ข้องใจเปิดเวทีรับฟังโครงการสร้างเขื่อนในค่ายทหาร ชาวบ้านลุ่มน้ำชมพูโวยถูกมัดมือชก ร้องกสม.ตรวจสอบ ระบุนักการเมืองท้องถิ่นเอี่ยวโรงโม่หินเดินสายสร้างมวลชน

fas fa-pencil-alt
สำนักข่าวชายขอบ
fas fa-calendar
8 มีนาคม 2559

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เพื่อขอให้มีการตรวจสอบกรณีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการสร้างเขื่อนคลองชมพู เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก โดยระบุว่า โครงการจัดการลุ่มน้ำคลองชมพู โดยกรมชลประทานที่ 3 ที่ได้ผลักดันการก่อสร้างเขื่อนคลองชมพูมาโดยตลอดนั้น เคยมีคำสั่งศาลปกครองสั่งยกเลิกโครงการไปในสมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่ล่าสุดในรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการนำโครงการก่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำคลองชมพูขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดยได้มีการจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นขึ้นร่วมกับกรมชลประทานที่ 3 ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์บรรเทาทุกข์ ค่ายสมเด็จพระนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก


ในหนังสือระบุว่าในการจัดประชุมครั้งนั้น ได้ทำหนังสือเชิญถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน นักการเมืองทุกระดับรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งคนกลางน้ำและคนท้ายน้ำ หากแต่ไม่มีหนังสือเชิญมายังทางเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู ให้ได้เข้าไปมีส่วนในการร่วมนำเสนอหรือแสดงออกทางความคิดเห็น จึงขอให้กสม.ดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 

1.ขอให้ดำเนินตรวจสอบกระบวนการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำคลองชมพู วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงการไม่มีหนังสือเชิญเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และเป็นผู้อาศัยอยู่ต้นน้ำที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าร่วมรับฟังและนำเสนอความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

2.ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมในวันดังกล่าว ได้กล่าวถึงการนำกฎหมาย มาตรา 44 มาบังคับใช้ในการเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนคลองชมพู ซึ่งถือว่าเป็นการพูดโดยประชาธิปไตยแบบตัวแทน ตัดสินใจด้วยตนเอง โดยไม่ฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง


นายเชาว์ เย็นฉ่ำ เลขานุการเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภูเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้(7 มี.ค.) นายอำเภอเนินมะปรางได้เชิญตัวแทนชาวบ้านชมภูและตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ มาร่วมชี้แจงทำความเข้าใจ ถึงการจัดประชุมเพื่อแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองวังชมพู ครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 10 มีนาคม ที่กองพลทหารราบที่ 4 ค่ายนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการออกหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ที่เดิมมีกำหนดจัดเวทีขึ้นในอำเภอเนินมะปรางนั้น

นายเชาว์กล่าวว่า ทางนายอำเภอชี้แจงต่อชาวบ้านว่า เนื่องจากมีความกังวลว่าอาจเกิดเหตุการณ์วุ่นวายจากกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มคัดค้านจนไม่สามารถจัดการประชุมได้อย่างสงบ จึงได้ส่งเรื่องให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองพลทหารราบที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีนี้แทน ซึ่งภายหลังการชี้แจงเสร็จสิ้นมีการทำบันทึกข้อตกลงให้ชาวบ้านชมภูลงนาม เพื่อปฏิบัติตามข้อตกลง 2 ข้อ ที่ระบุว่า 1.ให้นำเสนอข้อมูลด้านเหตุและผลอย่างสงบเรียบร้อย 2.ห้ามใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด หากมีการชุมนุมที่เข้าข่าย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทางเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย

“ก่อนที่รู้ว่าจะมีการย้ายเวทีไปในค่ายนเรศวร เราตั้งใจไปขอพบผู้บัญชาการคือ พลตรีนพพร เรือนจันทร์ เพื่อให้หาทางออกเรื่องเขื่อนให้ชาวบ้าน แต่กลับเป็นว่าเวทีถูกย้ายไปจัดในค่ายทหาร และให้ลงชื่อในข้อตกลงว่าหากเกิดปัญหาวุ่นวานในเวที ชาวบ้านต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” นายเชาว์กล่าว

นายเชาว์กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าการเรียกชาวบ้านไปพูดคุยและให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง แต่ทำไมจึงไม่มีการเรียกกลุ่มผู้สนับสนุนไปพูดคุยด้วย ทั้งที่ฝ่ายมาแกนนำที่สนับสนุนเป็นกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้มีอิทธิพลและมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงโม่หินที่ถูกยกเลิกเนื่องจากส่งผลกระทบรุนแรง อีกทั้งภายหลังที่โครงการเขื่อนคลองชมพูถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่กลุ่มนักการเมืองกลุ่มนี้กลับแอบเดินสายจัดเวทีล่ารายชื่อชาวบ้านท้ายน้ำเพื่อให้สนับสนุนการสร้างเขื่อนคลองชมพู จนต่อมามีการนำเสนอเรื่องให้ทหารเข้ามาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น อีกทั้งตอนนี้มีการส่งอดีตครูที่เป็นคนของนักการเมืองเข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อปลุกกระแสให้ชาวบ้านชมภูร่วมสนับสนุนเขื่อน แต่ไม่มีชาวบ้านคนในร่วมมือด้วย

ด้านนายธีเชษฐ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู กล่าวว่า จากข้อมูลศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่เคยมีการศึกษาระบุว่า หากมีการสร้างเขื่อนคลองชมภูจะต้องใช้หินและดินปริมาณมหาศาลในการก่อสร้างสันเขื่อน โดยกำหนดการใช้วัตถุดิบจากแหล่งหินในพื้นที่เนินมะปราง ที่มาจากแนวเทือกเขาผาแดงรังกายยาวกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่ถูกเพิกถอนจากการเป็นแหล่งหินอุสาหกรรม ทั้งที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย รวมทั้งพื้นที่โครงการเขื่อนและพื้นที่รับน้ำจะกินพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงนับพันไร่ ดังนั้นนอกจากผลกระทบจากเขื่อนโดยตรงแล้ว ชาวบ้านยังจะได้รับผลกระทบจากโรงโม่หินที่จะเกิดตามด้วย

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนคลองชมพู เป็นโครงการของกรมชลประทาน ที่พยายามผลักดันการพัฒนาลุ่มน้ำด้วยการสร้างเขื่อนกั้นคลองชมภูในเขตป่าต้นน้ำหรือในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงมาโดยตลอด จนนำไปสู่การบรรจุอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลที่แล้ว แต่ด้วยกระแสคัดค้านของสังคม ที่กังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป โดยบริเวณป่าต้นน้ำคลองชุมพูถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากซึ่งมีการพบจระเข้น้ำจืดหลายตัวถือว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงหลงเหลือจระเข้อยู่

อ้างอิง : https://transbordernews.in.th/home/?p=11915

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง