กมธ.รุดตรวจระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

fas fa-pencil-alt
fas fa-calendar
2 มิถุนายน 2545

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 มิ.ย. ที่วัดหาดไคร่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายพนัส ทัศนียานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา พร้อมด้วย นางเตือนใจ ดีเทศน์, นายอุทัยพันธ์ สงวนเสริมศรี, พล.ต.อ.วิรุฬน์ ฟื้นแสน กรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา เดินทางมารับฟังข้อมูลโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อปรับปรุงร่องน้ำรองรับการเดินเรือสินค้าขนาด 500 ตัน จากชาวบ้าน อ.เชียงของ กว่า 100 คน

นายชัยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผอ.เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงครั้งนี้ว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2536 โดยประเทศจีนต้องการพัฒนาแม่น้ำโขงให้เป็นเส้นทางคมนาคมเชิงพาณิชย์ โดยจะระเบิดแก่งขุดลอกร่องน้ำเพื่อรองรับเรือขนสินค้าขนาด 500 ตัน จากเมืองซือเหมา ประเทศจีน ไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ความจริงการเดินเรือขนาด 100 ตัน จากประเทศจีนมายังประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วและทุกวันนี้ก็มีเรือบรรทุกขนาด 50 ตันจาก อ.เชียงของ ไปยังเมืองหลวงพระบาง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระเบิดแก่งเพื่อปรับปรุงร่องน้ำในแม่น้ำโขงระหว่าง อ.เชียงแสน ไปจนถึง อ.เชียงของ

นายชัยณรงค์กล่าวอีกว่าการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการนี้ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจากกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ไม่ได้มีความเข้าใจระบบนิเวศของแม่น้ำที่มีความสลับซับซ้อน เนื่องจากตามเกาะแก่งกลางน้ำมีพืชน้ำซึ่งเป็นที่เพาะพันธุ์ของปลาบางชนิดและตัวเกาะแก่งเองก็เป็นที่วางไข่ของปลาหนังด้วย นอกจากนี้ ไก ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของคนและเป็นพืชอาหารของปลาบึก ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีนที่ทำให้น้ำขุ่นมากขึ้น และการขึ้นลงของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่คงที่เหมือนเดิม

"ขณะนี้ชาวประมงได้รับผลกระทบจากการเดินเรือพาณิชย์ของจีน อำเภอเชียงแสนเดิมมีเรือประมงขนาดเล็กจำนวนมาก ขณะนี้เหลือเพียงลำเดียวเท่านั้น เพราะเรือเล็กไม่สามารถสู้คลื่นจากเรือขนาดใหญ่ได้" นายชัยณรงค์กล่าว

ด้านนายบุญเรียน จินะราช ประธานชมรมปลาบึก อ.เชียงของ ให้ข้อมูลว่าชาวบ้านไม่สามารถจับปลาบึกได้มานาน 2 ปีแล้ว ตนคิดว่าสาเหตุมาจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกของกรมเจ้าท่าที่ อ.เชียงของ ปลาบึกจึงไม่ขึ้นและหากมีการระเบิดแก่งยิ่งจะส่งผลกระทบต่อปลาชนิดอื่นๆ ด้วย

จากนั้น นายพนัส ทัศนียานนท์ กล่าวกับกลุ่มชาวบ้านว่าตนพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับมาแล้วโครงการนี้มีผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ไม่เฉพาะระบบนิเวศเท่านั้น เพราะประชาชนได้อาศัยน้ำในการบำรุงชีวิต ซึ่งตนคิดว่าหากมีการระเบิดแก่งจริงน่าเป็นห่วงมาก โครงการนี้คำนึงเพียงแค่การเดินเรือพาณิชย์ให้มีการขนส่งสินค้าเท่านั้น และหากการค้าเจริญก็จะมีสวะอื่นๆ ตามมา ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้คือการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ส่งผลกระทบให้ปลาบึกไม่ขึ้น 2 ปีแล้ว

นายพนัสกล่าวอีกว่าเมื่อมีเรือบรรทุกขนาด 500 ตัน เข้ามาสิ่งที่จะตามมาคือมลภาวะและการระเบิดแก่งจะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ดังนั้น กรรมาธิการสิ่งแวดล้อมจะติดตามศึกษาอย่างรอบคอบว่าโครงการนี้จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยจะเรียกข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ ขอยืนยันว่าการพัฒนาเชิงพาณิชย์อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีความสมดุลของสิ่งแวดล้อมด้วย

"กรรมาธิการจะขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและรัฐบาลว่าการตัดสินใจโครงการนี้ด้วยเหตุผลอะไร มีการตรวจสอบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบเพียงพอแล้วหรือไม่ หากศึกษาไม่เพียงพอเราก็จะพิจารณาต่อไปว่ารัฐบาลไทยจะสามารถขอให้มีการชะลอโครงการเพื่อทำการศึกษาและเปิดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นการจัดประชาพิจารณ์ให้ทุกฝ่ายนำข้อมูลมาเสนอเพื่อพิจารณาร่วมกันต่อไป ผมขอสัญญาว่ากรรมาธิการสิ่งแวดล้อมจะรับเรื่องนี้ไว้ดำเนินการเพื่อให้ทราบข้อมูลมากที่สุด" นายพนัสกล่าว

จากนั้น คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาเดินทางไปยังวัดหาดบ้าย หมู่ 1 ต.ริมโขง อ.เชียงของ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเพื่อรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน กระทั่งเวลา 15.00 น. จึงเดินทางกลับ นายพนัสให้สัมภาษณ์ในตอนท้ายว่าตนค่อนข้างเห็นด้วยกับชาวบ้านที่ว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องระเบิดแก่งเพื่อปรับปรุงร่องน้ำระหว่าง อ.เชียงแสน กับ อ.เชียงของ เพราะที่ อ.เชียงแสน มีท่าเรือน้ำลึกรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ได้อยู่แล้ว และหากมีการปรับปรุงร่องน้ำจริง เรือบรรทุกสินค้าก็จะผ่านไปยังเมืองหลวงพระบาง โดยที่ อ.เชียงของ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้น หลังจากการเดินทางมารับทราบข้อมูลครั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะนำเรื่องกลับไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง