ลาวเริ่มก่อสร้างโครงการเขื่อนที่สองในแม่น้ำโขง
กรุงเทพฯ ประเทศไทย รัฐบาลลาวเริ่มก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่สองในแม่น้ำโขง ได้แก่โครงการเขื่อนดอนสะโฮง ขนาดกำลังผลิต 260-380 เมกะวัตต์ แม้จะยังมีข้อกังวลที่ไม่ได้รับการแก้ไขกรณีเขื่อนไซยะบุรี ในเดือนสิงหาคม International Riversได้ไปเยือนพื้นที่สร้างเขื่อนดอนสะโฮงซึ่งตั้งอยู่ในประเทศลาว ห่างจากพรมแดนกัมพูชาเพียงไม่ถึง 2 กม. และเห็นว่าเริ่มมีกิจกรรมก่อสร้างในพื้นที่เขื่อนแล้ว แม้ว่าโครงการนี้จะยังไม่ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือตามข้อกำหนดใน ความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทยของ International Rivers ซึ่งเดินทางไปยังพื้นที่สร้างเขื่อนดอนสะ โฮง มีข้อสังเกตว่า “ชาวบ้านระบุว่า บริษัทได้เริ่มระเบิดน้ำตกใกล้กับพื้นที่สร้างเขื่อนดอนสะโฮง เจ้าหน้าที่ทางการลาวแจ้งชาวบ้านว่าไม่อนุญาตให้ใช้ “หลี่”เพื่อเป็นเครื่องมือจับปลาในพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป การเริ่มงานก่อสร้างเขื่อน และการห้ามใช้ “หลี่”เพื่อดักจับปลาเป็นข้อกังวลใหญ่ ชาวบ้านที่นี่มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาการหาปลาเป็นหลัก”
เขื่อนดอนสะโฮงอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยบริษัท เมกะเฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Mega First Corporation Berhad) ของมาเลเซีย ในบริเวณน้ำตกคอนพะเพ็งที่มีชื่อเสียงในแม่น้ำโขง จากข้อมูลการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment - SEA) ปี 2553 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เขื่อนดังกล่าวจะปิดกั้นช่องทางน้ำเพียงช่องเดียวในแม่น้ำโขงช่วงฤดูแล้งที่ ปลาว่ายผ่านได้ หรือที่เรียกว่า “ฮูสะโฮง” รายงาน SEA มีข้อสังเกตว่า “โครงการ เขื่อนดอนสะโฮงจะเป็นอุปสรรคขวางกั้นการอพยพของปลาในแม่น้ำโขงใน ช่วงฤดูแล้ง” ตามข้อมูลของชาวบ้าน เมื่อปีที่แล้ว บริษัทได้เริ่มระเบิดน้ำตกที่ฮูช้างเผือก เพื่อเปิดทางน้ำใหม่ที่มีความกว้างห้าเมตรในแม่น้ำ เพื่อเป็นช่องทางให้ปลาว่ายผ่าน ในปัจจุบัน ปลายังคงสามารถอพยพผ่านฮูสะโฮงที่มีความกว้าง 50-100 เมตรได้ทั้งปี รายงาน SEA ยืนยันว่า ผู้ชำนาญการด้านประมงมีข้อสรุปว่าในปัจจุบันไม่มีเทคโนโลยีใดที่ ช่วยให้ปลาอพยพได้อย่างเป็นผล ทำให้ไม่สามารถบรรเทาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสายหลักได้ รวมทั้งเขื่อนดอนสะโฮงซึ่งคุกคามต่อการทำประมงในแม่น้ำโขง
“โครงการเขื่อนดอนสะโฮงจะก่อให้ เกิดหายนะต่อการทำประมงในแม่น้ำโขง” Ame Trandem ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้International Rivers กล่าว “เขื่อนแห่งนี้จะปิดกั้นการอพยพของปลาซึ่งมีความสำคัญ มาก และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนซึ่งต้องพึ่งพาการทำประมง เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร เช่นเดียวกับเขื่อนไซยะบุรี โครงการนี้จะทำให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน”
ในเดือนพฤษภาคม บริษัท เมกะเฟิร์สทประกาศว่า การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนดอนสะโฮงได้ผ่านการเห็นชอบของ รัฐบาลลาวแล้ว และใกล้จะลงนามความตกลงซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐบาลลาวเป็นระยะเวลา สัมปทาน 30 ปี ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการประเมินผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ตีพิมพ์รายงานประเมินผลกระทบที่อาจเกิด ขึ้นเนื่องจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่มีต่อการทำประมงในแม่น้ำโขงสาย หลักในปี 2537 ซึ่งระบุว่า บริเวณน้ำตกคอนพะเพ็งเป็น “พื้นที่ทางนิเวศที่โดดเด่น มีความสำคัญต่อระบบนิเวศจุลินทรีย์ (microcosm) ของแม่น้ำโขงทั้งสาย”และระบุต่อไปว่า “พื้นที่ทางธรรมชาติ เช่นนี้หาได้ยาก ควรอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามอนุรักษ์น้ำตกคอนพะเพ็ง [สี่พันดอน] ไม่ให้มีการพัฒนาใด ๆ”
“เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี รัฐบาลลาวคงจะอ้างว่าการระเบิดฮูช้างเผือกที่บริเวณเขื่อนดอนสะโฮ ง เป็นเพียง ‘ขั้นตอนเตรียมงาน’จึงไม่จำเป็นต้องปรึกษาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม” Trandem กล่าว “แต่ในความเป็นจริง กิจกรรมทั้งปวงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อแม่น้ำ เป็นสิ่งที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเสียก่อน รวมทั้งการเปิดช่องทางน้ำใหม่”
“จะเห็นได้ว่าลาวได้ใช้กลอุบายแบบ เดียวกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี”เพียรพรกล่าว “และพวกเขาจะทำแบบนี้ซ้ำ แล้วซ้ำอีก จนกว่ารัฐบาลที่เป็นภาคีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตัดสินใจดำเนินการ ใด ๆ ก่อนจะสายเกินไป รัฐบาลที่เป็นภาคีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง สำนักเลขาธิการและแหล่งทุนต่าง ๆ จึงควรเรียกร้องให้ยุติกิจกรรมที่บริเวณเขื่อนทั้งสองแห่งโดยทันที”
ข้อมูลเพิ่มเติม:
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนดอนสะโฮงตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงสาย หลัก บริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง (หรือที่รู้จักกันในชื่อ สี่พันดอน) ทางตอนใต้ของลาว ห่างจากพรมแดนลาว-กัมพูชาทางด้านเหนือน้ำเพียงไม่ถึง 2 กม. เขื่อนดอนสะโฮงจะเป็นโครงสร้างที่ขวางกั้นฮูสะโฮง และเป็นเขื่อนที่มีความสูงประมาณ 30-32 เมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้260-380 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งมาที่ประเทศไทยหรือกัมพูชา ผู้พัฒนาโครงการนี้ได้แก่ บริษัท เมกะเฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Mega First Corporation Berhad) ของมาเลเซีย ส่วนบริษัท AECOM ของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเป็นวิศวกรให้กับเจ้าของโครงการ (Owner’s Engineer)
เช่นเดียวกับเขื่อนไซยะบุรี โครงการนี้จะต้องผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะ กรรมาธิการแม่น้ำโขงก่อนจะเดินหน้าต่อไป ตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าในระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement - PNPCA) รัฐบาลลาวจะต้องปรึกษาหารือกับรัฐบาลไทย กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อให้เกิดความเห็นชอบร่วมกันว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ แต่ในกรณีโครงการไซยะบุรี รัฐบาลลาวอ้างว่า “งานในขั้นเตรียมการ”ไม่อยู่ในข้อกำหนดตามระเบียบปฏิบัติ PNPCAแต่ไม่ขยายความว่างานดังกล่าวมีลักษณะใด รัฐบาลที่เป็นภาคีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังมิได้บรรลุข้อตกลงใด ๆ เกี่ยวกับการตีความของรัฐบาลลาว
ในเดือนมีนาคม 2549 บริษัท เมกะเฟิร์สทลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) กับรัฐบาลลาว เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีการลงนามความตกลงพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement) เพื่อให้อำนาจกับบริษัท เมกะเฟิร์สทเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาเพื่อกำหนดรายละเอียดในขั้นสุดท้ายของ โครงการร่วมกับรัฐบาลลาวและประเทศผู้ซื้อไฟฟ้า บริษัท เมกะเฟิร์สทรายงานข่าวว่า การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ผ่านความเห็นขอบของรัฐบาลลาวแล้วใน เดือนเมษายน 2555
แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนดอนสะโฮงต่อสาธารณะ แต่คาดว่าเขื่อนแห่งนี้จะปิดกั้นการอพยพของพันธุ์ปลาที่มีคุณค่า ในเชิงพาณิชย์ในช่วงฤดูแล้ง การสูญเสียมวลชีวภาพปลาจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนและการทำ ประมงเชิงพาณิชย์ในประเทศลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม และย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อความมั่นคงด้านอาหารและเศรษฐกิจใน ภูมิภาค ในบริเวณที่ตั้งเขื่อน ชาวบ้านหลายครอบครัวยังดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมด้วยการใช้ลอบจับปลาที่เรียกว่า “หลี่”เป็นการตั้งตาข่ายดักจับปลาที่อพยพผ่านช่องน้ำดังกล่าว หลายครอบครัวมีรายได้ประมาณ 180,000 บาทจากการจับปลาด้วยวิธีการเช่นนี้ และมีการถ่ายทอดผ่านภูมิปัญญาชาวบ้านมาหลายรุ่นคน ชาวบ้านรายงานข้อมูลว่า ทางการประกาศห้ามการจับปลาด้วยวิธีการเช่นนี้ในบริเวณพื้นที่เขื่อนเริ่ม ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป
ทั้งนี้จากการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับ ยุทธศาสตร์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง บริษัท เมกะเฟิร์สทจะต้องขนย้ายตะกอนประมาณ 1.9 ล้านคิวบิกเมตรออกจากท้องน้ำบริเวณฮูสะโฮง เพื่อให้สามารถสร้างเขื่อนได้ เท่ากับต้องตักตะกอนออกในปริมาณการบรรทุกของรถบรรทุก 95,000 คัน ในการตักตะกอนออกจะต้องใช้ระเบิดซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อแหล่ง อาศัยของปลาและระบบนิเวศของแม่น้ำ นอกจากนั้น เขื่อนแห่งนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อประชากรปลาโลมาอิรวดีซึ่งมีเหลืออยู่เพียง แห่งเดียวในบริเวณนี้ในประเทศลาว รวมทั้งต้องมีการผันน้ำจากบริเวณน้ำตกคอนพะเพ็งที่สวยงาม ทำลายกิจการท่องเที่ยวซึ่งมีเพิ่มขึ้นในบริเวณนี้
มีรายงานข่าวว่าเริ่มมีการระเบิดพื้นที่ของบริษัท เมกะเฟิร์สทตั้งแต่ปีที่แล้ว ในบริเวณฮูช้างเผือก ทั้งนี้เพื่อทำลายน้ำตกและสร้างทางน้ำขนาดห้าเมตรให้ปลาว่ายผ่านได้ตลอดทั้ง ปี เป็นความพยายามสร้างทางน้ำเพื่อมาทดแทนฮูสะโฮงที่มีความกว้าง 50-100 เมตร และยังมีการห้ามไม่ให้ชาวบ้านทำการประมงในช่องทางน้ำใหม่แห่งนี้