ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่สร้างเขื่อนท่าซางล่าสุด

fas fa-pencil-alt
Salween Watch
fas fa-calendar
15 ธันวาคม 2545

ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่สร้างเขื่อนท่าซางล่าสุด (15 ธันวาคม 2545)

จัดทำโดยกลุ่ม Salween Watch

เอกสารแนบหมายเลข 1

สถานการณ์ทหารพม่าในพื้นที่และการตัดไม้รอบที่ตั้งเขื่อนท่าซาง

ปัจจุบันมีทหารพม่าอย่างน้อย 17 กองพันทหารราบประจำการอยู่ในพื้นที่ใกล้กับที่ตั้งเขื่อนท่าซาง  ทหารจำนวน 6 กองพันเคลื่อนย้ายเข้ามาประจำการเฉพาะในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา     สำหรับบริเวณเมืองเชียงตอง  ทางทิศตะวันเฉียงเหนือของเขื่อนท่าซาง   เป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นพิเศษ   ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกองกำลังทหารพม่าเข้ามาประจำการแต่อย่างใด   ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์บัญชาการของทหารพม่าในพื้นที่

เฉพาะเมืองเชียงตองในปัจจุบัน มีทหารประจำทั้งหมด 4 กองพัน   การขยายงานสร้างถนนสายใหม่หลายสายในพื้นที่แห่งนี้ยิ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทหารพม่าเข้ามาเสริมกำลังทหารมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว   รวมทั้งส่งเสริมให้อัตราการตัดไม้ในผืนป่าเชียงตองสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ    การตัดไม้ดังกล่าวจัดเป็นกลยุทธทางการทหารอย่างหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่าในการกวาดล้างกองกำลังไทยใหญ่ โดยการตัดไม้ให้เตียนโล่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้พลัดถิ่นภายในชาวไทยใหญ่ซึ่งใช้ผืนป่าเป็นที่หลบซ่อนพักพิง (ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้มาจากหมู่บ้านชนบทซึ่งกองทัพพม่าบังคับโยกย้ายถิ่นฐานตั้งแต่ปี 1996) คอยส่งเสบียงหรือให้การสนับสนุนกองกำลังไทยใหญ่

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน

การบังคับใช้แรงงาน

ชาวบ้านท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา  ถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงานสร้างถนนสายใหม่จากเมืองเชียงตองในช่วงสองปีที่ผ่านมาโดยไม่ได้รับค่าแรงตอบแทน   นอกจากนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังได้นำเครื่องจักรและส่งนักโทษจำนวนมากเข้ามาใช้แรงงานสร้างถนนหลายสายในเขตนี้เช่นกัน

ในช่วงปี 2002 ที่ผ่านมา  รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศว่านับจากนี้เป็นต้นไปจะไม่มีการบังคับใช้แรงงานฟรี  แต่ในความจริง ชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านยังคงถูกบังคับใช้แรงงาน ทั้งในการสร้างถนน และซ่อมแซมค่ายทหารให้กองทัพพม่าตามเมืองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของรัฐฉาน  บริเวณเมืองเชียงตอง เมืองกุ๋นฮิง  เมืองโต๋น และเมืองปั่น  ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงใหม่  ประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม ต้นปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจากหมู่บ้านศาลา (Wan Sala) และ ปาเลา (Palao) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ของที่ตั้งเขื่อนท่าซางถูกทหารพม่ากองพันทหารราบเบาที่ (LIB) 519 บังคับให้ซ่อมแซมค่ายและสำนักงานของทหารใกล้กับที่ตั้งเขื่อนท่าซาง

การข่มขืน

จากรายงาน  “ใบอนุญาตข่มขืน” ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มกิจกรรมหญิงไทยใหญ่ (Shan Woman Action Network หรือ SWAN)  และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ (Shan Human Right Foundation) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าสถานที่ซึ่งผู้หญิงมากกว่าครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ทั้งหมด  173 เหตุการณ์ถูกข่มขืนคือบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของเขื่อนท่าซางและพื้นที่ซึ่งจะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อน   

รายงานจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนพฤษภาคมเปิดเผยว่า ทหารพม่ากองพันทหารราบเบาที่ (LIB) 519 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ท่าซาง  ได้บังคับผู้หญิงไทยใหญ่จำนวน 9 คนไปคอยรับใช้กิจกรรมทางเพศให้กับทหารในค่ายระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2002  (ติดตามอ่านรายละเอียดได้ในจดหมายข่าวของมูลนิธิสิทธิมนุษยนไทยใหญ่ฉบับเดือนเมษายน 2002 เรื่อง Mothers of small children conscripted as porters, and raped, in Murng Na, www.shanland.org)  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหน้าทีมสำรวจ 36 คนจากประเทศไทยจะเดินทางไปถึงที่ตั้งเขื่อนท่าซางเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น

การสังหารโหดและทรมานชาวบ้าน

เหตุการณ์ทหารพม่าทำการสังหารโหดและทรมานชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ และชาวบ้านผู้พลัดถิ่นภายในซึ่งอาศัยหลบซ่อนตัวตามราวป่าใกล้กับพื้นที่รอบเขื่อนท่าซางยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

