กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรอึ้ง
ป่าสักทองแก่งเสือเต้นสมบูรณ์ ออกดอกบานสะพรั่ง

fas fa-pencil-alt
ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี : กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า
fas fa-calendar
29 ตุลาคม 2553

จากการที่คณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสาธารณภัย พร้อมด้วย คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำยม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่สำรวจป่าสักทองแก่งเสือเต้น ที่ อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ยอมรับสภาพป่าสักทองแก่งเสือเต้นอุดมสมบูรณ์ ควรร่วมกันปกป้องรักษา และหาแนวทางการจัดการน้ำแบบใหม่ที่ไม่ทำลายป่าสักทอง โดยตัวแทนของกรรมาธิการ นายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล สส.สุโขทัย ได้นำหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนสภาวิจัยแห่งประเทศไทย ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดสุโขทัย ฯลฯ กว่า 30 คน โดยได้ร่วมกับสำรวจป่าสักทองทั้งทางพื้นราบโดยรถขับเคลื่อนสี่ล้อกว่า 10 กิโลเมตร และขึ้นไปยังจุดชมวิวทะเลหมอกของอุทยานแห่งชาติแม่ยม ทำให้คณะกรรมาธิการได้เห็นสภาพป่าสักทองแก่งเสือเต้นที่ยังความอุดมสมบูรณ์กว่า 24,000 ไร่ อีกทั้งป่าเบญจพรรณของอุทยานแห่งชาติแม่ยมอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นจังหวะพอดีกับช่วงสักทองกำลังออกดอกบานสะพรั่งให้เห็นความแตกต่างระหว่างป่าสักทองกับป่าเบญจพรรณอย่างชัดเจน


ประธานคณะอนุกรรมการฯ เห็นด้วยกับชาวสะเอียบ รักษาป่าสักทอง แก้ไขปันหาน้ำแนวใหม่

นายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล สส.สุโขทัย หัวหน้าคณะที่เดินทางมาพิสูจน์ป่าสักทอง ซึ่งเคยสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตลอด กล่าวว่า “ตนผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้นมากว่า 20ปี ยังไม่เคยเข้ามาดูพื้นที่ป่าสักทองที่ใครต่อใครกล่าวอ้าง วันนี้รู้สึกยินดีมากที่พี่น้องชาวสะเอียบให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อเห็นสภาพป่าสักทองที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของพี่น้องชาวสะเอียบ ในการร่วมกันจัดการน้ำแนวใหม่ โดยจัดการลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมทั้งระบบ ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม และร่วมกันรักษาป่าสักทองผืนสุดท้ายให้กับคนไทยทั้งชาติ” ทั้งนี้นายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล สส.สุโขทัย ยังกล่าวกับพี่น้องชาวสะเอียบด้วยว่า “ผมเห็นว่าน้ำท่วมปีนี้สืบเนื่องมาจากปัญหาสภาพแวดล้อมถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายถูกทำลาย ดังนั้น เราควรมาหาแนวทางร่วมกัน มาร่วมกันดูว่าเราจะมีแนวทางร่วมกันอย่างไรจะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องสะเอียบด้วยและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องสุโขทัยได้ด้วย ผมอยากให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างเขื่อนเป็นการสร้างฝายเป็นขั้นๆ ตามลำแม่น้ำยม พี่น้องจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน ผมเคยคุยกับท่านนายก ท่านนายกบอกว่าถ้าคุณไปเสนอเขื่อนแก่งเสือเต้น ยังไงคุณก็ไม่ได้สร้าง ผมจึงพาผู้แทนชาวบ้านจังหวัดสุโขทัยมาดูปัญหาของพี่น้องสะเอียบ มาดูป่าสักทอง จะได้ปบอก ไปเล่าต่อให้กับชาวบ้านสุโขทัยได้” สส.สุโขทัย ยังกล่าว

 นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ ได้เสนอแนวทางการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบ ซึ่งตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการลุ่มน้ำยมศึกษาแนวทางมาในช่วงปี 2552-2553 ที่ผ่านมา เห็นว่า “การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของลุ่มน้ำยมต้องมองทั้งระบบทรัพยากรลุ่มน้ำยม การฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะหากเราปล่อยให้ข้าวโพด หรือพืชเชิงเดี่ยวบุกลุกพื้นที่ป่าต้นน้ำอยู่เราก็จะเผชิญปัญหาคล้ายกับจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ ที่น้ำหลากมาเร็วท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างหนักอย่างที่เห็นอยู่ เราต้องรักษาป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ให้กลับมาทำหน้าที่ซับน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” ส่วนการกักเก็บน้ำ กำนันเส็ง ขวัญยืน เสนอให้จัดการลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมที่มีถึง 77 ลำน้ำสาขา หากมีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นก็จัดการได้เพียง 11 ลำน้ำสาขาเท่านั้น ซึ่งหากฝนตกใต้เขต ต.สะเอียบ อำเภอสอง จ.แพร่ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะน้ำจะไหลลงลำน้ำสาขา 66 ลำน้ำสาขา เข้าท่วมสุโขทัย พิษณุโลกเหมือนเดิม หากเราจัดการลำน้ำสาขาโดยโครงการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จึงจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างแท้จริง “ผมเห็นว่าเราควรเลิกคิดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นได้แล้ว หันมาดำเนินการร่วมกันผลักดันการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยการผลักดันโครงการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ตามลำน้ำสาขา แล้วเราจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ต้องมาขัดแย้งกัน คนสุโขทัยก็จะไม่ถูกน้ำท่วมหนักเหมือนทุกวันนี้ อ่างเก็บน้ำขนากเล็ก ขนาดกลาง ก็จะชะลอกักเก็บน้ำไว้ ไม่ให้ท่วมหนัก ขณะที่หน้าแล้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กขนาดกลางเหล่านี้ก็จะปล่อยน้ำเลี้ยงแม่น้ำยมให้มีน้ำตลอดทั้งปี มีแต่ได้กับได้ ไม่มีใครเสีย ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ก็ไม่ถูกทำลาย” กำนันเส็ง ขวัญยืน กล่าว

ตัวแทนกรมชลประทานยังดื้อ ไม่ได้เขื่อนแก่งเสือเต้น จะขอเป็นเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง แทน

นายจักรกฤษณ์ สินพรหมมา นายช่างชลประทาน หัวหน้าฝายวางแผนและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ สำนักชลประทานที่ 4 จังหวัดสุโขทัย ผู้แทนกรมประทาน ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัจจุบันกรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาเขื่อนยมบน กับเขื่อนยมล่าง ซึ่งเป็นการลดขนาดเขื่อนลงมา ซึ่งเขื่อนยมล่างจะถอยจากแก่งเสือเต้นลงไปประมาณ 10 กิโลเมตร กักเก็บน้ำที่ 230 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จุน้ำได้ประมาณ 580 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนยมบนจะถัดจากบ้านแม่เต้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร กักเก็บน้ำที่ 258 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จุน้ำได้ประมาณ 168 ล้านลูกบาศก์เมตร (ตามหลักสากล ความจุเกินกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรถือว่าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่) ขณะที่ผู้แทนชลประทานชี้แจงอยู่นั้น ชาวบ้านสะเอียบเริ่มแสดงความไม่พอใจ โดยต่างชูมือลุกขึ้นถามตัวแทนกรมชลประทานอย่างต่อเนื่อง จนผู้ดำเนินรายการต้องยุติการชี้แจงของผู้แทนกรมชลประทาน

สะเอียบ ตอกหน้ากรมชลประทาน ตอบได้เลยว่าไม่เอาเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่างก็ไม่เอา ควรหาทางเลือกใหม่ในการจัดการน้ำ

นายอภิชาต รุ่งเรือง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ ลุกขึ้นประท้วงการนำเสนอของผู้แทนกรมชลประทาน ที่พยายามนำเสนอเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ขึ้นมาอีก ทั้งที่ชาวบ้านสะเอียบได้เสนอแล้วว่าไม่ควรกล่าวถึงเขื่อน เพราะชาวบ้านเห็นว่าเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบ “ชาวสะเอียบต่อสู้เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมากว่า 20 ปี ด้วยเหตุด้วยผล ชี้ให้เห็นปัญหาของเขื่อนขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้ วันนี้เขื่อนป่าสัก เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพะเพลิง เขื่อนชัยนาท ยังปล่อยน้ำลงไปท่วมซ้ำเติมพี่น้องชาวบ้านอย่างที่เราเห็นเป็นข่าวอยู่ทุกวัน สมควรอย่างยิ่งที่กรมชลประทานต้องทบทวนความคิดเรื่องเขื่อนขนาดใหญ่ได้แล้ว และหันมาให้ความสำคันกับโครงการขนาดเล็กขนาดกลางที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทำไมกรมชลไมทำหรือมันใช้งบประมาณน้อยเกินไป กรมชนต้องฟังเสียงชาวบ้านอย่าไปรับใช้นักการเมืองที่จะคอยหากินกับโครงการเขื่อนขนาดใหญ่” นายอภิชาต กล่าว

