กรมชลฯ ยกข้ออ้างปัดฝุ่น เขื่อนแก่งเสือเต้น
ชง ครม. เจียดงบปี 48 กว่า 200 ล้าน กล่อมประชาชน
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่กรมชลประทาน นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสรุปสถานการณ์และการเตรียมความพร้มการดำเนินงานในช่วงฤดูฝนปี 2547 ว่า ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์น้ำแล้งในประเทศไทยได้หมดลงแล้ว และไม่มีพื้นที่ใดที่น่าเป็นห่วงยกเว้นจังหวัดทางภาคใต้แต่ก็มีไม่มากนักซึ่งจากการที่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้ ทำให้น้ำในเขื่อนมีปริมาณสูงขึ้นพ้นระดับน้ำต่ำสุดในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยทางกรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการประสานข้อมูลและการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
นายสามารถ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดในเขตลุ่มน้ำยมที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีนั้นทางกรมได้เตรียมความพร้อมเพื่อแก้ไขแล้ว โดยเฉพาะการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งได้ออกแบบการก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในปีงบประมาณ 2548 ในระยะแรกกรมจะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 100-200 ล้านบาท รวมทั้งก่อนจะมีการก่อสร้างจริงกรมจะจัดทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง
นายสามารถ กล่าวว่า หากการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้วเสร็จเขื่อนดังกล่าวจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้กับพื้นที่จังหวัดต่างๆ บริเวณลุ่มน้ำยมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศได้อีกด้วยซึ่งถือว่าคุ้มกับงบประมาณที่ได้ลงทุนไปอย่างแน่นอน
นายอนันต์ แทนสถิตย์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในช่วงเดือนพ.ค.ถึงเดือนมิ.ย.นี้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประมาณเดือนก.ค.ร่องความกดอากาศต่ำจะขยับขึ้นไปพาดผ่านประเทศจีนตอนใต้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดน้อยลงระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลางและภาคตะวันออกตามลำดับ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกอีกครั้งในเดือนต.ค.-พ.ย.นี้ ร่องความกดอากาศต่ำนี้จะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคใต้ของประเทศไทยทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนต.ค. ส่วนภาคใต้จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนธ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม คาดว่าฤดูฝนปีนี้ คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก โดยจะเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ และมีการเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกผ่านประเทศเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน โดยมีแนวโน้มสูงสุดที่จะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนในเดือนส.ค.และก.ย.และผ่านภาคใต้ในเดือนต.ค.และพ.ย.นี้
อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?sectionid=0305&searchks= ''&sk=''&s_tag=03eco02110547&day=2004/05/11&show=1