เหตุการณ์ล่าสุดที่ได้รับรายงานเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา  คือ  ผู้หญิง 3 คนข่มขืนและฆ่า  พร้อมกับชาย 5 คน  โดยทหารพม่ากองพันทหารราบเบาที่ 502   ในหมู่บ้าน Tawng Kwai ห่างจากสะพานท่าซางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 15 ไมล์

ส่วนพื้นที่เมืองกุ๋นฮิง ซึ่งตั้งอยู่บนแนวเขตน้ำท่วม  จัดเป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านผู้พลัดถิ่นภายในถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายในช่วงห้าปีที่ผ่านมา  เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปี 2000  คือ เหตุการณ์ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กรวม 64 คน ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำสาละวิน ถูกสังหารหมู่  โดยทหารพม่ากองพันทหารราบที่ 246

การถอนสิทธิความเป็นพลเมืองท้องถิ่น

สิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากแผนงานสร้างเขื่อนท่าซางของรัฐบาลทหารพม่าในช่วงที่ผ่านมา  คือ  รัฐบาลทหารพม่าพยายามลดต้นทุนการสร้างเขื่อน  โดยการบังคับให้ชาวบ้านโยกย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อนไปอยู่ในเขตควบคุมของทหาร  และถอนชื่อชาวบ้านออกจากทะเบียนประชากรในพื้นที่  การกระทำดังกล่าวทำให้รัฐบาลพม่าไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนในพื้นที่หากมีการสร้างเขื่อน  ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการสร้างเขื่อนลดลง  

นอกจากนี้ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้จัดทำสัมมโนประชากรใหม่ในเขตหลายพื้นที่  โดยเจ้าหน้าที่ที่ทำการสำรวจจะนับจำนวนประชากรเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบ้านขณะช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ  หากสมาชิกของบ้านหลังใดไม่อยู่บ้าน  เจ้าหน้าที่จะตัดชื่อออกจากสัมมโนประชากร ทำให้ชาวบ้านสูญเสียสิทธิความเป็นพลเมืองในพื้นที่ไปโดยปริยาย  สิ่งที่เกิดขึ้นหมายความได้ว่า  ขณะนี้ชาวบ้านผู้พลัดถิ่นภายในและผู้ลี้ภัยที่หนีมายังประเทศไทยหลายคนได้สูญเสียสิทธิความเป็นพลเมืองของตนเองไปเรียบร้อยแล้ว

และในช่วงต้นปี 2002  ที่ผ่านมา  การจัดทำสัมมโนประชากร ในลักษณะเดียวกันได้เกิดขึ้นในเมืองเชียงตองซึ่งเป็นพื้นที่รอบเขื่อนท่าซางเช่นกัน  แต่การดำเนินการครั้งนี้ แตกต่างไปจากพื้นที่อื่น   เนื่องจากทหารพม่าได้เคลื่อนย้ายชาวพม่าจากภาคกลางของประเทศประมาณ 500 ครอบครัวเข้ามาอาศัยในพื้นที่แห่งนี้นับตั้งแต่ปี 2001  และชาวพม่ากลุ่มนี้ได้รับการบันทึกให้เป็นพลเมืองท้องถิ่นโดยความเห็นชอบจากทหารพม่า  ขณะที่ชาวบ้านท้องถิ่นจำนวนหลายพันคนกลับถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในเขตควบคุมและสูญเสีย สิทธิความเป็นพลเมืองของตนไปโดยปริยาย

สถานการณ์การตัดไม้ในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่รอบ ๆ

ผืนป่าทางตอนเหนือและใต้ของที่ตั้งเขื่อนท่าซางจัดเป็นผืนป่าที่อุดมสมบุรณ์ที่สุดของรัฐฉานที่หลงเหลือไม้มากนัก   ปัจจุบัน  ผืนป่าแห่งนี้กำลังถูกบริษัททำไม้ทั้งจากประเทศไทย  และประเทศพม่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกับครอบครัวนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่าและราชาเสพติดชื่อดังเริ่มเข้าไป ดำเนินการตัดไม้อย่างต่อเนื่อง   การเพิ่มขึ้นของกองกำลังทหารในพื้นและการขยายถนนหนทางซึ่งเชื่อมต่อกับโครงการสร้างเขื่อนท่าซาง ได้นำไปสู่การทำลายผืนป่าแห่งนี้อย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน  

บริษัทตัดไม้ของไทยที่เข้าไปดำเนินการตัดไม้ในพื้นที่แห่งนี้ เช่น  บริษัทไทยสวัสดิ์ ปัจจุบันยังคงดำเนินการเปิดป่าในพื้นที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งดำเนินการตัดถนนไปสู่เขื่อนท่าซางเพื่อขนไม้ด้วยตนเอง   ไม้จากพื้นที่แห่งนี้ถูกส่งไปยังเมืองโต๋น ตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นถูกส่งต่อไปยังจังหวัดท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก่อนจะขนเข้าสู่ประเทศไทย

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง