กรรมาธิการวุฒิสภา 2 คณะ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาการจัดการน้ำลุ่มน้ำยม
สำรวจป่าสักทอง รับฟังเสียงชาวบ้านสะเอียบ ชลประทานแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก

fas fa-pencil-alt
fas fa-calendar
2 พฤษภาคม 2556

บางระกำ พิษณุโลก /// 


 เช้าวันนี้ (2 พฤษภา 2556) ที่ห้องประชุม โรงแรมไพริน อ.เมือง จ.สุโขทัย คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ศึกษาข้อเท็จจริง กรณีเรื่องร้องเรียนแก่งเสือเต้น ยมบน ยมล่าง การจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมและบางระกำโมเดล ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – วันที่ 2 พฤษภาคม 2556


คณะ กรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม นำโดย สว.ประสาร มฤคพิทักษ์ และคณะ ส่วนคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดย ส.ว.สุจริต ชีรเวทย์ ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ซึ่งร้องโดยคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

ชลประทานสุโขทัยชี้ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง น้ำไม่ถึงสุโขทัย เพราะจังหวัดแพร่ใช้ยังไม่พอ

นายมงคล สุภากาย ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดสุโขทัย ชี้แจงว่า ปัญหาใหญ่ของน้ำท่วมสุโขทัยคือภูมิประเทศของลำน้ำยมที่แคบเป็นคอขวด ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ในเขตเทศบาลเป็นรูปทรงกรวย รองรับน้ำได้เพียง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อน้ำมามากกว่า 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะล้นเขื่อนริมตลิ่ง ซึ่งทางชลประทานพยายามเบี่ยงน้ำออกไปทางคลองหกบาท แต่ถ้าน้ำมามากก็จะระบายไม่ทัน ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือการบุกรุกพื้นที่รำรางสาธารณะ ทำให้การระบายน้ำไม่ทัน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง น้ำคงมาไม่ถึงสุโขทัย เพราะทางจังหวัดแพร่คงต้องใช้หมด ดูจากความต้องการใช้น้ำประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างจุได้เพียง 666 ล้าน ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ชลประทานเตรียมพื้นที่รองรับปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยจองพื้นที่น้ำท่วม ไว้ประมาณ 300.000ไร่ ท้ายสุดผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดสุโขทัย ฝากถึงฝ่ายบริหารให้เพิ่มกำลังคนเพิ่มขึ้นด้วย เพราะทั้งจังหวัดมีเจ้าหน้าที่เพียง 17 ตำแหน่งเท่านั้น

ชลประทานพิษณุโลกเร่งดำเนินการแก้มลิง บึงระมาน บึงจะเค็ง บึงขี้แร้ง รับน้ำหลาก

 ด้านนายภัทวี ดวงจิตร ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานบางระกำโมเดล 2P2R ตั้งแต่ การป้องกัน การเตรียมการ การรับมือ การเยียวยา ซึงถือเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามที่นายกมอบนโยบายมา ในทางปฏิบัติในพื้นที่พิษณุโลกได้ดำเนินการขุดลอกบึงจะเค็ง บึงระมาน และบึงขี้แรง ซึงจะรับน้ำได้ประมาณ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคงเยียวยาได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งก่อนหน้านี้กรรมาธิการทั้ง 2 คณะ ได้รับฟังบรรยายสรุปจาก นายสุรพล อจลนันท์ ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดแพร่ ทีห้องประชุมฝายแม่ยม ระบุว่าจังหวัดแพร่มีความต้องการใช้น้ำ ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถกักเก็บได้เพียงประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนที่จะสร้างอ่างขนาดกลางขนาดเล็กตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมอีก 7-8 โครงการ แต่ยังติดปัญหาเรื่องป่าและชาวบ้านคัดค้านอยู่จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้

สะเอียบยืนยันค้านเขื่อนยมบนยมล่าง เพราะทำลายป่าสักทอง ผลาญงบประมาณ เสนอ 12 แนวทางแก้

  ในส่วนของชาวบ้านตำบลสะเอียบ ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนปัญหาไปยังคณะกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ ได้จัดเวทีสะท้อนปัญหาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้น ให้คณะกรรมาธิการรับฟังปัญหาที่ศาลาวัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยมีตัวแทน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และชาวบ้านประมาณ 400-500 คน ร่วมรับฟัง ซึ่งเวทีได้ข้อสรุปว่า ชาวบ้านตำบลสะเอียบยืนยันที่จะคัดค้านเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่ง เสือเต้น ต่อไป โดยมีเหตุผลในการคัดค้าน 8 ประการ ชี้ว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มทุน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ ทำลายป่าสักทองธรรมชาติของประเทศไทย ทำลายชุมชน ที่ทำกินและที่ทำมาหากินของชุมชน ทั้งยังเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย

 ส.ว.สุจริต ชีรเวทย์ คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า "เมื่อ มีเรื่องร้องเรียนจากประชาชน มีที่อยู่ที่ไปที่มาที่ชัดเจน คณะกรรมาธิการต้องดำเนินการตามกรอบที่กฎหมายระบุให้วุฒิสภามีหน้าที่ในการ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร การลงมาศึกษาพื้นที่ก็เป็นการหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อ เสนอต่อฝ่ายบริหารต่อไป เราเห็นปัญหาและรับฟังปัญหาจากทางชาวบ้านผู้ร้องและฟังบรรยายจากผู้อำนวยการ กรมชลประทานทั้ง 3 จังหวัดทำให้คณะ กรรมาธิการได้ความชัดเจนมากขึ้น แต่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น คงต้องมีการเชิญทั้งชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่รัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง" สว.สุรจิตร กล่าว

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยมยืนยันป่าสักทองอุดมสมบูรณ์กว่า 20,000 ไร่

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการทั้ง 2 คณะได้รับฟังบรรยายสรุปจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ โดยนายศุภชัย วรรณพงษ์ ได้ชี้แจงว่าอุทยานแห่งชาติแม่ยมมีพื้นที่ประมาณ 284,625 ไร่ เป็นป่าสักทองหนาแน่นกว่า 20,000 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นป่าเบญจพรรณ และเป็นแหล่งที่อยู่ของนกยูงไทย หากมีการสร้างเขื่อนยมล่างก็จะท่วมที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมด้วย ป่าสักทองด้วย ส่วนเขื่อนยมบนก็จะท่วมป่าเบญจพรรณซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูง แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสำรวจในพื้นที่ได้

 ด้าน สว.ประสาร มฤคพิทักษ์ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม กล่าวว่า "เราได้มาเห็นป่าสักทองผืนใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งทางหัวหน้าอุทยานแม่ยม จ.แพร่ ท่านศุภชัย วรรณพงษ์ ได้นำเราขึ้นจุดชมวิว เห็นแอ่งป่าสักทองธรรมชาติที่สมบูรณ์กว่า 20,000 ไร่ ชาวบ้าสะเอียบก็ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมให้กับเราถึง 12 แนวทางซึ่งเป็นประโยชน์มาก และวันนี้เราได้รับฟังผู้อำนวยการชลประทาน 3 จังหวัด คือ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก คณะของเราได้ความรู้มากและจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลเสนอต่อรัฐบาลต่อไป" สว.ประสาร กล่าว


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง