ได้รับการจัดสรรไม่ได้เพราะเจ้าของเดิมขัดขวาง มี 40 ราย (40 แปลง)
- ข. ปัญหาราษฎรต้องการที่ดินทำกินและอ้างว่ามีสิทธิจะได้รับการจัดสรร แต่ไม่ได้รับการจัดสรร (มีการจับฉลากเมื่อ 30 กันยายน 2541 ไม่มีรายชื่อจับฉลาก) จำนวน 17 ราย
- ค. ปัญหาการจับฉลากได้แปลงทับกันมี 2 ราย
- ง. ปัญหาจับฉลากได้แล้ว แต่เนื้อที่ไม่ครบ 7 ไร่ มี 9 ราย
- จ. ปัญหาได้รับการจัดสรร (จับฉลาก) แล้วไม่ทราบแนวเขตที่ดินแน่นอน และมีปัญหาแนวเขตทับกับแปลงข้างเคียง รวม 4 ราย
- ฉ. ปัญหาการปรับพื้นที่แปลงที่ดินทำกินไม่เรียบร้อยต้องการให้ปรับพื้นที่ให้ใหม่ จำนวน 9 ราย
- 5.1.2 ปัญหาการจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินบริเวณหน้าอ่างเก็บน้ำที่ถูกน้ำท่วม (รายละเอียดตามผนวก 2 แนบท้ายนี้) จำนวนราษฎรที่มีปัญหารวม 250 ราย แยกเป็น
5.2 บ้านแม่พุ หมู่ 5 จำนวน 306 ราย
- 5.2.1 การยึดครองที่ดินแปลงอพยพที่ได้จับฉลากกันแล้วไม่ยอมให้บ้านท่าเกวียน หมู่ 7 เข้าที่ทำกิน จำนวน 23 ราย แยกเป็นแปลงที่ทราบหมายเลข จำนวน 28 แปลง (ตามภาคผนวก 3) และไม่ทราบหมายเลขจำนวน 6 ราย
- 5.2.2 สละสิทธิ์ที่ไม่รับที่ดินแปลงอพยพแต่ต้องการเงินแทนที่ดิน จำนวน 23 ราย (รายละเอียดรายชื่อปรากฏตามภาคผนวก 4)
- 5.2.3 เข้าทำกิน / ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงอพยพไม่ได้ จำนวน 7 ราย รวมจำนวน 7 แปลง (มีรายละเอียดปรากฏตามภาคผนวก 5)
- 5.2.4 ปัญหาอื่นๆ (มีรายละเอียดปรากฏตามผนวก 6)
- 5.2.5 บัญชีรายชื่อที่เลือกหรือจับฉลากเบอร์เลขที่แปลงได้แล้ว แต่ลงที่จัดสรรทำกินไม่ได้ มีรายละเอียดปรากฏตามผนวกพิเศษ
5.3 บ้านหอรบ หมู่ 9 จำนวน 130 ราย
- 5.3.1 เรื่องการจ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินและทรัพย์สิน
- ก. ยังไม่ได้รับเงินชดเชย จำนวน 94 ราย (รายละเอียดตามผนวก 6)
- ข. ได้รับเงินชดเชยบางส่วน จำนวน 17 ราย (รายละเอียดตามผนวก 7)
- 5.3.2 เรื่องสละสิทธิ์ไม่เอาที่ดินแปลงอพยพ จำนวน 23 ราย (รายละเอียดตามผนวก 8)
- 5.3.3 เรื่องการยึดครองที่ดินแปลงอพยพ จำนวน 3 ราย (รายละเอียดตามผนวก 9)
- 5.3.4 เรื่องอื่นๆ จำนวน 3 ราย (รายละเอียดตามผนวก 10)
- 5.1.1 ปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกินแปลงอพยพ (รายละเอียดตามเอกสาร 1 แนบท้ายนี้) จำนวนราษฎรมีปัญหารวม 81 ราย
- ข้อเรียกร้องของชาวบ้านต่อกรณีปัญหาเขื่อนน้ำแม่มอก
- ให้จัดสรรที่ดินทำกินที่สามารถทำการเกษตรได้และชาวบ้านพอใจ ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกครอบครัว พร้อมออกเอกสารสิทธิในที่ทำกินให้เรียบร้อย จำนวนครอบครัวละ 15 ไร่
- ให้จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับการชดเชยตามบัญชีรายชื่อที่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางแต่งตั้งลงนามเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542
- ให้จ่ายค่าเสียหายที่ชาวบ้านไม่ได้ทำกินนับแต่ปี พ.ศ. 2534 ที่ชลประทานได้เข้ายึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน คิดเป็นที่ไร่ปีละ 2,400 บาทต่อไร่ ที่นาปีละ 4,700 บาทต่อไร่
- ให้จ่ายค่าชดเชยที่ดินสาธารณะ (ป่าช้า) ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างคลองชลประทาน จำนวน 20 ไร่ๆ ละ 6,666.66 บาท ให้แก่หมู่บ้านแม่พุและบ้านหอรบ
- ให้ยกเลิกการปลูกไม้ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเหนือเขื่อนที่กรมป่าไม้กำลังทำการปลูกอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด
- ให้แก้ไขปัญหาสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่แปลงอพยพ