นางสุดารัตน์ ไชยมงคล ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ หลังจากได้ฟังคำชี้แจงจากตัวแทนกรมชลประทานว่าจะมีการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็น 2 เขื่อน คือ เขื่อนยมบน กับเขื่อนยมล่าง ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมผืนป่าสักทองลดน้อยลง ตนก็ยังคิดว่าไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหา เพราะน้ำเขื่อนก็ยังทำลายป่าสักทองเช่นเดิม อันจะนำไปสู่ปันหาโลกร้อน ภัยแล้งก็จะตามมา น้ำท่วมก็จะรุนแรงขึ้น “เราเดือดร้อนกันอย่างมากมานานกว่า 20 ปี คนเฒ่าคนแก่กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ ความดันขึ้นสูง หากได้ยินคำว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำไมเราไม่หาทางอื่นที่จัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน การสร้างอ่างขนาดเล็ก ขนาดกลางตามลำน้ำสาขาทั้ง 77 สาขา เราจะได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ป่าก็ไม่ถูกทำลาย อ่างเล็กอ่างน้อยก็จะทยอยปล่อยน้ำเลี้ยงแม่น้ำยมให้ยั่งยืน เลิกคิดถึงเขื่อนขนาดใหญ่ได้แล้ว เราควรหยุดคิดทำลายป่ากันได้แล้ว” ผู้ใหญ่สุดารัตน์กล่าว

นายชุม สะเอียบคง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ขอให้คณะกรรมาธิการที่มาในวันนี้นำข้อมูลข้อเท็จจริงไปเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้ยุติโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเด็ดขาดต่อไป พี่น้องชาวตำบลสะเอียบร่วมอนุรักษ์ รักษาป่าสักทองผืนนี้มากว่า 20 ปี และยืนยันจะปกป้องรักษาป่าสักทองผืนนี้สืบไป “พี่น้องชาวสะเอียบได้ร่วมกับป่าไม้ อุทยานแห่งชาติแม่ยม สำรวจ รังวัด กันเขตพื้นที่ทำกินและออกโฉนดชุมชนให้กับชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว เรามีระบบป้องกันและร่วมกันดูแลป่าสักทองเพื่อคนทั้งชาติ เราอยากให้แม่น้ำยมเป็นทางเลือกในการจัดการน้ำแบบใหม่ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ มีการจัดการลำน้ำสาขาอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ไม่ใช่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่มาเก็บลมในหน้าแล้ง และปล่อยน้ำท่วมซ้ำเติมชาวบ้านในหน้าฝน เราควรร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาได้แล้ว อย่ามัวรอฝันหาแต่เขื่อนแก่งเสือเต้นอยู่เลย” นายกชุม กล่าว

ขณะที่บรรยากาศเริ่มตรึงเครียด คณะผู้ดำเนินการจึงขอยุติเวทีการหารือไว้ก่อน และเชิญชวนคณะกรรมาธิการฯ ร่วมรับประทานอาหารแล้วจะได้สำรวจป่าร่วมกันต่อไป

การสำรวจป่าสักทองแก่งเสือเต้นในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจต่อกันของพี่น้องชาวสะเอียบและพี่น้องชาวสุโขทัย การกล่าวต่อหน้าพระพุทธรูปที่ศาลาวัดบ้านดอนชัย จะต้องนำแต่ความจริงไปกล่าว ไปเผยแพร่ต่อไป หากใครกล่าวเท็จคงต้องเผชิญกับกรรมตามทันไวดังจรวด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับผู้บริหารบ้านเมืองหลายต่อหลายคน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง