ไล่ตะเพิดกรมชลบริษัทที่ปรึกษาเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เวทีล้มไม่เป็นท่า
10 พฤษภาคม 2556
ห้องประชุมศาลาว่าการ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา
เวทีปาหี่เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างของกรมชลประทานล้มไม่เป็นท่า เมื่อชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมมือกับชาวบ้าน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา กว่า 1,000 คน ไล่ตะเพิดเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษาให้ออกนอก พื้นที่โดยเร่งด่วน ผู้ว่าพะเยารู้แกวไม่มาเปิดงาน มอบนายอำเภอเชียงม่วนจัดการ
เช้าวันนี้ (10 พฤษภาคม 2556) เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ศาลาว่าการอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีโครงการเขื่อนยมบน และเขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนยมล่าง ) ที่มีแผนที่จะสร้างทั้ง 2 เขื่อนที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด แต่ยังไม่ทันได้เริ่มงานเวทีก็ล่มเสียก่อน เพราะชาวบ้าน ต.สะเอียบ จ.แพร่ และชาวบ้าน อ.เชียงม่วน จ.พะเยากว่า 1,000 คน ได้เข้าสังเกตการณ์ในเวทีประชุม ทำให้เวทีไม่สามารถเปิดดำเนินการตามวาระที่กำหนดไว้ เพราะชาวบ้านโห่ไล่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษา ทำให้เจ้าหน้าที่หนีหัวซุกหัวซุนออกจากสถานที่จัดเวทีประชุมอย่างทุลักทุเล เป็นเหตุให้ไม่มีผู้ดำเนินการประชุมและเวทีล่มในที่สุด
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้าเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “ชาว บ้านได้ทราบข่าวว่าจะมีการจัดเวทีเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ขึ้นที่นี่ จึงได้มาสังเกตการณ์ เพราะชาวบ้านเบื่อหน่ายและเอือมระอากับพฤติกรรมของกรมชลประทานและบริษัทที่ ปรึกษา ที่หลอกลวงชาวบ้านมาครั้งแล้วครั้งเล่า ศึกษาทีไรก็สร้างเขื่อนทุกที ไม่เคยคิดถึงทางออกหรือทางเลือกอื่นๆเลย พวกเราชาวสะเอียบได้เสนอทางออก ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยมทั้ง 12 แนวทางมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย บทเรียนหลายต่อหลายครั้งทำให้เราเห็นว่าการจัดเวทีปาหี่อย่างนี้แล้วก็ไป สรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ซึ่งไม่จริง วันนี้เราจึงต้องมาแสดงตัวให้เห็นว่าชาวสะเอียบไม่เห็นด้วยกับการสร้าง เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น และยืนยันที่จะใช้สิทธิของพวกเราชาวบ้านตาดำดำในการคัดค้านโครงการเหล่านี้ จนถึงที่สุด” นายสมมิ่งกล่าว
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ได้จัดเวทีเช่นเดียวกันนี้ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สุโขทัย ซึ่งไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีตัวแทนชาวบ้านจังหวัดสุโขทัย ยื่นหนังสือสนับสนุนให้สร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ที่ อ.สอง จ.แพร่ อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เพราะเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่มีผลกระทบร้ายแรงตามกฎหมายต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ศึกษาผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้เขื่อนยมบนหรือเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน มีแผนที่จะสร้างปิดกั้นแม่น้ำยม บริเวณใกล้กับผาอิง ห่างจากบ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประมาณ 2 กิโลเมตร ระดับกักเก็บที่ 258 เมตร รทก. ความจุ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงของสันเขื่อน 40 เมตร จากท้องน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำจะยาวไปถึงอำเภอเชียงม่วน จ.พะเยา รวมความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร ท่วมพื้นที่ 10856 ไร่
ขณะที่ เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแม่น้ำยม มีแผนที่จะสร้างปิดกั้นแม่น้ำยม บริเวณใต้จุดบรรจบแม่น้ำงาวลงมา 5.3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเขตตำบลเตาปูน ที่ติดกับเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ห่างจากจุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเดิม ประมาณ 10 กิโลเมตร ระดับกักเก็บที่ 230 เมตร รทก. ความจุ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงของสันเขื่อน 54.5 เมตร จากท้องน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำจะยาวเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ผ่านผืนป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ ไปจนถึง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ รวมความยาวประมาณ 37.5 กิโลเมตร ท่วมพื้นที่ 21,000 ไร่
ด้านนายวิชัย รักษาพล ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “กรม ชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาได้หลอกลวงเราหลายต่อหลายครั้ง บิดเบือนข้อเท็จจริงหลายต่อหลายครั้ง จนเราไม่ไว้วางใจอีกต่อไป ล่าสุดเราไปสังเกตการณ์การประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่เตาปูน ก็ไปสรุปว่าชาวสะเอียบเข้าร่วมและเห็นด้วยกับเขา เราจึงมีมติว่า ห้ามบุคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเจอจะไม่รับประกันความปลอดภัย” นายวิชัย กล่าว
เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.นายก่อบุญญ์ ปัญญาบุญ นายอำเภอเชียงม่วนได้กล่าวเปิดงาน แต่ยังไม่ทันได้กล่าวอะไรมากชาวบ้านสะเอียบที่เตรียมป้ายผ้าคัดค้านเขื่อนยม บนเขื่อนยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้เดินขึ้นไปขึงป้ายผ้าบนเวที ทำให้เวทีเกิดความวุ่นวายขึ้นจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ นายก่อบุญญ์ ปัญญาบุญ นายอำเภอเชียงม่วนได้ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อพี่น้องชาวสะเอียบได้เดินทางมาประท้วงเวทีจำนวนมาก ก็เลยไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ตนในฐานะฝ่ายปกครองและเจ้าของสถานที่ก็คงได้แค่อำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้าน ทั้งสะเอียบและชาวเชียงม่วนให้หารือกันแบบชาวบ้าน ซึ่งคิดว่าคงไม่มีปัญหาแต่อย่างได ส่วนเวทีคงต้องยุติไปเพราะคงไม่สามารถดำเนินการต่อได้แต่อย่างได" นายก่อบุญญ์ กล่าว
หลังจากนั้นชาวสะเอียบก็ได้นำรถเครื่องเสียงเข้ามาจอดปราศรัยอยู่ด้านหน้า ห้องประชุม ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ที่มาสังเกตการมากๆ เพราะไม่อยากให้กรมชลและบริษัทที่ปรึกษาโกหกหลอกลวงประชาชนอีกต่อไป จากนั้นได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน อ.เชียงม่วนขึ้นปราศรัยกับชาวบ้าน โดยนายอดุล กุลตาล อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งมอก อ.เชียงม่วน จ.พะเยา กล่าวว่า "ชาวเชียงม่วนก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง เพราะกระทบกับพี่น้องเชียงม่วนตั้ง 11 หมู่ บ้าน แต่ชาวเชียงม่วนได้ร้องขออ่างเก็บน้ำขนาดกลาง คือ อ่างน้ำปี้ ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำยม ในเขตอำเภอเชียงม่วน แต่กรมชลก็ไม่สร้างให้ซักที จะรอแต่แก่งเสือเต้น รอยมบนยมล่างคงไม่ได้สร้างแน่ อยากให้กรมชลพัฒนาอ่างขนาดกลางขนาดเล็กจะดีกว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า" นายอดุล กล่าว
ทั้ง นี้ คณะกรรมการคัดค้าเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ยังได้ออกแถลงการณ์ใจความว่าถูกกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาหลอกมาหลาย ครั้งแล้ว จึงต้องมีมาตรการในการห้ามบุคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนยมบนเขื่อน ยมล่างและเขื่อนแก่งเสือเต้นเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเจอจะไม่รับรองความปลอดภัย แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ให้กรมชลประทานยกเลิกสัญญาจ้างงานบริษัทที่ปรึกษา และคืนเงินงบประมาณให้กับแผ่นดิน
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. แกนนำได้ประกาศว่าเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่บริษัทปัญญา ได้ไปกินข้าวเที่ยงที่ร้านอาหารอุ่นเรือนในตัวเมืองเชียงม่วนแล้ว จึงประกาศให้ชาวบ้านนำข้าวปลาอาหารออกมากินกัน พร้อมเปิดเพลงขับกล่อมอย่างเป็นกันเอง จนถึงเวลาประมาณ 12.30 น. แกนนำได้ประกาศว่าเจ้าหน้าที่กรมชลและเจ้าหน้าที่บริษัทได้เดินทางออกจาก อำเภอเชียงม่วนมุ่งหน้าไปจังหวัดแพร่แล้ว จึงประกาศให้ชาวบ้านเดินทางกลับได้ ทั้งยังประกาศว่าจะไปที่ห้องประชุมโรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ อีกให้มากกว่าเดิม และได้ขอบคุณทางอำเภอเชียงม่วน ที่อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี
อนึ่ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษา ยังมีแผนที่จะจัดเวทีเช่นเดียวกันนี้ขึ้นที่โรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ เป็นเวทีที่ 3 ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายสุดท้าย ต่อไป